×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

ยืนยง  ทรงศิริเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการปฏิบัติการและประสิทธิภาพธุรกิจสาขา ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า  ธนาคารมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในแบบลูกค้าต้องการ  โดยเห็นว่าช่องทางสาขาคือช่องทางในการให้บริการลูกค้าที่มีความสำคัญในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทีเอ็มบีจึงได้พัฒนาสาขารูปแบบใหม่ สำหรับลูกค้าในยุคดิจิทัล  “ TMB Digital Branch Banking  Experience” เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริการในสาขาเพื่อไปสู่ธนาคารรูปแบบใหม่รายแรกของไทย นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำไปสู่ก้าวต่อๆ ไปในการให้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง

  TMB Digital Branch Banking Experience  เป็นการนำเทคโนโลยีการออกแบบช่องทางการบริการมาผสานเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล  ช่วยให้กระบวนการธุรกรรมมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ลดระยะเวลารอคอย เกิดประสบการณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน  โดยการบริการที่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการใช้งานดังกล่าว มีอยู่ 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. การนัดหมายล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ (New Queue Platform)  2. บริการข้อมูลผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ ผ่าน อี-โบรชัวร์ (E-Brochure) 3. เทคโนโลยี VDO Conference เพื่อให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก TMB Advisory 4. เจ้าหน้าที่ Navigator พร้อมอุปกรณ์ที่จะให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับการใช้บริการทุกธุรกรรม

         ยืนยง ทรงศิริเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการปฏิบัติการและประสิทธิภาพธุรกิจสาขา ทีเอ็มบี

ยืนยงกล่าวถึงรูปแบบสาขาว่า การออกแบบภายในจะเน้นการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจการเปลี่ยนผ่านการให้บริการนี้ โดยในระยะแรกต้องสร้างความเข้าใจทีละขั้นตอนเพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งจากการทดลองใช้งานมาช่วงหนึ่ง พบว่าลูกค้าชอบบริการที่นำมาใช้กับสาขารูปแบบใหม่  จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สาขาเป็นแบบบริการตัวเองเพิ่มมากขึ้น

 รูปแบบของสาขาใหม่นี้เป็นอีกก้าวสำคัญของการให้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งของทีเอ็มบี โดยยึดหลักให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว  นำความต้องการพื้นฐานมาสู่ประโยชน์ของลูกค้าและสร้างรูปแบบบริการตัวเองที่จะช่วยให้ลูกค้าติดต่อกับธนาคารได้ง่ายขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการธนาคาร  แต่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงิน ทีเอ็มบีจึงมุ่งเน้นการเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก

 ประสบการณ์รูปแบบใหม่ผ่านสาขานี้จะให้อำนาจกับลูกค้าในการเลือกอะไร ที่ไหน และอย่างไร ตามความสะดวกของแต่ละคน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดขาดการสื่อสารกับคนด้วยกัน หากพอใจจะขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่โดยตรงมากกว่าผ่านระบบการบริการแบบครบวงจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสาขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เข้าถึงช่องทางบริการทางดิจิทัล และจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากการเปลี่ยนผ่าน

        เจ้าหน้าที่ของสาขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เข้าถึงช่องทางบริการทางดิจิทัล

 ทั้งนี้ สาขารูปแบบใหม่จะนำร่องให้บริการใน 15 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ประกอบด้วย เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, สยามพารากอน, ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต, เดอะมอลล์ บางแค, ซีคอนสแควร์, เซ็นทรัลพระรามเก้า, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ, แฟชั่นไอแลนด์, เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะมอลล์บางกะปิ, เซ็นทรัล มหาชัย และทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่

ข่าวฮือฮาเกี่ยวกับมูลค่าของ Bitcoin เงินตราอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำนิวไฮให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในโลกการเงิน ที่มีทั้งมองเงินตราดิจิทัลในแง่บวกและลบ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของกระแส Cryptocurrency บนโลกใบนี้ไปได้

 

และในโลก Cryptocurrency นอกจาก Bitcoin ที่ครองตลาดอยู่กว่าครึ่งแล้ว ยังมีเหรียญดิจิทัลอีกกว่า 1,200 เหรียญในตลาดที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2560) เป็นเรื่องที่น่าดีใจเมื่อพบว่า หนึ่งในเหรียญที่อยู่ในตลาดนี้ มีเหรียญหนึ่งที่เกิดจากมันสมองของคนไทย ผู้มีความมุ่งมั่นกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency

 

Zcoin คือเหรียญที่เรากำลังจะพูดถึง แม้จะยังไม่โด่งดังเท่ากับ Bitcoin แต่ Zcoin ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า คนไทยมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่เว้นในสายเทคโนโลยีเข้มข้นอย่างเช่นในวงการ Crytocurrency และเมื่อได้รับโอกาสก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจออกมาได้

 

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา ZCoin ปัจจุบันยังเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด มาเล่าเรื่องราวของ Zcoin และความเป็นไปของโลก Cryptocurrency ที่น่าสนใจนี้

ปรมินทร์เล่าเรื่อง Zcoin ว่า จุดเริ่มต้นมาจากขณะที่ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักศึกษาที่ไปเรียนต่อมักจะหางานพิเศษทำ โดยมีงานพิเศษในร้านอาหารเป็นที่นิยมของกลุ่มนักศึกษา แต่เขามองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะใช้สิ่งที่เรียนเกี่ยวกับ Information Security หรือการรักษาความปลอดภัยบนระบบสารสนเทศมาหารายได้ 

 

“ตอนนั้น Crytocurrency เป็นหนึ่งในตัวเลือกของผมเหมือนกัน Bitcoin เพิ่งเพิ่มมูลค่าจาก 300 เหรียญไปที่ 1,300 เหรียญ เป็นปรากฏการณ์ที่ออกข่าวทุกช่อง และทุกเว็บไซต์ คนในฝั่งผมที่เปิดเว็บไซต์ออนไลน์อยู่แล้วก็ได้ดูข่าว ผมก็เริ่มสนใจ Bitcoin และเริ่มศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะหาเงินจาก Bitcoin ได้ด้วยความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับ Information Security นั่นคือจุดเริ่มต้น ซึ่งพอเข้าไปศึกษา ผมก็มองว่า Bitcoin จะมีการขุด แก้โจทย์คณิตศาสตร์แข่งกันแล้วได้ Bitcoin ไป ผมก็เข้าไปคลุกคลีในช่วงเวลาหนึ่ง และมองว่าผมยังมีศักยภาพหรือมีความรู้ที่มากกว่าการทำแบบนั้น และมองว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมา จากการที่มีความรู้อยู่แล้ว และไปดูตัวซอร์สโค้ดของ Bitcoin ที่เขาโอเพ่นซอร์สอยู่แล้ว ก็เริ่มศึกษามาตั้งแต่ตอนนั้นและใช้หัวข้อนี้ในการจบปริญญาโทด้วย ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษา ก็ทำวิจัยทางด้านนี้ด้วย” 

 

หัวข้องานวิจัยสำหรับจบปริญญาโทของเขาจึงเป็นการทำธุรกรรมให้เป็นส่วนตัวบนบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Bitcoin และ Crytocurrency อื่น ซึ่งเขาก็สามารถทำได้เข้าตานักลงทุนจนมีผู้มาสนับสนุนด้านเงินทุนและทำเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลาทำประมาณ 1 ปี ในชื่อ Zcoin

 

ปรมินทร์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “สมัยก่อนคนที่จะสร้างเหรียญใหม่พยายามที่จะสร้างบล็อกเชนของตัวเอง Zcoin ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้มีคนต้องการสร้างเหรียญเยอะโดยเอาบิสเนสโมเดลต่างๆ มาจับ ซึ่งการสร้างเหรียญใหม่แล้วต้องมีความรู้ในด้านเทคนิคอลเยอะๆ ก็ค่อนข้างยาก ทาง Ethereum จึงมองว่า จะทำอย่างไรให้คนสร้างเหรียญสร้างได้ง่ายขึ้น เลยทำเป็นแพลตฟอร์มออกมา อำนวยความสะดวกโดยที่ขี่บน Ethereum อีกที ผมทำตัว Zcoin มาก่อน Ethereum จะปล่อยแพลตฟอร์มออกมา เป็นเหตุที่ทำไมผมใช้บล็อกเชนของตัวเอง แทนที่จะขี่บน Ethereum จริงๆ แล้วปัจจุบัน ในทีมงานของผมเองก็ยังมีการเขียนซีคอยน์อยู่บน Ethereum เหมือนกัน โดยใช้เทคโนโลยี Zcoin ที่ชื่อว่า Zero Coin ไปรันบน Ethereum ทำให้คนที่ใช้งาน Ethereum สามารถใช้งานเทคโนโลยีเดียวกันที่อยู่ใน Zcoin ได้” 

 

จุดเด่นของ Zcoin คือความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้คนอื่นได้รู้ว่าเป็นใคร ที่ทำการโอนเงินไปให้ผู้อื่น เช่น นักธุรกิจที่กำลังอยู่ระหว่างเริ่มต้นการร่วมธุรกิจที่ยังไม่อยากให้คู่แข่งทราบ เป็นจุดเด่นที่ Zcoin มาตอบโจทย์เรื่องนี้ซึ่งหากใช้ Bitcoin จะไม่สามารถทำได้ 

 

ปรมินทร์อธิบายว่า “Zcoin ทุกคนเห็นเหมือนกัน แค่ระบุไม่ได้ ยังมีทรานเซกชันเกิดขึ้นอยู่ แต่จากที่เคยระบุได้ก็จะระบุไม่ได้ แต่ทรานเซกชันก็ยังอยู่ในบล็อกเชนอยู่ ระบุที่มาไม่ได้ ใน Bitcoin ถ้าผมสามารถผูกบัญชีกับคนคนหนึ่งได้ นั่นหมายความว่าผมจะรู้แล้วว่าเขามีเงินเท่าไร ทำทรานเซกชันอะไรบ้าง เมื่อไร ผมจะรู้เลยว่าเขาได้เงินมาจากที่ไหนบ้าง และส่งไปที่ไหนบ้าง ซึ่ง Zcoin มีเรื่องของการไม่โชว์ที่มา คือผมสามารถส่งเงินไปที่ปลายทางได้โดยที่ปลายทางได้รับ แต่ไม่ได้ระบุที่มาว่ามาจากไหน” 

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Crytocurrency คือมูลค่าของเหรียญซึ่งเกิดจากการนำราคาของเหรียญคูณด้วยจำนวนเหรียญในระบบ โดยราคาเกิดจากการนำราคาซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนทั่วโลกมาเฉลี่ยกัน เช่น Zcoin มีตลาดที่อินโดนีเซีย อเมริกา จีน และยุโรป ก็นำทั้งหมดมาเฉลี่ยว่ามีมูลค่าต่อเหรียญเท่าไร แล้วคูณกับจำนวนเหรียญที่มี

ปรมินทร์ เล่าว่า “ตอนที่ทำไม่ได้มองว่าจะโตขนาดนี้ ก่อนหน้านี้มองว่าเกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ถือว่ามากแล้ว เพราะด้วยเงินทุนที่เราได้มาเรามองว่า 10-20 เท่าก็เยอะแล้ว แต่ปัจจุบันมูลค่า  มาอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้ แต่เราก็ยังมองว่ามันยังสามารถโตไปได้อีกไกล”

 

จากราคาเริ่มต้นที่เหรียญละ 6 เซนต์ ปัจจุบัน Zcoin มีมูลค่าต่อเหรียญอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐ และมีปริมาณเหรียญในระบบประมาณ 3 ล้านเหรียญ ติดอยู่ 1 ใน 100 เหรียญของโลก เห็นได้ว่ามีการเติบโตอย่างมาก ปรมินทร์อธิบายเรื่องนี้ว่า “พวกผมเองก็ได้อานิสงส์จาก Bitcoin ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซึ่งไม่ใช่นักลงทุนมือสมัครเล่น เงินถูกใส่มาในตลาด Crytocurrency มากขึ้นทำให้ Zcoin ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะการที่นักลงทุนอาชีพมาลงทุนในตลาด Crytocurrency เขาจะไม่ได้ลงแค่เหรียญเดียว แต่เขาจะจัดพอร์ตของเขาไป เพื่อลดความเสี่ยง” ในด้านการใช้งานเงินตราดิจิทัล ผู้ก่อตั้ง Zcoin บอกว่ายังมีคนนำเงินเหล่านี้ไปใช้ไม่มากนัก เพราะการนำไปใช้ต้องมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ร้านค้าต้องเข้าใจกลไกการชำระเงินที่แตกต่างจากระบบที่มีอยู่ เช่น เมื่อจ่าย Bitcoin จะต้องรอเวลาเพื่อให้ระบบทำงานประมาณ 10 นาที ร้านค้าแต่ละร้านต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ และต้องมีแรงกระตุ้นให้เข้ามาใช้งาน เช่น เมื่อเพิ่มการชำระเงินด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วจะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยเขามองว่า เขาเข้ามาได้ถูกจังหวะในช่วงที่ตลาดกำลังมีความสนใจ Crytocurrency รวมถึงผู้กำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ 

 

สำหรับการเลือกลงทุนในเหรียญดิจิทัลเหล่านี้ ปรมินทร์บอกว่า “ถ้าให้เซฟที่สุด คือแบ่งเป็น 3 ชั้น เสี่ยงน้อย เสี่ยงกลาง เสี่ยงสูง เป็นเรื่องการลงทุน เลือกท็อป ตรงกลางและท้ายๆ ไว้ อาจจะเอาลิสต์มาดู 1-10 เลือกสัก 1-2 เหรียญ 20-50 เลือกสัก 1 เหรียญ 50-100 อีกเหรียญ แค่นี้ก็พอแล้ว ผมมองว่าตั้งแต่ 150 ไปเริ่มเสี่ยงไป บางทีเขาทำขึ้นมาไม่ได้ซีเรียสกับเหรียญที่ทำ จะลงเหรียญอะไร ถ้าไม่อยู่ใน 1-10 ต้องศึกษาดีๆ เหมือนหุ้นบลูชิป ที่มีความมั่นคงกว่า 

 

ในแง่การใช้งาน ผมก็ยังแนะนำ Bitcoin เพราะเกิดมาก่อนเขา วอลุ่มในการเทรดค่อนข้างเยอะเกินครึ่ง เราสามารถเอาไปใช้ที่ประเทศไหนก็ได้ มีตลาดทั่วโลก เป็นตลาดใหญ่ที่สุดแล้ว ถือ Bitcoin ความเสี่ยงที่จะไปที่ประเทศนั้นแล้วเอาออกไม่ได้มีน้อยกว่า อารมณ์เหมือนถือยูเอสดอลลาร์กับเงินประเทศเล็กๆ”  

 

บล็อกเชนสังคมแห่งการตรวจสอบ

ปริมินทร์กล่าวถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนว่า มีความน่าสนใจแตกต่างจากซอฟต์แวร์ทั่วไป โดยยกตัวอย่างเช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ทั่วไปจะมีการทำกันอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับบล็อกเชนการทำเช่นนั้นทำได้ยาก “ในส่วนของบล็อกเชนเราจะอัปเกรดแบบนั้นไม่ได้ การอัปเดตหนึ่งทีอาจจะใช้เวลาเป็นปี เพราะว่าผู้ใช้งานกระจายอยู่ทั่วโลก และการที่เราขออัปเดต ก็จะเกิดกรณีที่ว่าคุณเป็นใครมาสั่งให้เราอัปเดตซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์ที่คุณให้เราอัปเดตมีความปลอดภัยมากแค่ไหน มีแบ็กดอว์ฝังไปบ้างหรือเปล่า คนอื่นก็ต้องการตรวจสอบด้วย และการเอาซอฟต์แวร์พวกนี้ไปรันบนฮาร์ดแวร์ขนาดเล็ก ตู้เอทีเอ็มต่างๆ นั่นคืออุปกรณ์เหล่านั้นก็ต้องอัปเดต ด้วย ซึ่งไม่สามารถสั่งให้อัปเดตทีเดียวได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เชื่อใจผม เขาก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ในบล็อกเชน ไม่มีใครเชื่อใจกันทั้งสิ้น เช่น Zcoin ประกาศว่าจะมีการอัปเกรดใน 3 อาทิตย์ข้างหน้า ซอร์สโค้ดเราปล่อยออกแล้ว ตัวซอฟต์แวร์เราปล่อยเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถนำไปรันได้เลย เพราะอีก 3 อาทิตย์ข้างหน้าอันเก่าใช้งานไม่ได้แล้ว มันไม่สามารถวันนี้เอาไปเลย”

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

จากที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทย นำร่องติดตั้งระบบ ให้กับร้านค้าต่างๆ ที่ศูนย์อาหารทำเนียบรัฐบาล มาถึงล่าสุดสนับสนุนนโยบาย National e-Payment การส่งเสริมสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล มาสู่การจับจ่ายซื้อหาสินค้าในตลาดคลองผดุงกรุงเกษม

 

    ธนาคารไทยพาณิชน์ ประกาศเดินหน้าภารกิจ SCB Transfomation เพื่อก้าวสู่การเป็น The Most Admired Bank  โดยจะรุกสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้า แผนงานของธนาคารในปีนี้นอกจากการเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ แล้วยังรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับแพลตฟอร์มดิจิทัล และการนำเทคโนโลยี Business Intelligence ที่ช่วยให้ธนาคารตัดสินใจด้านการลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยอาศัยข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกธนาคาร และเทคโนโลยี Big Data Analysis ที่ช่วยให้ธนาคารวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกได้มากขึ้น

    ผ่านไป9 เดือน เราได้เห็นการขยับของ SCB ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์สเป็นแกนหลักในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในวงการธนาคาร ตัวอย่างที่เพิ่งผ่านมาไม่นานคือการพัฒนาแอพพลิเคชันจัตจักรไกด์ ที่ช่วยให้ร้านค้าและลูกค้าสามารถทำธุรกรรมกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงช่วยบริการด้านข้อมูลให้กับผู้ที่ใช้งาน

    ล่าสุด SCB ก็ออกมาประกาศจัดตั้ง เอสซีบี อบาคัส เป็นบริษัทในเครือที่ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการเป็นบริษัทแรกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินและการธนาคารของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

     อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเปิดตัวบริษัทลูกครั้งนี้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 2 ปีก่อน SCB จึงจัดตั้ง ดิจิทัล เวนเจอร์ส ขึ้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก SCB เป็นองค์กรใหญ่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำได้ยาก จึงต้องมีดิจิทัลเวนเจอร์สที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทดลองเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกมีบางการทดลองได้เริ่มลงสู่ตลาดบ้างแล้ว

    เอสซีบี อบาคัส ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่จะมาช่วย SCB ในการขับเคลื่อนธนาคารด้วยเทคโนโลยี ด้วยการนำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดความเข้าใจความต้องการของลูกค้าแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากจะรอระบบวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารอาจจะไม่ทันกาล การจัดตั้ง เอสซีบี อบาคัส ขึ้นก็เพื่อจะนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้กับฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อรู้จักผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เป็นไปตามแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

     อาทิตย์ระบุว่าอยากให้ เอสซีบี อบาคัส สามารถผลิตผลงานได้เช่นเดียวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่ก่อตั้งมาก่อน รวมถึงให้ทั้งสองบริษัทประสานงานกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมา

     ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ให้ข้อมูลต่อว่า เทคโนโลยี AI อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เห็นได้จากระบบการคัดแยกอีเมลที่ใช้ Machine Learning ระบบแนะนำสินค้าที่ตรงใจให้แก่ผู้ซื้อแต่ละคนในเว็บไซต์อีคอมเมอร์ซ หรือระบบการจดจำใบหน้าบุคคลที่ใช้บนโซเชียลมีเดีย เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยี AI  ทั้งสิ้น

     ในแวดวงธนาคาร เทคโนโลยี  AI ถูกนำมาใช้แยกธุรกรรมบัตรเครดิตที่น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริต ใช้สำหรับการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ที่เรียกว่า Robo-advisor และการชำระเงินด้วยระบบการจดจำใบหน้า AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของธุรกิจต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งเอสซีบี อบาคัส ด้วยพันธกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำเอานวัตกรรมอย่าง AI มาเป็นกุญแจสำคัญในการวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูล เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบโจทย์ทั้งสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ณัฏฐกานต์ ครรภาฉาย ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายนิติบริการและกฎหมายดิจิทัล (ซ้ายสุด) และ อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Digital Ventures (ขวาสุด) ร่วมเปิดตัวบริษัท เอสซีบี อบาคัส

 

     ดร.สุทธาภาระบุว่าจุดแข็งของ เอสซีบี อบาคัส ที่เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย

  • ทรัพยากรบุคคล – มีทีมบุคลากรที่มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง
  • การสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ – ให้ความไว้วางใจในการเลือกโครงการภายในธนาคาร ที่มีผลกระทบเชิงบวกสูงต่อการปรับปรุงพัฒนาบริการของธนาคาร ทำให้สามารถนำมาศึกษา พัฒนา และต่อยอดเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ ได้
  • มีพันธมิตรระดับโลก – มีข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ในสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ทั้งยังมีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร คุณวิลาสินี พุทธิการันต์ และ ศาสตราจารย์ ดร. เบ็นจามิน แวนรอย มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ

    ปัจจุบันเอสซีบี อบาคัส มีโครงการที่อยู่ในมือที่พอจะประกาศให้ทราบได้ เช่น ในแอปพลิเคชัน SCB Easy บริษัทจะเข้าไปช่วยพัฒนาระบบการแนะนำการใช้บริการธนาคารหรือที่เรียกว่า Recommendation Engine ซึ่งทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าต้องการได้รวดเร็ว ตรงใจต่อลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึง ระบบบริการด้านสุขภาพที่จะนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT  เข้ามาช่วยส่งเสริมไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพ โดยใช้ AI ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันที่เหมาะสมเฉพาะแต่ละบุคคล เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าใส่ใจดูแลสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ เอสซีบี อบาคัส จะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบ Call Center ด้วยการนำ AI มาคาดการณ์ปัญหาของลูกค้าที่โทรเข้ามา เพื่อโอนสายไปยังผู้เชี่ยวชาญที่ตอบปัญหาได้ตรงจุด ช่วยยกระดับคุณภาพบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า 

    การเปิด เอสซีบี อบาคัส ทำให้เห็นภาพความพยายามของ SCB ในการรุกตลาดฟินเทคเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งนำเอาเทคโนโลยี ATM เข้ามาเปิดให้บริการเป็นรายแรกของประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2526  

 

     นวัตกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย (ประมาณ 40 ล้านเครื่องในปี 2558 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 ล้านเครื่องในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มถึง 80 ล้านเครื่องในปี 2564)  และกลไกการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังจะกลายเป็นกิจกรรมประจำวัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงผนึกกำลังกันจัดตั้งสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) เพื่อยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และเพิ่มความไว้วางใจในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้บริโภคไทย

     สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ได้รับอนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดจนเจรจาทำความตกลงในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทางสมาคมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 16 ราย ทั้งบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบัตรโดยสาร e-Money ประกอบไปด้วย:

1. บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด
2. บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
3. บริษัท เพย์สบาย จำกัด
4. บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด
5. บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
6. บริษัท ทีทูพี จำกัด
7. บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด
9. บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)​
10. บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
11. บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
12. บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
13. บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท บลูเพย์ จำกัด
15. บริษัท โอมิเซะ จำกัด​
16. บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

     ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) กล่าวว่า “การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สะท้อนถึงนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันในการเป็นสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ ในหลายประเทศ อาทิ จีนและอินเดีย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ล้ำหน้าไปไกลมาก และในประเทศเช่นสวีเดน สังคมไร้เงินสดก็กลายเป็นภาพแห่งความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ข้อดีของการไม่ใช้เงินสดต่างๆ อาทิ การลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงในการครอบครองเงินสด ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนทำให้ลดความเสี่ยงจากการคอรัปชั่น”

     สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) จะคอยผลักดันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคไทยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้ สมาคมก็จะคอยกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางธนาคารแห่งประเทศไทยและนโยบายภาครัฐ และจะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมธุรกิจชาวไทย

     ปุณณมาศกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมหวังว่าผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ได้ตระหนักและเปิดใจรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอย่างแท้จริง และยังมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย เพราะภาครัฐและทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงมากำกับดูแลธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่าสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ทั้ง 16 ราย เป็นผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาติประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง และมุ่งเน้นให้บริการผู้บริโภคด้วยบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล”

 

Page 10 of 11
X

Right Click

No right click