กรุงเทพฯ, 19 มกราคม 2567 – ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2566 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 4,866 ล้านบาท และกำไรสุทธิรอบ 12 เดือน ปี 2566 จำนวน 18,462 ล้านบาท ภาพรวมผลการดำเนินงานทำได้ตามเป้าหมาย ยังคงเน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์และเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินในทุกด้าน

 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 ในภาพรวมถือว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเรายังคงเดินหน้าตามแผนการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อหนุนด้านรายได้และการบริหารค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรองรับความเสี่ยง สภาพคล่อง และฐานเงินกองทุน

จากเป้าหมายดังกล่าว กลยุทธ์ที่ทีทีบีมุ่งเน้นในปี 2566 จึงเป็นเรื่องของบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสินเชื่อ ธนาคารยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ เน้นฐานลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี

อีกประการสำคัญ คือการดูแลลูกค้าสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการรวบหนี้ หรือการทำ Debt Consolidation เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

 

โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังต้องการรับความช่วยเหลือต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสำหรับโครงการรวบหนี้ได้เปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ธนาคารสามารถช่วยลูกค้ารวบหนี้ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นราย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ราว 1.2 พันล้านบาท

ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว พอร์ตสินเชื่อของธนาคารจึงมีคุณภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดระดับหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ที่ 2.98% มาอยู่ที่ 2.62% ณ สิ้นปี 2566

ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังคงมีปัจจัยกดดันรอบด้าน จึงดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษในไตรมาส 4 เป็นจำนวน 4.9 พันล้านบาท เพื่อยกระดับอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 155% เมื่อเทียบกับ 138% ในปี 2565 และ 120% ก่อนรวมกิจการ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้นมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ธนาคารก็ยังได้เตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง โดยการขยายฐานเงินฝากเพิ่มเติมในไตรมาส 4 เพื่อรองรับแผนธุรกิจและการแข่งขันด้านเงินฝากที่อาจเกิดขึ้น ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราส่วนสภาพคล่อง LCR เพิ่มขึ้นจาก 175% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 199% โดยประมาณ เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. ที่ 100%

ด้านฐานเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.7% และ 17.0% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ เปรียบได้กับการมีกันชนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบในยามที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง หรือเงินกองทุน ได้อย่างมั่นคง โดยไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามแผนธุรกิจปกติ รวมถึงไม่ลดทอนความสามารถในการให้ความช่วยเหลือลูกค้า และการสร้างมูลค่าด้านเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคาร

สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลักๆ ในปี 2566 มีดังนี้

สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1,328 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 3.5% จากสิ้นปี 2565 เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบและแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ทำให้สินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.1% จากปีที่แล้ว นำโดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจลดลง 11.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการชำระหนี้คืนของลูกค้าและการนำสภาพคล่องส่วนเกินจากการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจไปหมุนเวียนปล่อยสินเชื่อรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน

ในด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,387 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามแผนการเตรียมสภาพคล่อง แต่ชะลอลงเล็กน้อย หรือราว 0.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารให้การบริหารสินเชื่อและเงินฝากให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เงินฝากเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ เงินฝากประจำ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการออมดอกเบี้ยสูง และเงินฝาก ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมและประกันอุบัติเหตุฟรี สามารถเติบโตได้ตามแผน

ภาพรวมด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการ ทั้งจากประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) ผ่านการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อ Consumer Loan และประโยชน์ด้านรายได้ (Revenue Synergy) จากการนำเสนอโซลูชันทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,961 ล้านบาท เทียบกับ 65,852 ล้านบาท ในปี 2565

 

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 31,280 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 29,952 ล้านบาท ในปี 2565 เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนทั้งด้านพนักงานและด้านดิจิทัล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 43.6% ลดลงจาก 45.1% ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมทั้งปีตั้งสำรองฯ ไปทั้งสิ้น 22,199 ล้านบาท หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารจึงมีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 18,462 ล้านบาท เทียบกับ 14,195 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า

นายปิติ สรุปในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของทีทีบีในการก้าวสู่ปี 2567 โดยเรายังคงตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมกับสนับสนุนแนวทางการลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย Financial Well-being ของทีทีบีในการช่วยลูกค้าให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2566 ในอัตรา 0.05 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD (วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นี้

 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ดีขึ้นในทุกด้านและฐานะเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลขึ้นมาอยู่ที่ 0.05 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับการจ่ายปันผลระหว่างกาลในปีที่แล้วที่อัตรา 0.02 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 1.9 พันล้านบาท

โดยการจ่ายเงินปันผลในระดับดังกล่าว คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล หรือ Dividend Payout Ratio (DPS) ที่ 55% จากกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการจ่ายปันผลระหว่างกาลในปีก่อนหน้าที่ 29% ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของหุ้นกลุ่มธนาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของธนาคารในการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งมอบผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ทั้งในรูปแบบของการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องและราคาหุ้นที่มีแนวโน้มเชิงบวกสอดคล้องกับทิศทางของผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2566 ทีทีบีมีกำไรสุทธิจำนวน 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านคุณภาพสินทรัพย์บริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 2.63% อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ขณะที่ฐานเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ในระดับสูงที่ 20%

กรุงเทพฯ, 20 มกราคม 2566 -- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2565 โดยผลการดำเนินงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปีที่แล้ว รวม 12 เดือน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2564 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังดูแลได้ดี โดยอัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากปีที่แล้วและต่ำกว่ากรอบที่วางไว้

 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 นี้ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส ถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก Strategy และ Execution นั่นคือ การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริงตามแผนที่วางไว้ โดยกลยุทธ์ที่เรามุ่งเน้นมาตลอด ได้แก่ การเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือการดูแลลูกค้าในเชิงรุกและให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวผ่านช่วงที่ยากลำบากและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดี หนี้เสียลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในท้ายที่สุด เป็นปัจจัยหนุนผลกำไรและสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในปี 2565 ได้แก่ การเตรียมความพร้อมสำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารสามารถบริหารงบดุล (Balance Sheet Management) ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินฝาก ด้วยการทยอยเพิ่มเงินฝากประจำเพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากและขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าในการรองรับแผนการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ในด้านการลงทุนธนาคารได้ปรับพอร์ตให้มีระยะเวลาลงทุนสั้นลงเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และเนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารดำรงเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อมองเห็นโอกาสในตลาดตราสารหนี้ จึงได้ทำการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT1 กลับมาบางส่วน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแผนการบริหารส่วนทุน (Capital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ธนาคารยังได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อคืนอีกด้วย

ท้ายสุดในส่วนของแผนงานหลังการรวมกิจการ ธนาคารสามารถทำได้ตามแผนเช่นกัน เริ่มจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจและจัดตั้งบริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ การเปิดตัวแอปพลิเคชัน ttb touch รวมไปถึงการลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ Revenue Synergy ด้านการรับรู้ Balance Sheet Synergy และ Cost Synergy นั้นทำได้ดีกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ธนาคารได้ส่งผ่านผลประโยชน์จากการรวมกิจการกลับคืนไปยังผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในปี 2565 ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและออกวอร์แรนท์ TTB-W1 ให้กับผู้ถือหุ้นโดยไม่คิดมูลค่า

จากการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาผนวกกับสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ธนาคารพร้อมที่จะเดินหน้าสร้างรายได้และการเติบโตต่อไปในปี 2566 เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเราในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งวันนี้ และอนาคต

สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในปี 2565 มีดังนี้

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เงินฝากอยู่ที่ 1,399 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 4.5% จากปี 2564 (YTD) หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1,376 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% QoQ เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้น 0.4% YTD ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ในส่วนของรายได้นั้นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 4 อยู่ที่ 13,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% QoQ หนุนโดยการเติบโตสินเชื่อรายย่อยและการบริหารต้นทุนทางการเงินหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลตอบแทนจากการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ 17,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% QoQ

รวม 12 เดือน ปี 2565 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอยู่ที่ 29,952 ล้านบาท ลดลง 4.1% YoY สะท้อนถึงการรับรู้ Cost Synergy และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 45% ลดลงจาก 48% ในปี 2564 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP อยู่ที่ 36,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% YoY ด้านค่าใช้จ่ายสำรองฯ อยู่ที่ 18,353 ล้านบาท ลดลง 14.7% จากปีที่แล้ว เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% YoY

ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร รวมไปถึงการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารสามารถควบคุมและลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ 2.98% ในไตรมาส 3/64 มาอยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากรอบควบคุมและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุน ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นปี 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.0% และ 16.3% เทียบกับ 19.3% และ 15.3% ณ สิ้นปี 2564 และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จับมือคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างนวัตกรรมหาโซลูชันทางการเงินเพื่อคนไทยทุกกลุ่ม ด้วยการจัดงาน Financial Well-being Hackathon for Thais โดยทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 18 Eyes ที่นำเสนอฟีเจอร์ ttb FORWARD ช่วยล็อกหนี้และปรับแผนทางการเงินใหม่ให้เหมาะสมกับคนทำงาน อันดับสองทีม Minnionaire consulting โชว์ไอเดียทำระบบเฮงเฮง เพื่อร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ทำบัญชีทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน ร่วมแก้หนี้นอกระบบ สร้างการเงินที่ยั่งยืน ตอกย้ำแนวคิด Financial-Well being

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้มีการจัดกิจกรรม Hackathon สำหรับพนักงาน โดยระดมสมองร่วมกัน Hack เพื่อคิดค้นนวัตกรรม หาไอเดีย หรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์ทางการเงินของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีผลงานเด่น ๆ ที่เกิดจากงาน Hackathon เช่น การพัฒนาฟีเจอร์ไม่ชาร์จ FX Rate 2.5% ของบัตรเดบิต All Free เมื่อรูดใช้จ่ายที่ต่างประเทศและยังได้เรทที่ถูกทุกสกุลเงินทั่วโลก ทำให้บัตรเดบิต All Free เป็นที่นิยมมากในหมู่นักเดินทาง และบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน หรือ ttb multi-currency account สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ

ในปีนี้ ธนาคารได้มีการต่อยอดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดและลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายเข้ามาช่วยกันสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ในงาน Financial Well-being Hackathon for Thais การแข่งขันเพื่อค้นหาโซลูชันทางการเงิน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Tech & Data) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาโซลูชันใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักศึกษาและกลุ่มคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศที่ร่วมสมัครเข้ามาทั้งหมด 102 ทีม โดยมีการนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาครอบคลุมพื้นฐานการเงินครบ 4 มิติสำคัญ ได้แก่ ฉลาดออม ฉลาดใช้, รอบรู้เรื่องกู้ยืม, ลงทุนเพื่ออนาคต และมีความคุ้มครองที่อุ่นใจ ที่จะช่วยเสริมรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งและสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ การประกาศผลทีมชนะในงาน Financial Well-being Hackathon for Thais การแข่งขันเพื่อค้นหาโซลูชันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทางการเงินของคนไทยที่สะท้อนจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการเงินและการจัดการปัญหาทางการเงิน โดยมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ (Mentors) และกรรมการตัดสิน (Judges) จากทีเอ็มบีธนชาตและที่ปรึกษาจากบริษัทภายนอก ทั้ง Business, Tech และ Data มาช่วยขัดเกลาไอเดียและต่อยอดในการร่วมกันสร้างโซลูชันทางการเงินอย่างแท้จริง

โดยทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 18 Eyes นำเสนอสร้างสรรค์โซลูชัน “ttb FORWARD” ฟีเจอร์ล็อกหนี้สร้างแผนการเงินใหม่ให้เหมาะกับคนทำงานในการบริหารหนี้และรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาให้กลุ่มคนทำงานอายุ 20-40 ปี ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศและยังไม่มีการวางแผนทางการเงิน “ttb FORWARD” จะมาตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะคนในการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินเพื่อยกระดับ Financial Well-being ให้แก่คนไทยในระยะยาว ทีมอันดับสอง ได้แก่ ทีม Minnionaire consulting นำเสนอโซลูชัน “ระบบเฮงเฮง” เพื่อร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ทำบัญชีธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน และทีมอันดับสาม มี 2 ทีม ได้แก่ ทีม Happry เสนอไอเดีย “สลากเสี่ยงสบาย” และทีม Money Team ที่นำเสนอการวางแผนทางการเงินผ่านการเล่นเกมส์ Money Town เพื่อส่งเสริมวินัยการออม

นายปิติ กล่าวสรุปว่า “งาน Financial Well-being Hackathon for Thais ทุกทีมต่างได้รับประสบการณ์ที่ดีและเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ทั้งแผนธุรกิจ (Business), Tech และ Data เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดแนวคิด สร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิผล พัฒนาโซลูชันและแก้ปัญหาทางการเงินให้กับคนไทยอย่างแท้จริง โดยทีเอ็มบีธนชาตพร้อมให้โอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อยกระดับให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งวันนี้ และในอนาคตต่อไป”

 วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของใครหลายคนที่มีสถานะทางการเงิน คุณภาพชีวิตด้านการเงินเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นถึงร้อยละ 91 ของ GDP อัตราค่าครองชีพสูง รวมไปถึงปัญหาการกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะ GEN Z ที่มีสถิติเป็นหนี้เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว คนสูงวัยก็ไม่มีเงินเก็บออมหลังวัยเกษียณและอีกหลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อท้าทายของประเทศไทย เพราะทำให้คนไทยเริ่มห่างไกลจากการมี “Financial Well-being” หรือ “ชีวิตทางการเงินที่ดี” ซึ่งเป็นที่มาให้ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” การแข่งขันเพื่อค้นหาโซลูชันทางการเงินเพื่อคนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Tech & Data) มาเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา รวมทั้งมีการรวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้า ttb analytics ได้พูดถึงโจทย์ของการแข่งขันครั้งนี้ว่า “เราจะยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยนำ Tech & Data มาประยุกต์ใช้ให้ถูกจุด คือ ‘การเลือกปัญหาที่ใช่ ที่เราจะแก้ไข’ (Problem Worth Solving) เราต้องเข้าใจปัญหาของคนที่เราจะแก้ไขปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาจะเป็นแนวทางหลักในการตัดสินผลงานของผู้เข้าแข่งขัน Hackathon ในครั้งนี้ ซึ่งทีเอ็มบีธนชาตเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเร็วที่สุดและต้องทำทันที เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้นทั้งวันนี้ และอนาคต”

งาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” มีนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ร่วมกันส่งแนวคิดเพื่อช่วยยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยกว่า 100 โครงการ ครอบคลุมปัญหาทางการเงินของคนไทย ตั้งแต่ GEN Z คนทำงาน SME เกษตรกร ผู้สูงวัย เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สะท้อนให้เห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการเงินและการจัดการปัญหาทางการเงิน โดยมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ (Mentor) จากทีเอ็มบีธนชาต และที่ปรึกษาจากบริษัทภายนอกหลากหลายสาขามาช่วยขัดเกลาไอเดียและต่อยอดให้ครอบคลุม 3 แกนหลัก ได้แก่ แผนธุรกิจ (Business), Tech และ Data ในการร่วมกันสร้างโซลูชันทางการเงินอย่างแท้จริง 

1. Business ที่มีเคสที่น่าสนใจอย่าง ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่เข้ามาแก้ปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า เช่น ปัญหาที่ว่าคนไทยกว่า 70% ไม่ทำประกัน เพราะมองว่าการทำประกันคือการสิ้นเปลือง แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ทีเอ็มบี

ธนชาตจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้หันมาสนใจทำประกันกันมากขึ้นด้วยการมอบวงเงินประกันให้กับลูกค้าฟรี และช่วยลดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเริ่มจากการมองหาความต้องการของลูกค้า ศึกษาปัญหาของลูกค้า เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันที่เข้าใจง่ายและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

2. Tech เช่น การแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทย เริ่มต้นจากปัญหาที่เกษตรกรนำเงินทุนจากโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลไปใช้ไม่เพียงพอ บ้างก็นำไปใช้ในด้านอื่นแทนการนำไปลงทุนปลูกอ้อย ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ คือ เกษตรกรมีเงินทุนไม่พอ ทำให้ปลูกอ้อยได้น้อยหรือคุณภาพต่ำ ส่งผลให้โรงงานผลิตน้ำตาลได้น้อย เสียโอกาสทางการค้า จึงออกแบบโซลูชัน ‘แอปพลิเคชัน’ ที่ช่วยให้โรงงานสามารถติดตามการทำงานของเกษตรกรได้ ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็จะสามารถรับเงินทุนสนับสนุนจากโรงงานผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นโซลูชันเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนั้น ธนาคารต้องศึกษาและสังเกตจากประสบการณ์สถานที่จริงเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ผ่านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม

และ 3. Data ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมายที่นำเอาข้อมูลมาใช้พัฒนาบริการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยในด้านของการเกษตรให้ดีขึ้น เช่น การนำเอาข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยในการคาดการณ์การเพาะปลูก และพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาพัฒนาโซลูชันแบบ Personalization หรือ แบบปัจเจกบุคคล ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนได้อย่างตรงจุด

ทั้งนี้ งาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” จะจัดกิจกรรม “Hack Day” ขึ้นในวันที่ 29 - 30 ตุลาคมนี้ โดยมี 15 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกมานำเสนอโซลูชันทางการเงินต่อคณะกรรมการ และจะประกาศผลรางวัลแก่ทีมผู้ชนะ เพื่อคว้ารางวัลรวมมูลค่ากว่า 280,000 บาท พร้อมกับโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโซลูชันกับทีเอ็มบีธนชาต รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ https://www.ttbbank.com/ttbfb-hackathon2022

Page 1 of 10
X

Right Click

No right click