“ต้นทางป่าไม้ ปลายทางประมง ระหว่างทางเกษตรกรรม” เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงวางแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำของประเทศไทยให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติให้ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นับเป็นแนวคิดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างความความยั่งยืนให้กับผืนป่าและชุมชนได้อย่างแท้จริง ... พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ที่สำคัญของประเทศ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี จะประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ทั้งจากภัยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ แต่ด้วยแนวคิดการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีป่า ชุมชนก็มีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งภายในชุมชน

เมื่อป่าอยู่รอด ชุมชนจึงอยู่ได้

ชุมชนบ้านยางโทน อำเภอไทรโยค เป็นอีกหนึ่งชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน ชุมชนจึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ปัญหา และหวังคืนความชุ่มชื่นให้ผืนดิน จนปัจจุบัน เห็นผลแล้วว่า นอกจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมา ฝายยังช่วยฟื้นสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตผลทั้งหน่อไม้ ไผ่รวก เห็ดโคน และผักหวาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน

“ชุมชนได้เข้าไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเอสซีจี ตั้งแต่ปี 2552 เพียงไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ฝายช่วยคืนความสมดุลให้กับป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัว และแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น แค่คนในชุมชน 1 คน เดินเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้เพียง 2 กระสอบปุ๋ย สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 300 บาทต่อวัน หรือประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของชุมชนที่มาจากการขายหน่อไม้ เห็ดโคน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอยในครัวเรือน มากถึง 4,000,000 บาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรง ร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนบ้านยางโทนของเรามีโอกาสพูดคุยกัน เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้นผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว

ไม่หยุดแค่งานชุมชน มุ่งมั่นยกระดับความรู้สู่งานวิชาการ

นอกจากชุมชนแล้ว พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค ยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อยู่ในเขตมหาวิทยาลัย เมื่อฝนตกหนักหน้าดินจะถูกชะล้างลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน มหาวิทยาลัยฯ จึงเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับเอสซีจีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ฝาย ได้ขยายเพิ่มเป็น 100 ฝาย จนปัจจุบันนักศึกษาและจิตอาสาได้ร่วมกันสร้างไปแล้ว 354 ฝาย

“ระหว่างการสร้างฝาย มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความหลากหลายของสัตว์ รวมถึงประโยชน์จากฝายที่เกิดขึ้นกับชุมชน ผลจากงานวิจัยได้พบ ชาฤาษีไทรโยค ที่เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางระบบนิเวศ ซึ่งพบแหล่งเดียวในโลก พืชชนิดนี้จะขึ้นในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เท่านั้น อีกทั้ง ยังพบการกลับมาของเสือลายเมฆซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างฝายมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นให้ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง รวมถึงฝายยังทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนเช่นที่ผ่านมาได้อีกด้วย ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” เพื่อรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำฝายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และมีเป้าหมายจะสร้างฝายให้ครบ 500 ฝายในปี 2561 นี้” ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นผลประจักษ์เชิงวิชาการที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นจากฝายชะลอน้ำ

เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักษ์สื่งแวดล้อม

ด้วยความเชื่อที่ว่า การรักษาและดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ชุมชนต้นน้ำเท่านั้น น้องแนน นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปี 4 หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook SCG โดยหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้กับเพื่อนๆ และพี่ๆ ชุมชน รวมถึงหวังว่าการร่วมกิจกรรมจะช่วยปลุกพลังที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า

“ปกติชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสและลองลงมือทำงานร่วมกับพี่ๆ ชุมชนแบบนี้มาก่อน ครั้งแรกสำหรับการสร้างฝายไม่เหนื่อยอย่างที่คิด เพราะได้แรงจากพี่ๆ ชุมชน และพี่ๆ พนักงานเอสซีจีช่วยกัน เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่คนพูดถึงฝาย แต่การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้มีโอกาสมาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายที่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ฝายช่วยชะลอน้ำสามารถช่วย
แผ่กระจายความชุ่มชื้นไปสู่พื้นที่โดยรอบได้มากกว่าแค่เก็บน้ำตามที่เราเคยคิดไว้ และไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าสภาพพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมประเภทนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา”

สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดและขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

เอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เอสซีจีมีเครือข่ายชุมชนในโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ มากกว่า 170 ชุมชน เครือข่ายเยาวชน Young รักษ์น้ำ กว่า 80 คน และมีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 89,400 คน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำสำเร็จไปแล้วกว่า 79,300 ฝาย ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำของทั้งชุมชนบ้านเขามุสิ และชุมชนบ้านยางโทน จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงผลงานวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไป จนเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต จากนี้ไป เอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถต่อยอดพัฒนา และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากฝาย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ได้ตลอดทั้งปี” นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าว

 เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ยั่งยืน สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป

สุขภาพดีนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ซึ่งการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี อีกทั้ง ยังจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้นกัน ถือเป็นแรงกำลังที่ช่วยพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดดังกล่าว แกร็บ จึงได้เชิญชวนผู้ใช้ที่รักสุขภาพ ร่วมออกกำลังกายพร้อมทำประโยชน์เพื่อสังคม ภายในงาน “Grab Running – วิ่งตัวเบา” งานวิ่งที่เรื่องน้อยที่สุด สะดวกสบายเพียงแค่พกสมาร์ทโฟนมาวิ่ง ส่วนที่เหลือแกร็บจัดให้  ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ โดยกิจกรรมเพื่อสังคมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายธารน้ำใจ เพื่อบริจาคสมทบทุนให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ในการซื้อเครื่องมือแพทย์ให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งภายในงาน นอกจากจะได้สัมผัสกับประสบการณ์งานวิ่งที่เรื่องน้อยที่สุดแล้ว นักวิ่งและคนรักสุขภาพที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ยังได้ร่วมสนุกกับหลากหลายกิจกรรมจากบูทพาร์ทเนอร์คู่ค้าของแกร็บ ทั้ง KBank, ประกันภัย Sunday Insurance,  Shopee, JOOX และ Ari Running  อีกทั้งยังเพลิดเพลินกับเมนูร้านดังที่คัดสรรมาให้เพิ่มพลังจากแกร็บฟู้ด  และปิดท้ายวันดี ๆ ด้วยมินิคอนเสิร์ตจากนักร้องสาวเสียงใส แพรว คณิตกุล เนตรบุตร

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า  “ปัจจุบัน ผู้คนหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการเดิน โดยแกร็บรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเสียงตอบรับจากกิจกรรมงานวิ่งครั้งแรกของเราเป็นอย่างดี โดยกิจกรรม ‘Grab Running - วิ่งตัวเบา’ ในวันนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมสร้างสุขภาพดีร่วมกันแล้ว ยังเป็นการตอบแทนกลับคืนสู่สังคม โดย แกร็บ ร่วมบริจาค 10 บาทต่อทุกกิโลเมตรที่ผู้ร่วมงานทุกคนวิ่ง โดยเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท เพื่อสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อเป็นทุนในการซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์และร่วมสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในอนาคตจะเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำที่รองรับผู้ป่วยได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ ความสำเร็จของกิจกรรมในวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากน้ำใจจากนักวิ่ง พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร พันธมิตรคู่ค้าทั้งหมดของเรา รวมถึงตัวแทนหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การสนับสนุนเราด้วยดีเสมอมา และเราจะเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อจัดกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมต่อไปในอนาคต” 

กิจกรรม Grab Running - วิ่งตัวเบา เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามพันธกิจในการทำประโยชน์เพื่อสังคมมาในช่วงเพียงสองสามเดือนที่ผ่านมา แกร็บ ได้จัดกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อตอบแทนพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และสังคมมาหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการมอบทุนการศึกษารวมกว่าหนึ่งล้านบาทให้แก่บุตรพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่, โครงการ ‘GrabFood for Good – ทุกจานคือการให้’ เพื่อสมทบทุนมอบอาหารกลางวันให้มูลนิธิเด็กผู้ด้อยโอกาสนับหมื่นคน และโครงการบริจาคสิ่งของผ่านบริการแกร็บเอ็กเพรสให้แก่มูลนิธิผู้ด้อยโอกาส อาทิ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น และมูลนิธิอื่น ๆ ในต่างจังหวัดรวม 7 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการทั้งหลายเหล่านี้ ถือสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของแกร็บ ในการผลักดันเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

พลพรรคนักวิ่งทุกเพศทุกวัย พร้อมใจวิ่งเพื่อเปลี่ยนทุกกิโลเมตรให้เป็นเงินบริจาค สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ

 พลพรรคนักวิ่งทุกเพศทุกวัย พร้อมใจวิ่งเพื่อเปลี่ยนทุกกิโลเมตรให้เป็นเงินบริจาค สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ

มารีญา พูลเลิศลาภ สาวสวยสุขภาพดี ร่วมวิ่ง Fun Run ระยะ 5 กิโลเมตร

เหล่านักวิ่งกระโดดตัวเบา ฉลองเข้าเส้นชัยแบบยกทีม

สนุกสนานคึกคักไปกับกิจกรรมถ่ายภาพรอบ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ  

เติมพลังหลังเข้าเส้นชัยด้วยเมนูอาหารและเครื่องดื่มร้านดัง จากแกร๊บฟู้ด

สีสันกิจกรรมสุดสนุก ณ​ บูทพันธมิตรคู่ค้าของแกร็บภายในงาน Grab Running - วิ่งตัวเบา

เอไอเอ ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี ที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบสุขภาพและชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้โครงการ “AIA Sharing A Life Charity Run” พร้อมกันใน 10 จุดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, พิษณุโลก, อุดรธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครปฐม, สุพรรณบุรี, ระยอง และสุราษฎร์ธานี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐบาล อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานประจำจังหวัด ทั้ง 10 แห่ง  พร้อมใจกันมาร่วมเดิน-วิ่งการกุศล ทั้งสิ้นกว่า 50,000 พลังความดีจากทั่วประเทศ และได้ร่วมมอบเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง ในโครงการ “AIA Vitality Workout” เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง สอดคล้องกับคำสัญญาของเอไอเอ ที่ต้องการสนับสนุนในคนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น (Healthier, Longer, Better Lives) 

มร. ตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในโอกาสที่ปีนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ครบรอบ 80 ปี และเรามีคำมั่นสัญญาใหม่ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น (Healthier, Longer, Better Lives) จึงเป็นที่มาของโครงการ AIA Sharing A Life Charity Run ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมในรูปแบบการเดิน-วิ่ง พร้อมร่วมแบ่งปันให้กับองค์กรการกุศลต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทุกท่านที่มาร่วมงานนี้ ยังมีส่วนร่วมในการบริจาคเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งผ่านโครงการ AIA Vitality Workout โดยผมขอเป็นตัวแทนเอไอเอ ประเทศไทย ขอบคุณพลังความดีทั้งหมดกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ที่ออกมาแสดงพลังร่วมกันในวันนี้”

สำหรับที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกิจกรรมที่สวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ 6.00 น. โดยเริ่มด้วยกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล ต่อจากนั้น เป็นพิธีมอบเงินบริจาคแก่องค์กรการกุศลต่างๆ ต่อด้วยการร่วมส่งมอบเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง “AIA Vitality Workout” โดยมีผู้บริหารของสวนจตุจักรเป็นผู้รับมอบ และกิจกรรมปลูกต้นไม้ เพิ่มความร่มรื่นให้แก่สวนจตุจักร อีกด้วย

ทั้งนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ยังคงยึดมั่นในการทำความดี ตอบแทนสู่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นการฉลองครบรอบ 80 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมกันกับการพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั่วประเทศ

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งส่งเสริมศักยภาพนักเรียนด้านทักษะการงานอาชีพและประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสการทำงานให้นักเรียนหลังจบการศึกษา รองรับความต้องการของท้องถิ่น

ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม  คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะผู้บริหารและนักเรียน ”โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา)” และ “โรงเรียนชุมชนบ้านวัด”  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งสร้างครูและนักเรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

นายทวีสิน  คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของไทย โดยให้การสนับสนุนโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาที่เพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ  รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นคนดีและคนเก่ง พร้อมกันนี้ ส่งเสริมสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ระดมสมองเพื่อทำแผน 5 ปี (2561-2566) เพื่อสนับสนุนโครงการฯทั้งด้านวิชาการและทักษะให้ตรงความต้องการและความถนัดของแต่ละคนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฝึกฝนจากการทดลองปฏิบัติจริงในโรงเรียนและการฝึกงานในโรงงาน เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์

“ทั้ง 2 โรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและจังหวัด ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐ เอกชน โรงเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนเดินหน้าสู่เป้าหมาย ช่วยยกระดับการศึกษา ทักษะและความชำนาญ ของเด็กให้แข่งขันกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายทวีสิน กล่าว   

นายเมธี คอบตะขบ   ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา) กล่าวว่า  คณะกรรมการของโรงเรียนร่วมพัฒนา จะร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแผนระยะ 5 ปี มีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ คุณครูนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียนมีอาชีพติดตัวหลังจากที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล1 –  มัธยมศึกษาปีที่  3  มีจำนวนนักเรียน 240 คน

“โรงเรียนทำโครงการ 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งแต่ละปีเด็กจะเรียนรู้ทักษะอาชีพ 2 ชิ้นงาน  อาทิ ระดับอนุบาล เรียนรู้วิธีการทำจ่อมเห็ด เพ้นท์สี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำแซนวิชเห็ด ขยายพันธุ์กล้าไม้  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผลิตไม้ประดับแบบแขวน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำกระถางต้นไม้จากเศษผ้าขนหนู เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียนจัดกิจกรรมโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเห็ดสด จนถึงการแปรรูปเห็ด  ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้เให้แก่ชุมชนได้ด้วย” ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา กล่าว

ด้านนายธนยศ ปะเสทะกัง  ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวัด กล่าวว่า  โรงเรียนชุมชนบ้านวัดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เน้นพัฒนานักเรียนทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม  ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตัวเองตามสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและสภาพพื้นที่ของชุมชนโดยรอบ  เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาภาษาอังกฤษ กิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินและกระชังบก กิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และทักษะอาชีพ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกฟักข้าว การเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น  โรงเรียนคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนานักเรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ  มีภาวะผู้นำ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี

ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา  มีจำนวนนักเรียน  230 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังการกระจายของยาเสพติด จึงเน้นทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดกับนักเรียนและชุมชน  รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและทักษะอาชีพ 

X

Right Click

No right click