×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

พระเกียรติเกริกก้องขจรไกล

October 22, 2017 3946

     พระราชดำรัสอำลาประชาชนในค่ำวันที่ 13 มิถุนายน 2503 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ เสด็จฯ เยือนฮาวายเป็นแห่งแรกของการเยือนสหรัฐอเมริกา ความตอนหนึ่งว่า

“...เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วยการผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศนั้น ประชาชนนับแสนนับล้านจะไปเยี่ยมเยียนกันยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ประมุขของประเทศในการไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้น ว่าประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และให้เกิดมีน้ำใจดีต่อชาวไทย...

     พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่างประเทศหรือที่เรียกว่า State Visit มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล หากนึกย้อนไปถึงในช่วงต้นพุทธศักราช 2500 ที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริการายงานว่าไทยมีพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางไมล์ มีประชากรเพียง 18 ล้านคน ในด้านการท่องเที่ยวเราก็เพิ่งจะจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อสท.) ในปี 2503 อาจกล่าวได้ว่าเรายังไม่เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกสักเท่าใดนัก

     การที่องค์พระประมุขของชาติเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน แม้เป็นลักษณะของอาคันตุกะ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9และสมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะทูตไปพร้อมกัน และด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ส่งผลสะท้อนทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยปรากฏสู่สายตาชาวโลก
       การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระองค์นอกจากเป็นการทำให้โลกได้รู้จัก Thai Royal Couple แล้ว ยังทำให้โลกได้รู้จักประเทศไทยในด้านต่างๆ ส่งผลให้ภายหลังจากการเสด็จฯ เยือน ธุรกิจการลงทุน รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปทยอยหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง    
     อีกทั้งสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรในระหว่างการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศยังถูกนำมาพัฒนากลายเป็นโครงการพระราชดำริที่หลากหลายโดยเฉพาะด้านการเกษตร ส่งผลดีต่อความสุขของประชาชนในชาติมาจวบจนทุกวันนี้

    นิตยสาร MBA ประมวลภาพบางส่วนของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่างประเทศไว้ ณ ที่นี้

 

ขบวนพาเหรด Ticker Tape จากโรงแรมแอสเทอเรียไปตามถนนบรอดเวย์ล่าง (lower broadway) ซึ่งประมาณการว่ามีประชาชนมาร่วมชื่นชมบารมีมากถึง 750,000 คน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบจอมทัพชุดขาว และประทับในรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน ทรงยืนโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่ปรบมือถวายการต้อนรับตลอดทาง

 

เสด็จฯ เยือนบริษัทไอบีเอ็ม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ถวายการต้อนรับ และตามเสด็จฯ ส่งทั้งสองพระองค์ไปยังที่ประทับแรม “แบลร์ เฮาส์” อันเป็นย่านที่ผู้ดีและดารามีชื่อพำนักกันคับคั่ง

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่ามกลางฝูงชนที่นิวยอร์ก

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงกลั่นน้ำมัน ทอแรนซ์ ของบริษัท สแตนดาร์ด แวคคัม ออยล์ ซึ่งเป็นกิจการน้ำมันขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกกฎหมาย Anti-Trust Law สหรัฐฯ ทำให้แยกเป็นสองบริษัท คือ เอกซอน และ โมบิล ออยล์ ซึ่งโมบิล ออยล์มาตั้งกิจการในไทยปี พ.ศ. 2510

 

ฉายพระรูปกับท่านประธานาธิบดีและภริยา ในงานเลี้ยงพระกระยาหารที่ทำเนียบขาว

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉายพระรูปกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ช้างที่เห็นนี้ เป็นช้างศึกไทย สลักด้วยไม้สักปิดทองที่เท้าทั้งสี่ ที่พระองค์พระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ฝ่ายประธานาธิบดีได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion of Merit ชั้นจอมทัพแด่พระองค์

 

ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนักร้องชื่อก้อง เอลวิส เพรสลีย์ ขณะทรงเยี่ยมชมโรงละครพาราเมาต์

 

เสด็จฯ เยี่ยมชมเรือดำน้ำ U.S.S. Growler ของสหรัฐฯ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงบังคับเรือด้วยพระองค์เองทั้งขณะที่ลอยและดำน้ำ

 

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ประทับรถม้าคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จากสถานีรถไฟวิกตอเรียไปสู่พระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางทหารกองเกียรติยศและประชาชนชาวอังกฤษ ที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จทั้งสองพระองค์

 

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งสู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินฯ ตรวจพลแถวทหารกองเกียรติยศ ร่วมกับประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ที่หน้าตึกรัฐสภา

 

 สมเด็จพระบรม-ราชินีนาถทรงสัมผัสพระหัตถ์ด้วยดวงพระพักตร์เปี่ยมด้วยไมตรีจิต

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่ไฮนริช ลุบเกประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภรรยา

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราช-ดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนายเรือโปรตุเกส

 

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมบริษัทอีสต์เอเซียติก ประเทศเดนมาร์ก

 

เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของโรงงานผลิตเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ทางทิศเหนือของนครโคเปนเฮเกน

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีอิงกริด และเจ้าฟ้าหญิงแห่งราชวงศ์เดนมาร์กทั้งสองพระองค์ เสด็จฯ ลงสู่ชั้นล่างของเรือยุตแลนเดีย

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงพระราชปฏิสันถารกับพระสันตะปาปา ประมุขของคริสตจักรกันพอสมควรแก่เวลาแล้วได้ทรงอำลาเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ

 

X

Right Click

No right click