Funding Societies แพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับธุรกิจ SME ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการให้สินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจในประเทศไทย รวมอยู่ที่กว่า 1 พันล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2565 มาถึงปัจจุบัน

โดยบริษัท FinTech แห่งนี้ กำลังมุ่งขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ในกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ต่อไป เนื่องจากได้ตั้งเป้าการเติบโตเชิงรุกด้านการให้สินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท ในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 Funding Societies ได้ขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเจ้าของธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจ SME ในประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของประเทศไทยในอนาคตภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ของภาครัฐ

คุณศีล นวมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Funding Societies ประเทศไทย กล่าวว่า “ความสำเร็จในการให้สินเชื่อรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชื่อมั่นที่ธุรกิจ SME ในประเทศไทยมอบให้กับเรา และด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ที่ทีมงานของเราได้แสดงให้เห็นมาตลอดทั้งปีนี้ เราเห็นความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าธุรกิจ SME ของเราจำนวนมากมีความพึงพอใจกับการให้บริการและความยืดหยุ่นในการสมัครยื่นขอสินเชื่อกับทาง Funding Societies

ด้วยศักยภาพของธุรกิจ SME ในประเทศไทย ที่สามารถเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของมูลค่า GDP ของประเทศให้สูงขึ้นในอนาคต และยังคงยืนหยัดได้แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม เราจึงมีความตั้งใจที่จะนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขยายโซลูชันทางการเงินของเรา และให้บริการแก่ธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามวิสัยทัศน์การทำงานของเราในการส่งเสริมธุรกิจ SME ในประเทศไทยให้เติบโตผ่านการใช้โซลูชันที่ปรับตามความเหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และสะดวกสบาย” คุณศีล กล่าวเสริม

แม้ว่าธุรกิจ SME ในประเทศไทยนั้น เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน GDP ของประเทศกว่า 99% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย หรือเทียบเท่ากับจำนวนธุรกิจกว่า 3.1 ล้านแห่ง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการด้านเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งอุปสรรคและความท้าทายเหล่านี้ ได้แก่ การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ข้อกำหนดด้านเอกสารที่ซับซ้อน และกระบวนการขออนุมัติที่ยาวนาน ทำให้ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันแบบดั้งเดิมได้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ปกติ ส่งผลให้ช่องว่างทางการเงินของ SME เพิ่มขึ้นกว่า 1.51 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ Funding Societies ยังได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินกิจการในประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย (ในนาม Modalku) รวมทั้งได้จดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย และยังได้ประกอบกิจการให้บริการในประเทศเวียดนาม โดยตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2558 บริษัทฯ ได้มีการให้สินเชื่อรวมมากกว่า 1.03 แสนล้านบาท ผ่านธุรกรรมมากกว่า 5.1 ล้านรายการทั่วทั้งภูมิภาค บริษัท FinTech แห่งนี้ให้บริการทางการเงินแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ

ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือต้นทุนโครงการที่ต้องชำระล่วงหน้า โดยทั่วไปขั้นตอนดำเนินการในการสมัครเพื่อขอสินเชื่อดิจิทัลของธุรกิจ SME จะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์นับตั้งแต่การยื่นขออนุมัติ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยในประเทศไทย โดยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนและรับผลตอบแทนตราสารหนี้สูงถึง 15% ต่อปีก่อนหักค่าธรรมเนียม ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯ ยังสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและช่วยให้สังคมในประเทศไทยมีการเติบโตผ่านแพลตฟอร์มการลงทุนของ Funding Societies และนับเป็นหนึ่งในบริษัท FinTech แห่งแรก ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs (เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์) จากเดิมที่อยู่ในระดับต่ำสุดในระบบ SFIs อยู่แล้ว เหลือเพียง 5.985% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป พร้อมเสนอโปรแกรมสินเชื่อพิเศษช่วยสนับสนุนให้มีเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหรือนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับปรุงโรงงาน ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 2% ต่อปี

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน EXIM BANK มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs (เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์) อยู่ที่ 6.00% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เนื่องจาก EXIM BANK นำร่องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 อย่างไรก็ตาม เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีจำนวนมากและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย EXIM BANK ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เหลือ 5.985% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นถึงราว 15% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่เงินบาทเคยอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นการนำเข้าและการลงทุน ควบคู่กับมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของไทยและตลาดโลก ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่า Prime Rate สำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกขนาด ดังนี้

• มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมใช้ซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2% ต่อปี
• มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้าเพื่อผู้ผลิตในการส่งออก และผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก สามารถเลือกใช้วงเงินกู้ระยะยาวหรือวงเงินกู้ระยะสั้น สำหรับนำไปลดภาระการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องกิจการให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินธุรกิจส่งออก หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3.99% ต่อปี
• สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข อัตราดอกเบี้ยปีแรก 5.50% ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก
• สินเชื่อส่งออกเพิ่มค่า อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก Prime Rate -1.25% ต่อปี สำหรับกลุ่ม SMEs โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
• สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม SMEs ไทยสู่ CLMV สำหรับผู้ส่งออก SMEs ไปตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อัตราดอกเบี้ย Prime Rate -1.75% ตลอดอายุโครงการ
• สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง สินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ Prime Rate -2.00% สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีบริการหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทยในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ ลดภาระผู้ส่งออก สู้ภัยไวรัสโคโรนา พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ลดภาระลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวและระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมขยายความคุ้มครองผู้ส่งออกที่มีการส่งออกแล้วหรืออยู่ระหว่างเตรียมส่งออกไปจีน สินเชื่อเพื่อวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และบริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ส่งออกทั่วไปและผู้ส่งออก SMEs ซึ่งมีขั้นตอนการขอรับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นต้น

“EXIM BANK เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ตามความคาดหวังของทุกฝ่าย ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารจะทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องมือทางการเงินให้ผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีสภาพคล่อง ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดการค้ายุคใหม่ในระยะยาว” นายพิศิษฐ์กล่าว
X

Right Click

No right click