นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นประธานเปิดการอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่อาสาสมัครประกันภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามโครงการอาสาสมัครประกันภัย ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ให้แก่อาสาสมัครประกันภัยนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ช่วยเหลือประชาชนผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัย ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ โฮเทล กรุงเทพมหานคร โดยบุคคลที่จะมาเป็นอาสาสมัครประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ต้องผ่านการอบรมความรู้ด้านการประกันภัยและได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยอาสาสมัครประกันภัย พ.ศ. 2564 สำหรับการอบรมในครั้งนี้มีอาสาสมัครประกันภัยจากเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 50 เขต เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 122 คน โดยในภาคเช้าเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และการประกันภัยอุบัติเหตุ ส่วนภาคบ่ายเป็นการเสวนากรณีอุบัติเหตุรถทัวร์กรุงเทพ - นาทวี ตกถนนชนอัดต้นไม้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยวิทยากรจากสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อาสาสมัครประกันภัย และได้รับเกียรติจากนายชัยยุทธ มังศรี ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงาน คปภ. (อดีตรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์) เป็นผู้ดำเนินรายการ

รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นความสำคัญของอาสาสมัครประกันภัยในการช่วยขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. โดยในปี 2567 ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มจำนวนอาสาสมัครประกันภัยที่ชัดเจน ด้วยการขยายเครือข่ายอาสาให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ รวม 928 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 2,221 คน จากเดิมในปี 2566 มีอาสาสมัครประกันภัย 1,505 คน ดังนั้น อาสาสมัครประกันภัยจึงถือเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการช่วยเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้เข้าใจ และเห็นประโยชน์ของการประกันภัย สามารถนำระบบประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดให้มีการอบรมความรู้ทุกปี เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพให้แก่อาสาสมัครประกันภัย ในการนำไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในสังคมและชุมชน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนด้านการประกันภัย สนับสนุนให้การประกันภัยเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการบริหารความเสี่ยงภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณอาสาสมัครประกันภัยทุกท่านที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุน ขับเคลื่อนภารกิจงานของสำนักงาน คปภ. มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมความรู้หรือช่วยเหลือประชาชนในเรื่องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ตลอดจนการเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำนักงาน คปภ. จัดขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยกรณีอุบัติเหตุรายใหญ่ด้วยจิตอาสาอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายฯ กล่าวในตอนท้าย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การประกอบธุรกิจประกันภัยต้องมีการวางหลักประกันและเงินสำรองประกันภัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องนำหลักทรัพย์มาวางไว้กับนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องจัดสรรเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ และบริษัทประกันวินาศภัยต้องจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท (Unearned Premium Reserve : UPR) ให้ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด โดยให้นำหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 25 ของส่วนที่จัดสรรแล้วนั้นมาวางไว้กับสำนักงาน คปภ.

โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทประกันภัย จำนวน 71 แห่ง ได้นำทรัพย์สินลงทุนของบริษัทประเภทพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลังของกระทรวงการคลัง ตราสารหนี้อื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้บริษัทจำกัด หุ้น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน และเงินฝากประจำ มาวางเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองประกันภัยไว้กับสำนักงาน คปภ. รวมจำนวนทั้งสิ้น 849,280.98 ล้านบาท แต่เนื่องจากหลักทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าสูงและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนและบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงต้องดูแลรักษาด้วยความเข้มงวดปลอดภัย ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 สำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) เป็นผู้จัดเก็บและดูแลรักษาหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยความมั่นคงและปลอดภัยต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินส่วนนี้สำนักงาน คปภ. จะรับวางเฉพาะทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบมูลค่าของหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บริษัทวางเงินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย พ.ศ. 2567 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันภัย ซึ่งจะทำให้บริษัทเกิดความคล่องตัวในการลดทุน รวมถึงสามารถดำเนินงานที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วมากขึ้นตามกระบวนการดำเนินงานลดทุนของบริษัทประกันภัย นอกจากจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ยังกำหนดข้อห้ามมิให้บริษัทกระทำการลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ดังนั้น ที่ผ่านมาเมื่อบริษัทยื่นขอความเห็นชอบลดทุนเข้ามาที่สำนักงาน คปภ. แล้วจะมีการพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกหนังสืออนุญาตให้กับบริษัท และแม้ว่าคณะกรรมการ คปภ. จะมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน แต่ในแง่การทำธุรกิจบางครั้งก็ต้องการความรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่บริษัทต้องการเพิ่มทุน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางฐานะการเงิน แต่บริษัทยังมีหุ้นจดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือยังไม่ออกจำหน่าย บริษัทก็ไม่สามารถออกหุ้นใหม่เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนรายใหม่ได้จนกว่าบริษัทจะลดทุนโดยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือที่ยังมิได้นำออกจำหน่ายให้เรียบร้อยเสียก่อน

ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอน ตลอดจนระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้ศึกษาหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกประกาศ คปภ. ฉบับดังกล่าว

สำหรับประกาศ คปภ. ข้างต้นครอบคลุมการลดทุนเป็นกรณีทั่วไป 2 กรณี ได้แก่ กรณีแรก ลดทุนโดยวิธีตัดหุ้นจดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือที่ยังมิได้นำออกจำหน่าย กรณีที่ 2 ลดทุนเพื่อลดผลขาดทุนสะสมโดยการลดมูลค่าหุ้น หรือลดจำนวนหุ้น โดยทั้ง 2 กรณี ต้องไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเปลี่ยนแปลงไป และไม่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายกฎเกณฑ์และมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะสามารถพิจารณาและออกหนังสือ อนุญาตให้บริษัทได้โดยไม่ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เพียงแต่ ต้องรายงานผลการพิจารณาการอนุญาตให้คณะกรรมการ คปภ. ทราบ โดยประกาศฉบับนี้ได้ออกใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ www.oic.or.th 

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้จัดประชุมคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 1/2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ฯ ได้ทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นการตีความเงื่อนไขและข้อตกลงคุ้มครองของสัญญาประกันภัย ในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ อันจะช่วยให้การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ของสำนักงาน คปภ. เป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม เป็นธรรม และให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กับผู้เอาประกันภัย อาทิ การพิจารณาให้ข้อคิดเห็นในการกำหนดเงื่อนไขและความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ การปรับปรุงผลประโยชน์ความคุ้มครองสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุ เพื่อให้มีความเหมาะสม และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ คณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็งส่วนบุคคล (สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนการทำประกันภัย และอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการพัฒนาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งมาก่อนการทำประกันภัย แต่ปัจจุบันได้รับการรักษาพยาบาลหายแล้วหรืออยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว สามารถเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจได้โดยสำนักงาน คปภ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ฯ ไปปรับปรุงเงื่อนไข และข้อตกลงคุ้มครอง รวมทั้งใบคำขอเอาประกันภัย เพื่อให้เหมาะสมเกิดความชัดเจน และเป็นแบบประกันภัยสุขภาพ
ที่สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ความคุ้มครองโรคมะเร็งสำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนการทำประกันภัย และอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว จะเป็นส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจได้อย่างทั่วถึงและทำให้ระบบประกันภัยสุขภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

สามารถตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ถือครองผ่านแพลตฟอร์ม LINE Official Account

X

Right Click

No right click