ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผยจับตาพิษ Covid-19 ขวิดการค้าและห่วงโซ่การผลิตไทยเสียหาย 2.4 แสนล้านบาท

March 13, 2020 2187

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผย

Covid-19 กระทบต่อมูลค่าการค้าไปจีนราว 20% ในครึ่งปีแรก เจ็บหนักแต่พอรับได้ ชี้หากยืดเยื้อเกินกว่าครึ่งปีแรก จะส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบให้สูงขึ้น และอาจช็อคการจ้างงานในประเทศได้

สถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ยังคงขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกขยับสูงขึ้นทะลุแสนราย และมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะไม่คลี่คลายได้โดยเร็วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนสู่ระดับ 5.6% ต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นซัพพลายเชนจากจีน ที่ผู้ผลิตจีนจำเป็นต้องหยุดการผลิตเพื่อลดการแพร่ระบาด

ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้ารวมของไทยพึ่งพิงตลาดจีนถึง 16% ของการค้ารวม และมีมูลค่าสูง 2.5 ล้านล้านบาทแยกเป็นสัดส่วนการนำเข้า 61% และการส่งออก 39% ของมูลค่าการค้าไปจีนรวม ชี้ว่าผลกระทบจากการชัตดาวน์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชนการค้ากับจีนฝั่งผู้นำเข้ามากกกว่าฝั่งผู้ส่งออก”

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินผลกระทบต่อภาคการค้าไทย-จีนจากการที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการเข้มงวดชัตดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จะทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2563 มูลค่าการค้าไทยไปจีนลดลงราว 2.4 แสนล้านบาท หรือหดตัว 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 1.6% ของมูลค่าการค้ารวม และประเมินว่าสถานการณ์การค้าไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ประมาณครึ่งปีหลัง ตามการคาดการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง

เมื่อพิจารณาผลกระทบรายกลุ่มสินค้าจะพบว่า สินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบในระดับสูง ได้แก่  เคมีภัณฑ์ (ลดลง 22.7 พันล้านบาท) ยางพารา (ลดลง 15.2 พันล้านบาท) และสินค้าเกษตร (ลดลง 8.0 พันล้านบาท) จะเห็นว่ากลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชัตดาวน์ดังกล่าวจะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกรและแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตสินค้าวัตถุดิบที่เน้นส่งออกไปยังตลาดจีน

ด้านสินค้านำเข้าที่จะได้รับผลกระทบจากจีนหยุดผลิตหรือไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (ลดลง 53.4 พันล้านบาท) เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (ลดลง 26.8 พันล้านบาท) และเครื่องจักรและชิ้นส่วน (ลดลง 15.9 พันล้านบาท) จะพบว่าสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศและส่วนหนึ่งเป็นสินค้าวัตถุดิบต้นทุนต่ำจากจีนที่ผู้ประกอบการนำเข้ามาเพื่อผลิตแล้วขายในประเทศหรือส่งออกต่อ

ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบจากจีนมีความจำเป็นที่จะต้องมองหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพื่อมาชดเชยในช่วงครึ่งปีแรกที่วัตถุดิบจากจีนหายไป ทั้งนี้ ประเมินว่าสถานการณ์การผลิตในจีนจะหดตัวอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกและน่าจะกระทบต่อเนื่องมาถึงไตรมาสสอง ซึ่งคาดว่าผลของการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบจะไม่กระทบต่อการผลิตในระยะสั้นๆ มากนัก เพราะผู้ผลิตยังพอผลิตสินค้าได้จากสต๊อกของวัตถุดิบที่ยังคงเหลืออยู่บ้างและอาจหันไปสั่งซื้อจากซัพพลายเชนประเทศอื่นๆ ทดแทน แต่ต้องยอมรับว่าการหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ต้นทุนจะสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างรายได้จากการส่งออกและนำเข้าปี 2562 โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกผู้ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนการค้าพึ่งพิงตลาดจีนสูงกว่า 30% ขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจะเป็นผู้นำเข้า และเมื่อเจาะลึกผลกระทบต่อขนาดธุรกิจ พบว่ากว่า 90% ของจำนวนผู้ค้าขายกับจีนจะเป็นกิจการ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วน 33% ของมูลค่าการค้าไปจีน ในขณะที่ 10% ของจำนวนผู้ค้าขายกับจีน เป็นกิจการขนาดใหญ่ แต่หากคิดเป็นผลกระทบเชิงมูลค่าการค้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 67% ของมูลค่าการค้าไปจีนรวม

ทั้งนี้ ประเมินว่าสถานการณ์การค้ากับจีนจะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะค่อยๆ รุนแรงลดลง อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดยืดเยื้อจนทำให้ภาคการผลิตจีนชัตดาวน์ออกไปเกินกว่าครึ่งปีแรก คาดว่าจะส่งผลต่อซัพพลายเชนในประเทศ ทำให้วัตถุดิบขาดแคลน และส่งผลกระทบทำให้ผู้ผลิตที่พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมีต้นทุนการนำเข้าจากแหล่งอื่นที่สูงขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตบางกลุ่มรับไม่ไหว ชะลอการผลิตออกไป ทำให้รายได้ของกิจการลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานในประเทศ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

X

Right Click

No right click