ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 มุ่งหน้าสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

January 25, 2019 2795

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นในระดับโลกที่ไม่อาจละวางไปจากสายตา ในขณะที่เราพยายามจะสร้างการพัฒนาด้วยการนำมาซึ่งเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนในแต่ละก้าวของเราจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 

หลายประเทศและองค์กรสากลต่างๆ เริ่มแสดงจุดยืนและประกาศเจตนารมณ์ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นต่อแนวทางการผลักดันกลยุทธ์นี้ไปสู่ความสำเร็จว่า “ตอนนี้ประเทศไทยมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเราต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามที่ขึ้นมาบริหารประเทศจะยกเลิกไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติปี พ.ศ. 2560” นอกจากนั้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ได้กำหนดว่า ต้องมีการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนราชการต่างๆ ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า

ในอดีตที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานงานจะเน้นไปที่การทำงานตามแผนพัฒนาของหน่วยงานตัวเองให้ออกมาดีที่สุด และทำการปรับแผนไปเรื่อยๆ แต่ต่อไปจากนี้ต่อให้มีการทำประชามติก็ต้องเป็นมติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เราตั้งเอาไว้ โดยทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีการหารือและวางเป้าหมายระยะสั้นไว้ในห้าปีแรกหรือ ‘ยุทธศาสตร์ที่ 5’ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญเพราะยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นในห้าปีนี้ถ้าเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีก็จะเหมือนกับการสตาร์ทรถแล้วออกตัวได้ราบรื่น โดยจะมีโครงการสำคัญที่เรียกว่า Quick Win ปี พ.ศ. 2562 - 2565 ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม คือ การรณรงค์และจัดการทัศนียภาพบริเวณหาดพัทยาให้สะอาดเป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้อันดับหนึ่งของประเทศเรา และก็ไม่ใช้แค่ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์อื่นๆ ก็จะมีการผลักดันควบคู่กันไปด้วย

Bio-Based Economy

แผนยุทธศาสตร์นอกเหนือไปจากประเด็นด้านการพัฒนา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเพ่งเป้าไปที่เรื่องของ Bio-Based Economy โดยกำหนดให้มีการพัฒนาทรัพยากรสมุนไพรใน 4 ด้านด้วยกัน คือ

  1. Bio Energy โดยจะมีการประเมิน Demand และ Supply ในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาด และหากยังมีส่วนที่เกินมาก็จะนำเอาไปผลิตเป็นพลังงาน
  2. Bio Cosmetic และ Bio Pharmaceutical เน้นการผลิตสินค้าชิ้นเล็กๆ แต่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า โดยมีส่วนผสมของสมุนไพรในบ้านเราเพื่อคงเอกลักษณ์และทำราคาในตลาดโลกได้
  3. Bio Material กับ Bio Chemical เป็นการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาทำวัสดุต่างๆ
  4. Food Innovation พัฒนานวัตกรรมอาหารแทนที่จะส่งออกของสดอาจนำมาทำเป็นอาหารสำเร็จรูป

นอกจากนี้ยังมีอีกรากฐานสำคัญ คือ Bio Bank ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ สวทช. สภาพัฒน์และอีกหลายหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีหลักการทำงานคือต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ ด้วยการเก็บหรือแช่แข็งเอาไว้เพื่อนำมาใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เราต้องทำงานวันนี้เพื่อยี่สิบปีหรือร้อยปีข้างหน้า หลายอย่างจึงอาจเป็นเรื่องใหม่ที่คนยังไม่เข้าใจ แต่จากบทเรียนของประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีประเทศไหนพัฒนาขึ้นมาได้โดยปราศจากยุทธศาสตร์ชาติ

ดร.ธนวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงบทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกว่า “เป้าหมายหลักคือ เราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปโดยไม่เป๋ ต้องปักเป้าว่าเราจะเดินไปยังไง ซึ่งก็อาจจะมีการค้นหาวิธีที่จะพิชิตความสำเร็จได้หลายทางเมื่อคบวาระ 5 ปีคณะยุทธศาสตร์ฯ ก็จะมีการเปลี่ยนเอาคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาใหม่ๆ แต่ก็ยังคงไว้ที่เป้าหมาย 20 ปีเหมือนเดิม” ทั้งนี้สถาบันหรือหน่วยงานขับเคลื่อนและบูรณาการณ์กับงบประมาณก็คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ โดยในเร็วๆ นี้ทางสภาพัฒน์เองก็จะมีหน่วยงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ป.ย.ป. และก็จะมีการจัดตั้งสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อจะวางนโยบายระดับกลางขึ้นไป

“ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเรามีเป้าหมายสำคัญคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นหลัง การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากอดีตให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมเพื่อให้มีการเติบโตต่อไป การใช้ประโยชน์อย่างจำกัดและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดศักยภาพของระบบนิเวศ และการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ” ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล กล่าว

5 มิติยุทธศาสตร์เรื่อง ‘น้ำ’ เพื่อความมั่นคง

ดร.ธนวัฒน์ ยังได้เผยถึงแผนเรื่องความมั่นคงของ ‘น้ำ’ ซึ่งออกแบบและจัดแบ่งเป็น 5 มิติ (National water security)

  1. ความมั่นคงของการใช้น้ำในแง่เกษตรกรรม (Economic water security) เพื่ออุตสาหกรรม,ชุมชนและพลังงาน
  2. น้ำที่จะมาหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์ (Environmental Water Security)
  3. การจัดการระบบระบายน้ำในชุมชนเมือง (Urban water security)
  4. การดูแลจัดการความมั่งคงป้องกันและฟื้นฟูเมื่อเกิดธรณีพิบัติภัย (Resilience to water-related disasters)
  5. การเข้าถึงระบบน้ำของประชาชน (Household water security) โดยวางแผนว่าอนาคตต้องได้สูงสุด 80% ปัจจุบันเราได้ 54%

ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกระทรวงต่างๆ รวมถึงการปรับแก้ไขข้อกฎหมายบางส่วนเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมีการทำงานร่วมกับคณะปฏิรูปเพื่อทำให้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสามารถเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น พรรคการเมืองต่างๆ ในอนาคตที่จะเข้ามาก็ต้องศึกษายุทธศาสตร์ชาติแล้ววางนโยบายที่สอดคล้อง ระยะ 4 ปีต่อจากนี้เราควรจะได้เห็นการพัฒนาทัศนียภาพและฟื้นฟูจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในสถานที่ธรรมชาติต่างๆ ผ่านโครงการ Quick Win และยังมี Sustainable Consumption Production (SCP) หรือ Tight Circular economy ที่เอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมเรื่องการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน circular economy ที่จะทำยังไงให้มีขยะน้อยที่สุดและที่ขาดไม่ได้เลยคือส่วนของผู้บริโภคเองก็จะต้องมีการปรับตัว เพื่อจัดการเรื่องเศษอาหารและลดการใช้ถุงพลาสติก เมื่อมีการร่วมด้วยช่วยกันทุกภาคส่วน การจะไปให้ถึงเป้าหมายก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อมและอาจใช้เวลาน้อยกว่าที่เราวางแผนกันเอาไว้”


เรื่อง บรรณาธิการ

ภาพ ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

 

 

X

Right Click

No right click