×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

สิงห์ เอสเตท รายงานรายได้รวมจากการขายและการบริการสำหรับปี 2566 จำนวน 14,675 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเด่นถึง 42% ด้วยแรงส่งสำคัญจากการเปิดตัว 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท มั่นใจปี 2567 โตแรงจากสินค้าพร้อมขายในระดับสูง ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งส่งผลให้ระดับรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ของโรงแรมในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 23% แรงส่งสำคัญคือการปรับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) ที่โดดเด่นจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผนและความสามารถในการดึงดูดลูกค้าตลาดใหม่

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประกาศรายได้รวมเติบโตขึ้น 17% สู่จำนวน 14,675 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 2566 จำนวน 240 ล้านบาท พร้อมเตรียมจ่ายปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2566 จำนวน 0.015 บาท ต่อหุ้น ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่12 มีนาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผล ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566

สำหรับรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ จำนวน 3,638 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 42% ซึ่งประกอบด้วย (1) ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยจำนวน 3,416 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการการรับรู้รายได้เต็มสัดส่วน จำนวน 919 ล้านบาท จากโครงการดิ เอส สุขุมวิท 36 ภายหลังสิงห์ เอสเตท เข้าถือหุ้น 100% เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวของดีมานด์กลุ่มคอนโดมิเนียม และการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบใหม่ โดยเฉพาะโครงการพร้อมโอน “ลาซัวว์ เดอ เอส” โครงการ Flagship Cluster Home ระดับอัลตร้าลักชัวรี่ และ “โครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1” บ้านแนวราบระดับลักชัวรี่ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีจำนวนรวมประมาณ 900 ล้านบาท และ (2) การรับรู้ค่าเช่าของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวจำนวน 175 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% มีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% สู่จำนวน 9,701 ล้านบาท หนุนจากทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมซึ่งคำนวณเฉพาะห้องพักที่เปิดให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 68% ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า ด้วยการปรับแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิผล มุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของโรงแรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสำเร็จสำคัญจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผน ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ที่ระดับ 5,675 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน สำหรับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จำนวน 1,060 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการส่งมอบพื้นที่เช่าของอาคารเอส โอเอซิส (S-OASIS)

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า “จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลิศ ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการอสังหาฯ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของ Portfolio อย่างเข้มข้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ บันทึกรายได้ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ควบคู่กับการคุมต้นทุนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับช่วงการขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ส่งผลให้เรามีผลกำไรสุทธิในปี จำนวน 240 ล้านบาท ด้วยความพร้อมทางการเงินและประสบการณ์ที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ รวมถึงการเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ เราประกาศจ่ายปันผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการปรับตัวทางธุรกิจ ทำให้เราสามารถช่วงชิงโอกาสได้ทันกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรม ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าแรงส่งจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อผลิตภัณฑ์ของสิงห์ เอสเตท ผนวกกับพัฒนาการสำคัญต่างๆ ที่เราได้สร้างไว้ในปี 2566 นี้ จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับผลประกอบการในปี 2567 โดยอธิบายได้ตามหมวดธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจที่พักอาศัย: เราเห็นกิจกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จำนวน 1,734 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของยอดโอนทั้งปีมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการรับรู้ Backlog ของโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส และการรับรู้ยอดโอนของโครงการใหม่ สริน ราชพฤกษ์สาย 1 ที่มีมูลค่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งพึ่งเปิดตัวในต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมมียอดโอนกรรมสิทธิ์ทันทีกว่า 12% ของมูลค่าโครงการซึ่งเราเชื่อว่ายอดโอนของทั้งสองโครงการนี้ในปี 2567 จะสามารถปิดได้ตามเป้าหมายของเราที่ 2,000 ล้านบาท หนุนด้วยโครงการใหม่ SHAWN ทั้งสองทำเล ปัญญาอินทรา และวงแหวนจตุโชติ มีมูลค่าโครงการรวมกันราว 4,600 ล้านบาท ที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี เสริมด้วยการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการ The Extro พญาไทรางน้ำ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และ ณ ปัจจุบัน มียอดขายรอรับรู้รายได้ของโครงการแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท

ธุรกิจโรงแรม: เราเห็นสัญญานบวกที่แข็งแกร่งในปี 2567 จากจำนวนนักท่องเที่ยว และความเต็มใจในการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิเช่น (1) โรงแรมในประเทศไทย ได้รับแรงสนับสนุนจากการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงตามแผน ทำให้ตอบโจทย์กับกระแสนิยมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สะท้อนอัตราการเข้าพักในเดือนมกราคมในปี 2567 ของโรงแรมทั้ง 4 แห่งในประเทศไทยสูงถึงกว่า 90% ประกอบกับแผนการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดที่เราเตรียมทำเพิ่มในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะสามารถผลักดันผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (2) สัญญานการตอบรับอย่างดีของโรงแรม SO/ Maldives จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ ชาวรัสเซีย สหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง รวมถึงยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่แข็งแกร่งตลอดช่วง High Season ของปี 2567 ของโรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และ โรงแรม Hard Rock Hotel Maldives และ (3) ความต้องการท่องเที่ยวในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมถึงศักยภาพในการเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือนมกราคมปี 2567 นี้ เราสามารถบริหารอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่า 70% และมีระดับ RevPAR ในเดือนมกราคม เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 43% เป็นต้น

ธุรกิจอาคารสำนักงาน: บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารอาคารสำนักงานทุกแห่งเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถรักษาอัตราการปล่อยเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ได้เป็นอย่างดีท่ามกลางภาวะการณ์ต่างๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการเช่าพื้นที่ของอาคาร S-OASIS ในปี 2567 นี้จะขับเคลื่อนผลประกอบการของธุรกิจอาคารสำนักงานได้อย่างมั่นคง

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม: บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตโดดเด่นในปี 2567 จากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สอดคล้องกับความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภค หนุนด้วยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำจากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 270 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดรากฐานทางธุรกิจอันมั่นคงที่ได้สร้างไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จะเดินหน้ามุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไรในปี 2567 ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอ และยกประสิทธิภาพในการทำกำไร ได้แก่ (1) การเปิดตัวโครงการอสังหาฯ เพื่อการพักอาศัยต่อเนื่องที่ระดับ 10,000 ล้านบาท การเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ รวมถึงการช่วงชิงโอกาสจากเรียลดีมานด์ที่เติบโตผ่านการพัฒนาโครงการเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นโครงการระดับบน จำนวนยูนิตไม่มากอยู่โซนพื้นที่ใกล้เมืองและพื้นที่เมืองชั้นใน และการเปิดโอกาสเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโต (2) การมุ่งเน้นการลงทุนในโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ และการยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านทางการบริการที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น (personalized experiences) รวมถึงนำเสนอ Brand Concept ใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับสากล (3) การมองหาโอกาสในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และ (4) การปรับแผนการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่องได้

“เรามีความมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องอีกครั้งนึง ผนวกกับการควบคุมค่าใช้จ่าย พร้อมผลักดันอัตราการทำกำไรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนและรับผิดชอบให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพันธสัญญาที่จะพัฒนาสินค้าและบริการอันเป็นเลิศ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า ดั่งที่ สิงห์ เอสเตท ได้ทำมาด้วยดีแล้วตลอด ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อเพิ่มความพร้อมในการสนับสนุนการขยายการเติบโตและการทำกำไรให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง” นางฐิติมา กล่าวเสริม

SAWAD ปิดงบปี 66 ทำกำไรสุทธิรวม 5,254 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อจ่อพุ่งทะยานสู่ 100,000 ล้านบาท หลังควบรวมสินเชื่อเงินสดทันใจ ด้านผู้บริหาร ธิดา แก้วบุตตา ชี้ปี 67 เป็นขาขึ้นเต็มตัว จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงหนุนต้นทุนทางการเงินลด คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น พร้อมเบรกความเสี่ยงผ่านการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อคุมระดับ NPLs ตามกรอบ 3-4% ตั้งเป้าปีมังกรรุกตลาดอาเซียนและดันพอร์ตสินเชื่อขยายตัวอย่างต่ำ 20% ส่วนบอร์ดอนุมัติปันผลประจำปี 66 เป็นหุ้นด้วยอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล รอผู้ถือหุ้นไฟเขียว พร้อมจ่าย 23 พฤษภาคมนี้

ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีกำไรสุทธิรวม 5,254 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยราว 15,743.7 ล้านบาท และรายได้อื่นราว 3,170.8 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 18,914.5 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การเติบโตในปี 2566 มาจากธุรกิจหลักสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการควบรวมกิจการของบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ส่งผลให้รับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ผลักดันพอร์ตสินเชื่อทั้งปีขยายตัวสูงที่ระดับ 98,569 ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำรองลดลงเนื่องจากการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองพิเศษเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 จึงสนับสนุนให้ทั้งปีมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4/2566 มีรายได้ดอกเบี้ย 4,546 ล้านบาท และรายได้อื่นอยู่ที่ 769 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 5,313 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยขนาดของสินเชื่อคงเหลือที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง

“ปี 66 เป็นปีที่เราได้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่าช่วงโควิด อีกทั้งยังได้ซื้อคืนเงินสดทันใจเพื่อมาบริหารธุรกิจต่อ จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมของปีนี้โตขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมาก และในปี 67 เรายังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยยึดหลักเกณฑ์แบงก์ชาติในการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม ดังนั้นพอร์ตสินเชื่อปีนี้จะอยู่ในอัตราเติบโต 20-30% และคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในช่วง 3-4% ซึ่งเป็นระดับปกติของเครือศรีสวัสดิ์ในช่วงที่มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ส่วนปัจจัยหนุนคาดว่าปีนี้จะได้อานิสงส์ที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลด กอร์ปกับคุณภาพหนี้ที่ดีมากยิ่งขึ้นของพอร์ตโดยรวม ขณะเดียวกันมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยในบางผลิตภัณฑ์และเริ่มกลับมาโฟกัสในการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอาเซียนเพิ่ม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ธิดา กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจัดสรรกำไรประจำปี 2566 ด้วยการจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล โดยกำหนดเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุม โดยหากที่ประชุมอนุมัติ บริษัทจะดำเนินการกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 8 พ.ค. 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 23 พ.ค. 2567

APCO เผยผลประกอบการปี 2566 รายได้รวม 309.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 108.74 ล้านบาท โต 33.92% เตรียมจ่ายปันผล 0.18 บาท/หุ้น คิดเป็น 100% 13 ปีซ้อน งานวิจัยล่าสุด ย้อนวัย ชะลอวัย สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันมะเร็ง และ HIV/AIDS พร้อมตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Food Science & Nutrition ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค สร้างการเติบโตตามเป้า 10-15% รักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 80%

 

ศ. ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO เจ้าของธุรกิจนวัตกรรมธรรมชาติเพื่อสุขภาพและความงามด้วยการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายครบวงจร เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 309.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 264.87 ล้านบาท จำนวน 44.67 หรือเพิ่มขึ้น 16.87% และ มีกำไรสุทธิ 108.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 81.20 ล้านบาท จำนวน 27.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.92%

 

โดยผลประกอบการของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นวัตกรรมวัฒนาชีวา ย้อนวัย ชะลอวัย นวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ นวัตกรรม ByeByeHIV ทำให้ยอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท หรือคิดเป็น 100% ของกำไรสุทธิ ถือเป็นปีที่ 13 ที่บริษัทจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตรา 100% อย่างต่อเนื่อง โดยจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดทั้งสิ้น 108.00 ล้านบาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 30 เม.ย. 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 13 พ.ค. 2567 โดยมติดังกล่าวเตรียมนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 วันที่ 22 เม.ย. 2567 เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานการพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในวารสารนานาชาติ Food Science & Nutrition เรื่องนวัตกรรมวัฒนชีวา ที่เพิ่มความยาวเทโลเมียร์ ซึ่งทำให้เกิดการย้อนวัย และเพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันมะเร็ง และนวัตกรรม ByeByeHIV ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติแล้ว 50 ราย และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความสำเร็จก่อนทุกประเทศทั่วโลก ผลงานที่พิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติทั้ง 2 เรื่องนี้ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ APCO และสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค ส่งผลต่อ

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตปีนี้ 10-15% และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 80%

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) โดย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการ , ดร.ชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริหาร, นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 โดยมีวาระสำคัญเพื่อรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 พร้อมลงมติอนุมัติจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.02 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลสูงถึง 42% ของกำไรสุทธิ การจ่ายปันผลในครั้งนี้เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในเงื่อนเวลาที่เร็วกว่าที่บริษัทฯ คาดการณ์ไว้ โดยในปี 2565 บริษัทฯ สร้างรายได้รวมเติบโตกว่า 62% พร้อมรายงานกำไรสุทธิสูงถึงประมาณ 500 ล้านบาท ความสำเร็จนี้เป็นเครื่องยืนยันความสามารถของบริษัทฯ ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจที่พักอาศัยประเภทบ้านแนวราบสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น ภายหลังจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจได้เพียง 1 ปี บริษัทฯสามารถเปิดตัวบ้านเดี่ยวโครงการแรกภายใต้ชื่อ โครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส พัฒนาการ (SIRANINN Residences Pattanakarn) มูลค่าโครงการกว่า 2,900 ล้านบาท และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเกินความคาดหมายด้วยยอดโอนกรรมสิทธิ์สูงกว่า 830 ล้านบาทภายในสองเดือนหลังจากเปิดตัวโครงการ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และการยอมรับในคุณภาพบ้านแบบสิงห์ เอสเตท นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรุกตลาดโครงการบ้านแนวราบอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ในปี 2566 นี้ บริษัทฯ จะทยอยเปิดตัวโครงการใหม่อีก 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะพร้อมโอนกรรมสิทธิ์และหนุนรายได้ของบริษัทฯ ในช่วงปลายปีนี้ เสริมทัพด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากทุกหน่วยธุรกิจที่คาดว่าจะสร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธรุกิจโรงแรมในปี 2566 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกของการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก และโรงแรม ในทุกประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินกิจการอยู่สามารถเทรดได้เต็มที่ ซึ่งจะผลักดันรายได้และผลกำไรจากธุรกิจโรงแรม ที่ดำเนินงานผ่าน SHR ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

จากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น บริษัทฯ มีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนผลการดำเนินงาน สู่เป้าหมาย All-time High ทั้งรายได้และกำไรในทุกพอร์ตธุรกิจ ภายใต้แรงส่งสำคัญจากกลยุทธ์ S EXCELS มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกมิติ โดยบริษัทฯ วางเป้าให้รายได้รวมของบริษัทฯเติบโตขึ้นอีก 34% สู่ 16,700 ล้านบาท ยังผลไปถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน” นางฐิติมา กล่าว

ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม ช่องทางการชำระเงินที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทย  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2561 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวมเป็นเงิน 234 ล้านบาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับงวด 6 เดือน กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลระหว่างกาลปี 2561 (Record date) ในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 4 กันยายน 2561

 โดยผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 1,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,484 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 275 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกบริษัทสามารถติดตั้งตู้บุญเติมเพิ่มขึ้นอีก 5,695 ตู้ ทำให้ปัจจุบันมีตู้รวมทั้งสิ้น 130,348 ตู้ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าเติมเงินทั้งบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร บริการเติมเงินออนไลน์ประเภทอื่น ๆ รวมทั้งบริการรับชำระบิลอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 25% หรือมีมูลค่าเติมเงินรวม 21,032 ล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้บริการ 25 ล้านเลขหมาย และจำนวนการทำรายการผ่านตู้บุญเติม 2.2 ล้านรายการต่อวัน

 ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2 บริษัทมีรายได้รวม 849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 769 ล้านบาท กำไรสุทธิ 144 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการเชิงรุกเล็งจุดติดตั้งคุณภาพ เพื่อให้ยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ (ARPU) เพิ่มมาที่ 32,198 ต่อตู้ต่อเดือน รวมไปถึงบริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริการและบริหารให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

  “ตู้บุญเติม” ยังถือเป็นผู้นำตลาดตู้เติมเงินออนไลน์ ทั้งในส่วนของจำนวนตู้และมูลค่าการเติมเงิน ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด อยู่ที่ประมาณ 22% จากมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-Paid) รวมกว่า 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทยังคงรักษาแนวทางการทำงานด้วยกลยุทธ์จุดตั้งตู้บุญเติมที่มีคุณภาพ ทั้งจุดติดตั้งในพื้นที่ใหม่ และปรับเปลี่ยนในทำเลเดิม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการขายด้วยแคมเปญต่างๆ ทั้งรายการสะสมแต้มเพื่อชิงโชคและแลกของรางวัล รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆตามเทศกาลเพื่อตอบแทนลูกค้าที่ใช้บริการตู้บุญเติม

 สำหรับการดำเนินงานในครึ่งปีหลังบริษัทเชื่อว่าจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วยฐานลูกค้าเดิมที่เป็นกลุ่มผู้นิยมใช้เงินสดในการใช้จ่าย รวมถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ใช้ “Be Wallet” แอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (E-wallet) โดยบริษัทจะเพิ่มการให้บริการใหม่อื่นๆ ที่ช่วยทำให้ตู้บุญเติมเป็นช่องทางที่ครบวงจรมากขึ้นและเพิ่มความสะดวกและตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด อาทิ เพิ่มธนาคารสำหรับโอนเงินอีก 2 ธนาคาร ตามนโยบายที่จะให้บริการประเภทโอนเงินบนตู้เติมเงินกับ 4 ธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และฐานลูกค้าให้รู้จักกับตู้บุญเติม นอกจากนี้ จะเพิ่มบริการการชำระค่าตั๋วโดยสาร การชำระบิลสาธารณูปโภค การขายประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และบริการอื่น ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทในปัจจุบันยังคงมาจากธุรกิจให้บริการเติมเงินประมาณ 83% ส่วนที่เหลือเป็นการโอนเงิน และบริการอื่นๆ

 ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายจะติดตั้งตู้บุญเติมเพิ่ม 10,000 ตู้ ทำให้สิ้นปี 2561 มีตู้บุญเติมรวมทั้งสิ้น 134,653 ตู้ เพื่อสนับสนุนให้มูลค่าการใช้บริการผ่านตู้บุญเติมเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2560 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% และผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

  นอกจากนี้ บริษัทฯ เล็งต่อยอดธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในการพัฒนาธุรกิจใหม่ผ่านตู้เติมเงิน อาทิ การจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ และการรับพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) ให้กับกลุ่มธนาคารและกลุ่ม e-Wallet ต่าง ๆ เป็นต้น โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ โดยทั้ง 2 บริการยังคงเกี่ยวโยงกับธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งเป็นโอกาสในการอำนวยความสะดวกทั้งผู้ใช้บริการและธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้าสู่สังคมระบบดิจิทัลต่อไป

X

Right Click

No right click