MBA Special Blockchain

December 17, 2018 4482

หลายปีมานี้ ผมเชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Disrupt” กันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเคสของธุรกิจใหญ่น้อยทั่วโลกที่ถูกเจ้าคำว่า “Disrupt” นี่เล่นงานจนแทบจะล้มหายตายจาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เจ้า “Disrupt” นี่เองก็ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบและโมเดลในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์แหวกแนวขึ้นจนธุรกิจมีมูลค่าได้มหาศาล โดยสาเหตุของการตายจากหรือเติบโตเหล่านี้สามารถได้ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนส่งกระทบกับธุรกิจในรูปของโอกาสและภัยคุกคามแล้วแต่ว่าตัวธุรกิจนั้นปรับตัวเองได้ดีแค่ไหน  

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้งานตลอดเวลาเหมือนอากาศที่หายใจ  มีซีพียูคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หน่วยเก็บข้อมูลก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนพลังทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมของพวกเราทุกวัน  และเชื่อว่าปีสองปีมานี้เราคงได้ยินชื่อเทคโนโลยีนึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง นั่นก็คือ Blockchain

กำเนิดและจุดเด่นของ Blockchain

Blockchain นั้นเป็นแนวคิดใหม่ในการเก็บข้อมูล มันเกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวปฏิรูปที่ประสงค์จะสร้างระบบทางการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ตัวกลาง หรือธนาคารใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอิสรภาพในการโอนย้าย “เงิน” ของพวกเขาโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หรือตกอยู่ภายใต้ระเบียบข้อจำกัดใดๆ  และนั่นทำให้ต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ที่ข้อมูลไม่ได้รวมกันอยู่ในศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงจากไหนก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ แนวคิดการบันทึกข้อมูลแบบใหม่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Blockchain และเนื่องจากแนวคิด Blockchain นี้สามารถขจัดปัญหาของการเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิมที่รู้จักกันได้หลายเรื่อง จึงทำให้มันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจ และเชื่อกันว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิด  Disruption กับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางในเรื่องต่างๆ เช่น ธนาคาร ทะเบียนประวัติ กรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน เป็นต้น  โดยคุณสมบัติเด่นๆ ของ Blockchain ก็คือ

  • ข้อมูลแบบกระจายศูนย์ - Blockchain ใช้แนวคิดของการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบทุกๆ เครื่อง
  • โปร่งใสและเชื่อมั่นได้ – การทำธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะเป็นที่รับรู้ในเครือข่ายทั้งหมด และมีกระบวนการในสอบทานและยืนยันความถูกต้องอย่างรัดกุม
  • เปลี่ยนแปลงไม่ได้ – Blockchain ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์เพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกเขียนลงไปใน Blockchain โดยทฤษฎีแล้ว มันจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ หากมีเครื่องไหนที่ข้อมูลไม่ตรงกับคนอื่น ข้อมูลในเครื่องนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับและถูกตัดออกจากระบบ ทำให้ข้อมูลใน Blockchain แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ในภายหลัง
  • ใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากแนวคิดการกระจายศูนย์ของ Blockchain ส่งผลให้เครือข่าย Blockchain สามารถทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไหนชำรุด หรือระบบเครือข่ายมีการขัดข้อง

เทคนิคของ Blockchain

Distributed Database

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดหลักของ Blockchain คือการไม่มีศูนย์กลางข้อมูล แต่ให้ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับทุกคนและทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยใช้หลักฐานข้อมูลแบบกระจาย จะเห็นว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบนี้ จะลดปัญหาการที่ระบบทั้งหมดจะต้องไปพึ่งพิงฐานข้อมูลเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณไปที่สถานีรถไฟฟ้าเกิดเหตุระบบสื่อสารขัดข้อง ทำให้เครื่องอ่านบัตรไม่สามารถตรวจสอบวงเงินในบัตรของคุณจากฐานข้อมูลกลางได้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่สามารถใช้บัตรได้ ยังไม่นับว่าถ้ามี hacker ไหนเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลซึ่งมีอยู่ที่เดียว และลบข้อมูลยอดเงินของทุกคนออกเพียงเท่านี้ก็จบแล้ว แม้จะมีทางแก้ไขด้วยการสำรองข้อมูล แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะดึงข้อมูลสำรองออกมาใช้ได้  แต่อย่างไรก็ดีมันมีคำถามว่า ในสภาพที่มีฐานข้อมูลในระบบจำนวนมาก หากข้อมูลแต่ละคนเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา จะมีใครฟันธงได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร คำตอบของเรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก นั่นก็คือประชามติ

Consensus

ธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันในเครือข่าย Blockchain ก่อนเสมอ และมีโอกาสที่ข้อมูลในเครื่องเราหรือบางเครื่องในเครือข่ายจะไม่ตรงกัน ซึ่งในกรณีนั้น เครือข่าย Blockchain จะถือว่าค่าที่ถูกต้องคือค่าที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องส่วนใหญ่ของเครือข่าย และเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลในเครื่องที่ต่างออกไปเหล่านั้น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ blockchain แต่ละระบบว่าจะทำอย่างไรกับพวกชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ บางระบบก็เลือกที่จะตัดเครื่องเหล่านั้นออกไปเลย แต่บางระบบก็ออกแบบให้พวกที่ข้อมูลไม่เหมือนจะต้องทำการ Sync ฐานข้อมูลใหม่ ให้ตรงกับคนอื่น การเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลของเครื่องบางเครื่องที่ต่างออกไป ทำให้ Blockchain มีคุณสมบัติด้านความเชื่อถือได้ของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ชำรุดหรือถูกแก้ไขโดยมิชอบ จะเกิดขึ้นได้แค่กับบางเครื่อง ซึ่งจะไม่เป็นที่ยอมรับในเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับเครื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แบบนี้มันไม่ทำให้ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดเหรอ คำตอบเรื่องนี้อยู่ในชื่อของมันเอง “Block” & “Chain”

Block and Chain

ชื่อของ Blockchain นั้นมีที่มาจากสองคำ คือคำว่า Block และ Chain  เพราะการบันทึกข้อมูลของ Blockchain จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงใน “Block” เป็นอันๆ คล้ายๆ กับที่เรามีสมุดบัญชีเป็นเล่มๆ และที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูลจะไม่ใช้วิธีการเขียนทับเช่น เดิม A= 5 แก้เป็น A= 17  แต่เป็นการจดต่อไปเรื่อยๆ (Append Only) เหมือนเราเขียนธุรกรรมในสมุดบัญชีเลย (จากกรณีเก่า ก็จะเป็น A = 5, แล้วก็ A + 12)  จนกระทั่งเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น Block เต็ม หรือครบกำหนดเวลา เราก็จะเลิกบันทึกข้อมูลใน Block นี้และไปขึ้น Block ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างออกไปคือ ตอนปิด Block  เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า hash ซึ่งอธิบายสั้นๆ คือการนำข้อมูลทั้งหมดใน Blockไปเข้ากระบวนการทางคณิตศาสตร์อันนึง ผลลัพธ์ของมันจะเป็นชุดอักขระชุดหนึ่งที่ยากยิ่งจะจดทำ เช่น 00000000000008a3a41b85b8b29ad444def299fee21793cd8b9e567eab02cd81 และด้วยเหตุที่อักขระชุดนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดใน block ดังนั้นถ้าหากข้อมูลใน block นี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่เพียงน้อยนิด แล้วเอามาทำ hash ใหม่ hash อันที่สองจะไม่เหมือน hash อันแรก ดังนั้นการตรวจสอบ Block จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลทั้งหมดของ block แต่เพียงแค่เอาค่า hash มาเทียบกันก็รู้แล้วว่าเนื้อใน block ตรงกันหรือไม่ นี่คือคำว่า Block ทีนี้ แล้วอะไรคือ Chain  

เมื่อปิด Block และได้ค่า hash ก็จะเริ่มมีการบันทึกรายการต่างๆ เข้าสู่ block ถัดไปโดยจะได้มีการนำค่า hash ของ Block ก่อนหน้ามาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลใน Block ปัจจุบันนี้ด้วย  ดังนั้นหากเราปิด Block นี้และได้ค่า hash ล่าสุดออกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ฝังค่า Block ที่แล้วไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะถ้าเปลี่ยน เราจะรู้ทันทีเนื่องจากมันไม่ตรงกับ hash ใน block นี้ เจ้าตัว hash ที่ฝังต่อๆ กันไปตาม block ต่างๆ ที่จะต้องตรงกันเป็นคู่ๆ เสมือนเป็นโซ่ที่ล่าม block เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน และจากแนวคิดที่ทุกบิทของข้อมูลมีผลต่อค่า hash  + เรื่องที่ว่าค่า hash ส่งผลต่อค่า hash กันไปเป็นทอดๆ + ฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจะถูกตัดทิ้ง  ทำให้ Blockchain กลายเป็นวิธีการบันทึกข้อมูล ที่เมื่อบันทึกลงไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก เชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และสามารถใช้งานข้อมูลได้ตลอดเวลา

Blockchain กับธุรกิจ

ในแง่ประโยชน์

หากธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวพันกับคนทั้งในและนอกองค์กร ซึ่งปกติทั้งสองฝ่ายต้องมีคนคอยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในกระบวนการเช็คกันไปกันมา การใช้ Blockchain จะสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และปลอดภัยต่อการถูกแก้ไขหรือแอบนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งเครือข่ายจะมีเสถียรภาพสูง ขัดข้องได้ยาก นอกเหนือจากนี้การใช้ Blockchain  ยังเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแง่ของผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ภาคส่วนต่างๆ มาสร้างมูลค่าร่วมกันได้ อาทิ  Platform ในการสร้างสินค้า Digital เช่น เพลง การ์ตูน หรือนิยาย  แล้วบันทึกลงไปใน Blockchain ทำให้มันกลายเป็น Digital Asset ที่สามารถซื้อขาย หรือเช่าใช้ สิทธิ์ในตัว Asset นี้

ในแง่ภัยคุกคาม

หากธุรกิจของคุณเป็นตัวกลาง อาทิ ธนาคาร ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อมาขายไป เว็บขาย contents อย่าง iTune  ฯลฯ Blockchain จะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของคุณเต็มๆ เพราะตัวมันเองเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดตัวกลาง และมุ่งให้แต่ละภาคส่วนเชื่อมโยงกันเองโดยตรง ตัวอย่างเช่น เราคงรู้จักบริการแบบ Netflix ซึ่งซื้อ contents จากผู้ผลิตมาจำนวนนึง แล้วให้ผู้บริโภครับชมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ด้วย Blockchain  ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ลงโฆษณา และผู้ชม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน Blockchain จะช่วยให้เจ้าของ contents มั่นใจได้ว่าจำวนการรับชมที่เกิดขึ้นตรงต่อความเป็นจริง ผู้ลงโฆษณามั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนปรากฏขึ้นตามเงื่อนไข ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ผู้รับชมก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ

ในตอนท้ายนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่า Blockchain นั้นคืออะไร และทำไมมันถึงถูกกล่าวขวัญถึงในช่วงนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องลองคิดดูว่าเราจะใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร หรือจะ Transform ธุรกิจของเราอย่างไร จากเทคโนโลยีนี้


บทความ โดย : คณิต  ศาตะมาน   Co-Founder Siam ICO Co, Ltd.


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain Application, The new Management Instrument and Transformation
โดย คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd. จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 31 August 2019 18:43
X

Right Click

No right click