ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2567 ทะยานแตะ 4.2 หมื่นล้านบาท จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และวันหยุดพิเศษที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แนะภาครัฐส่งเสริมต่อยอดและวางแผนการกำหนดวันหยุดให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทย

เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดประจำปีของไทยที่เป็นโอกาสสำคัญในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวที่ตรงตามเทศกาลอย่างน้อย 3 วัน และเมื่อรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์รวมถึงวันหยุดพิเศษตามประกาศของภาครัฐ ย่อมทำให้วันหยุดรวมมีระยะเวลานานเพียงพอที่จะทำให้ผู้จากถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และภาคตะวันออก สามารถกลับไปพักผ่อนใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลได้ นอกจากนี้ด้วยวันหยุดที่มีระยะเวลานานย่อมส่งผลดีต่อกลุ่มที่มีแหล่งงานในภูมิลำเนาตนเอง หรือกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด โดยเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่เหนื่อยจนเกินไปจากจำนวนวันหยุดที่ยาวนานและยังเหลือวันหยุดเพื่อพักผ่อนหลังเดินทางท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นับเป็นปีที่วันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยให้กับภาคการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน และ วันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน และแม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เมษายน และวันที่ 12-16 เมษายน ซึ่งก็นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

นักท่องเที่ยวชาวไทย ในเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจากแหล่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รายจ่ายในส่วนของการเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายจ่ายปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา หรือกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับครอบครัว ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในพื้นที่ภูมิภาคไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีรายจ่ายในบางรายการสูงขึ้น เช่น รายจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 6.9% รายจ่ายเกี่ยวกับอาหารและซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวจากรูปแบบวิถีชีวิตของชาวไทยที่เมื่อมีการรวมกลุ่ม คาดปรับเพิ่มขึ้น 12.9% ในขณะที่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในภาคโรงแรมโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มเพียง 2.7% เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่คนส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาจึงพักอาศัยที่บ้านเกิดของตนแต่อาจได้รับอานิสงส์จากกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออก และจังหวัดติดทะเลใกล้กรุงเทพฯ โดยจากรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ttb analytics ประเมินเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดอยู่ที่ 17,200 ล้านบาท

ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ได้รับแรงหนุนจากช่วงวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน และ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปหนีความหนาวมาพักพิงในภูมิภาคที่มีความอบอุ่น ส่งผล

ให้ในเดือนเมษายนนี้ แม้จะมีแรงส่งจากเทศกาลสงกรานต์ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่หายไปจากฤดูท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวด้านจำนวนคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนปี 2567 จะมีจำนวนราว 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% (เดือนเมษายน 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.18 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เมษายน คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2566 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วย เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ช่วงวันหยุดสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าปีก่อนที่เทศกาลมีวันหยุดเพียง 4 วัน นอกจากนี้ในปี 2567 เมื่อพิจารณาในระยะเวลาช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เมษายน ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 25,800 – 37,400 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300 – 78,900 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่าง ๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากันแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ เงินสะพัดอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าตัวเลขข้างต้น โดย ttb analytics มองภาครัฐยังสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น รายจ่ายค่าที่พัก และอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพฤษภาคม หรือ กรกฎาคม และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

ดุสิตธานี” สู้ไม่ถอย แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายระลอก ล่าสุดปรับกลยุทธ์ลุกเข้าหาลูกค้า ประกาศเดินหน้าสร้างรายได้จาก Non-Room Business ใช้ทักษะและความเข้าใจในท้องถิ่นผลิตสินค้าเพื่อนำเสนอในชุมชนทดแทนรายได้ห้องพักในช่วงที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง   รอจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  โดยเลือก “ดุสิตธานีหัวหิน” เป็นโมเดลนำร่อง หวังลดการพึ่งพารายได้จากห้องพัก หันมาโฟกัสการสร้างแหล่งท่องเที่ยววิถีธรรมชาติในรีสอร์ท ประเดิมปลูกข้าวนาแรกได้ผลผลิต 200 กิโลกรัม มั่นใจหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย จะกลายเป็นจุดเด่นของการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือน"

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานียังคงมีกำลังใจในการเดินหน้าฝ่าวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบสองนี้  แม้ว่าธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเข้าพักลดลงจากสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้กลุ่มดุสิตธานีปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาโฟกัสกับการสร้างรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่รายได้จากการเข้าพัก (Non-Room Revenue) โดยใช้ทักษะ ความเข้าใจตลาด ความสนใจของคนในพื้นที่และข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ มาเป็นปัจจัยในการวางเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้   “การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ เปลี่ยนจากการที่ลูกค้าเดินมาหาเรา เป็นเราที่จะเดินเข้าไปหาลูกค้าเอง เพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตตามวิถีนิว นอร์มอล ที่ลูกค้ายังไม่สะดวกเดินทาง ต้องการความปลอดภัย” 

ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนออาหารเมนูพิเศษที่ปกติไม่ได้ขายเป็นเมนูประจำ เช่น โรงแรมดุสิตธานีพัทยา นำเสนอเมนูปาท่องโก๋ รวมถึงอาหารง่ายๆ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก โรงแรมดุสิตเชียงใหม่ ทำเมนูติ่มซำและอาหารเช้าแบบอเมริกัน  โรงแรมดุสิตธานีหัวหินเปิด Pop Up Store ด้านหน้าโรงแรมเพื่อให้บริการอาหารคุณภาพดี ราคาย่อมเยา  ขณะที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต  เน้นนำเสนอบริการอาหารกล่องหรืออาหารปิ่นโตให้กับหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลและโรงเรียน ส่วนโรงแรมดุสิตปริ๊นเซสศรีนครินทร์เปิดให้บริการ Drive Through และบ้านดุสิตธานี ซอยศาลาแดง ที่ให้บริการอาหารเช้า เป็นอาหารกล่อง มีเมนูหลากหลายทั้งไข่เจียว จากไข่ออร์แกนิค หมูปิ้งพร้อมข้าวเหนียว โจ๊ก สลัด และอื่นๆ ในราคา 40-50 บาทในคุณภาพระดับโรงแรม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของลูกค้าในภาวะวิกฤติ 


นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานียังเดินหน้าปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี หัวหินที่ให้บริการในรูปแบบรีสอร์ท มายาวนานถึง 30 ปี ให้เป็นโมเดลนำร่องในการต่อยอดพัฒนารีสอร์ทให้เป็นรีสอร์ทที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่หลากหลาย เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาพักอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง

“เนื่องจากโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง เราจึงได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาพัฒนาเป็นสวนผักผลไม้ออแกนิก เพื่อให้เป็นแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยววิถีธรรมชาติสำหรับลูกค้าที่มาเข้าพัก ในขณะเดียวกันก็นำผลผลิตที่ได้มาทำผลิตภัณฑ์อาหารสดและแปรรูปจำหน่ายให้กับลูกค้า และปรุงอาหารให้พนักงานเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งผลตอบรับดีมาก เราจึงขยายพื้นที่สวนเกษตรด้วยการลงแปลงนาข้าว ซึ่งผลผลิตจากนาแรกที่เพาะปลูกคาดว่าน่าจะได้ผลผลิตราว 200 กิโลกรัม ซึ่งจะนำมาลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้กับพนักงานของโรงแรมก่อน และถ้ามีผลผลิตมากพอ ก็อาจจะมีผลิตข้าวจากแปลงนาของดุสิตธานีเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในอนาคต” นางศุภจีกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี มั่นใจว่า กระบวนการเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างโมเดลการให้บริการในรูปแบบใหม่ตามวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นการตอกย้ำถึงความเข้มแข็งของพนักงานกลุ่มดุสิตธานี ที่พร้อมจะสู้และประคับประคองตัวเอง งานที่รัก ตลอดจนองค์กรให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติ เพื่อที่จะกลับมาต้อนรับลูกค้าได้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน การพัฒนาแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีธรรมชาติที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสกับการเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติควบคู่ไปกับการได้รับบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัยภายใต้มาตรฐานของดุสิตธานีอีกด้วย ทำให้มั่นใจว่า เมื่อการท่องเที่ยวสามารถกลับมาได้อีกครั้ง กลุ่มดุสิตธานีจะมีความพร้อมในการให้บริการและจะสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้อย่างแน่นอน

 

“วันนี้พนักงานกลุ่มดุสิตธานีสู้ทุกคน เราสู้ไม่ถอย และรวมใจเป็นหนึ่ง เพราะเรารู้ว่าการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ เราไม่ใช้สามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์เอาชนะได้ แต่เราต้องใช้หัวใจ ต้องอดทน ต้องเข้มแข็ง ต้องเรียนรู้และต้องปรับตัวให้ได้ วันนี้เราไม่สามารถสร้างรายได้จากห้องพักได้เหมือนในอดีต เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องพัก (Non-Room Revenue)  ซึ่งน่ายินดีที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และเสียงตอบรับจากลูกค้าทุกคนทำให้พนักงานของดุสิตธานีมีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าว

X

Right Click

No right click