อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

1) ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตได้ทั้งในด้านการผลิตและยอดขาย โดยคาดการณ์ยอดการผลิตอยู่ที่ราว 1.96 ล้านคัน หรือขยายตัว 4.2% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวเพราะอุปสงค์ของคู่ค้าหลักที่ปรับลดลง สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 3.4% โดยตลาดรถยนต์นั่งจะเป็นแรงส่งสำคัญเพราะได้รับอานิสงส์ของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ทั้งในแง่การจ้างงานและรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ชะลอตัว

2) ตลาดรถบรรทุกและรถโดยสารขยายตัวได้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถบรรทุกจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มความต้องการขนส่งสินค้าทางบกที่ปรับลดลงตามภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนก่อสร้าง กอปรกับการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับยอดจดทะเบียนรถโดยสารมีแนวโน้มเติบโต 49.1% เร่งขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ในกลุ่มรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อีกทั้ง แรงส่งจากนโยบายเปลี่ยนผ่านรถโดยสารประจำทางไป สู่รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า

3) ตลาดรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน โดยคาดว่ายอดผลิตรถจักรยานยนต์จะขยายตัวที่ราว 8.0% ขณะที่ยอดขายจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% เป็นผลจาก 1) การชะลอตัวของรายได้ภาคเกษตรจากปัจจัยด้านราคา และ 2) ยอดส่งออกที่ชะลอตัวเพราะแรงฉุดของตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ของตลาดเอเชียยังฟื้นตัวได้

4) ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถ EVs ในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 4.95 หมื่นคัน หรือเติบโตสูงถึง 430%YOY ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด จาก 1.1% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กำลังการผลิตรถยนต์ EVs ของไทยก็มีแนวโนมปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 3.5 แสนคันต่อปี ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามอานิสงส์จากการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ EVs รายใหม่ ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มจากการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ

สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาดว่าในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงความเข้มงวดเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อในภาพรวมยังคงปรับแย่ลง สำหรับ ในระยะปานกลาง – ระยะยาว ภาคธุรกิจยานยนต์ยังจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าและเทรนด์ ESG ที่กำลังมาแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการที่ผู้บริโภคและนักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญและตระหนักถึง

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางบวกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

วิกฤติอาหารโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2023 อาจไม่สดใสมากจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนรอบด้าน

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน

จากรายการบทวิเคราะห์ ข้อมูลการส่งออกสินค้าไทยโดย  EIC  เดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.8%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และเร่งตัวจากเดือนก่อนที่ 7.4% ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนเทียบกับเดือนสิงหาคม (แบบปรับฤดูกาล) ขยายตัว 5.8%MOM_sa ในภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 10.6%

สินค้าส่งออกหลักเกือบทุกกลุ่มยังขยายตัว โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว

ภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าพบว่า (1) สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 2.7% หลังจากหดตัว -10.3% ในเดือนก่อน เทียบกับที่เคยขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี โดยสินค้าหลักที่หดตัวในเดือนนี้ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งยังเป็นสินค้าสนับสนุนสำคัญ
(
2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.8% แต่หดตัว -14%MOM_sa โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีในเดือนนี้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ปรับแย่ลง ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะมีความเสี่ยงผลผลิตลดลงจากอุทกภัย โดย EIC ประเมินว่าในกรณีฐานสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย 1.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะจากข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 12,000 ล้านบาท (หรือเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ในกรณีเลวร้าย) (3) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว  9.4% โดยในเดือนนี้สินค้าที่ส่งออกได้ดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งสะท้อนปัญหาขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ส่งออกชะลอลง เช่น เม็ดพลาสติก สายไฟฟ้าและสายเคเบิล เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

มองไปข้างหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในระยะถัดไปมีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสนัก สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนกันยายน โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนสภาวการณ์ที่แย่ลง นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นยังมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง เดือนที่ผ่านมา จนอยู่ในระดับต่ำกว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ ปี หากพิจารณาดัชนีคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องชี้สัญญาณการส่งออกในอนาคตพบว่า แม้ดัชนีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นที่ระดับ 102 แต่ก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในประเทศเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของไทยโดย S&P Global ที่ระบุว่า ปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยคิดเป็น 79.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด[1] (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 1.2% หลังจากหดตัว -9.7% ในเดือนก่อน และ (5) สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในเดือนกันยายน โดยขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 89.6%
เทียบกับ 
31.2% ในเดือนก่อน

การส่งออกไปยังตลาดจีนยังน่าเป็นห่วง

การส่งออกรายตลาดยังขยายตัวได้ในตลาดหลักสำคัญ ยกเว้น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย โดย (1) ตลาดจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -13.2% โดยสินค้าส่งออกไปจีนที่ลดลงในเดือนนี้ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เคมีภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไก่และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งเป็นสินค้าที่ส่งออกได้ดี (2) ตลาดญี่ปุ่นหดตัวอีกครั้งในเดือนนี้ที่ -1.7% หลังจากฟื้นตัวในเดือนก่อน (3) ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป (EU28) ขยายตัวเทียบกับปีก่อนที่ 26.1%
และ 
22.2% ตามลำดับ  และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนแบบ %MOM_sa ในระยะข้างหน้า การส่งออกตลาดนี้อาจชะลอลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (4) ตลาด CLMV และ ASEAN5 ขยายตัวดีต่อเนื่อง 26.3% และ 9% ตามลำดับ

ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องทั้งในระบบดุลการชำระเงินและระบบศุลกากร

มูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนกันยายนอยู่ที่ 25,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ 21.3% โดยมูลค่าการนำเข้าเดือนนี้มีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -5.8% และ -5.9% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ยังขยายตัวได้ดี แต่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยชะลอตัวช้ากว่ามูลค่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือนนี้ขาดดุล -853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 20.7% และดุลการค้าขาดดุล -14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

EIC มองการส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงชัดเจนขึ้นและเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ และ Geopolitics ทิศทางเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงข้างหน้า รวมถึงจีนที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางจากการใช้นโยบาย Zero-COVID และความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฐานสูงที่จะเห็นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดย EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 6.3% ในปี 2022 และจะชะลอลงเหลือ 2.5% ในปี 2023

 

บทวิเคราะห์จาก  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ( EIC)  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน)

 

ผลสำรวจผู้บริโภคในด้านการท่องเที่ยวของ EIC พบว่า

เทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวพร้อมทั้งนำมาปรับใช้ให้สอดรับกับธุรกิจจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำเสนอบริการที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นพร้อมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจับตาและเป็นโอกาสทางธุรกิจสามารถแบ่งตามกิจกรรมหลักที่นักท่องเที่ยวสนใจได้ 13 สาย ซึ่งไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวแต่ละสายมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน

13 สายนักท่องเที่ยวชาวไทยยอดนิยมและเป็นที่จับตามองต่อภาคการท่องเที่ยว ได้แก่

สายบุญสายมู  สายยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว Gen X และ Baby boomer ซึ่งมักจะเดินทางเป็นกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อน อีกทั้ง ยังชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่น และเที่ยวชมเมืองเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีความกังวลในความปลอดภัยและสุขอนามัยอยู่ค่อนข้างสูงเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

สายคาเฟ่  สายยอดฮิตของกลุ่ม Gen Y และกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งมักเดินทางกับคู่รักและกลุ่มเพื่อน โดยไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวจะเน้นพักผ่อนและส่วนใหญ่เลือกพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวที่มีอุปกรณ์ทันสมัยและตกแต่งสวยงาม ดังนั้น
ที่พักที่ตกแต่งอย่างมีสไตล์จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวสายนี

สายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  สายนี้จะมีลักษณะการท่องเที่ยวคล้ายสายบุญสายมู ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Baby boomer และเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน แต่จะใช้เวลาในการท่องเที่ยวค่อนข้างนานกว่าและเน้นทำกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวสายนี้ส่วนใหญ่จะเลือกแหล่งท่องเที่ยวจากความชื่นชอบส่วนตัวและให้ความสำคัญกับที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สายแอดเวนเจอร์   หนึ่งในนักท่องเที่ยวสายกิจกรรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่ม Gen Z และกลุ่มเดินทางคนเดียว โดยจะเลือกแหล่งท่องเที่ยวจากความชื่นชอบส่วนตัวเป็นหลักและเข้าพักในโรงแรมระดับ 2 ดาวขึ้นไปที่ตั้งใกล้ชิดธรรมชาติและมีสไตล์การตกแต่งสวยงาม อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวสายนี้ส่วนหนึ่งยังนิยมเลือกพักในรูปแบบลานกางเต็นท์ รถบ้านเพื่อได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

สาย Workation   สายนี้เริ่มเป็นกระแสความนิยมจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการเรียนที่เน้นออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวสายนี้จะมีความหลากหลายตั้งแต่วัยเรียนถึงวัยทำงานนั่นคือ Gen Z ถึง Gen X รวมถึงกลุ่มธุรกิจด้วย โดยใช้เวลาท่องเที่ยวนานกว่า 5 วัน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสายนี้ยังนิยมไปร้านอาหาร/คาเฟ่ เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมค่อนข้างเด่นชัด โดยจะเลือกพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวที่มีอุปกรณ์ทันสมัยและมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) เป็นหลัก

สายงานเทศกาล คอนเสิร์ต วิ่งมาราธอน  อีกหนึ่งสายกิจกรรมที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Gen Y โดยนักท่องเที่ยวสายนี้จะเลือกจุดหมายการท่องเที่ยวจากงานเทศกาลหรือคอนเสิร์ตเป็นหลักและส่วนใหญ่ใช้เวลาท่องเที่ยวอย่างน้อย วัน อีกทั้ง ยังเลือกพักในโรงแรมระดับ ดาวขึ้นไปที่มีสไตล์การตกแต่งสวยงามและตั้งอยู่ใจกลางเมืองหรือแหล่งช้อปปิ้งเพื่อความสะดวกในการเดินทาง

สายรักษ์ธรรมชาติ  สายรักษ์ธรรมชาติส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ซึ่งมักเป็นการท่องเที่ยวในระยะสั้น โดยส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ เช่น อุทยาน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
อีกทั้ง นักท่องเที่ยวสายนี้จะให้ความสำคัญกับที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปค่อนข้างมาก รวมถึงสนใจที่พักที่มีความใกล้ชิดธรรมชาติอย่างที่พักในอุทยานและลานกางเต็นท์

สายสุขภาพและเวลเนส   สายเฮลตี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงและเข้าพักระยะยาวมากกว่ากลุ่มอื่นเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ควบคู่กับการตะเวนหาคาเฟ่จิบกาแฟในบรรยากาศสุดฟิน โดยส่วนใหญ่เลือกพักในโรงแรมระดับ 4-5 ดาวที่มีบริการด้านสุขภาพและเวลเนสชั้นนำเพียบพร้อมด้วยอุปกรณทันสมัยและบริการที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล นอกจากนี้ ที่พักที่มีสไตล์การตกแต่งและหากมีส่วนลดโปรโมชันจะยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวสายนี้เป็นพิเศษ

สายฟรีแลนซ์   ฟรีแลนซ์เป็นเทรนด์ใหม่มาแรงตามการจ้างงานที่ลดลงจากวิกฤตโควิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ที่รักอิสระชอบเดินทางคนเดียว และเนื่องจากนักท่องเที่ยวสายนี้เป็นกลุ่มทำงานอิสระที่สามารถทำงานได้ทุกที่จึงทำให้ส่วนหนึ่งนำงานไปทำระหว่างท่องเที่ยวพักผ่อนและใช้เวลาท่องเที่ยวระยะยาวมากกว่า วัน โดยจะเลือกพักโรงแรมระดับ ดาวขึ้นไปและเป็นการเข้าพักแบบไม่จองล่วงหน้า (Walk-in)

สายลุยเดี่ยว   อีกหนึ่งนักท่องเที่ยวสายรักอิสระที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y, Gen Z และกลุ่มคนโสด โดยจะเน้นท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนแม้ส่วนหนึ่งยังนำงานไปทำระหว่างท่องเที่ยวด้วย อีกทั้ง นักท่องเที่ยวสายนี้ยังชื่นชอบทำกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะนิยมพักโรงแรมระดับ 2-3 ดาวเป็นหลักและเข้าพักแบบไม่จองล่วงหน้า (Walk-in)

สายเที่ยววันเดียว x สายเที่ยวสั้น x สายเที่ยวยาว  นักท่องเที่ยวในสายเหล่านี้มักจะมีจุดประสงค์และรูปแบบในการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน โดยสายเที่ยววันเดียวส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z  กลุ่มเดินทางคนเดียว และกลุ่มที่มีงบประมาณการท่องเที่ยวที่จำกัดจากรายได้ที่ไม่สูงมากนัก โดยเน้นการไปทำบุญไหว้พระกับทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าสายอื่น ส่วนนักท่องเที่ยวสายเที่ยวสั้นส่วนใหญ่จะเน้นเดินทางกับกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มครอบครัว
โดยท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนควบคู่กับการเข้าร้านอาหารคาเฟ่บรรยากาศดี และมักเลือกพักในโรงแรมระดับ 
2-3 ดาว ขณะที่สายเที่ยวยาว ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่สูงนักแต่เป็นสายที่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม LGBTQIA+ กลุ่มคู่รัก กลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูงและกลุ่มอาชีพที่มีเวลาท่องเที่ยวนาน เช่น กลุ่มเกษียณกับกลุ่มอาชีพอิสระ ทั้งนี้สายนี้จะนิยมท่องเที่ยวทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เที่ยวชมเมือง เที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงทำกิจกรรมหลากหลายทั้งแอดเวนเจอร์ เอาท์ดอร์ คอนเสิร์ต สปาและออกกำลังกาย อีกทั้ง ยังเลือกพักในโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นส่วนใหญ่  

จากการวิเคราะห์ 13 สายนักท่องเที่ยวชาวไทยยอดนิยมพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ นักท่องเที่ยว Gen Z ถือเป็นสายทำกิจกรรมหลากหลาย ขณะที่ Gen Y เน้นเที่ยวแบบชิล เข้าร้านคาเฟ่ นวดสปา ส่วน Baby boomer เน้นทำบุญไหว้พระ เข้าถึงวิถีคนท้องถิ่น ขณะที่ในด้านที่พัก โรงแรมระดับ 4-5 ดาวยังเป็นที่นิยมสูงของนักท่องเที่ยวในหลายสายตามด้วยโรงแรมระดับ 2-3 ดาว นักท่องเที่ยว Gen Z ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสายกิจกรรม ด้วยความชื่นชอบการทำกิจกรรมที่หลากหลายจึงส่งผลให้นักท่องเที่ยว Gen Z เป็นนักท่องเที่ยวหลักในกลุ่มนักท่องเที่ยวสายกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นสายแอดเวนเจอร์ สายงานเทศกาล คอนเสิร์ต งานวิ่งมาราธอน รวมถึงสายรักษ์ธรรมชาติ โดยนักท่องเที่ยวสายกิจกรรมส่วนใหญ่จะเดินทางคนเดียวหรือเดินทางเป็นคู่เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง ขณะที่นักท่องเที่ยว Gen Y เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของสายชิลทั้ง สายคาเฟ่ สาย Workation สายสุขภาพและเวลเนสที่ส่วนใหญ่เน้นท่องเที่ยวระยะยาวเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่ม Baby boomer เป็นสายบุญ สายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีคนท้องถิ่นและซึมซับวัฒนธรรม แต่เป็นกลุ่มที่ยังมึความกังวลด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยค่อนข้างสูง ในด้านที่พัก นักท่องเที่ยวในหลายสายยังนิยมโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นหลักจากนั้นเป็นโรงแรมระดับ 2-3 ดาว ส่วนที่พักที่มีรูปแบบเฉพาะจะมีกลุ่มเป้าหมายของตนเองชัดเจน เช่น อุทยาน ลานกางเต็นท์จะเป็นที่นิยมในกลุ่มสายแอดเวนเจอร์ สายรักษ์ธรรมชาติ  สายงานเทศกาล เป็นต้น

ทั้งนี้การเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในแต่ละสายที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้เร็วและเสริมจุดแข็งของธุรกิจตนเองให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น การนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเป้าหมายได้ตรงจุดถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เช่น ธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านกาแฟ อาจจะเน้นการตกแต่งและเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวสายคาเฟ่ สายสุขภาพและเวลเนส ส่วนธุรกิจร้านขายของที่ระลึก สินค้าท้องถิ่น อาจใส่ไอเดียในสินค้าที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อดึงดูด กลุ่มลูกค้าหลักอย่างสายบุญ สายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสายคาเฟ่ เป็นต้น นอกจากนี้ การทำกิจกรรมทางการตลาดโดยเฉพาะทางออนไลน์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันจะเป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การขยายบริการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวพร้อมทั้งสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจ เนื่องจากเทรนด์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เน้นใช้จ่ายเพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ทำให้บริการท่องเที่ยวที่ครบวงจรทั้งที่พักและกิจกรรมภายใต้บริการที่ได้มาตรฐานและราคาเหมาะสมจะช่วยเพิ่มคุณค่าบริการและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายนักท่องเที่ยวสายคาเฟ่ สายสุขภาพและเวลเนส สายแอดเวนเจอร์ เป็นสายนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเป็นโอกาสแก่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เที่ยวนาน และได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ไม่สูงนัก ทำให้มีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงตาม ทั้งนี้การจัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย การบริการระดับพรีเมี่ยม และการตกแต่งที่ทันสมัยเป็นเอกลักษณ์คาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ค่อนข้างมาก

 

 

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click