ประเทศผู้นำ AI คือประเทศมหาอำนาจ

December 18, 2018 5003

ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้เริ่มต้นทดสอบการให้บริการรถไฟใต้ดิน โดยผู้โดยสารจะต้องเดินไปที่ชานชาลาและใช้ใบหน้าหรือเสียงเพื่อที่จะทำการจ่ายค่าบริการ เมื่อระบบพิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วจึงทำการตัดเงินจากบัญชี Alipay โดยบริษัท Alibaba นั่นหมายความว่าถ้าหากระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จและถูกใช้อย่างแพร่หลายเป็นการทั่วไป ผู้คนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินสด พกกระเป๋าสตางค์หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเพื่อการจ่ายเงินในระบบขนส่งของจีนอีกต่อไป

บริษัท Alibaba Group Holding Ltd. ได้ลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI รวมทั้งการออกแบบไมโครชิพ AI ด้วยเงินลงทุนถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศชั้นนำในการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ด้าน AI และการคำนวณชั้นสูงอีกก้าวหนึ่ง

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Microsoft และ Google ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาไมโครชิพเพื่อบริหารจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์ (cloud) ซึ่งมีขีดความสามารถทางด้าน AI เป็นหลัก

ในขณะนี้มีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศจีนกำลังจะกระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อออกแบบและผลิตไมโครชิพ AI ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจสอบเสียงของมนุษย์เพื่อบ่งบอกตัวบุคคล (voice recognition) และเพื่อตรวจจับและระบุวัตถุว่าวัตถุนั้นคืออะไร (object detection) ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่เคยประกาศที่จะให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาไมโครชิพในลักษณะนี้มาก่อน

"Made in China 2025" ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศจีนบนเป้าหมายเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศจีนให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศเยอรมัน โดยถือว่าเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้มีการใช้คำว่า อุตสาหกรรม 4.0” ในปี 2011 เป็นครั้งแรกของโลก และหลังจากนั้นหลายประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าว ซึ่งแก่นแท้ของแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ก็คือการผลิตที่มีความชาญฉลาดโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า “Internet of Things” หรือ IoT ทำการเชื่อมโยงระบบการทำงานขององค์กรจนไปถึงระบบการผลิตในโรงงาน ตั้งแต่การผลิตขนาดเล็กจนไปถึงการผลิตระดับกลางและใหญ่ จนนำไปสู่การผลิตแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์นั่นเอง

การจะเป็นผู้นำด้านการผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลกนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาและวิจัยทางด้าน AI ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไมโครชิพ AI ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้ประเทศจีน ได้มีความชัดเจนว่า AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคมและสามารถที่จะควบคุมอุตสาหกรรมกรรมใหม่ของโลกจนประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

สงครามกีดกันทางการค้า (trade war) เริ่มปรากฏชัด โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันประเทศจีนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เช่น เทคโนโลยีไมโครชิพ AI ซึ่งประเทศจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านไมโครชิพ AI มากกว่าปกติตั้งแต่ปี 2017 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI อันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2030 โดยบริษัท Huawei พยายามทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ AI เพื่อเอาชนะบริษัท Intel และ Qualcomm เพื่อเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้

เทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้ผลิตไมโครชิพกำลังจะกลายเป็นตัวชี้ชะตาศูนย์อำนาจของโลก โดยในขณะนี้ประเทศจีนจะต้องนำเข้าไมโครชิพด้วยการจ่ายเงินออกนอกประเทศถึงสามเท่าของเงินที่ใช้ในการลงทุนผลิตไมโครชิพเองในประเทศ ทั้งนี้เพราะประเทศจีนยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตไมโครชิพใช้เองภายในประเทศ โดยจากผลการวิจัยของบริษัทวิจัย Gavekal Dragonomics พบว่าเงินที่ประเทศจีนต้องจ่ายไปเพื่อซื้อไมโครชิพนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2017 ถึง 2020 และจากการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกและประเทศสหรัฐอเมริกา จึงยิ่งจะทำให้ประเทศจีนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาไมโครชิพให้เป็นเทคโนโลยีของตัวเองได้เลย

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ไป คือประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ AI เท่านั้น

 

Reference

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-25/the-u-s-china-trade-war-means-alibaba-is-producing-its-own-chips


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

X

Right Click

No right click