นักวิจัย มทร.ธัญบุรี สร้างแพลตฟอร์มบ้านอัจฉริยะ HoME@Cloud

August 11, 2020 6249

“หากเทคโนโลยีนี้มีการนำมาใช้จริง ผมเชื่อว่าทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท จากการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของประเทศ

สำหรับการใช้งาน 20 ล้านหลังคาเรือนและในภูมิภาค รวมถึงการมีตลาดส่งออกในภูมิภาคที่อิงมาตรฐานไฟฟ้าจากประเทศไทย สร้าง GDP ต่อปีได้มากกว่า 1%” นักวิจัย มทร.ธัญบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เล่าถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุด ‘การสร้างแพลตฟอร์มบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์' ได้รับทุนวิจัยจากโครงการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในหัวข้อวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย”

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ เผยว่า จากสถานการณ์โควิด 19 (COVID-19) ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องถดถอยอยู่ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยเชื่อว่าหากประเทศต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง จำเป็นต้อง Disrupt งานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จำเป็นที่จะต้องมองเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำไปข้างหน้าที่เป็นอนาคต เช่น การทำไมโครกริดอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีบ้านไร้เบรกเกอร์ เพื่อการจัดการภารกิจในชีวิตด้วยเครื่องมือสื่อสาร สร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเหมาะสมและปลอดภัย และต่อยอดด้วยการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยพัฒนาแอพในกลุ่ม Smart City ได้หลากหลาย เป็นการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน สามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรของรัฐคือการให้การส่งเสริมการปรับปรุงบ้านด้วยตู้รวมไฟฟ้าดิจิทัล หากทำด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ สร้างงานให้กับประเทศมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง

จากการประเมินความสามารถในการทำงานต่อวันได้ 3 หลังคาเรือนต่อช่างไฟฟ้า 1 ทีม 3 คน ด้วยปริมาณที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ 20 ล้านหลังคาเรือน ไม่เพียงแต่ประเทศจะมีเทคโนโลยีการป้องกันไฟฟ้าที่จะพลิกรูปแบบการป้องกันและจัดการไฟฟ้าเหมือนเทคโนโลยีมือถือที่พลิกชีวิตการใช้โทรศัพท์แล้ว ยังส่งผลให้เยาวชนและสถาบันการศึกษา เกิดการพัฒนาแอพตามจินตนาการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองตลาดในภูมิภาคบน Home Store กระตุ้นให้เกิดการคิดค้น Sensor ใหม่ๆ เพื่อสนองตอบคุณภาพชีวิตใหม่ๆ เกิดองค์ความรู้ใหม่ เกิดหลักสูตรใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น พัฒนาทักษะให้คนมีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากการฝึกฝนเป็นความคิดสร้างสรรค์ จากระบบนิเวศน์ของ “Self-Thinking Home” บน HoME@Cloud Platform ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับการสร้างแพลตฟอร์มบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์  เป็นนวัตกรรมที่หลอมรวมศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Electrical and ICT Convergence) ด้วยการจัดการไฟฟ้าภายในบ้านด้วยสมองกลแทนตู้รวมไฟฟ้าแบบเก่า เป็นแพลตฟอร์ต HoME@Cloud ที่มีตู้รวมไฟฟ้าดิจิทัลของเทคโนโลยีบ้านไร้เบรกเกอร์พร้อมด้วยความสามารถเป็น Gateway เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไปเก็บไว้บน Cloud และมี Application แบบ Cross Platform ที่ให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในบ้านได้ผ่านมือถือหรือ Web Application รวมทั้งยังมี API เพื่อให้นักนวัตกรไทยรุ่นใหม่ (New Talent Innovator) สามารถใช้จินตนาการสร้างบริการใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ระบบบ้านไร้เบรกเกอร์นี้

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ เพิ่มเติมว่า ระบบ HoME@Cloud Platform ของบ้านไร้เบรกเกอร์ เป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางของ DEPA ที่กำลังขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอยู่ในขณะนี้ เพียงผู้ใช้ไฟฟ้าทุกบ้านในเขตที่กำหนดติดตั้งระบบบ้านไร้เบรกเกอร์นี้ ทำให้พื้นที่นั้นสามารถพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะได้ทันที ซึ่งในโครงการนี้จะนำมาใช้ในพื้นที่เมืองอัจฉริยะมหาไถ่เป็น Platform เมืองที่คาดว่าจะทดลองใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 50 หลังคาเรือนภายในสิ้นปี 2563

X

Right Click

No right click