กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนาม MOU โครงการ “Family Business Thailand” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ F โดยเน้นเจาะกลุ่มทายาทธุรกิจ SME รายเล็ก สมาชิกเครือข่าย YEC ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ “Family Business Thailand” เป็นความมุ่งมั่นระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผนึกกำลังกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้มีองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจ และการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการบริหารเครือข่ายให้แก่ธุรกิจครอบครัว และ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นาย เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ และสร้างพลังขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นการบูรณาการความร่วมมืออันถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการภายใต้การส่งเสริมพัฒนาของกรมฯ   ให้เติบโตเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นนโยบายผลักดันให้ SME เพิ่ม GDP ให้ได้ไม่น้อยกว่า 40% ภายในปี 2570

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ  โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย จากการใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจครอบครัวทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำในธุรกิจครอบครัว เพื่อให้สามารถส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะวันนี้กลุ่มธุรกิจครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีศักยภาพและมุ่งผลสัมฤทธิ์ทางด้านธุรกิจอย่างจริงจังให้ได้มีโอกาสศึกษาถึงปัจจัยการขับเคลื่อนให้ธุรกิจครอบครัวสามารถส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมภายใต้โครงการ “Family Business Thailand” โดยเริ่มต้นจากการอบรมหลักสูตร  Family Business Thailand ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2567  ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว

ขณะเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับโครงการ “Family Business Thailand” ว่า “ในฐานะที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่มีต่อ GDP และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ทว่า ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดเล็ก และขนาดกลางได้รับผลกระทบจากภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับข้อจำกัดทางด้านการบริหารจัดการ และองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง ทำให้ธุรกิจเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้น ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงรู้สึกยินดีที่กระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเห็นความสำคัญและร่วมลงนาม MOU ในโครงการ Family Business Thailand เพื่อสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจครอบครัวกลุ่มนี้ให้มีความแข็งแกร่งจากภายใน อีกทั้งจะสามารถส่งต่อธุรกิจต่อเนื่องกันไปได้อย่างราบรื่นในอนาคต”

นอกจากนี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ และบริการทางด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความยินดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ในโครงการ Family Business Thailand ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระยะยาว (Degree & Non-Degree) กับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ตลอดจนทายาท เพื่อนำองค์ความรู้สำหรับการเร่งสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ มพร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจครอบครัว เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตและส่งต่อธุรกิจได้จากรุ่นสู่รุ่น”

ในส่วนรายละเอียดของโครงการฯ ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  “Family Business Thailand มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวในการสร้างโอกาส เตรียมความพร้อมทเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในแต่ละสถาบันการเงิน และเป็นศูนย์บ่มเพาะให้แก่ธุรกิจครอบครัวรายใหม่ให้มีองค์ความรู้ ความสามารถในการพัฒนาด้านธุรกิจ เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจที่ดี ด้วยการสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านการบริหารงาน บริหารทรัพย์สิน บริหารครอบครัว พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจของตนเอง รวมทั้งหาแนวทางตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง  เพื่อแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพื่อจัดทำฐานข้อมูล และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย”

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้รับผิดชอบโครงการ Family Business Thailand ได้สะท้อนมุมมองในฐานะที่เป็นปรึกษาธุรกิจครอบครัวว่า “ธุรกิจครอบครัวถือเป็น “นักรบทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยสามารถสร้างรายได้เกือบ 70% ของ GDP ทว่า ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการสืบทอดธุรกิจ จนมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งต่อกันได้ไม่ถึงรุ่นที่ 3 เนื่องจากศาสตร์การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีการบ่มเพาะ ถ่ายทอดกันในวงจำกัด ดังนั้น การผนึกกำลังกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาเป็น “สามประสาน” จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถขยายฐาน “กองทัพนักรบทางเศรษฐกิจ” ที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ”

โครงการ Family Business Thailand ยังได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ 60 ปี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในหัวข้อเรื่อง “จากรุ่นสู่รุ่น ... เคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว” โดยมีวิทยากรผุ้ทรงคุณวุฒิจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แก่

  • นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอารค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มมิตรผล
  • ดร.เดช เลิศสุวรรณรักษ์ ที่ปรึกษาสภาหอารค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพ โอเอ คอมส์ จำกัด
  • นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด
  • รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล (ผู้ดำเนินรายการ) คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีสถาบันการเงินที่มาร่วมออกบูธ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกขึ้นและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)  และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่กรมฯจัดร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทาง www.dbd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 02 5475985 หรือสายด่วน 1570 หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจของโครงการ #FamilyBusinessThailand

นำทีมพาณิชย์ลงพื้นที่ eWTP เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ฉะเชิงเทรา

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คว้ารางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยอดเยี่ยม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2566 ในงาน Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Award 2023 ตอกย้ำความสามารถในการรับมือด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 ได้เข้ารับรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งกรมฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับ รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยอดเยี่ยม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สร้างความภูมิใจ และเกียรติยศให้แก่องค์กรเป็นอย่างมาก เป็นการตอกย้ำการเป็นองค์กรภาครัฐชั้นนำที่มีความสามารถในการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักและการรับรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์

ที่ผ่านมากรมฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการให้บริการดิจิทัล และจะยังคงรักษามาตรฐานการทำงานพร้อมทั้งพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐ ที่มีคุณภาพ และมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ ส่งผลให้การลงทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่นยืน

โอกาสนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ที่พิจารณาคัดเลือกและมอบรางวัลอันทรงคุณค่าให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมฯ ด้วยดีเสมอมา ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการทุกท่านที่มั่นใจใช้บริการดิจิทัลของกรมฯ และขอให้คำมั่นว่ากรมฯ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการแก่ภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล และพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่ให้หน่วยงานรัฐต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของหน่วยงานราชการให้ทันสมัย โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น อธิบดีกล่าวในท้ายที่สุด

ก้าวเข้าสู่ปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ : DBD DataWarehouse+ วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตพร้อมเปิดโผ 9 ประเภทธุรกิจที่มาแรงโดดเด่นข้ามปีและคาดว่าจะทำผลกำไรต่อเนื่อง เพื่อให้นักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน นำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ กำหนดทิศทาง และเลือกประเภทธุรกิจที่จะลงทุนได้ตรงตามความต้องการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ทุกปีเมื่อกำลังก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศของกรมฯ (DBD DataWarehouse+) มาทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมทั้ง ประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆ เป็นการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองในปี 2567 กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์โดยประเมินข้อมูลธุรกิจจากหลายภาคส่วน ทั้งสถิติข้อมูลภายในของกรมฯ ในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ อัตราการเติบโต ผลประกอบการของธุรกิจ และการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ ร่วมกับข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ ดังนี้ (1) จำนวนและอัตราการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ ร้อยละ 50 (2) ผลประกอบการ (กำไรและรายได้) ร้อยละ 20 (3) อัตราการเลิกของธุรกิจ ร้อยละ 20 และ (4) ปัจจัยภายนอก ร้อยละ 10 ได้แก่ แนวโน้ม กระแสความนิยม พฤติกรรมของธุรกิจ นโยบายรัฐบาล และดัชนีทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า จากผลการวิเคราะห์ สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและน่าสนใจในปี 2567 ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาส และรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ

  1. ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ‘ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร’ ‘ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด เกสต์เฮ้าส์’ ‘ธุรกิจจัดนำเที่ยว’ ‘ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา’ ‘ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง’ ฯลฯ โดยปี 2566 (มกราคม - พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 7,459 ราย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับปี 2565 ผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวมทั้งสิ้น 575,347 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้มีแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 ประมาณ 27 ล้านคน และ ปี 2567 ประมาณ 30 - 35 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการขยายหรือเริ่มต้นธุรกิจเพื่อรองรับตลาดและตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น
  2. ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ‘ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า’ ‘ธุรกิจการจัดประชุม’ ‘ธุรกิจจัดงานเลี้ยง’ ‘ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง’ ฯลฯ โดยธุรกิจสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล สอดรับกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ต หรือเทศกาลดนตรีต่างๆ ของศิลปินชาวต่างชาติ ที่ดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาร่วมกิจกรรมดังกล่าว และธุรกิจประเภทนี้ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยว คือ เมื่อมีการจัดประชุม แสดงสินค้า หรือคอนเสิร์ต ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะใช้โอกาสนี้ เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 1,138 ราย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวม 56,750 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2564

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ‘ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค’ ‘ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง’ ‘ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์’ ฯลฯ โดยประเภทธุรกิจสุขภาพและความงามรอบปีบัญชี 2565 สร้างรายได้ 1,184,181 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 97,052 ล้านบาท กำไรสุทธิ 91,959 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 3,687 ล้านบาท โดยความวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสนใจหันมาดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของบุคคล รูปร่าง หน้าตา เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก
  2. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ‘ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ’ ‘ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้’ ‘ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ’ ฯลฯ จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งของไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่ในแต่ละปี ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทและสร้างโอกาสการทำตลาดเพื่อรองรับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ มีการจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) จำนวนทั้งสิ้น 107 ราย เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 721 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 4,250 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต

กลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย

  1. ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ‘ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง’ ‘ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง’ ‘ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์’ ฯลฯ โดยปี 2566 (มกราคม - พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 494 ราย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 197,842 ล้านบาท รวมทั้ง มีอัตราเติบโตของกำไรปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 3,152 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 13,304 ล้านบาท ในปี 2565 ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าว เป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากความรักและความผูกพันธ์ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงให้เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ลงทุนสรรหา/เลือกอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงให้กับสัตว์เลี้ยงของตน ส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และผลกำไรแก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
  2. ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งรอบข้างที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะการณ์ของโลก ทำให้ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์และรูปแบบกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทางธรรมชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้มีธุรกิจหลายประเภท เช่น ‘ธุรกิจรีไซเคิล’ ‘ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ ‘ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า’ ฯลฯ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 197 ราย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 486,759 ล้านบาท รวมทั้ง มีอัตราเติบโตของผลกำไรปี 2565 ถึงกว่าร้อยละ 45 จาก 24,517 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 35,512 ล้านบาท ในปี 2565

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์

เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ‘ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ และ ‘ธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์’ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความสะดวกสบาย ความคุ้มค่าในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และบริการต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เข้าถึงสินค้าและบริการเพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,800 ราย เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้รอบปีบัญชี 2565 สูงถึง 194,837ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 38,192 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 24
  2. ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ‘ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน’ เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ การจัดตั้งธุรกิจปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 22 ราย สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 19,098 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับรอบปีบัญชี 2564 รวมทั้ง สร้างผลกำไรสูงมากกว่า 1.9 เท่า จาก 844 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 2,478 ล้านบาท ในปี 2565
  3. ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ‘ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ’ ‘ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์’ ‘ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์’ ฯลฯ ในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,104 ราย โดยธุรกิจกลุ่มนี้ สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 160,201 ล้านบาท สูงขึ้นถึง 19,171 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับรอบปีบัญชี 2564 ซึ่งการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การดำรงชีวิตไปจนถึงการประกอบธุรกิจของภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ รวมทั้ง ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล้วนนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบประสานรวมกับ AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2567 การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณารวมกับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจประเทศต่างๆ หรือปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ของเศรษฐกิจประเทศ ขอแนะนำว่า 9 ประเภทธุรกิจดังกล่าวข้างต้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยสามารถนำไปเป็นข้อมูลส่วนหนี่งประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องรอบคอบมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป สามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล และแนวโน้มธุรกิจต่างๆ ผ่านระบบ DBD DataWarehouse+ บนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หรือ ผ่านแอปพลิเคชัน DBD e-Service ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านระบบ Android และ IOS โดยสามารถใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click