×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

สร้างอาชีพแห่งอนาคตอย่างไร ให้ดีต่อใจและเป็นที่ต้องการ

November 29, 2017 3384

เมื่อกล่าวถึงอาชีพในอนาคต (Future Career) สิ่งที่เป็นกระแสยอดฮิตคงหนีไม่พ้นความกังวลเรื่องการถูกแย่งงานจากปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) และหุ่นยนต์ Robotic วันนี้ เอ็มจึงพาทุกท่านมาไขข้อข้องใจ กับผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และผู้ที่ทำอาชีพแห่งอนาคต หรือ Future Careerist อย่าง Data Scientist และ Venture Capitalist แต่ละท่านมีความเห็นอย่างไรบ้าง

 

 

 

จากภาพใหญ่ ในมุมมองของ ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขององค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจในอนาคต หรืออาชีพในอนาคตก็ตามความเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากความต้องการของมนุษย์ ดังนั้น ตราบใดก็ตามที่คนยังให้คุณค่ากับฝีมือคน AI จะยังไม่มาแทนที่มนุษย์ในสายอาชีพนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมใดก็ตามที่ เช่น อาหารจากพ่อครัวชื่อดัง AI ก็จะไม่มาแทนที่ แต่ AI จะมีบทบาทในรูปแบบของการเพิ่มคุณภาพชีวิตคน ทำงานที่คนไม่ได้อยากทำ หรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ เช่น การทำความสะอาด หรืองานธุรการง่ายๆ เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทย ในบริบทของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์ก็จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในการทดแทนแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ดี หากแต่แรงงานที่ต้องใช้ทักษะพื้นฐานที่มีค่าจ้างสูงใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการนำหุ่นยนต์มาใช้ อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งงาน ตามกฎของชาลส์ ดาร์วิน เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอด ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวเก่งที่สุดต่างหาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการอยู่รอด คือ การปรับตัวโดยการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ให้มีทั้งด้าน Cognitive Skill และ Human Skill อย่างสมดุล 

 

 

มามองบริบทในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกากันบ้าง ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล (ต้า) ผู้ซึ่งจบปริญญาเอกจาก MIT เคยเป็น Data Scientist ที่ Facebook ใน ซิลิคอน แวลลีย์ มาก่อนมองว่า AI ยังมีข้อจำกัดอีกมากถึงแม้ AI จะสามารถเล่นเกมออนไลน์ชนะนักเล่นเกมมืออาชีพ ก็ไม่ได้หมายความว่า AI จะสามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ดีเทียบเท่ากับคนที่มีประสบการณ์ในงานนั้นมาแล้ว 10 ปี หากแต่ AI จะมาเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น คนที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคตคือคนที่คุยกับ AI รู้เรื่อง พูดง่ายๆ ก็คือเขียนโปรแกรมเป็น 

 

เมื่อฟังพี่ต้าพูดแบบนี้แล้ว เอ็มก็นึกไปถึงยุคก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ว่า คนสมัยก่อนก็ทำบัญชีบนแผ่นกระดาษ คำนวณด้วยมือ ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์แพร่หลาย แรงงานที่เป็นที่ต้องการ ก็กลายเป็นแรงงานที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ใช้ MS Office ได้ พี่ต้ายังให้ความเห็นอีกว่าปัจจุบันคนไทย ส่วนใหญ่ไม่มี Tech Literacy กล่าวคือ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นขั้นพื้นฐาน ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่รู้แม้กระทั่งเวบไซต์ทำงานอย่างไร ซึ่งไม่เพียงพอแล้วในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทำให้พี่ต้า และเพื่อนๆ ก่อตั้ง Skooldio ซึ่งเป็น Startup สอน Coding Online ขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้

 

ไม่ว่าคำที่พูดจะเป็นยุค AEC, 4.0 หรือ Artificial Intelligence ทางรอดเดียวของคนก็คือการพัฒนาตัวเองให้มี Competitive Advantage เหนือสิ่งที่จะมาแทนที่ ถ้าเป็นยุคของ AEC ที่แรงงานต่างชาติจะเข้ามาทำงานได้อย่างเสรี คนไทยก็ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากกว่าแรงงานต่างชาติเหล่านั้น ในอนาคตอันใกล้ ที่ระบบ Automation, Artificial Intelligence และหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่คน ทางรอดเดียวก็ยังคงเป็นการพัฒนาศักยภาพเฉกเช่นเดียวกัน แต่การพัฒนาศักยภาพให้ถึงขีดสุด เอ็มเชื่อว่าเราจะต้องรู้ก่อนว่า Purpose หรือจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราคืออะไร เพราะนั่นจะทำให้เรามีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง

 

 

ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย (แชมป์) เกิดมาพร้อมฉลากติดตัวว่าเป็นทายาทบริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ตัวแทนในการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ “ชาร์ป (SHARP)” ที่กลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง Creative Ventures บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ที่ลงทุนใน Deep Tech Startup ค้นพบ Purpose ของชีวิต
จากเหตุการณ์สำคัญ 3 ครั้งด้วยกัน พี่แชมป์วางแผนชีวิตตามเป้าหมายในการสืบทอดกิจการของครอบครัวตั้งแต่อายุ 15 และเขาก็บรรลุเป้าหมายแล้วเป้าหมายเล่า แต่ขณะเรียนปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีอาจารย์ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ได้เป็นทายาทกรุงไทยการไฟฟ้า แชมป์จะเป็นใครและทำอะไร ซึ่งเขาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งที่ 1 ที่ทำให้พี่แชมป์ฉุกคิดถึงชีวิตนอกเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ แต่เขาก็ไม่ได้กลับมาตั้งคำถามนี้กับตัวเองอีกครั้ง จนกระทั่งวันแรกที่ไปเรียน MBA ที่ University of California Berkeley และนั่นเป็นเหตุการณ์ที่ 2 ซึ่งก็คือ การปกปิดการเป็นทายาทธุรกิจครอบครัวจากเพื่อนใหม่ ผลคือ ไม่รู้จะแนะนำตัวเองว่าอะไร และไม่มีเพื่อน ทำให้พี่แชมป์รู้ชัดว่าเขาไม่รู้จักตัวเองในบทบาทอื่นเลย และกระตุ้นให้เขาค้นหาตัวเองอย่างหนักหน่วงด้วยการสัมภาษณ์คนที่ทำอาชีพต่างๆ ถึง 120 คน ลองทำสิ่งใหม่หลายสิ่ง สังเกตและทบทวนความรู้สึกของตัวเอง จากวิศวกรไฟฟ้าและอุตสาหการ ไปทำงานในบริษัทดีไซน์ เป็น Angel Investor ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัปเกิดใหม่ จนกระทั่งกลับมาทบทวนทั้งในเรื่องที่ได้เรียนรู้มาจากผู้อื่น และพื้นฐานเดิมของตัวเอง และเกิดเหตุการณ์ที่ 3 นั่นก็คือ การยอมรับพื้นฐานเดิมของตนเอง นำสิ่งที่ตัวเองชอบซึ่งก็คือ Design Thinking และค่านิยมในการช่วยเหลือผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ มาประกอบกันเป็น Purpose ของชีวิต ซึ่งก็คือ
การก่อตั้ง Creative Ventures ที่เป็น Venture Capital หรือบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่ไม่ได้เกิดจากโอกาสทางธุรกิจ แต่เกิดจากความต้องการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ซึ่ง Creative Ventures ไม่เพียงแต่ลงทุนเท่านั้นแต่ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย นี่เป็นวิธีสร้างอาชีพของตัวเอง
ซึ่งในไทย ยังเป็นธุรกิจที่ไม่แพร่หลาย และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากกระแสสตาร์ทอัปยังดำเนินต่อไปในภูมิภาคนี้

 

การเตรียมตัวสำหรับอาชีพในอนาคตเริ่มก่อนย่อมพร้อมกว่า หากยังไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไรมาหาคำตอบได้ในการเสวนาโดยเหล่า Future Careerist ผู้ทำอาชีพแห่งอนาคต โดยคุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง FireOneOne และ Wecosystem ชุมชนผู้ประกอบการแห่งอนาคต, ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio และ Ex-data Scientist ของ Facebook และคุณปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Creative Ventures ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการเสวนาโดยคุณธีรยา ธีรนาคนาท ผู้ร่วมก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมแคเรียร์วีซ่า ใน Thailand MBA Forum ที่โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน วันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2560 นี้  

 

เรื่อง ธีรยา ธีรนาคนาท

ภาพ ฐิติวุฒิ บางขาม, นฤนาท ปิยะปัญญานนท์

Last modified on Saturday, 02 April 2022 17:24
X

Right Click

No right click