คณะกรรมการส่งออกผักผลไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น (ต่อไปนี้จะเรียกว่า สมาคมญี่ปุ่น) ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า JFOODO) และ Japanese Food Export Platform ที่จัดตั้งโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น จัดแคมเปญส่งเสริมการขายโดยเลือกใช้คาแรกเตอร์จากการ์ตูนชื่อดังอย่าง DORAEMON มุ่งหวังให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รู้จักกับผลไม้รสชาติแสนอร่อยของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และการประมง รวมถึงอาหาร โดยตั้งเป้าการส่งออกเป็น 2 ล้านล้านเยนในปี 2025 และ 5 ล้านล้านเยนในปี 2030 ทั้งนี้ ความนิยมของผลไม้ญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะแอปเปิ้ล และสตรอเบอร์รี่ จึงคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้จากประเทศญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลไม้ญี่ปุ่นมีสีสันที่สดใส สวยงาม รสชาติหวานฉ่ำจึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งอ้างอิงจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบได้ว่าความต้องการทานผลไม้ที่เคยทานในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนไทยเองนั้นก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ด้วยความปรารถนาของสมาคมญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ “คนไทยทุกคนคุ้นเคยกับผลไม้ญี่ปุ่นที่แสนอร่อยมากขึ้น” สมาคมญี่ปุ่นจึงจัดแคมเปญประจำปี 2023 ขึ้นในคอนเซ็ปต์ “ผลไม้พรีเมียมสำหรับเด็กๆ” โดยนำคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนอมตะที่เป็นที่รู้จักในไทยและทั่วโลกอย่าง DORAEMON มาสร้างสีสัน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การติดป็อบอัพโปรโมทที่ร้านจำหน่ายผลไม้ญี่ปุ่น การเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และการให้ข่าวสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ การร่วมมือกับร้านค้าปลีกในไทยรวมถึงเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงการจัดอีเวนต์ชิมผลไม้ญี่ปุ่นในวันเด็กของไทยอีกด้วย

มร. โยชิฮิสะ ฮิชินุมะ ประธานสมาคมญี่ปุ่น กล่าวว่า “ผักและผลไม้ของญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องของ ความอร่อย คุณภาพดี และความปลอดภัย จึงได้รับกระแสตอบรักจากลูกค้าทุกท่านจากทั่วทุกมุมโลกที่อย่างสูง ผลไม้ญี่ปุ่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ จะช่วยเพิ่มสีสันการรับประทานอาหารให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงคนสำคัญ จึงอยากให้ทุกคนได้ทานผักและผลไม้ตามฤดูกาลที่หลากหลายนี้”

 

รายละเอียดแคมเปญ

ชื่อแคมเปญ: Japanese Fruit -Color the Family Table

ระยะเวลาแคมเปญ: กันยายน 2023 ถึงมีนาคม 2024

รายละเอียดงาน: เผยแพร่ข่าวสารทางเว็บไซต์ และ เฟซบุ๊ค รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลโดยอินฟลูเอนเซอร์

ความร่วมมือกับร้านค้าปลีกในท้องถิ่นในไทยและเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ อีกทั้ง ยังจัดอีเวนท์ลองชิมผลไม้ญี่ปุ่นในวันเด็กของไทย เป็นต้น

อ้างอิง: เว็บไซต์โปรโมทผลไม้ญี่ปุ่น: https://japanese-fruit.jp/thailand/ Official Facebook ของ Japanese Fruit.: https://www.facebook.com/JapaneseFruitsTH

 

เกี่ยวกับคณะกรรมการส่งออกผักผลไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น

Japan Fruit and Vegetables Export Promotion Council (JFEC)

คณะกรรมการส่งออกผักผลไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นสมาคมจัดตั้งทั่วไป (General incorporated association) ที่รวบรวมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกที่จำเป็นสำหรับการส่งออกผักผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนสมาชิกโดยส่งเสริมการเร่งขยายตัวของการส่งออกผักและผลไม้

โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ (Koko Global Hospitality) บริษัทรับบริหารโรงแรมครบวงจรสัญชาติญี่ปุ่น เปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบพร้อมวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ ให้บริการบริหารจัดการโรงแรมภายใต้แบรนด์ โคโคเทล (Kokotel), วิฟเทล (VIVTEL), บาย โคโค (by Koko)

และภายใต้แบรนด์เจ้าของโรงแรมเอง ด้วยโมเดล Centralized Operation พร้อมมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘โคโค รีวอร์ด (Koko Rewards)’ ลอยัลตี้โปรแกรม ช่วยมอบความสุขและมอบสิทธิประโยชน์กลับคืนให้ทั้งแขกผู้เข้าพักและเจ้าของโรงแรม ขับเคลื่อนการทำงานด้วยพันธกิจ ‘F+O+W -> GL บริหารจัดการงานแบบเพื่อนแบบครอบครัวด้วยความจริงใจและจริงจังอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ว้าวและคุ้มค่า สู่การเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะ ‘Professional Operating Firm’ บริษัทรับบริหารจัดการโรงแรมมืออาชีพในอุตสาหกรรมโรงแรม เตรียมพร้อมเป็นแบรนด์บริหารโรงแรมระดับสากล ใน 6 ทวีป 10 ประเทศ และมีโรงแรมในเครือรวม 1,000 แห่ง

 เรย์ มัทสึดะ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด เผยว่า บริษัทเริ่มต้นธุรกิจขึ้นในปี 2558 จากการบริหารโรงแรมแบรนด์ ‘โคโคเทล’ และมีการต่อยอดขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในส่วนงานบริหารโรงแรมแบบครบวงจร ด้วยระบบการจัดการโรงแรมจากส่วนกลาง (Centralized and Property Operation Management) รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม อาทิ Sales & Marketing, Branding และอื่น ๆ ก่อนมีการเติบโตและพัฒนาแบรนด์โรงแรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของโรงแรมในทุกเซกเม้นต์

จากความสำเร็จนั้น ทำให้ในปัจจุบันบริษัทได้ขยายการให้บริการและมีโรงแรมที่บริหารในมือมากกว่า 20 แห่งในประเทศไทย จนเกิดการต่อยอดครั้งสำคัญนำมาสู่การยกระดับจากเดิมที่เป็นเพียงแบรนด์โรงแรม ไปสู่การจัดตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมครบวงจรอย่างเต็มตัว ในชื่อ ‘บริษัท โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด’ (Koko Global Hospitality) พร้อมวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบริการบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ ดังต่อไปนี้

● โคโคเทล (Kokotel) แบรนด์โรงแรม 3 ดาว ในคอนเซปต์ Bed & Café สำหรับลูกค้ากลุ่มเพื่อนและครอบครัว

● วิฟเทล (VIVTEL) แบรนด์โรงแรมพรีเมียมไลฟ์สไตล์ 4 ดาว ที่ออกแบบในไอเดีย Our Space สร้างพื้นที่ที่คำนึงถึงทุกความต้องการสำหรับคู่รัก และมีล็อบบี้ที่ดีไซน์ด้วยธีม Wine Bar

● บาย โคโค (by Koko) บริการบริหารจัดการโรงแรมแบบครบวงจร โดยบริหารภายใต้แบรนด์ของเจ้าของโรงแรมและแขกผู้เข้าพักยังสามารถเข้าร่วมลอยัลตี้โปรแกรม ‘โคโค รีวอร์ด (Koko Rewards)’ ที่กำลังพัฒนาอยู่ได้ด้วย

● บริการบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ของเจ้าของโรงแรมเอง

“แนวทางการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา คือการยกระดับธุรกิจไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิมในอุตสาหกรรมโรงแรม เราสร้างพันธกิจของตัวเองขึ้นมาตามแนวคิด ‘F+O+W -> GL’ โดยเริ่มจากการบริหารโรงแรมแบบเป็นเพื่อน เป็นคนในครอบครัว บริหารจัดการงานด้วยความจริงใจและจริงจังอย่างมืออาชีพ และในฝั่งเจ้าของโรงแรมก็จะได้ว้าวกับผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งในท้ายที่สุดบริษัทจะเติบโตอย่างมั่นคงไปสู่ระดับโลกและได้รับการยอมรับในฐานะ ‘Professional Operating Firm’ ของธุรกิจโรงแรม”

เรย์ เสริมว่า เพื่อให้บริษัทมีมาตรฐานการบริหารโรงแรมและให้คำปรึกษาได้อย่างมืออาชีพ เราจึงได้ออกแบบโมเดลธุรกิจที่เรียกว่าการบริหารโรงแรมแบบจัดการจากส่วนกลาง หรือ Centralized and Property Operation Management ซึ่งจะรวมการจัดการไว้ที่สำนักงานใหญ่ (Headquarter) ไม่ว่าจะเป็นแผนกการขาย แผนกสำรองห้องพัก แผนกการตลาด แผนกจัดการรายได้ แผนกจัดซื้อ แผนกบัญชี และแผนกไอที เพื่อบริหารโรงแรมในเครือทั้งหมด

ทำให้พนักงานที่อยู่ประจำที่โรงแรมจึงเป็นพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนปฏิบัติการเท่านั้น อาทิ แม่บ้าน เชฟ ช่างซ่อมบำรุง พนักงานต้อนรับ โดยจะมี Resident Master ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานใหญ่ (Headquarter) จึงเรียกได้ว่าโมเดลธุรกิจ Centralized and Property Operation Management สามารถช่วยลดต้นทุนจากการว่าจ้างพนักงานและสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับเจ้าของโรงแรม ตอบโจทย์โรงแรมขนาดกลาง ที่มีจำนวนห้องพักอยู่ระหว่าง 50-200 ห้อง ซึ่งแตกต่างจากการบริหารโดยแบรนด์โรงแรมขนาดใหญ่ที่มีค่าบริการส่วนบริหารงานและมีค่าต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จากการว่าจ้างพนักงานประจำในโรงแรมสูง

ทั้งนี้ การรวมแบรนด์โรงแรมทั้ง 3 มาไว้ในบริษัทเดียวกัน ทำให้บริษัทสามารถสร้างอีกความว้าวที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแขกผู้มาใช้บริการ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘โคโค รีวอร์ด’ (Koko Rewards) ลอยัลตี้โปรแกรมที่ให้ทุกแบรนด์ภายใต้การบริหารของโคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ สามารถเข้าร่วมได้ทั้งหมด โดยแขกผู้เข้าพักจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการเข้าพักโรงแรมในเครือกว่า 2,000 ห้อง ในขณะที่เจ้าของโรงแรมจะได้รับกลุ่มลูกค้า Repetition Guest เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มนี้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของโรงแรม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการทำตลาดได้อย่างมหาศาลอีกด้วย โดยโคโค รีวอร์ด จะมีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้

ด้านของ โยชิคัตสึ ทามุระ ผู้อำนวยการ บริษัท Relo Group, Inc. หนึ่งในนักลงทุนของ โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และด้วยการยกระดับนโยบายเดินหน้าเปิดประเทศของภาครัฐได้ช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง สร้างผลดีต่อธุรกิจโรงแรม อีกทั้งโรงแรมขนาดกลาง จำนวนห้องพัก 50-200 ห้อง ยังเป็นตลาดที่ไม่มีกลุ่มทุนโรงแรมขนาดใหญ่เข้ามาแข่งขัน ซึ่งโมเดลธุรกิจ Centralized and Property Operation Management เป็นโมเดลที่สามารถแก้ไขอุปสรรคด้าน

ค่าใช้จ่ายและช่วยสนับสนุนเจ้าของโรงแรมกลุ่มนี้ได้ ทำให้มีช่องว่างในการเติบโตค่อนข้างมาก Relo Group จึงตัดสินใจร่วมลงทุนในบริษัทและเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเติบโตเป็นบริษัทรับบริหารโรงแรมในระดับโลกต่อไป

เรย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือบริษัทมองว่าความสำเร็จของเจ้าของโรงแรมคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด บริษัท จึงได้ตั้งแนวคิดให้บุคลากรทุกคนรู้คุณค่าของตัวเอง และนำคุณค่านั้นมาปฏิบัติต่อลูกค้าในทุก ๆ ด้าน อาทิ การชี้ถึงจุดที่ต้องพัฒนาร่วมกัน การเชื่อในความสามารถของอีกฝ่าย ทำงานร่วมกันด้วยความจริงใจและเคารพกัน รวมถึงความตั้งใจทำทุกหน้าที่ให้สำเร็จและติดตามผลอยู่เสมอ

“ความจริงใจเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บริษัทมีให้เจ้าของทุกโรงแรมที่เข้าไปบริหารเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จร่วมกัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงจากการไม่มีความรู้ในการบริหารสู่การบริหารที่ชำนาญ ให้โรงแรมโตเองได้แม้ไม่มีเวลาบริหาร และได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ”

นายสรรเพชร นิลรัตน์ (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) ถ่ายภาพร่วมกับ มร.ทากาชิ ฮาเซกาว่า (ที่ 3 จากขวา) ผู้บริจาคทุนการศึกษาภายใต้กองทุน "ฮาเซกาว่า เรียว” (HASEGAWA Ryo Fund) แก่นักเรียนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ยากจนภายใต้การดูแลของมูลนิธิตั้งแต่ปีการศึกษา 2565-2571 จำนวน 231 คน ในโอกาสเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมประชุมและดูการดำเนินงานของมูลนิธิ

โอกาสนี้นายธัญญากร รัตนประสิทธิ์ (ขวาสุด) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ทุนการศึกษา และนายอนุชาติ คงมา (ที่ 2 จากขวา) ผู้จัดการฝ่ายกิจการฝ่ายต่างประเทศมูลนิธิ EDF ร่วมถ่ายภาพด้วย

อนึ่งมูลนิธิ EDF เป็นองค์กรสาธารณกุศลจดทะเบียนลำดับที่ 255 ของประเทศไทย ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนที่ด้อยโอกาสด้วยการมอบทุนการศึกษาและจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ โดยได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศและได้รับรางวัล เช่น ประกาศนียบัตรรับรอง CAF International Vetted Organization จาก CAF International ที่มอบให้องค์กรสาธารณกุศลทั่วโลกที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานครอบคลุมหลักธรรมาภิบาล เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่จดทะเบียนถูกต้อง รายงานการเงินประจำปีมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เงินบริจาคและเงินสนับสนุนที่ส่งมอบให้มูลนิธินำไปใช้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณกุศลอย่างแท้จริง รางวัลยอดเยี่ยมองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศไทยประเภทองค์กรขนาดใหญ่จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สถาบัน คีนันแห่งเอเชีย และ เดอะ รีซอร์ส อัลลิอันซ์ รางวัลประกาศนียบัตรองค์กรสาธารณกุศลระดับ 5 ดาว จากการดำเนินงานและบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพทางการเงิน และมีความโปร่งใสจากสมาคมกิฟวิ่ง แบค รางวัลคนดีต้นแบบคุณธรรมไทยจากสมาคมสหพันธ์คนพิการในประเทศไทย และรางวัลกัลปพฤกษ์ทองคำในฐานะหน่วยงานที่ทำความดีอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้สนใจร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาหรือจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ร่วมกับมูลนิธิ EDF สามารถติดต่อสำนักงานมูลนิธิได้ที่โทรศัพท์ (02) 579 9209-11 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น.) อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ทาง Line: @edfthai เฟสบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/edfthai หรือเว็บไซต์ www.edfthai.org ทั้งนี้การบริจาคหรือทำกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามกฎหมาย

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) นำเยาวชนไทยบินลัดฟ้าเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2022 เพื่อรับชมการถ่ายทอดสดนักบินอวกาศญี่ปุ่นนำแนวคิดการทดลองจำนวน 2 เรื่อง ของเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับแจ็กซา จัดโครงการ “Asian Try Zero-G 2022” เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเข้าร่วมแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้แจ็กซาได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 5 ประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในห้องทดลองคิโบะ โมดูล (Kibo Module) ของแจ็กซา โดย นายโคอิจิ วะกาตะ นักบินอวกาศญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนการทดลองที่ได้รับคัดเลือกเป็นการทดลองของเยาวชนไทยถึง 2 เรื่อง ได้แก่ การทดลองเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของนางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และการทดลองเรื่อง การศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของนางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ในครั้งนี้เยาวชนไทยทั้ง 2 คน ได้เดินทางไปร่วมติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติแบบเรียลไทม์ ณ ห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัทดิจิทัลบลาสต์ (DigitalBlast) อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมเมืองวิทยาศาสตร์ Tsukuba Science City ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญที่เยาวชนไทยได้สัมผัสการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันการได้มีโอกาสสื่อสารพูดคุยกับนักบินอวกาศโดยตรง ยังช่วยสานฝันและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต”

นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) เล่าว่า การทดลองที่เสนอไปต้องการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าน้ำถูกแรงจากภายนอกกระทำ ซึ่งการทดลองแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยการทดลองที่ 1 ต้องการศึกษาว่าเมื่อเกิดการชน (collision) ระหว่างลูกบอลกับก้อนน้ำทรงกลมแล้ว ก้อนน้ำจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งลูกบอลมี 3 แบบ ได้แก่ ลูกบอลเหล็กกล้า ลูกบอลไม้ และลูกบอลไม้ที่เคลือบกันน้ำ ส่วนการทดลองที่ 2 คือการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมที่สัมผัสกับแรงเฉือนจาก “ลูกข่างกระดก” ซึ่งลูกข่างมีความน่าสนใจตรงที่พลิกกลับด้านเมื่อหมุนได้

“เมื่อนักบินอวกาศเริ่มทดลองการทดลองที่ 1 เรื่องการชนกันระหว่างลูกบอลกับก้อนน้ำทรงกลม พบปัญหาว่าก้อนน้ำทรงกลมไม่เกาะกับห่วงลวดโลหะเพื่อจะปล่อยให้ชนกับลูกบอลอย่างที่คิดไว้ จึงปรับวิธีการทดลองเป็นการปาลูกบอลอย่างเบาๆ เข้าใส่ก้อนน้ำที่ลอยในอากาศแทน ผลการทดลองพบว่า ลูกบอลเหล็กกล้าและไม้เมื่อชนกับก้อนน้ำทรงกลม ลูกบอลจะเข้าไปอยู่ที่ผิวของก้อนน้ำทั้งคู่ แต่จะต่างกันตรงความลึกของลูกบอลที่จมเข้าไปในก้อนน้ำ ทั้งนี้เกิดจากขนาดแรงยึดติด (adhesive force) ระหว่างน้ำกับวัสดุที่มาชนแตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาการชนแบบไม่ยืดหยุ่นของวัตถุต่างสถานะกัน และการศึกษาเปรียบเทียบผลของชนิดวัสดุต่อพฤติกรรมการรวมตัวกับน้ำ ส่วนการทดลองที่ 2 คือการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมที่สัมผัสกับแรงเฉือนจากลูกข่างกระดกนั้น น่าเสียดายที่เวลาไม่พอจึงไม่ได้ทำการทดลอง อย่างไรก็ดีการได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่หาได้ยากมาก อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าชมห้องทำงานของ JAXA ที่รู้สึกว่าเท่มาก นอกจากนี้ยังได้เข้าชมอาคารจัดแสดงหุ่นยนต์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่อยู่บนคิโบะ โมดูล ที่สำคัญคือการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ต่างชาติที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา เช่น ฟิสิกส์ วิศวกรรม และยังมีความสนใจทางด้านอวกาศเช่นเดียวกัน ทำให้เราได้รับแรงบันดาลใจและมีแรงผลักดันในการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น

ด้าน นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) เล่าว่า หัวข้อการทดลองที่ส่งให้นักบินอวกาศ คือการศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เป็นการทดลองที่เกิดจากความสนใจเกี่ยวกับการขนส่งของเหลวผ่านท่อในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยตั้งสมมติฐานว่าเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ เช่น ในระดับความสูงของสถานีอวกาศนานาชาติ จะส่งผลให้ของเหลวที่อยู่ในท่อสามารถขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับระดับความสูงของของเหลวที่ทำการทดลองบนพื้นโลก นอกจากนี้ยังมีการทดลองเปรียบเทียบขนาดรัศมีของท่อที่แตกต่างกันด้วยว่าจะส่งผลให้ระดับความสูงของของเหลวขึ้นไปตามท่อได้แตกต่างกันหรือไม่

“ผลการทดลองพบว่าในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของเหลวไม่เคลื่อนที่ตามแรงดึงของผิวภาชนะ แม้ใช้รัศมีของท่อที่ลดขนาดลงมา ซึ่งแตกต่างจากการทดลองบนพื้นโลกที่มีการเคลื่อนที่ของของเหลวขึ้นไปตามแรงดึงของภาชนะ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมของของเหลวที่แตกต่างจากบนโลก อาจกล่าวได้ว่าพื้นผิวภาชนะที่ใช้ในการทำให้เกิดแรงดึงควรเข้ากับของเหลว เช่น น้ำ ได้ดี เพื่อให้พื้นผิวภาชนะมีความสามารถมากพอในการดึงของเหลว ดังนั้นการจัดทำอุปกรณ์ที่อาศัยหลักการแรงดึงของผิวภาชนะควรต้องพิจารณาชนิดของวัสดุด้วย การได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต เนื่องจากได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นความประทับใจที่การทดลองของเด็กคนหนึ่งได้ขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งทั้งนักบินอวกาศและทีมงานต่างก็จริงจังในการหาคำตอบของการทดลองเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นความสงสัยเล็ก ๆ ของเด็กเท่านั้น”

 

จีนกำลังจะเปิดเมือง!

จีนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แม้การออกจากนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ในช่วงแรกค่อนข้างล่าช้า แต่การส่งสัญญาณจากรัฐบาลจีนว่าให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจะควบคุมการระบาดโดยให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด คือ ก้าวแรกและก้าวสำคัญที่ชี้ว่าในปี 2023 จีนกำลังจะเปิดเมืองหลังจากที่บังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา KKP Research ประเมินว่าการหากจีนสามารถเปิดเมืองได้เต็มที่ในปีหน้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น

การเปิดเมืองจะล่าช้าในช่วงแรก เนื่องจาก

1) อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำจะยังกดดันระบบสาธารณะสุขจีน ในวันที่อัตราการฉีดวัคซีนในจีนยังไม่แพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและวัคซีนจีนเองยังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของจีนทั้งหมดอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่ระบบสาธารณะสุขรับไม่ไหว จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้ และอาจสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลอาจต้องกลับไปล็อคดาวน์หนักอีกครั้ง ดังนั้น ภาครัฐมีแนวโน้มจึงผ่อนคลายมาตรการแบบค่อยเป็นไป

2) เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเร็วอาจเพิ่มแรงกดดันในการทำนโยบายภาครัฐ การเปิดเมืองจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ในปัจจุบันอยู่ที่ 2% มีความเสี่ยงเร่งตัวสูงขึ้นได้มาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่อั้นมาเป็นเวลานานในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ (pent-up demand) กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปัจจัยการผลิต (เช่น แรงงานในภาคบริการหรือโรงงานที่ถูกปิดตัวไป) ไม่สามารถกลับมาได้เร็วเท่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางจีนต้องขึ้นอัตราเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากระบบ แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ โดยจะทำให้การเข้าถึงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ จีนทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดจึงมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไปโดยจีนจะมีนโยบายสนับสนุนการขยายตัวของอุปทานไปด้วยเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเผชิญกับหลายอุปสรรคในระยะสั้น

ภาคการบริโภคของจีนจะหดตัวในระยะสั้นแม้ว่าจีนจะเริ่มคลายมาตรการโควิดแล้วก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภคในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งแรกของปี 2023 อย่างไรก็ตามภาคการบริโภคจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มผ่านจุดสูงสุดและผู้คนมีความคุ้นชินและเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ราคาพลังงานโลกอาจพุ่งสูงขึ้นเมื่อจีนเปิดเมือง

ผลกระทบที่สำคัญของการหลังจีนเปิดเมือง คือ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากจุดสูงสุดแต่ราคายังค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนการระบาดโดยที่จีนยังไม่ได้เปิดเมืองด้วยซ้ำ วิกฤตราคาพลังงานสูงจากการตัดขาดอุปทานพลังงานจากรัสเซียที่ยังไม่สิ้นสุด การเปิดประเทศของจีนจะทำให้เกิดการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากและจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกได้ในปีหน้า

ประเด็นที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือ ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผ่านกระบวนการกลั่นเรียบร้อยแล้วเช่น ราคาน้ำมันดีเซลอาจพุ่งสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าราคาน้ำมันดิบจากทั้งเรื่องน้ำมันสำรองของหลายประเทศที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากในปีนี้รวมไปถึงกำลังการกลั่นที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าหลังโควิด แม้ว่ากำลังการกลั่นในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่หากจีนยังคงจำกัดการส่งออกปิโตรเลียมต่อไปในขณะที่จีนเริ่มเปิดเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานอาจไม่ลดลงได้แม้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะเริ่มชะลอตัวลง

การส่งออกของประเทศแถบเอเชียอาจยังชะลออยู่แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว

หากจีนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่จริงจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกโลกในแถบเอเชียที่มีการส่งออกสินค้าไปจีนติดลบในช่วงที่ผ่านมา โดยประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือ 1) ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย 2) ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคการบริโภคในจีนสูงได้แก่ ฮ่องกง 3) ประเทศที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ในจีนกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้งไม่ได้แปลว่าภาคการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆจะขยายตัวได้ดีในช่วงปีหน้า เพราะในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวและอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการส่งออกโดยรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ที่มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าอุปสงค์ที่มาจากจีน

4 ความผันผวนที่จะสูงขึ้นในปี 2023

KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มการเปิดเมืองของจีนในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยปัจจัยที่สำคัญในปีหน้า คือ

1) ความผันผวนต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้นหลังการเปิดเมือง นอกจากนี้หากราคาพลังงานเร่งตัวขึ้น อาจเกิดการส่งผ่านต้นทุนพลังงานไปยังราคาสินค้าหมวดอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เพราะ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ถูกฝังเข้าไปในการคาดการณ์ของผู้ผลิต

2) ความผันผวนต่อสถานะทางการคลัง หากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก pent-up demand ในจีนที่จะทำให้ภาระต้นทุนของรัฐบาลในการพยุงกองทุนน้ำมันที่กำลังขาดทุนอยู่และตรึงราคาไว้ที่ 34.99 บาทต่อลิตรเพิ่มขึ้นเช่นกันซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นกว่าที่คาด

3) ความผันผวนต่อค่าเงินบาท ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของไทยเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจาก

จีนที่จะมาช่วยพยุงการส่งออกไทยบางส่วนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะกลับมามากกว่าที่หลายคนคาดในปีหน้าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น

4) ความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในสหรัฐ ฯ (Terminal Fed Fund Rate) สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดที่ 5% ในช่วงกลางปีหน้า ในสถานการณ์นี้นโยบายการเงินไทยจะได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับดอกเบี้ยสูงมากขึ้นจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น ในขณะที่ราคาพลังงานจะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจจีนหลังโควิดคือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

เศรษฐกิจจีนอาจไม่กลับไปเติบโตแบบในอดีตจากความท้าท้ายหลายประการได้แก่ 1) จำนวนประชากรโดยรวมและประชากรวัยทำงานที่กำลังหดตัว 2) ปริมาณหนี้ขนาดใหญ่ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน 3) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาวแม้ว่าในระยะสั้นอาจฟื้นตัวได้ดีหลังการเปิดเมือง ประเด็นที่สำคัญคือ หากเศรษฐกิจจีนไม่กลับไปเติบโตเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 ผลกระทบสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยคือ

1) อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเพื่อการลงทุนและภาคการบริโภคของจีนจะได้รับผลกระทบด้านลบสูงจากการชะลอตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจจีน

2) FDI จากจีนบางส่วนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีนอาจชะลอตัวลง

3) จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยอาจลดลงในระยะยาวและไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น

 Cr: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ  KKP

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click