พร้อมเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ AI

นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดทำกรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยกรอบแนวทางฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจประกันภัยเข้าใจถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และสร้างความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนแสดงถึงบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจประกันภัยต่อผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้เอาประกันภัย คู่ค้า สังคมและชุมชน ตามกิจกรรมห่วงโซ่คุณค่าของการประกันภัย (Value chain) ในแต่ละมิติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เอาประกันภัยและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อนำไปสู่การเพิ่มโอกาสและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

ในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจประกันภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสนับสนุนธุรกิจประกันภัยในการปรับตัวให้เท่าทันกับมาตรฐานสากล แนวโน้มและทิศทางของทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจของสำนักงาน คปภ. ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ที่มุ่งเน้นถึงการปรับตัวของธุรกิจให้เหมาะสมและเท่าทันกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการมีบทบาทของธุรกิจประกันภัยในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังให้ความสำคัญ และแสดงจุดยืนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน

สำหรับแนวทางการพัฒนากรอบการกำกับดูแลแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลจากทั้งมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสากล (International Association of Insurance Supervisors: IAIS) หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance) มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) มาตรฐานการรายงานความยั่งยืน (Global Reporting Initiative Standards: GRI) และแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานในประเทศ เช่น แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One report) และคู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนจนได้ผลการศึกษาและพัฒนาเป็นกรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย
ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการเปิดเผยข้อมูลใน 3 มิติสำคัญ คือ

มิติแรก แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มิติที่ 2 แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในด้านสังคม (Social) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของความรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัย การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการประกันภัย ความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน

มิติที่ 3 แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในด้านธรรมาภิบาล (Governance) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของนโยบาย โครงสร้าง และระบบกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล การพัฒนานวัตกรรม การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน และการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยเห็นพ้องร่วมกันให้มีกรอบแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัยต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการเผยแพร่กรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้แก่บริษัทประกันภัย โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารดังกล่าวได้ที่ https://www.oic.or.th หัวข้อ แนวทางการกำกับ เรื่อง แนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัย

เล็งเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรการอบรม/การทดสอบความรู้สำหรับการขอรับและขอต่อใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบตามความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจประกันภัย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดแถลงข่าวแนวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ภายหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ ตลอดจนโครงการและแนวนโยบายในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยก่อนหน้านี้ เพื่อนำมาปรับปรุงและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตนจึงให้ความสำคัญกับ
การทำงานร่วมกับพนักงาน คปภ. และได้รับความร่วมมือจากพนักงาน คปภ. อย่างดียิ่ง จึงสามารถกำหนดแนวนโยบายและทิศทางในการกำกับธุรกิจประกันภัยนับจากนี้ให้ออกมาชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลการเติบโตของเบี้ยประกันภัยในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง โดยเห็นได้จากการที่ธุรกิจมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน และมีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต 3.92% ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัย มีอัตราการเติบโต 5.16% โดยคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2566 เบี้ยประกันภัยจะอยู่ที่ (891,621 – 927,377 ล้านบาท)

สำหรับแนวโน้มและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยไทยมี 7 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน และสถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังถูกพัฒนาและเพิ่มจำนวนขึ้น ประเด็นที่ 2 สังคมผู้สูงอายุและชีวิตหลังเกษียณ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2575 ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจประกันภัยที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภท ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้สูงอายุ ประเด็นที่ 3 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกเหนือจากสังคมผู้สูงอายุที่เป็นปัจจัยเร่งแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ Medical inflation ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสุขภาพ และมีความต้องการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ประเด็นที่ 4 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โจทย์คือทำอย่างไร ธุรกิจประกันภัยจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้การดูแลลูกค้าที่เหมาะสมและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ ประเด็นที่ 5 การเข้าถึงลูกค้า โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เฉพาะบุคคลมากขึ้น ประเด็นที่ 6 การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) และประเด็นที่ 7 การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานใหม่ ๆ เช่น PDPA TFRS17 ICPs และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ใน 5 มิติหลัก ๆ คือ มิติแรก การยกเครื่องการกำกับดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยยกระดับมาตรฐานการกำกับความมั่นคงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย อาทิ มุ่งสู่การตรวจสอบเชิงรุก ยกระดับระบบตรวจสอบความเสี่ยงและสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า
การเพิ่มศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย ยกระดับการอนุมัติกรมธรรม์ และส่งเสริมบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มิติที่ 2 สร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมุ่งสู่ Consolidation แก้ไขกฎหมายในกลุ่มที่ 2 และ 3 เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจประกันภัย และขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยไปพร้อมกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยการจัดทำ Service Level Agreement (SLA) ของธุรกิจประกันภัย มิติที่ 3 ผลักดันให้การประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนในชาติ “ประชาชนทำประกันภัยด้วยความเชื่อมั่น บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ประเทศมีความมั่งคั่ง” โดยส่งเสริมให้การประกันภัยเป็น Financial Well-being ของประชาชนทุกคน “ประกันภัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ เข้าถึงง่าย และอยากเข้าถึง” ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปรองรับทุกช่วงการใช้ชีวิตของคนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตาย อย่างตรงจุด ยุติธรรม เต็มไปด้วยคุณค่า และเปิดให้มีการลงทุนประเภทใหม่ของบริษัทประกันภัย ภายใต้หลัก Risk Proportionality มิติที่ 4 ยกระดับประกันภัยไทยให้ก้าวล้ำนำสมัยในระดับสากล โดยเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการประเมินโครงการ Financial Sector Assessment Program หรือ FSAP และผลักดันให้มี Insurance Community หรือ Insurance Institute ระดับนานาชาติ และมิติที่ 5 การสร้างคนให้มีความสามารถอย่างโดดเด่น มีคุณภาพสูง และมีเป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย โดยการปรับโครงสร้างการทำงานของสำนักงาน คปภ. ให้เป็น Team-based Structure หรือ Matrix Structure เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภาพรวมมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้บุคลากรแสดงศักยภาพโดยมุ่งเน้นความสำเร็จของงานผ่านการวางเป้าหมายและวัดผลที่ชัดเจน

เลขาธิการ คปภ. ขอเน้นย้ำว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง รวมถึงสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย และมุ่งหวังให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีบริษัทที่อาจมีความเสี่ยงด้านฐานะและความมั่นคงทางการเงิน สำนักงาน คปภ. จะใช้มาตรการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ สั่งให้บริษัทวางเงินสำรองเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกับภาระหนี้สินที่มีต่อผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

“ในช่วง 4 ปี นับจากนี้ไป ผมอยากเห็นอุตสาหกรรมประกันภัยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของประชาชนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนประกันภัยให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการบริหารความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต นำโดย นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (คนที่ 4 จากขวา) พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ เข้าร่วมแสดงความยินดีกับ นายชูฉัตร ประมูลผล (คนที่ 4 จากซ้าย) ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมทั้งอวยพร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพฝ่ายขายให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด ตามนโยบายหลักของบริษัทฯ ในการมีลูกค้ามาเป็นที่หนึ่ง พร้อมทั้งเคียงข้างทุกความเชื่อมั่น ดูแลกันตลอดไป

X

Right Click

No right click