×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

หลากมิติของ ‘Good Life’ & ‘Sustainable’

August 13, 2018 4279

ท่ามกลางโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด! นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง เปิดนิยามคำว่า ‘Good Life’ ครบทุกมิติ สะท้อนทัศนะ “คุณภาพชีวิตดี-สมดุล-ยั่งยืน” ผ่านเวทีเสวนา THAILAND MBA FORUM 2018 ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ: The Next Chapter of Technology for Sustainable & Good Life 

Good Life

ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามคำว่า Good Life ผ่านเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ระบบน้ำที่ดีมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับน้ำที่เห็นได้ชัดเจน ยังคงเป็นเรื่องของภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง 

ทว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการยึดหลักความพอเพียง ทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค รวมถึงการแบ่งปันให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างครอบคลุม

"นิยามคำว่า Good Life ของประเทศไทย ผมเน้นไปที่เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน น้ำ-สิ่งแวดล้อม และ สภาพเศรษฐกิจสังคม ‘น้ำ’ ถือเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ทุกคนจะต้องใช้น้ำ ซึ่งสาธารณูปโภค (Utility) ตามนิยามมีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ น้ำ กับ ไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ 

ด้วยความที่ประเทศไทยมีน้ำมากอยู่พอสมควร แต่ในอนาคตอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ในเรื่องของประชากร อาจส่งผลไปสู่การแย่งชิงน้ำเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเรื่องความยั่งยืน ทั้งความมั่งคงทางด้านน้ำ (Water Security) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ
ความสามารถในการผลิต (Water Productivity) 

นั่นคือ การทำอย่างไรให้น้ำ 1 หน่วย มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในเรื่องของ มหันต์ภัย (Water Disaster) เพราะประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอยู่ตลอด หลักๆ ควรมีน้ำอย่างพอเพียง ทั้งในเรื่องอุปโภค-บริโภค มีการแบ่งปันให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเศรษฐกิจดี สังคมก็จะดี" 

ด้าน ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความถึงคำว่า Good Life ว่ามีความหมายในแง่ของความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ที่สำคัญคือการมีสิทธิ์ในการได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

“ผมคิดว่า Good Life อาจหมายถึงการที่มนุษย์สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ รวมไปถึงการมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาที่เหมาะสมตรงตามความต้องการ มีสิทธิ์เข้าถึงอาหาร น้ำดื่ม และทรัพยากรอื่นๆ ที่เหมาะสมกับเรา 

แต่ส่วนสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ คือ ข้อจำกัดของเศรษฐกิจครอบครัวที่กลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเลือกสาขาอาชีพที่อยากทำในอนาคตได้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ Good Life ที่ดีนัก เพราะข้อจำกัดอันเกิดขึ้นจาก ตัวเศรษฐกิจทางบ้าน ข้อจำกัดอันเกิดจากการที่เราไม่ได้เกิดมาในถิ่นฐานที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ 

นั่นหมายความว่าระบบของภาครัฐที่จะลงมาช่วยดูแลและสร้างองค์ประกอบภาพรวม ซึ่งทำให้คนทุกคนที่เกิดอยู่ในประเทศของเรา หรือในทุกๆ ที่ในโลก น่าจะมีสิทธิ์เลือกการศึกษา รวมไปถึงมีสิทธิ์ในการเลือกประกอบอาชีพที่ตัวเองอยากทำ เพราะการที่ได้เลือกทำในสิ่งที่รัก มันจะนำมาซึ่งอิสระและความสุข” 

สอดคล้องกับผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office SCG วีนัส อัศวสิทธิถาวร ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านมุมมองของภาคเอกชนด้วยว่าการมีชีวิตที่ดีนั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งยังต้องมีความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน

“ในมุมของภาคเอกชน SCG เรามีเรื่องของการผลิตเป็นหลัก ฉะนั้น เรามองไปในมุมของลูกค้าว่าสิ่งที่เราผลิตและมอบให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ (Better Life) แน่นอนว่าเมื่อเรามองในมุมของคนทำธุรกิจ เป้าหมายของธุรกิจ คือ การสร้างรายได้ตอบแทนผู้ถือหุ้น 

เห็นว่าทฤษฎีห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ของคนทำธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่มุมมองของ SCG อาจแตกต่าง เรามองว่าหากลูกค้าได้ Good Life ผู้ถือหุ้นได้ Good Life อาจยังไม่พอ เรามองทั้ง Value Chain ยกตัวอย่างเช่น ซัพพลายเออร์ที่ส่งของมาให้เราผลิต ชุมชนที่อยู่รอบโรงงานเรา หรือพนักงานเราเอง 

อีกมุมที่มองเพิ่มเติม ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตที่ใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยเรื่องของการผลิตในอดีต เรามองเรื่องของการนำทรัพยากรมาผลิต หลังจากนั้นก็กลายเป็นขยะที่ไม่มีคุณค่า แต่สิ่งที่พูดถึงในวันนี้ในปี 2050 มีการประเมินว่า ประชากรจะเยอะขึ้น ขณะเดียวกันได้สวนทางกับทรัพยากรที่ลดน้อยลง

คนรุ่นลูก-รุ่นหลานจะไม่มีทรัพยากรใช้ หากเราไม่เตรียมการตั้งแต่วันนี้ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด แน่นอนว่าคนรุ่นหลังต้องลำบาก ดังนั้น ทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนวิธีการมองให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น 

นั่นคือการทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อให้เรามี Good Life แต่เจเนอเรชันต่อๆ ไปจะได้รับ Good Life ที่พอเพียงด้วยเช่นกัน ตอนนี้ SCG ลุกขึ้นมาเผยแพร่ Circular Economy ให้กับภาคธุรกิจด้วยกันได้รับทราบ เพื่อที่เปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรให้การทำอุตสาหกรรมมีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” 

ด้าน ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ Managing Director, 3P Consulting Co., Ltd. ฉายภาพใหญ่ของการพัฒนาชุมชนไว้ว่าแก่นสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ การเปลี่ยนกระบวนการความคิดและทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้

“ในมุมมองของการพัฒนาชุมชน เราพยายามทำให้เกิด “โอกาส” ของการรับรู้ ซึ่งการรับรู้อาจมาจากสิ่งที่เขารับมาจากการอ่าน จากการใช้ชีวิตประจำวัน ฉะนั้น การเข้าใจคือการเปิดโอกาสให้ได้รับรู้และเกิดการกระทำด้วย หลังจากที่ได้เรียนรู้แล้ว เขาจะต้องมีสิ่งที่รัก และได้เลือกสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ดี

การที่มนุษย์อยู่อาศัยอย่างมีเครือข่าย หรือเป็นสังคม-ชุมชน โอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ คือ สามารถทำงานได้เป็นหมู่คณะ ดังนั้น Good Life เกิดขึ้นได้จากการที่เขาเปลี่ยนวิธีคิดที่เขาได้เรียนรู้มา จากนั้นสามารถดึงเอาพลังของตัวเองออกมาได้

ถ้าพลังเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อและก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดเป็นชุมชนได้ พลังสามัคคีจะทำให้ Good Life เกิดขึ้นได้อย่างมีความมั่นคง ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญของเครือข่าย คือ เรื่องของจรรยาบรรณและศีลธรรม ในการอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปัน รวมถึงความสมดุลจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงการเดินก้าวต่อไป” ดร.พีระพงษ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าแนวคิดเกี่ยวกับนิยามของคำว่า Good Life ว่ามีทั้งเชิงปัจเจกบุคคลและในส่วนภาพรวมของประเทศ โดยมีแกนหลัก 3 ส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ความสุข ครอบครัว และ สังคม

“Good Life ในความคิดผม ผมแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือในชีวิตของคนทั่วไป ต้องการ 3 องค์ประกอบให้เกิดความสมดุล ส่วนที่หนึ่ง ‘ความสุข’ ส่วนที่สองคือ ‘ครอบครัว’ และ ส่วนสุดท้ายคือ ‘สังคม’

ดังนั้น ถ้าเราจะมี Good Life ในฝั่งที่เป็นปัจเจกบุคคล ผมคิดว่าเราต้องสร้าง ‘ความสมดุล’ ระหว่าง 3 ส่วนนี้ นั่นคือต้องมีชีวิตที่ดี ต้องทำงานอย่างมีความสุข และอยู่ในสังคมที่ดี

ส่วนอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเป็น Good Life ของคนทั้งประเทศหรือประชากรของโลก ในฐานะที่ผมเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทางด้านการเจริญเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราใส่คำว่า Good Life เข้าไปในความเติบโต ความสมดุล และความยั่งยืนด้วย

ถ้าเราอยากมี Good Life ในฝั่งภาพใหญ่ เราต้องมาร่วมกันนิยามคำว่า Good Life ไปด้วยกันว่าจะเติบโตอย่างไรให้สมดุลและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Circular Economy, Sustainable Development Goals, เศรษฐกิจพอเพียง, การปรับตัวทางด้านการศึกษา ล้วนมีความสำคัญในการทำให้เกิด Good Life ได้” 

Sustainable 

ผศ.ดร.อนุรักษ์ มองเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรน้ำ โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาก่อน รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างกันและกัน

“ความยั่งยืนจริงๆ แล้ว ต้องเริ่มจากการพัฒนาก่อน ถ้าไม่มีการพัฒนาก็จะไม่มีการยั่งยืนต่อไป ในทางกลับกันถ้าการพัฒนาไม่มีความสมดุล หรือไม่มีการบูรณาการ ก็จะไม่เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ความสมดุลในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเรา แต่รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม โลก สังคม ในทุกๆ มิติ วิธีการที่จะไปรอดมีทางเดียว คือ การพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่ายที่อยู่ในองค์รวมของระบบ ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน” 

ขณะที่ ดร.ประมวล เสนอมุมมองเพิ่มเติมในฐานะนักวิศวกรอุตสาหการ โดยมีแนวคิดว่าการเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่ดี ผ่านกลไกการทำงานของเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนร่วมด้วยเช่นกัน

“ผมเชื่อว่า เป้าหมาย (Goals) และ วิธีการ (Means) มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเครื่องมือที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น คือการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตก็จะดี ซึ่งสิ่งที่เป็นกลไกทำให้เศรษฐกิจดีในมุมมองของวิศวกร คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วงจรนี้ขับเคลื่อนได้ ผมคิดว่าถ้าทำให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีทางเลือก มีอิสระที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก รวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

ทางด้าน วีนัส ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ทาง SCG ดำเนินการในขณะนี้ คือ การอนุรักษ์น้ำ ซึ่งมีการน้อมนำแนวคิดจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มาเป็นแรงบันดาลใจ

“ทาง SCG ทำในเรื่องของการอนุรักษ์น้ำ ตั้งแต่ภูผาสู่มหานที ตามแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ที่โรงงานปูนซีเมนต์ไทย จ.ลำปาง แรกเริ่มเราได้สัมปทานป่าบริเวณนั้นเป็นป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่เราเริ่มสร้างโรงงานก็พบว่ามีปัญหาไฟไหม้ป่าทุกวัน รวมกว่า 300 ครั้งต่อปี 

เราจึงคิดว่าจะมีวิธีใดที่สามารถดับไฟป่าได้อย่างยั่งยืน จึงได้พบแนวทางที่สามารถแก้ปัญหา น้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย ไฟป่า นั่นคือ พระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ซึ่งท่านได้ทำการทดลองไว้ที่ห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ หลังจากได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำ พบว่าปัญหาไฟไหม้ป่าลดลง ซึ่งภารกิจของเราคงไม่สำเร็จ หากไม่มีการทำงานร่วมกันของชุมชน สิ่งสำคัญคือการสร้างชุมชนให้เป็นนักวิจัย โดยการการสร้างกระบวนการเรียนรู้” 

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงหลังการสร้างฝายชะลอน้ำ พบว่า รายได้จากของป่าและการทำเกษตรเพิ่มขึ้น 9,025 บาท ต่อครอบครัว/เดือน สำหรับรายได้จากอาชีพประจำเฉลี่ย 8,000 บาทต่อครอบครัว/เดือน ปัจจุบันสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 79,330 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด โดยมีเป้าหมายสร้างฝายชะลอน้ำทั้งสิ้น 100,000 ฝาย ในปี 2563 

สอดคล้องกับด้าน รศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้ฝากแนวคิดความยั่งยืนไว้ว่า ควรตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดความหวงแหนร่วมกันด้วยว่า ทุกคนคือเจ้าของแหล่งทรัพยากรและธรรมชาติ

“ผมอยากฝากคำว่า ‘ยั่งยืน’ เพราะว่าถึงเราพัฒนาขั้นตอนอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ยั่งยืน ผมคิดว่านั่นคงไม่ใช่คำตอบของประเทศ ผมว่ามีอยู่ 3 คำ นั่นคือ การคิดถึงคนรุ่นหลัง (For Next Generation) การตระหนักถึงปัญหา (Engagement) และสุดท้าย การทำให้รู้สึกว่าเขาคือเจ้าของ (Owner Ship)” 

สุดท้าย ดร.พีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องการศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว คือสิ่งสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของคุณภาพชีวิตได้ในมิติต่อไปของประเทศไทย

“ผมคิดว่าส่วนที่เป็น The next Chapter ได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือเทคโนโลยีที่เป็นทางด้านอุตสาหการต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของชุมชน ทั้งด้านการประกอบอาชีพ หรือส่วนที่ทำให้ร่างกายหรือชีวิตก้าวขึ้นสู่สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่แข็งแรงยั่งยืน” ดร.พีระพงษ์ กล่าว 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ The Next Chapter of Technology for Sustainable & Good Life จากงาน Thailand MBA Forum 2018  ได้ที่นี่


 

 

 

Last modified on Wednesday, 15 April 2020 16:27
X

Right Click

No right click