สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 67 ตอกย้ำเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ที่กลายเป็นเงื่อนไขทางธุรกิจสู่อนาคต เสมือนเป็น License to Earn หรือใบอนุญาตรับผลตอบแทนของธุรกิจที่จำเป็นต้องมีในระยะยาว

กระแสเรื่อง ESG ที่แต่เดิม ถูกขับเคลื่อนอยู่ภายในแวดวงตลาดทุน โดยเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสถาบันใช้ผลักดันให้บริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เอาจริงเอาจังกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ได้ถูกหยิบมาใช้อย่างแพร่หลาย จนปัจจุบันได้กลายเป็นคำสามัญที่นำมาใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มผู้ลงทุนแรกเริ่ม

จากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ที่จัดขึ้นวันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) ว่า “ทิศทาง ESG ในปีนี้ จะเป็นการเดินหน้าดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็จะมีความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)”

โดยกิจการที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ ในระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ในระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ และในระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวล 3 กลยุทธ์ ESG เพื่อให้กิจการใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย Chance: หาโอกาสในมิติเศรษฐกิจ Choice: สร้างทางเลือกในมิติสังคม Change: เปลี่ยนแปลงในมิติสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ได้แก่ 1) ESG -> License to Earn 2) One Report -> Double Materiality 3) Net Zero -> Scope 3 Emissions 4) Weaker Governance -> Greener Washing 5) Real Bottom Line -> Nature Profit 6) Sustainability Disclosure -> External Assurance สำหรับองค์กรที่ต้องการใช้ประเด็นด้าน ESG ในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่าง ๆ ได้แนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของกิจการ เพื่อให้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิผล

ในงานแถลงทิศทางความยั่งยืนปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ESG Premium: Care to Earn แนะนำเครื่องมือวัดมูลค่าความยั่งยืนของกิจการ ที่ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณเสริมการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มมิติข้อมูลแก่ผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG สำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “เครื่องมือ ESG Premium จะใช้ข้อมูล ESG Score ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มาดำเนินการทางคณิตศาสตร์กับข้อมูล ESG Portion ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อหาส่วนล้ำทางมูลค่า (Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากการใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในกระบวนการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังใช้เป็นตัวช่วยในการติดตามตรวจสอบการลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนสอดคล้องกับหลักการด้านความยั่งยืนตามที่สากลยอมรับ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ให้ภาพเชิงลึกกว่าการอ้างอิงดัชนีชี้วัดที่มีองค์ประกอบเป็นหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน”

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “การประเมินมูลค่าความยั่งยืนของกิจการด้วยเครื่องมือ ESG Premium มีส่วนสำคัญในการช่วยให้กิจการเข้าใจและทราบถึงช่องว่าง (Gap) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ขององค์กร ที่สะท้อนมูลค่าความยั่งยืนของกิจการผ่านสมรรถนะการดำเนินงาน (ESG Performance) สู่ส่วนล้ำทางมูลค่า (ESG Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของกิจการ”

บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ ESG Premium สถาบันไทยพัฒน์ ได้เปิดรับองค์กรนำร่อง (Pilot Organizations) ที่ต้องการยกระดับสมรรถนะการดำเนินงานด้าน ESG ของกิจการ สู่การสร้างส่วนล้ำทางมูลค่าจากปัจจัย ESG โดยองค์กรที่สนใจสามารถแสดงความจำนงเข้าร่วมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

พร้อมเผยรายชื่อหุ้น ESG Turnaround ดันผลประกอบการพลิกฟื้น เป็นปีแรก

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 66 จุดกระแส ESG (Environmental, Social and Governance) จากที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงขององค์กร สู่ปัจจัยที่ใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการตามทิศทางกระแสโลก

ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาด ทุกสาขา ESG ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เป็นต้น

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ที่จัดขึ้นวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2566) ว่า “ปัจจุบัน ESG มิได้เข้ามามีบทบาทเพียงในแง่ของความเสี่ยงที่กระทบกับธุรกิจ หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายทางเดียว แต่ยังเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้กิจการได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ในฐานะที่เป็นใบเบิกทาง (Enabler) สู่ตลาดใหม่ ๆ”

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา

พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ได้แก่

1) ESG as an Enabler

2) Industry-specific Taxonomy

3) Double Materiality

4) Climate Action

5) Lean Operation

6) Proof of Governance

สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่จะใช้ ESG เป็นกรอบในการขับเคลื่อน สามารถนำไปเป็นข้อมูลนำเข้าและใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน

ในงานแถลงทิศทางความยั่งยืนปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ESG Footprint: The Supplier Journey แนะนำการดำเนินการด้าน ESG กับผู้ส่งมอบ (Suppliers) ตามมาตรฐาน GRI1 ที่ทั่วโลกยอมรับ สำหรับขยายบทบาทด้าน ESG ของกิจการ จากที่ทำได้สมบูรณ์แล้วภายในองค์กร ไปสู่คู่ค้าในสายอุปทานเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG ในทิศทางที่กิจการคาดหวัง โดยในงานยังเปิดโอกาสให้กิจการที่สนใจสมัครเข้าร่วมดำเนินการด้าน ESG กับผู้ส่งมอบ โดยใช้ประโยชน์จากโครงการ ESG Footprint ด้วย

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ในปี 2566 นี้ ภาคเอกชนที่ต้องการขยายบทบาทการดำเนินการด้าน ESG กับคู่ค้า/ผู้ส่งมอบในสายอุปทานของตน เพื่อตอบโจทย์การสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน (The Ecosystem of Sustainability) สามารถนำเกณฑ์ชี้วัดที่เป็นสากล อาทิ GRI 308 (Supplier Environmental Assessment) และ GRI 414 (Supplier Social Assessment) มาใช้ในการประเมิน ESG Footprint และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ผ่านรายงานความยั่งยืนของกิจการ”

การประเมิน ESG Footprint สามารถใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน (GRI 302) น้ำและน้ำทิ้ง (GRI 303) มลอากาศ (GRI 305) และเกณฑ์ด้านสังคม อาทิ การจ้างงาน (GRI 401) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (GRI 403) แรงงานเด็ก (GRI 408) แรงงานเกณฑ์และแรงงานบังคับ (GRI 409) มาใช้กับคู่ค้า เพื่อรับทราบสถานะความยั่งยืนในสายอุปทานตามประเด็น ESG ที่องค์กรได้ดำเนินการและที่ควรดำเนินการ (Gap)

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เพื่อช่วยภาคเอกชนในการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้ก่อตั้ง ESG Sandbox โดยนำโครงการที่อยู่ในระหว่างริเริ่ม อาทิ ESG Meter มาตรวัดความยั่งยืนขององค์กร, ESG Footprint รอยเท้าความยั่งยืนในสายอุปทาน, ChatESG สื่อความยั่งยืนด้วยฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานร่วมกับองค์กรที่สนใจในวงจำกัด โดยสามารถนำไปทดลองใช้ก่อนที่จะเผยแพร่ในวงกว้าง”

ESG Sandbox เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาโครงการที่ใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความพลิกผัน (Disruption) ด้านความยั่งยืนในอนาคต โดยเปิดโอกาสให้องค์กรที่เข้าร่วมสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการที่อยู่ใน Sandbox ก่อนองค์กรอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบที่เป็นองค์กรสมาชิก (Member) ผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) และผู้ให้ทุน (Funder) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับ

หน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ใน ESG Sandbox ของสถาบันฯ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สถาบันไทยพัฒน์ จัดพิธีมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure ประจำปี 2565 มีองค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ (Award) 56 แห่ง ประกาศเกียรติคุณ (Recognition) 43 แห่ง และกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) 22 แห่ง รวมทั้งสิ้น 121 รางวัล

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการประกาศรางวัลที่จัดขึ้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) เนื่องในงานมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นวันนี้ (21 ธันวาคม 2565) ว่า “รางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน”

โดยการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ในปี 2565 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Sustainability Disclosure Award มีองค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ จำนวน 56 แห่ง Sustainability Disclosure Recognition มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 43 แห่ง และ Sustainability Disclosure Acknowledgement มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ จำนวน 22 แห่ง ตามลำดับ

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA[1] ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ คัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล โดยพิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

สำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2565 ภายใต้ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 135 องค์กร นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์กรที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะแล้ว ยังต้องการเชิดชูองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 121 แห่ง ในการเข้าร่วมตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลขององค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ / ประกาศเกียรติคุณ / กิตติกรรมประกาศ ในโครงการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2565 ได้ทางเว็บไซต์ https://thaipat.org 


[1] CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด (GEPP) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันไทยพัฒน์

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click