การศึกษาฉบับใหม่ “อนาคตของไทยสตาร์ทอัพ และ Venture Capital”โดยดีลอยท์ คอนซัลติ้ง (“ดีลอยท์”) ชี้ว่า Startup ไทยจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Startup ในไทยยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนระยะเริ่มต้นจากแหล่งเงินทุนอย่างเช่น Venture Capital Firm (VC) ส่งผลให้ Startup ในไทยขาดแคลนเงินทุนที่ต้องการเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ Startup ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อตั้ง Startup VC และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 20 ราย ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงอ้างอิงผลการวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยการศึกษาฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาสตาร์ทอัพและ Venture Capital ในประเทศไทย

 

ปัญหาหลักของระบบนิเวศในประเทศไทยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

จากการศึกษาระบบนิเวศในประเทศไทย เราพบว่าระบบนิเวศในประเทศไทยนั้นประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยปัญหาหลักที่ขัดขวางการเติบโตของระบบนิเวศนั้น มีตั้งแต่ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน จนไปถึงความยากลำบากในการหาผู้ประกอบกิจการที่มีความสามารถ ยกตัวอย่างเช่น

· Startup ในไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage) จำนวนรอบระดมทุนของ Startup ในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage ลดลงตั้งแต่ปี 2562 จากเดิมจำนวนรอบระดมทุน 33 รอบ ลดลงไปกว่าครึ่งในปี 2563 ตามข้อมูลจาก Innovation Club Thailand หนึ่งในสาเหตุของการลดจำนวนลง เกิดจากการที่ Accelerator แบบไม่เฉพาะเจาะจงประเภทธุรกิจของ Startup ระยะเริ่มต้นนั้นมีจำนวนลดลง นอกจากนั้น พื้นฐานของตลาด VC ในไทยยังมี VC จากบริษัทใหญ่ หรือ Corporate VCs (CVCs) ถือครองอยู่ ที่มักจะเน้นลงทุนใน Startup ระยะท้าย หรือ Later Stage

· โครงการสนับสนุน Startup จากหน่วยงานภาครัฐนั้นยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของ Startup อันเนื่องมาจากมูลค่าเงินทุนสนับสนุนของโครงการนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของ Startup การออกแบบโครงการที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของ Startup ยกตัวอย่างเช่น การที่โครงการให้การสนับสนุน Startup ด้วยเงินทุนจำนวน 20,000 ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่แท้จริงแล้ว Startup ต้องการเงินทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ดำเนินการสำหรับ 1-2 ปี นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์ Startup เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ Startup หลายๆ ที่ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำเอกสาร และการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน ความลำบากในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนนั้น ยังได้เพิ่มความกดดันให้กับผู้ประกอบกิจการในการบริหารเงินสะพัดของ Startups อีกด้วย

· Startup ไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงที่ปรึกษาในประเทศเนื่องจากจำนวนที่ปรึกษาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนจำกัด โดยปัญหานี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทย ไม่ได้มีจำนวนผู้ประกอบการ Startup เกิดขึ้นภายในประเทศเยอะ ส่งผลให้จำนวนปรึกษาที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ Startup รุ่นใหม่นั้น มีจำนวนน้อยตาม ถึงแม้ว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้ในอนาคตโดยอาศัยเวลาและประสบการณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ก่อตั้ง Startup ในไทย มีปัญหาในการเปิดรับแนวคิดความกล้ายอมรับความเสี่ยง และวิสัยทัศน์การขยายธุรกิจออกสู่สากล ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้าง Unicorn Startups ในไทย

“ปัญหาที่ Startup ไทยเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน” ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว “เงินทุนระยะเริ่มต้นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อ Startup ในการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง VC หลายๆ เจ้ายังคงมองว่าระบบนิเวศ Startup ในประเทศไทยนั้นยังมีขนาดเล็กและยังไม่ได้พัฒนามากนัก รวมถึง Startup ไทยที่ประสบความสำเร็จยังมีจำนวนน้อย ส่งผลให้ VC ยังไม่กล้าที่จะลงทุนใน Startup ไทยซักเท่าไหร่”

“มีคำกล่าวที่ว่า It takes a village to raise a startup ในกรณีของประเทศไทยเราเชื่อว่าระบบนิเวศที่สนับสนุน Startup นั้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาเป็นอย่างแรก” ดร.เมธินี กล่าว

 

แนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทย:

จากการศึกษาระบบนิเวศในประเทศต่างๆ เราพบว่าระบบนิเวศที่ประสบความสำเร็จนั้น เกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงความเพียงพอของช่องทางในการรับแหล่งเงินทุน โดยเราเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบนิเวศและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศผ่านแนวทางต่อไปนี้

1) จัดตั้งโครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เหมือนอย่างในประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ SEEDS Capital ในประเทศสิงคโปร์ โครงการ London Co-Investment Fund

ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อเป็นการดึงดูด VC ให้เข้าร่วมโครงการ หน่วยงานภาครัฐสามารถที่จะพิจารณาออกแบบโครงการร่วมลงทุนนี้ให้ช่วยลดความเสี่ยงที่ VC ต้องแบกรับในการลงทุนใน Startup และนำเสนอโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Upside Return) แก่ VC โดยโครงการเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สนับสนุนด้านการเงินแก่ Startup แต่ยังช่วยให้ Startup ได้ความรู้ความสามารถในการดำเนินการธุรกิจ ความเข้าใจตลาด และเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ จาก VC อีกด้วย

2) พิจารณาการเพิ่มงบประมาณสำหรับการส่งเสริม Startup และพัฒนาโครงการเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มเงินทุนสนับสนุน Startup สำหรับแต่ละโครงการให้มีมูลค่าเพียงพอต่อการสนับสนุน Startup เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี (เช่น การให้เงินสนับสนุนจำนวนอย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ) นอกจากนี้ โครงการควรที่จะลดความยุ่งยากในการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ และเบิกจ่ายเงินสนับสนุน (เช่น การเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน)

3) จัดตั้งและมอบหมายอำนาจให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการพัฒนาระบบนิเวศ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย จะช่วยพัฒนาและดูแลโครงการส่งเสริม Startup และ VC ในระบบนิเวศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรม กำกับดูแลให้โครงการสนับสนุน Startup จากหน่วยงานต่างๆ ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน และจัดโครงสร้างให้กับโครงการที่มาจากแต่ละภาคส่วน อีกทั้ง หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายนั้น จะช่วยพัฒนาการสื่อสาร และร่วมมือ ระหว่าง Startup และหน่วยงานของภาครัฐ นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยจัดหาทรัพยากรที่ Startup สามารถเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย

เราได้เห็นแล้วว่า โครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น โครงการในประเทศสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และ ประเทศอิสราเอล นั้นมีความสามารถที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงโครงการเหล่านี้ยังช่วยดึงดูด VC จากทั้งในประเทศและนอกประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศ Startup อีกด้วยดร.เมธินี กล่าว

จากการศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศต่างๆ เราค้นพบว่าแต่ละประเทศนั้นล้วนมีปัญหาหรือความท้าทายในการพัฒนาระบบนิเวศที่แตกต่างกันไป และประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การค้นพบครั้งนี้ช่วยยืนยันกับเราว่า โครงการหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบ One-size Fits All นั้นไม่มีอยู่จริง และเราควรที่จะทำการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างกันเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้ว่าเราจะสามารถปรับปรุงและนำบทเรียนจากโครงการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทยต่อไปได้อย่างไรเคนเนท เทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายอุตสาหกรรมการเงิน ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

“การพัฒนาระบบนิเวศนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา” เคนเนท กล่าวเสริม “การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ การปลูกฝังแนวคิดที่กล้ายอมรับความเสี่ยง รวมไปถึงการค้นพบไอเดียใหม่ๆ ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้เวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะพัฒนาหรือสร้างขึ้นได้ชั่วข้ามคืน”

เราเชื่อว่าระบบนิเวศในประเทศไทยนั้นมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วย Startup ที่ประสบความสำเร็จ เป็นระบบนิเวศที่สามารถดึงดูด VC ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุนใน Startup ไทย รวมไปถึงเป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยที่ปรึกษาที่พร้อมจะให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่ Startup หน้าใหม่ สุดท้ายนี้เราเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาครั้งนี้” ดร.เมธินี กล่าวเสริม

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่  https://www2.deloitte.com/sg/en/pages/human-capital/articles/venture-capital-ecosystem-thai.html

สตาร์ตอัปภาคการเกษตร เพื่อยกระดับอนาคตที่ดีกว่าของเกษตรกรไทย

กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED FUND) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Market Scaling up) ปี 2565” พร้อม Kick Off เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนใจขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในปี 2566 เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งเป็นการผลักดันผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาแล้วเสร็จภายใต้การสนับสนุนของกองทุนฯ และหน่วยงานสนับสนุนทุนภาครัฐอื่นๆ ให้สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้

นายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองและคัดเลือกผู้ประกอบการฯ (TED Market Scaling Up) กล่าวว่า TED Fund มีนโยบายภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการผลักดันผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาแล้วเสร็จภายใต้การสนับสนุนของกองทุนฯ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ให้สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ TED Fund จึงได้ริเริ่มโครงการ TED Market Scaling Up ขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ในปี 2566 นี้ เชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่ง โครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเช่นนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาครัฐในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ พร้อมรับกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า โครงการ TED Market Scaling Up เป็นอีกกลไกหนึ่งของ TED Fund ที่มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถขับเคลื่อนและนำผลงานนวัตกรรมไปสู่การขยายผล เพื่อสร้างผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้ และเพื่อให้การสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการบรรลุตามวัตถุประสงค์และสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยขอบเขตการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน และผลจากการดำเนินงานโครงการ TED Market Scaling Up ในปี 2565 พบว่า มีผู้ประกอบการที่สนใจยื่นสมัครขอรับการสนับสนุนจำนวนถึง 74 ราย และโครงการที่เสนอเข้ามานั้นล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพค่อนข้างสูง ส่งผลให้กองทุนฯ พิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนทุนจำนวนถึง 23 โครงการ รวมเป็นวงเงินจำนวนมากกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวมถึง 566,590,345 บาท หรือประมาณ 15.8 เท่าของวงเงินสนับสนุน

และในปีงบประมาณ 2566 ทางกองทุนฯ ได้เตรียมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Market Scaling up) ให้การสนับสนุนทุนไม่เกินมูลค่า 2 ล้านบาท/โครงการ โดยตั้งเป้าจะสนับสนุนจำนวน 30 ราย ในวงเงินงบประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจากการสนับสนุนในปีนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้สูงถึง 948 ล้านบาท ซึ่งการเปิดรับสมัครรอบที่ 1 จะอยู่ในระหว่างวันที่ 15 - 30 เดือนพฤศจิกายน 2565 และรอบที่ 2 จะเปิดรับสมัครในเดือนเมษายน 2566 ดร.ชาญวิทย์ฯ กล่าว

สำหรับโครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Market Scaling up) ที่จะเปิดรับสมัครนั้น นอกจากโครงการจะให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนอุดหนุนแล้ว โครงการยังได้สนับสนุนการบ่มเพาะองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจและการตลาด โดยเพิ่มพูนความรู้และเสริมกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแบบเชิงลึก ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด การเชื่อมโยงและต่อยอดเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจริงอีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครได้ผ่านเว็บไซต์ www.tedfund.mhesi.go.th หรือแอดไลน์กองทุนฯ ได้ที่ : @tedfund หรือโทร 02 333 3700 ต่อ 4072-4075

ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคกรุงเทพมหานคร หรือย่านนวัตกรรมปุณณวิถี (ตั้งอยู่ระหว่างBTS ปุณณวิถีและอุดมสุข กรุงเทพมหานคร) เป็นพื้นที่เป้าหมายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงผสานความร่วมมือกับกลุ่มทรู และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ บริเวณปุณณวิถี-อุดมสุข ยกระดับพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาคารศูนย์กลางการทำธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนถึงอบรมบ่มเพาะ การจับคู่ธุรกิจ และการแบ่งปันองค์ความรู้ในพื้นที่ตลอดมา

ด้วยพันธกิจหลักของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ต้องการจะยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองที่ให้เกิดการรวมกลุ่มของนวัตกรเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือในการผลักดันระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), True Digital Park ร่วมด้วยสำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกิดเป็นโครงการ ห้องทดลองเมือง (City Lab) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อยกระดับเพื่อที่ปุณณวิถีให้เป็นพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Test Base Area) และช่วยส่งเสริมให้ Startup หรือ SMEs นำไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ Solutions ทางนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาเมือง หรือเพิ่มบริการสาธารณะ ที่ทำให้เมืองน่าอยู่ มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้กับคนเมือง รวมถึงเพิ่มโอกาสใหม่ให้กับคนได้สร้างรายได้มากยิ่งขึ้น

โดยในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานแถลงข่าว “การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมปุณณวิถี” ภายใต้โครงการ Bangkok City Lab ห้องทดลองเมือง ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานคร ณ ห้อง Auditorium ชั้น 6 อาคาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาและการสร้างความร่วมมือย่านนวัตกรรม รวมไปถึงบทบาทของของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในพัฒนา และผลักดันย่านนวัตกรรมปุณณวิถีสู่การเป็นเมืองต้นแบบ“ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานคร (Bangkok Cybertech District)” ศูนย์กลางดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคใหม่ที่สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการนวัตกรรมเชิงพื้นที่ หรือ Area-Based Innovation เพื่อขับเคลื่อนการสรทางระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและทำงาน ซึ่งมี

การดำเนินงานใน 3 ระดับ คือ ภูมิภาค เมืองนวัตกรรม และย่านนวัตกรรม โดยนวัตกรรมเชิงพื้นที่เริ่มจาก “เมือง” เป็นโจทย์สะท้อนอัตลักษณ์ และบริบทของเมืองนั้นๆทำให้เกิดการสร้างและใช้นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ และมุ่งเน้นการเชื่อมโยงคน องค์ความรู้ เครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนที่เล็กที่สุดของการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ คือ ย่านนวัตกรรม ที่มีอัตลักษณ์ความโดดเด่นและศักยภาพแตกต่างกันเฉพาะพื้นที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มเศรษฐกิจของเมืองเข้าด้วยกัน โดยกว่า 6 ปีที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาย่านนวัตกรรมแล้วกว่า 14 ย่าน

“โครงการ ห้องทดลองเมือง (City Lab) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชน อย่างสำนักงานเขตพระโขนง บริษัทขนาดใหญ่ เช่น ทรู ดิจิตัล พาร์ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาคเอกชนในพื้นที่กว่า 8 บริษัท และชุมชนในย่านปุณณวิถี เพื่อยกระดับย่านปุณณวิถีให้เป็นพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Test Base Area) ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ Daywork ที่ผ่านการคัดเลือก นำไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ Solutions ทางนวัตกรรมมาทดลองใช้และพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ เพื่อเกื้อประโยชน์ให้ย่าน และผู้อยู่อาศัยในย่านภายใต้โจทย์ “ทำอย่างไรให้คนที่ว่างงานในชุมชนย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค มีโอกาสได้รับการจ้างงานจากคนในพื้นที่ย่านปุณณวิถี และพื้นที่ข้างเคียงอย่างยั่งยืน” ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่นำร่องหรือสนามทดลองนวัตกรรมขนาดใหญ่ เพื่อใช้ยืนยันประสิทธิภาพก่อนนำไปขยายผลระดับเมืองอื่นๆต่อไป

และนอกจากนี้ภายในงานจะมีการจัดเสวนาอีก 2 หัวข้อได้แก่ หัวข้อ “ก้าวต่อไปของย่านนวัตกรรม ณ กรุงเทพมหานคร” (Next Move of Bangkok Innovation District) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง,รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์, นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย พร้อมด้วย ดร. ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด มาร่วมกล่าวถึงความพร้อมและความสำเร็จในการขับเคลื่อนพื้นที่ปุณณวิถี-อุดมสุข ให้กลายเป็นศูนย์กลางพื้นที่สำหรับ Start Up ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งในเชิงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากภาคเอกชน การขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ และการรวมกลุ่ม/กิจกรรมต่างๆของ Start Up พร้อมทั้งนำเสนอโอกาสความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นธุรกิจ และนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้ Start Up เติบโตในพื้นที่แห่งนี้ ร่วมถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในกรุงเทพมหานคร และหัวข้อ “จากห้องทดลองเมือง สู่เรื่องจริงของคนกรุงเทพ” (The Real Story of City Lab in Bangkok Cyber District) นำโดยคุณศศิวิมล เสียงแจ้ว ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เดย์เวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด, ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร, คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมด้วยคุณวรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง และคุณนวนันท์ การสมดี รองผู้อำนวยการ สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของโครงการ Bangkok City Lab ห้องทดลองเมืองย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานครในตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาที่ได้ทำการทดลอง โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ทำการทดลอง, ความท้าทายที่มีในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบของการทำงานของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการที่มีการร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การทำ CO-DESIGN ร่วมกับผู้แทนจากสํานักเขต

และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ และกิจกรรม WORKSHOP ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเมือง พร้อมด้วยการทำ JOB HOUSING BALANCE และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน โดยได้ร่วมกับผู้แทนจากสํานักเขตและผู้ประกอบการ ซึ่งผลการดําเนินงานในเขตพระโขนง พบว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนอัตราตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับเพิ่มขึ้นถึง 86 อัตรา โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 209.76% และอัตราของประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีความต้องการตำแหน่งงานและหางานเพิ่มขึ้นถึง 1,162 คน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 83.34% และเพิ่มการจ้างงานในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลกว่า 3,167 งาน ซึ่งสามารถประเมิณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 21 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้นายจ้างสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการได้คนทำงาน รวมถึงความสำคัญและผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆของการทดลองภายในย่านพระโขนงที่มีความหวังที่จะพัฒนาย่านนวัตกรรมนี้ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยในอนาคตจะร่วมมือกับภาครัฐในการขยายผลโครงการไปทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างการจ้างงานให้กับคนกรุงเทพให้เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 อัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน รวมถึงเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศไทยอีกด้วย

Image preview

Image preview

X

Right Click

No right click