บนข้อเท็จจริงที่ว่าการแข่งขันทางธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันได้กำหนดให้องค์กรยุคใหม่ต้องหาเครื่องมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อความเท่าทันและไม่ตกยุค และบล็อกเชนก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ เพราะการประยุกต์ใช้บล็อกเชนไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการใช้งานด้านการเงินหรือการทำธุรกรรม แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึก จัดเก็บข้อมูล และการตรวจสอบติดตามเพื่อความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรยุคใหม่ รวมถึงการทำความรู้จักกับระบบนิเวศทางธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้บล็อกเชนเป็นกลไกสำคัญ แม้แต่ Social Network ระดับโลกอย่าง Facebook ก็ยังนำมาใช้งาน

บทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้กลายเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation และภายใต้การเล็งเห็นประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมมือกับบริษัท SIAM ICO  บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนด้านดิจิทัล โดยกำหนดเปิดหลักสูตรพิเศษ Blockchain for Enterprise Transformation เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้บริหารขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความตั้งใจ หรือสนใจที่จะพัฒนากลยุทธ์ด้านดิจิทัลให้กับองค์กร โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นกลไกสำคัญ

ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้บริหารของสององค์กร ได้ร่วมกันจัดแถลงความร่วมมือและแนะนำถึงสาระสำคัญของหลักสูตร ตลอดจนผู้บรรยายอันประกอบไปด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ทรงคุณวุฒิและอยู่ในอุตสาหกรรมจริง

การแถลงข่าวครั้งนี้ประกอบด้วย 

- รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

- ปฐม อินทโรดม กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สยาม ไอซีโอ จำกัด

- คณิต ศาตะมาน ซีอีโอ ไนท์ อะคาเดเมีย

- ปกรณ์ ลี้สกุล ซีอีโอฟินีมา

นอกจากนั้น การแถลงความร่วมมือในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและให้ความเห็นในการสัมภาษณ์ในโอกาสนี้ด้วย


รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เป็นหนึ่งในเป้าหมายและความตั้งใจของ รศ.ดร.ธัชวรรณ  ซึ่งเพิ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่งคณบดี ของคณะบริหารธุรกิจเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  โดยเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของผู้นำของคณะฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง disruption  และเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน AI, Blockchain ตลอดจน Fintech ที่คนไทยยังต้องการการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมาก

“โดยส่วนตัวคือต้องการพัฒนาหลักสูตรเหล่านี้อยู่แล้ว เมื่อได้คุยกับทาง SIAM ICO ซึ่งมีเป้าหมายที่ไปในแนวทางเดียวกัน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือ เพราะเรื่อง Blockchain มันเป็นภาพใหญ่ หลายคนรู้จัก Bitcoin  รู้จักคริปโตเคอเรนซี่ แต่ข้อเท็จจริงๆ แล้วบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์มาทำอะไรได้มากกับองค์กรหรือสถาบัน ไม่ใช่เพียงออก Coin หรือ Currency เท่านั้น แต่บล็อกเชนทำอะไรได้มากกว่านั้น  แม้กระทั่งตอนนี้ เราได้พูดกันถึง Digital certificate หรือใบประกาศดิจิตอล ในบล็อกเชนที่ไม่สามารถปลอมได้ พูดถึงเงินที่ไม่สามารถปลอมได้ ซึ่งมันดีนะ และเชื่อว่าบล็อกเชนจะนำพาเราไปสู่สิ่งอื่นๆ อีกหลายๆเรื่องได้ อาทิ Supply Chain หรือ ระบบการจัดเก็บประวัติการรักษาพยาบาล หรือ เก็บข้อมูล Tourism ซึ่งต่อไปใช้การใช้จะกว้างออกไปอย่างมาก”

รศ.ดร.ธัชวรรณ ยังย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเรื่อง บล็อกเชนเป็นหลักสูตรว่า “นอกจากประโยชน์ของบล็อกเชนที่กล่าวมา  เทคโนโลยีบล็อกเชนยังสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้ อย่างที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้คือเรื่อง Digital Transformation ซึ่งน่าสนใจมาก  โดยหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ที่กำลังจะเปิดร่วมกับ บริษัท SIAM ICO นี้ถือได้ว่าเป็นที่แรกที่เปิดคอร์ส วิชานี้ โดยเราจะเปิดเป็นสาธารณะโดยให้บุคคลภายนอกเข้ามารับการอบรม หลังจากนั้นก็จะหลอมรวมวิชานี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรMBA ของทางนิด้าในเวลาต่อไป ซึ่งเชื่อว่านักศึกษาจะให้ความสนใจและได้รับประโยชน์จากคอร์สนี้อย่างมาก”

คณบดีหญิงคนแรกของ NIDA Business School อยากเชิญชวนให้ศิษย์เก่า ตลอดผู้บริหารองค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชนมาลงคอร์สนี้ ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับผู้เรียนที่ต้องการความกระชับในเรื่องเวลา เพียง 3 วันใน 3 สัปดาห์ของเดือนสิงหาคม  โดยที่วันสุดท้ายของหลักสูตรจะจัดให้มีเวิร์กชอป โดยที่ทางนิด้าเรานำหลักของ Design Thinking เข้ามาผสมผสานในการจัดอบรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ควบคู่ทั้งในเรื่องบล็อกเชนและ Design Thinking ไปพร้อมๆกัน อีกด้วย


ปฐม  อินทโรดม กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท SIAM ICO  จำกัด

ความเป็นมาของหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation  เกิดจากคำถามที่ทั้งสยามไอซีโอและนิด้าได้รับอยู่เสมอในช่วงปีที่ผ่านมาคือ เรื่องบล็อกเชน และ Digital Transformation  และเมื่อได้มีโอกาสได้หารือถึงเป้าหมายและความเป็นไปได้ในเรื่องความร่วมมือเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรนี้เกิดขึ้นมา โดยผูกเอา 2 เรื่องไว้ด้วยกัน 

“ถ้าคุณสนใจเรื่องบล็อกเชน คุณจะได้เรื่อง Digital Transformation เป็นของแถม และคุณอาจจะพบว่าจะปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นดิจิทัลไม่ต้องใช้บล็อกเชนก็ได้ มีแนวทางมากมาย หรืออาจจะใช่คุณก็ลุยต่อได้เต็มที่ ก็จะมีหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมที่จะตามมาในอนาคตเจาะลึกเรื่องเหล่านี้ลงไป หรือถ้าคุณสนใจเรื่องDigital Transformation นอกจากจะได้รู้กระบวนการ  ยังมีเวิร์กช้อป ที่เราจะสอนเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กรว่าต้องรู้จักแกนหลักขององค์กร องค์ประกอบภายนอกมีอะไรบ้าง มีกรณีศึกษาจากกรณีทั้งไทยและต่างประเทศอะไรที่นำมาใช้ได้ และได้เรื่องบล็อกเชนเสริมเข้าไปด้วย ซึ่งบล็อกเชนคุณอาจจะรู้เพื่อไปปรับกระบวนการทำงานหรือไปใช้ในเรื่องการระดมทุนจะทำ STO ICO  ต่อไปในอนาคตได้”         

ปฐม เผยว่าหลักสูตรนี้เหมาะกับผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไปที่มีความตั้งใจจะพัฒนากลยุทธ์ด้านดิจิทัลให้กับองค์กรโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหัวใจสำคัญ และที่รับทราบเรื่องบล็อกเชนและ Digital Transformation มาระยะหนึ่งแล้ว อยากรู้ว่าจะนำไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองได้อย่างไร โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นในการถ่ายทอดความรู้ และการนำไปประยุกต์ใช้ในโลกความเป็นจริงอย่างเต็มที่

“สิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับกลับไปคือ “Digital Transformation คือเราพูดถึงภาพรวมของเทคโนโลยีทั้งหมด เจาะลึกเทรนด์ที่จะมีผลกระทบในอนาคต สยามไอซีโอเราเชี่ยวชาญเรื่องไฮบริด  เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ตอนเวิร์กช้อป คุณรู้หรือไม่ว่าIOTมารวมกับบล็อกเชนได้ รถขนส่งสามารถเอาเซนเซอร์ใส่เข้าไปวัดอุณหภูมิ มีจีพีเอสวัดว่าอยู่ที่จุดไหนแล้ว บวกกับSmart Contact ของบล็อกเชนทำให้ลูกค้าของคุณจ่ายเงินได้ทันทีเมื่อรู้ว่าคุณขนอาหารไปส่งถึงเป้าหมายโดยที่อุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงจากที่กำหนดไว้ เป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน”

การนำเทคโนโลยีหลายอย่างมาประสานกันจนเกิดโซลูชันเป็นเป้าหมายเบื้องต้นที่คุณปฐมคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับกลับไป และหากสามารถมองไปไกลได้ถึงการคิดแพลตฟอร์มดิจิทัลออกมาใช้ได้จริง ก็จะเป็นเป้าหมายสูงสุดที่หลักสูตรนี้ต้องการ


สนใจรายละเอียดหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation คลิ๊ก

 

 

ลาซาด้า เปิดตัวแบรนด์แคมเปญใหม่ Go Where Your Heart Beats - มีทุกสิ่งที่ใจค้นหา” ด้วยแนวคิดของแบรนด์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และสื่อถึงความเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคใหม่ โดยแบรนด์แคมเปญใหม่นี้ เปิดตัวโดยใช้ภาพยนตร์โฆษณาสามเรื่องที่บอกเล่าถึงการเดินทางตามเส้นทางชีวิตของคนสามคน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำตามความต้องการของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่นั้น สามารถจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้เสมอ

ทั้งนี้ แบรนด์แคมเปญใหม่ของลาซาด้า Go Where Your Heart Beats บ่งบอกถึงตัวตนของแบรนด์ตามวิสัยทัศน์ที่ลาซาด้าที่ได้ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยลาซาด้ามุ่งมั่นที่จะเร่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการค้าและเทคโนโลยี และนับเป็นการรีเฟรชแบรนด์ครั้งแรกของลาซาด้าในรอบห้าปี นับตั้งแต่ที่ลาซาด้าได้มีการอัพเดทแท็กไลน์ (Tagline) เมื่อปี 2557

ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “ลาซาด้าเปิดตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ โดยได้นำเสนอการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ทำได้โดยง่ายดายและสะดวกสบาย และในเวลาเพียงเจ็ดปี เราได้กลายเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค ที่ตั้งเป้าให้บริการลูกค้ากว่า 300 ล้านคนภายในปี 2573 ทั้งนี้ บทบาทของลาซาด้านั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มสำหรับการทำธุรกรรมช้อปปิ้ง แต่เราได้ยกระดับบทบาทของลาซาด้าสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์ ที่สามารถจะสร้างสรรค์และผลักดัน ความหวัง ความฝัน และความปรารถนาของทั้งของผู้ค้าและผู้ซื้อ”

สำหรับการปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่ของแบรนด์ลาซาด้าในครั้งนี้ มีกลยุทธ์หลักคือ “ช้อปเปอร์เทนเม้นท์” (Shoppertainment) ที่มีการยกระดับประสบการณ์ของนักช้อปอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความพยายามของลาซาด้าในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ค้า เพื่อผลักดันบรรดาแบรนด์และร้านค้าสู่การเป็นสุดยอด eBusinesses และการเดินหน้าทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มคุณแม่นักธุรกิจ หรือ Mumpreneurs และกลุ่มผู้ค้าในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

นอกจากการเปิดตัวแบรนด์แคมเปญแบรนด์ใหม่ในครั้งนี้  ลาซาด้ายังได้เผยโฉมอัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ที่สะท้อนถึงความเป็นหนุ่มสาว มีพลัง และมีชีวิตชีวา โดยองค์ประกอบสำคัญในอัตลักษณใหม่นี้ คือโลโก้รูปหัวใจ ที่นำเสนอด้วยตัวอักษร “แอล” (L) ซึ่งหมายถึงลาซาด้าในรูปแบบของกล่องสามมิติ กล่องดังกล่าวยังเป็นตัวแทนหัวใจของธุรกิจลาซาด้า และยังสามารถสื่อถึงความหมายอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย นอกจากนี้ เรายังมีโลโก้ใหม่ที่สื่อถึงความเป็นหนุ่มสาวในยุคดิจิทัล โดยสีสันใหม่ของ  แบรนด์ยังสะท้อนถึงความมีชีวิตชีวาของการช้อปปิ้งอีกด้วย

แมรี่ โจว ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดของ ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในด้านของขนาดธุรกิจและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ลาซาด้าได้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาค รวมถึงการมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันลาซาด้าก็มีส่วนกระตุ้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค จากการที่เป็นผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซที่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์ ด้วยนวัตกรรมของฟีเจอร์และเครื่องมือใช้งานอันล้ำหน้าอย่างต่อเนื่อง”

แบรนด์แคมเปญใหม่ของลาซาด้าเปิดตัวพร้อมกันในหกประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนนี้ ซึ่งรวมถึงคลิปภาพยนตร์โฆษณา 60 วินาทีหนึ่งเรื่อง, คลิปภาพยนตร์โฆษณา 30 วินาทีอีกจำนวนสามเรื่อง และชุดโฆษณาภาพนิ่ง บอกเล่าเรื่องราวการแสวงหาตัวตนและความสำเร็จที่เป็นไปได้ด้วยลาซาด้า โดยเรื่องแรกเป็นเรื่องราวของพนักงานออฟฟิศที่ไล่ล่าความฝันในเส้นทางนักดนตรีเพลงร็อค เรื่องที่สองเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Livestreaming บนแพลตฟอร์มของลาซาด้าและได้นำแรงบันดาลใจนี้ไปสร้างสรรค์งานศิลปะบนเรียวเล็บ และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่นำความชื่นชอบคุกกี้ในสมัยวัยเยาว์ของเธอมาเปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน ให้เธอได้กลายมาเป็นเชฟขนมอบในที่สุด

สำหรับแบรนด์แคมเปญใหม่ของลาซาด้า เกิดจากแนวคิดและการสร้างสรรค์โดยเอเจนซี่ระดับแนวหน้า Wunderman Thompson Singapore ส่วนอัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ลาซาด้านั้นได้รับการพัฒนาโดย Superunion Singapore

แบรนด์กระเป๋า Borboleta (บอร์โบเล็ตต้า)  ปลื้มเข้ารับรางวัลนักออกแบบอิสระ Handbag Designer Award ประจำปี 2562 ณ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อวดศักยภาพดีไซน์ไทยบนเวทีการแข่งขันของนักออกแบบระดับนานาชาติ  คว้าประเภทรางวัล แบรนด์ที่มีความรับผิดชอบสังคมสูงต่อสังคม มุ่งเน้นนวัตกรรมหนังวิทยาศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น เจาะผู้หญิงยุคใหม่ #สวยได้โดยไม่ทำร้ายสัตว์ เพื่อรักษ์โลกและดูแลสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง

นางสาววโรณิกา จูน เรซ (หนูหวาน) กรรมการผู้จัดการ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ แบรนด์กระเป๋า Borboleta (บอร์โบเล็ตต้า ) ภายใต้ชื่อ บริษัท เธโซรา จำกัด  เปิดเผยว่า “แบรนด์กระเป๋าถือของผู้หญิง มาจากคำว่า “Borboleta” แปลว่า ผีเสื้อ ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส  โดยสโลแกนแบรนด์ “One bag, many adventures” หรือ “กระเป๋าใบเดียวเที่ยวได้ทั่วโลก” แบรนด์นี้ เกิดจากแรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง ประกอบกับมีใจรักด้านการออกแบบ จนเกิดความเชี่ยวชาญ แนวคิดการออกแบบกระเป๋า ตั้งใจออกแบบกระเป๋าที่ทำให้ชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น  ตอบโจทย์การใช้งานของผู้หญิง เช่น  มีช่องใส่ของปริมาณเยอะ เพื่อง่ายต่อการหยิบของสะดวก น้ำหนักเบา สะพายได้ทั้งวันไม่เมื่อยบ่า ดีไซน์เก๋สวย และสามารถใช้ได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มุ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นคนยุคใหม่ ชอบเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ 

สิ่งที่แบรนด์บอร์โบเล็ตต้า ภูมิใจในฐานะดีไซน์เนอร์ไทยคนหนึ่ง คือการออกแบบผลงาน จนแบรนด์กระเป๋าบอร์โบเล็ตต้าได้ถูกรับเลือกเข้าชิงเพื่อรับรางวัลอันทรงเกียรติ ภายใต้รางวัล “แบรนด์ที่มีความรับผิดชอบสูงต่อสังคม” จากการส่งผลงานกว่า 2,000 ผลงานมาจาก 5 ทวีปรวมกว่า 28 ประเทศ โดย Handbag Designer Award ได้คัดเลือกแบรนด์บอร์โบเล็ตต้า เป็น Finalist ในกลุ่มประเภทรางวัลกระเป๋าถือที่รับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลตรงตามแนวคิดมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการผลิตการจ้างงานและการนำรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบริจาคช่วยเหลือสังคม ซึ่งผู้ได้รับรางวัลจะต้องทำงานร่วมกับ Global Goods Partners และเป็นส่วนหนึ่งในช่างฝีมือของ GGP  ทำงานเพื่อผลิตกระเป๋าถือสุดพิเศษที่ออกแบบโดยในปี 2562 นี้สำหรับผู้ได้รับรางวัลนี้จะมีการเผยแพร่ออกไปยังเว็บไซต์ของ GGP ออกไปสู่สายตาสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง อาทิ ในสื่อมวลชนและร้านค้าพันธมิตรต่างๆ เป็นต้น โดยจัดงาน ณ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะนำภาพมาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง

คุณวโรณิกา  กล่าวต่อไปว่า “สำหรับการวางแผนของแบรนด์บอร์โบเล็ตต้า  มีความชัดเจนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลพนักงาน และจริงใจกับลูกค้า ด้วยการวางกลยุทธ์ 5 ด้าน ดังนี้  อาทิ 1 ) มุ่งการออกแบบฟังก์ชั่นของกระเป๋าทุกใบเพื่อใช้งานง่าย 2) มุ่งเลือกเฟ้นวัสดุที่ผลิตกระเป๋าต้องสวยโดยไม่ฆ่าสัตว์ กระเป๋าของแบรนด์ Borboleta ทั้งหมดทำจากหนังวิทยาศาสตร์ เป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูงที่ทำจากไมโครไฟเบอร์ 100% เป็นนวัตกรรมจากญี่ปุ่น โดยนวัตกรรมนี้ให้รูปลักษณ์ความรู้สึกและความทนทานของหนังแท้และได้มาตรฐานเครื่องหมายการันตีการไม่ทำร้ายสัตว์  PETA-APPROVED VEGAN จากประเทศสหรัฐอเมริกา จุดเด่น น้ำหนักเบา หนังกันน้ำ เป็นวัสดุรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  3) ราคาจำหน่ายต้องยุติธรรมสำหรับลูกค้าทางแบรนด์สามารถควบคุม ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต ไปจนถึงจัดจำหน่ายตรงถึงมือลูกค้าโดยไม่ผ่านคนกลาง  4) มุ่งการผลิตเชิงจริยธรรม และเน้นคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐานส่งออก ช่างฝีมือทุกคนมีประสบการณ์ในการตัดเย็บกระเป๋าอย่างน้อย 15 ปี และพนักงานทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และได้รับสวัสดิการที่ดี และ 5) การบริจาคกลับคืนสู่สังคม รายได้ส่วนนึ่งจากการขายกระเป๋าทุกใบจำหน่ายจะเข้า สมทบทุนเข้าโครงการของมูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา (www.owfo.org) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพชีวิต เด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยต่อไป”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดภาพรวมของแบรนด์กระเป๋าจะมีแนวโน้มใช้วัสดุรักษ์โลกกันมากยิ่งขึ้น ในอีก 3-5 ปี จะมีการแข่งขันสูงขึ้น  นับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อสภาวะแวดล้อมโลก ต่างชาติก็ยอมรับใน จุดเด่นสินค้าคนไทยออกแบบดีไซน์ สวยงาม มีความประณีต ลูกค้าต่างชาติจึงชื่นชอบสินค้าไทยอย่างมาก หากแต่เราต้องจริงใจและซื่อสัตย์แก่ลูกค้า  ทั้งนี้แบรนด์บอร์โบเล็ตต้าก็พยายามครีเอทดีไซน์พร้อมใส่ใจรายละเอียดฟังก์ชั่นการใช้งานให้สอดคล้องกับผู้หญิงในยุคใหม่จริงๆ   ทำให้การซื้อสินค้าเกิดความคุ้มค่าและลูกค้าจะมั่นใจเกิดความพึงพอใจสูงมีแต่แง่เชิงบวกทั้งสิ้น 

เคทีซีเผยธุรกิจสินเชื่อบุคคลแข่งขันเข้มข้น ครึ่งปีหลังเตรียมรุกสร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน จากพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า มุ่งปล่อยสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ประเดิมด้วยสินเชื่อเพื่อการศึกษากับ 4 สถาบันสอนภาษา เจาะกลุ่มบุคคลที่ต้องการพัฒนาการศึกษาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลูกค้าที่จะมีรายได้เติบโตกว่าเกณฑ์และมีวินัยในการชำระคืน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการจัดกิจกรรมการตลาดยิงยาว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกตั้งแต่เริ่มสมัครจนถึงฐานลูกค้าเดิมเกือบ 1 ล้านบัญชี โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะโตตามคาด 10% จากปีที่ผ่านมา

นางสาวพิชามน  จิตรเป็นธรรม  ผู้อำนวยการ - ธุรกิจสินเชื่อบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลนับวันยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น จากหลายผู้ประกอบการที่เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งพฤติกรรมของลูกค้าในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลง ความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคแสวงหา โจทย์หลักที่ท้าทายของคนทำธุรกิจในวันนี้ จึงต้องคิดหาวิธีจะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้า “ถูกกลุ่ม” “ถูกเวลา” และ “ถูกใจ”

“แผนการตลาดธุรกิจสินเชื่อบุคคลของเคทีซีในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราจึงรุกธุรกิจเข้มข้นขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นคุณภาพลูกหนี้และการเติบโตอย่างยั่งยืนบน 4 แกนหลักคือ 1) มุ่งปล่อยสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ 2) รักษาและผูกสัมพันธ์ระยะยาวกับฐานสมาชิก 3) พัฒนาคุณสมบัติและบริการสินเชื่อ “เคทีซี พราว” ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวก รวดเร็วในยุคดิจิทัล 4) สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า (Customer Engagement) เพื่อเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย”

“สำหรับแนวทางการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์นั้น เคทีซีจะมุ่งขยายความร่วมมือกับธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้นำร่องเปิดตัวสินเชื่อเพื่อการศึกษา (Education Loan) ร่วมกับสถาบันสอนภาษา 4 สถาบัน รวม 44 สาขา ได้แก่ วอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) แชมป์ อิงริช (Champ EngRish) แลงเกวจ เอ็กซ์เพรส (Language Express) และอินสไปร์ อิงลิช (Inspire English) เพื่อให้สินเชื่อกับสมาชิกที่ต้องการเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพความรู้กับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ผู้สนใจสามารถสมัครและยื่นเอกสารที่สถาบันนั้นๆ ได้โดยตรง และสามารถทราบผลการอนุมัติภายใน 1 ชั่วโมง โดยสมาชิกจะได้รับอัตราดอกเบี้ยฯ พิเศษ 0% นานสูงสุด 24 เดือน ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในฐานข้อมูลเคทีซีพบว่า กลุ่มลูกค้าที่ต้องการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอาชีพมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีเกณฑ์ที่รายได้จะสูงขึ้นในอนาคต

การเพิ่มปริมาณลูกค้าในกลุ่มนี้จึงนอกจากจะส่งผลดีกับค่าเฉลี่ยการใช้วงเงินสินเชื่อโดยรวมของเคทีซีแล้ว การกู้ยืมแบบมีวัตถุประสงค์ยังเป็นที่มั่นใจได้ว่า พฤติกรรมการชำระคืนของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีวินัยมากกว่าการกู้ยืมแบบทั่วไป ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเคทีซีในระยะยาว นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจการศึกษาให้มากขึ้น รวมทั้งจะมีการออกสินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง”

“การรักษาและผูกสัมพันธ์กับฐานสมาชิกในระยะยาวในครึ่งปีหลังนี้ จะยังคงใช้กลยุทธ์การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายซึ่งได้ผลและมีการตอบรับที่ดีมาก ตั้งแต่เริ่มแรกที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสินเชื่อใหม่ไปจนถึงสมาชิกเดิมในพอร์ต โดยเน้น “จัดเต็ม” “ให้ก่อน” “ให้มากกว่า” และ “ให้ต่อเนื่อง” ผ่าน 2 แคมเปญฮิต

1) “เคทีซี พราว โปรฯ เหมาๆ 199” สำหรับสมาชิกสมัครใหม่ รับสิทธิเหมาจ่ายดอกเบี้ยฯ 2 รอบบัญชีแรก เพียงรอบบัญชีละ 199 บาท เมื่อสมัครตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 – 31 สิงหาคม 2562 และ 2) “แคมเปญเคลียร์หนี้เกลี้ยง 10” สำหรับสมาชิก “เคทีซี พราว” เกือบ 1 ล้านบัญชี รับสิทธิลุ้นเคลียร์หนี้รางวัลใหญ่ 100% โดยปีนี้เพิ่มความพิเศษที่มากกว่าคือ ลุ้นได้ถึง 10 รอบ จับรางวัลทุกเดือนตลอดทั้งปี 2562”

“ในยุคดิจิทัลที่เราต้องยอมรับว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เคทีซีจึงได้พัฒนาคุณสมบัติและบริการบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ให้รองรับความต้องการลูกค้าที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว โดยได้พัฒนา 2 บริการ ได้แก่ 1) บริการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ รับเงินโอนเข้าบัญชีแบบเรียลไทม์ เลือกชำระได้เองแบบชำระขั้นต่ำ 3% หรือผ่อนชำระเป็นงวด  (Cash Installment) ผ่านแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” และเว็บไซต์ “KTC Online” ตลอด 24 ชั่วโมง ตามวงเงินที่มีอยู่  2) บริการแบ่งชำระสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ โดยได้เริ่มให้บริการผ่อนทองคำกับร้านทอง “ออโรร่า” ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.29% ต่อเดือน ผ่านเว็บไซต์ออโรร่า และแอปพลิเคชันปาปาเปย์ (Papapay Mobile Application) นอกจากนี้ สิ่งที่เคทีซีให้ความสำคัญกับลูกค้า “เคทีซี พราว” มาโดยตลอด คือการสร้างสัมพันธภาพระยะยาวกับสมาชิก ผ่านกิจกรรมเวิร์คช้อปสร้างแรงบันดาลใจที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการของสมาชิกทุก 2 เดือน ภายใต้แนวคิด Quality of Life ที่มุ่งเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนาไปสู่การสร้างอาชีพเพื่อรายได้เสริม รวมทั้งความรู้ในการวางแผนการเงินและการออมให้กับกลุ่มสมาชิก”

“ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคลช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังถือว่าเป็นบวก โดยในส่วนของเคทีซีเองมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน โดยมียอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 26,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลเท่ากับ 967,059 บัญชี ขยายตัว 12.8% อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อบุคคล 0.78% ลดลงจาก 0.82% (อุตสาหกรรม 3.49%) ส่วนแบ่งการตลาดยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ประมาณ 5.4% ของอุตสาหกรรม และคาดว่าสิ้นปีนี้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเคทีซีน่าจะบรรลุเป้าหมายตามคาด ด้วยอัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้รวมที่ 10%

เอไอเอส เดินหน้าผลักดันการสร้างสังคม Digital อย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” ประกาศภารกิจยิ่งใหญ่ “อุ่นใจไซเบอร์” สำหรับเยาวชน

  • การยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน Digital ด้วย DQ (Digital Quotient)
  • การพัฒนาระบบคัดกรอง Online Content ที่ไม่เหมาะสม ด้วยระบบ AIS Secure Net (Beta Phase)” และ Google Family Link” ที่เกิดจากความร่วมมือกับ Google

โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” มีเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก และสร้างเครื่องมือคัดกรอง Content ที่ไม่เหมาะสมจากโลก Digital โดยเน้นใน 2 ด้าน คือ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างทักษะทาง Digital (Educator) เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน  และ ป้องกัน (Protector) ความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน Digital Solutions

  1. การยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน Digital ด้วย DQ (Digital Quotient)

เอไอเอส โดยบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัล (Digital Educator) เป็นรายแรกและรายเดียวในไทยที่ได้นำเข้า DQ ชุดการเรียนรู้ 360 องศา เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางดิจิทัล DQ (Digital Quotient) ครบทั้ง 8 ทักษะ ให้กับเด็กๆ สร้างภูมิคุ้มกันในการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมีไหวพริบ รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสมกับคนแปลกหน้า และใช้มือถือ
แท็บเล็ต อย่างฉลาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งชุดการเรียนรู้นี้ได้รับการยอมรับและมีการนำไปฝึกทักษะให้กับเด็กๆ มากกว่า 110 ประเทศทั่วโลก แปลถึง 21 ภาษา จาก 100 พาร์ทเนอร์ ขณะนี้
ได้เริ่มขยายผลการสร้างทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ (Digital Quotation)  ไปสู่ภาคการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงเปิด Portal ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับคนไทยทุกคน ที่โรงเรียน หรือ สถาบันที่ทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนต่างๆ สามารถเข้ามาใช้งานได้แล้ววันนี้ที่ www.ais.co.th/dq

  1. การพัฒนาระบบคัดกรอง Online Content ที่ไม่เหมาะสม

เอไอเอส โดยบทบาทการเป็นผู้ให้บริการและพัฒนาเครือข่ายที่ป้องกันความเสี่ยง (network protector) จาก Content ที่ไม่เหมาะสม

  • เปิดตัว AIS Secure Net (Beta) ที่จะช่วยป้องกันและคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บ, ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่ไม่เหมาะสม จากบุตรหลาน ในช่วงแรกนี้ เอไอเอสจะเปิดให้ลูกค้าได้ทดลองใช้บริการเป็น Beta Phase เชิญชวนลูกค้าเอไอเอสที่สนใจอยกใช้บริการ เข้ามาลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ เพื่อร่วมเป็น Pioneer ในการทดลองใช้บริการก่อนใคร จำนวน 10,000 คนแรก  สามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2562  และลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะได้ทดลองใช้บริการ AIS Secure Net ได้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
  • ร่วมมือกับ Google ในการนำบริการ Parental Control ผ่านแอปพลิเคชัน Google Family Link มาขยายผลสู่กลุ่มผู้ปกครองคนไทย (ใช้ได้ทุกเครือข่าย) ที่จะสามารถให้คำแนะนำ
    ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ รวมถึงดูแลความปลอดภัยจากพิกัดปัจจุบันของบุตรหลานได้ง่ายๆ โดยเอไอเอส มอบอินเทอร์เน็ต on-top สำหรับการใช้งานให้ลูกค้าเอไอเอสสามารถดูแลบุตรหลานของท่านได้อย่างสบายใจ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อประเทศ นอกเหนือจากการทำหน้าที่พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างดีที่สุดแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างการเติบโตและพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อทำให้ทุกภาคส่วน (Stakeholder) เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

การมาถึงของเทคโนโลยี Digital ก่อให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบการทำธุรกิจ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค ซึ่งแน่นอนว่าย่อมนำมาทั้งประโยชน์มหาศาล ในขณะเดียวกันหากนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็สามารถส่งผลในทางลบกับสังคมได้เช่นกัน ทั้งนี้รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) ที่หากไม่ได้รับการปลูกฝัง หรือให้ข้อมูลการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลร้ายแรงมาสู่ชีวิตทุกคนในโลก

โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเด่นชัดผ่านงานวิจัยหลากหลายสำนักที่ระบุว่า ในปี 2561เยาวชนไทยอายุระหว่าง 8 – 12 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 ชั่วโมง อีกทั้งยังค้นพบว่าเด็กไทยขาดทักษะในการใช้งานดิจิทัลอย่างชาญฉลาดทำให้เสี่ยงได้รับภัยอันตรายที่แฝงมากับอินเทอร์เน็ตใน 4 รูปแบบ คือ การถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) การเข้าถึงสื่อลามก การติดเกม และการถูกหลอกให้พบกับคนแปลกหน้า

นายสมชัยกล่าวเสริมว่า “อีกปัญหาที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการมาของเทคโนโลยีคือ ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2561 มีรายงานว่า คนไทยทิ้งขยะอันตรายทั้งสิ้น 638,000 ตัน ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 65% อีกทั้งของเสียอันตรายจากชุมชนเหล่านี้ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเพียง 83,000 ตันเท่านั้น”

ในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม Digital โดยตรง เราจึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นแกนกลางเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาความรู้แก่เยาวชน อันจะนำมาซึ่งการเติบโตของสังคม Digital อย่างยั่งยืน รวมถึงยังมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้า ที่จะอุทิศตนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมให้มีความสุข จากสภาพแวดล้อมที่ดี อันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ ผ่าน Digital Platform  ที่จะเป็น Digital Platform ของคนไทยทุกคน ผ่านแนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย” นั่นเอง

 

X

Right Click

No right click