×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7636

วิจัยเอคเซนเชอร์ระบุทิศทางและการตอบรับโอกาสใหม่ ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจหลักประสบความสำเร็จ

January 23, 2020 832
กรุงเทพฯ 22 มกราคม 2563 – รายงานวิจัยของเอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) เผยข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) คาดว่าธุรกิจใหม่ ๆ จะเป็นตัวสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้ว่าตอนนี้จะมีเพียงหนึ่งในสาม (ร้อยละ 33) ที่ระบุว่า รายได้กว่าครึ่งมาจากธุรกิจใหม่ที่เริ่มต้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
 
รายงานของเอคเซนเชอร์เรื่อง “Make Your Wise Pivot to the New” ใช้ข้อมูลจากการสำรวจผู้บริหารระดับสูง 1,440 ราย ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรม ใน 12 ประเทศ เผยให้เห็นว่า มีกิจการเพียงร้อยละ 6 ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสใหม่หรือลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งเอคเซนเชอร์เรียกว่า wise pivot หรือการปรับทิศอย่างชาญฉลาดเพื่อตอบรับโอกาสใหม่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันรายได้ร้อยละ 75 ของบริษัทเป็นผลมาจากกิจกรรม การลงทุนและร่วมทุน เพื่อเจาะตลาดใหม่ที่ไม่ได้ให้ความสนใจและสำรวจในช่วง 3 ปีที่แล้ว ซึ่งมีบริษัทเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 64) ของกลุ่มที่จัดว่าเป็น “ผู้ชำนาญการปรับปรับทิศ” (Rotation Master) สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อยร้อยละ 11 ขณะที่บริษัทกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57) สามารถดันกำไรให้เติบโตในอัตรานี้เช่นเดียวกัน (ประเมินจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา หรือ EBITD)
บทวิเคราะห์ฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่เป็น “ผู้ชำนาญการปรับทิศ” มีการปูพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับต่อยอดให้การปรับทิศทางธุรกิจ ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด การปูพื้นฐานต่าง ๆ นั้น สรุปได้เป็น 3 แนวทาง ดังนี้
  1. บริษัทกลุ่มนี้เพิ่มความสามารถในการลงทุนได้ด้วยการฟื้นความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก เห็นได้จากร้อยละ 76 ของ “ผู้ชำนาญการปรับทิศ” ที่ระบุว่าบริษัทมีศักยภาพการลงทุนที่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมให้คงอยู่ได้ เทียบกับบริษัทอื่นโดยเฉลี่ย ร้อยละ 49 นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของบริษัทที่ปรับทิศได้ดี ยังมีความสามารถในการลงทุนที่เพียงพอต่อการปรับสเกลหรือขยายธุรกิจใหม่ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นอีกร้อยละ 46
  2. บริษัทกลุ่มนี้ใช้กลยุทธ์พัฒนานวัตกรรมแบบรวมศูนย์ โดย 3 ใน 4 (ร้อยละ 76) ของผู้ชำนาญการปรับทิศ เผยว่า ได้รวมเอาทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมเข้ามาอยู่ภายใต้หน่วยงานเฉพาะ เทียบกับบริษัทอื่นร้อยละ 36 ที่ทำเช่นนี้ การตัดสินใจลงทุนต่าง ๆ ก็อยู่ภายใต้อาณัติของผู้บริหารชุดเดียวกัน การนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงเกิดประโยชน์และเต็มศักยภาพมากที่สุด นอกจากนี้ เกือบ 4 ใน 5 (ร้อยละ 79) ของบริษัทกลุ่มนี้ยังระบุว่า สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ความร่วมมือกับเครือข่ายที่กว้างขวาง ครอบคลุมทั้งพันธมิตรและลูกค้า เพื่อส่งให้กลยุทธ์ด้านนวัตกรรมสัมฤทธิผล เทียบกับบริษัทอื่นราว 2 ใน 3 (ร้อยละ 66) ที่ระบุถึงประเด็นนี้
  3. บริษัทกลุ่มนี้ประสานศักยภาพของธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ให้เกิดประโยชน์ กิจการที่เป็นผู้ชำนาญการปรับทิศสามารถประเมินผลกระทบของธุรกิจใหม่ต่อธุรกิจหลักได้ก่อนที่จะเร่งขยายไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ร้อยละ 60 ของผู้ชำนาญการปรับทิศ (เทียบกับกิจการอื่น ร้อยละ 28) ตระหนักดีว่า ธุรกิจใหม่มีศักยภาพในการกำหนดรูปแบบวัฒนธรรมของธุรกิจหลักใหม่ และครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของกิจการเหล่านี้ ก็ทราบดีถึงศักยภาพและโอกาสการขายข้ามกัน (cross-sell) ระหว่างธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ เทียบกับกิจการอื่นร้อยละ 29 ที่ตระหนักในเรื่องนี้
 
“กิจการชั้นแนวหน้าประสบความสำเร็จในการปรับทิศทางหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ใช่เพราะมีธุรกิจเดิมเป็นฐาน แต่เพราะไปเสริมธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่ง ปรับประสิทธิภาพ ทำให้สามารถปันทรัพยากรที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจใหม่ออกมาได้” นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว “กิจการเหล่านั้นกล้าที่จะก้าว ตั้งแต่การลดต้นทุนตามแผนกลยุทธ์ผลักดันให้นวัตกรรมกลายเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ และขายสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่าออกไป เพื่อเปลี่ยนธุรกิจหลักให้เป็นขุมพลังขับเคลื่อนการลงทุนใหม่ ๆ ได้ต่อไป”
“จากการทำงานกับลูกค้า ทำให้เห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ มีการไตร่ตรองเป็นอย่างดีเกี่ยวกับวิธีที่จะพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร เพื่อปรับธุรกิจหลักและขยับขยายธุรกิจใหม่ไปด้วยกัน บริษัทชั้นแนวหน้าจะเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมเพื่อหาแนวคิดดี ๆ ที่มีศักยภาพจากที่ต่าง ๆ ในองค์กร และนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการสนับสนุนและมีโฟกัสตรงจุดชัดเจน”
 
ปฏิบัติการสำคัญสำหรับ “การปรับทิศอย่างชาญฉลาด”
องค์กรแต่ละแห่งเผชิญกับความท้าทายต่างกันไปเมื่อปรับทิศไปสู่ธุรกิจใหม่ รายงานของเอคเซนเชอร์จึงแนะนำปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบสำหรับบริษัทที่ยังไม่ชำนาญเท่า Rotation Master หรือผู้ชำนาญการปรับทิศ
 
Rotation Driver ผู้ขับเคลื่อนการปรับทิศ ได้แก่ กิจการที่มีรายได้ร้อยละ 51 – 75 มาจากธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนะนำให้: 
  • ผลักดันการเติบโตของธุรกิจหลัก ไม่ใช่แค่ลดต้นทุนให้ดีที่สุดเท่านั้น แต่อาจนำระบบอนาลิติกส์เข้ามาใช้ เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าที่มีอยู่ได้ดีขึ้น รวมทั้งนำการตลาดดิจิทัลและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์แต่ละบุคคล (personalization) มาใช้ให้เกิดประโยชน์
  • เน้นลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงสุดและปรับขยายได้มากที่สุด เช่น การดึงคนเก่ง ๆ หรือซื้อสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง
  • ฟื้นวัฒนธรรมของธุรกิจหลักให้แข็งแกร่ง ด้วยการเสริมศักยภาพใหม่เข้าไป เช่น การดึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามา เพื่อหาโอกาสการใช้บิ๊กดาต้าให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและนำมาใช้ด้วยความรับผิดชอบ
Rotation Starter ผู้เริ่มต้นปรับทิศ ได้แก่ กิจการที่มีรายได้ร้อยละ 1 – 25 มาจากธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนะนำให้:
  • ปรับโครงสร้างการดำเนินงานในปัจจุบันตั้งแต่ระดับฐานราก รวมถึงการขายกิจการหรือสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่าออกไป เพื่อให้สามารถลงทุนได้เพิ่มขึ้น
  • วางพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านนวัตกรรม อย่างห้องปฏิบัติการนวัตกรรม เพื่อเริ่มบ่มเพาะแนวคิดใหม่ ๆ ในองค์กร
  • รวมกลุ่มและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อทดสอบแนวคิดเชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จนมีความพร้อมสำหรับการเข้าไปเจาะตลาดก่อน
X

Right Click

No right click