×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

สถาบันการศึกษา กับการพัฒนาเทคโนโลยี

December 06, 2017 6186

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นมา ยาวนานของประเทศไทย สั่งสมองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ กับบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัจจัยที่จะกระทบต่อโลกการศึกษาว่าประกอบด้วย

 

ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงขึ้น ความต้องการผู้ที่มีความรู้ในสหวิชาการมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และการศึกษา การเข้ามาของ Value Base Economy การที่เอเชียมีความสำคัญมากขึ้น และเรื่องสังคมผู้สูงวัย

 

หน้าที่ของมหาวิทยาลัยนอกจากการสร้างคนเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว ยังมีการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ โดยในส่วนของการสร้างคน ศ.ดร.บัณฑิต มองว่ามหาวิทยาลัยจะต้องเสริมสร้างบุคลากรที่มีคุณลักษณะ 3 ด้าน ประกอบด้วย Literacy มีความรู้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งสะสมมาตั้งแต่เด็กจนถึงมหาวิทยาลัย Competnecy คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์จัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ นำพาองค์กรและส่วนงาน และ Character คุณลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ที่มหาวิทยาลัยสามารถช่วยเสริมให้ บทบาทของมหาวิทยาลัยภายใต้ปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศ.ดร.บัณฑิตมองว่า สิ่งที่จุฬาฯ จะมุ่งเน้น คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น โดยจุฬาฯ จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัย ระบบบริหารงาน ระบบการเรียนการสอน พัฒนานิสิต และการเข้าไปช่วยเหลือสังคม และมีอีกบทบาทหนึ่งที่จุฬาฯ จะทำคือเรื่ององค์ความรู้สำหรับอนาคต โดยใช้ฐานจากสิ่งที่จุฬาฯ มี ประกอบด้วย “หนึ่ง จุฬาฯ มีองค์ความรู้เดิม สอง เป็น Rising Issue เป็นเรื่องที่มีอนาคต สาม เป็นเรื่องที่อยู่เมืองไทยแล้วไม่เสียเปรียบหากได้เปรียบยิ่งดี จาก 3 ฐานจึงมากำหนดเป็น 4 ธีม คือ 1. Aging Society 2. Smart and Digital Economy 3. Sustainable Development โดยเน้นเรื่อง Food, Water, Energy 4. Smart Inclusive Community ซึ่งเกี่ยวกับชุมชนสังคม

 

ศ.ดร.บัณฑิตอธิบายต่อว่า “4 ธีมเป็นธีมที่เปิดแพลตฟอร์มให้กับคนต่างศาสตร์สามารถมาทำงานร่วมกัน ไม่เฉพาะอาจารย์ รวมไปถึงนิสิตด้วย” การจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการเชื่อมโยงทั้งภายในตัวมหาวิทยาลัยเองและภายนอก ปัจจุบันจุฬาฯ ขยายโครงการ CU Innovation Hub ไปสู่ Siam Innovation District เป็นการขยายแพลตฟอร์มที่จะเปิดให้คนภายในสามารถเข้ามาร่วมกันกับประชาคมจุฬาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นขณะเดียวกันในการกระตุ้นสร้างความคิดใหม่ๆ ก็มีการกระตุ้นด้วยการเปิดสอนวิชาที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้ค้นพบตนเอง สามารถทำกิจกรรมและเรียนรู้โลกสมัยใหม่ เช่น โครงการจักรยาน โครงการ Chula Zero Waste ที่ตอบรับกับกระแสการใช้ชีวิตในยุคใหม่ การเปิดพื้นที่ให้นิสิตมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น การจัดงาน Inno Dating ที่ให้อาจารย์ต่างสาขามาพบปะแลกเปลี่ยนผสมผสานวิธีแก้ปัญหาต่างๆ 

 

 มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนนวัตกรรม

“มีคำพูดว่า มหาวิทยาลัยควรจะเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเรื่องนวัตกรรมของชาติ นี่คือบทบาทมหาวิทยาลัย คำนี้พอดีไปบรรยายที่ไต้หวัน ทางไต้หวันเขาพูดคำนี้มา ก็จริง แล้วเราก็ทำอยู่แล้ว” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าวและอธิบายต่อว่า “ข้อดีของจุฬาฯ คือมีหลากหลายศาสตร์ ไม่ได้มีเฉพาะแพทย์ศาสตร์ ไม่ได้เน้นเฉพาะวิศวกรรมศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ จุฬาฯ นี่ผสมผสานและสมดุลด้วย แค่ดูอาจารย์สายศิลป์กับสายวิทย์นี่เกือบครึ่งๆ 49:51 นิสิตก็ไม่ต่างกัน จุฬาผมพูดได้ว่าครบเครื่อง ครบทุกศาสตร์ วันนี้เราจะทำเรื่อง Aging ก็ไม่ได้ต้องแค่คณะแพทย์ วิศวะ มีสถาบันสังคม รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สถาปัตย์ บัญชีมาร่วมด้วย ถ้าผมเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ผมก็จะไม่มีมิติเรื่องสังคม จุฬาฯ ข้อดีคือมีครบ” 

 

“เรื่องอินโนเวชัน หัวใจสำคัญคือเรื่องข้ามศาสตร์ เราสร้างแพลตฟอร์ม เชิญอาจารย์รุ่นใหม่มาเจอกัน อบรม กันคุยกัน ให้มารู้จักกัน สร้างเป็นกองหน้าให้กับจุฬาฯ” 

 

ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่จำนวนมาก ศ.ดร.บัณฑิตมีแนวคิดในเรื่องนี้ว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยก็คาดหวัง จริงๆ เป็นความคาดหวังของรัฐว่าเมื่อลงทุนทางด้านงานวิจัยไปมากมายก็หวังจะได้ผลตอบแทนจากทรัพย์สินทางปัญญากลับคืน แต่เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ที่ผ่านมาในอดีตจนปัจจุบัน รายได้ที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญามีน้อยมาก หลักแสนบาทต่อปี ลงทุนปีหนึ่งเป็นสิบล้านบาท ถามว่ายังจดสิทธิบัตรทางปัญญากันอยู่ไหม ก็จด แต่ไม่มีคนเอาไปใช้ ธุรกิจไม่เอาไปใช้ เพราะธุรกิจก็ซื้อมาขายไปเป็นหลัก หลายปีมานี้เริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ เริ่มลงทุนวิจัยพัฒนาและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ดูเหมือนกระเตื้องขึ้น แต่ผมมองระยะยาว อาจจะต้องปรับ หลายประเทศเราจะพบว่าค่าใช้จ่ายในการจดสิทธิบัตรสูง ด้วยระบบที่มีอยู่ และเราก็หวังว่าจะมีคนเอาไปใช้ แล้วเราจะได้เงินกลับคืนจากการให้ไลเซนส์

 

“ผมกำลังคิดอยู่ว่า เปิดไลเซนส์ฟรีไปเลยดีไหม ของที่มีอยู่ เพราะวันนี้ที่มีอยู่ก็ไม่ได้นำไปใช้ ขอให้มีคนเอาไปใช้ อยู่ในเมืองไทยให้ไปเถอะ คนที่เอาไปใช้แล้วสำเร็จเดี๋ยวเขามีใจกลับมาให้เอง เพราะหลายมหาวิทยาลัยในโลกนี้เริ่มเปลี่ยนแล้ว สมมติผมเอาเทคโนโลยีหนึ่งไปใช้สร้างตัวร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีผมก็ต้องนึกถึง ต้องกลับมาให้น้องๆ มาลงกองทุนมาทำอะไรก็ได้ เป็นวัฒนธรรมการบริจาคกลับ “อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสรุป   

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : อาทิตย์ กัณฐ์กำพล

 

 

Last modified on Tuesday, 19 November 2019 06:43
X

Right Click

No right click