Episode 01 | ฆาตกรรม--พิจารณาแง่ศิลธรรม ได้ด้วยหรือ? และ คดีคนกินคน-คดีดังในอังกฤษ เรื่องราวเป็นอย่างไร?

October 15, 2019 8364

ฆาตกรรม พิจารณาแง่ศิลธรรม || Episode 01 Part 1

ถ้าท่านต้องเลือกกระทำการ

(1) ฆ่าคนหนึ่งคน เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ หรือ

(2) นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า คนห้าคนจะต้องตายต่อหน้าต่อตาท่าน

ระหว่างสองกรณีนี้ ท่านจะเลือกทำประการใด กรณีใดเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร อันพึงกระทำ?

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติ ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ เพื่อประกอบการสอนประเด็น การคิดหาเหตุผลเชิงศิลธรรม ที่ท่านสอนใน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นักศึกษาส่วนมาก ออกเสียงลงคะแนนในชั้นเรียน ให้ฆ่าคน ๆ เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ ศ.แซนเดล เล่าปริศนาศิลธรรมสามเรื่อง แต่ละเรื่อง ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ให้คิดอ่านตัดสินใจประเด็นนี้ ยากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

เรื่องที่ 1 รถสิบล้อคันหนึ่ง เบรกแตก--แต่พวงมาลัยยังใช้ได้ เสียหลักพุ่งมาด้วยความเร็วสูง จนถึงทางสองแพร่ง (ทางสองแพร่ง มักจะเป็นตัวอย่างยอดฮิตชนิดหนึ่ง ในการสาธกเรื่องแนวปรัชญา) ทางหนึ่งมีคนยืนอยู่คนเดียว อีกทางหนึ่งยืนอยู่ห้าคน ท่านซึ่งเป็นคนขับรถ จะหมุนพวงมาลัยไปทางใด

เรื่องที่ 2 เรื่องคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ทางสองแพร่ง หากว่า เป็นทางตรงที่มีคนห้าคนยืนอยู่ ซึ่งขณะนั้น ท่านยืนอยู่บนสะพานลอยเหนือถนน เป็นสะพานลอยที่ปราศจากราวสะพาน บนสะพานลอยมีชายอ้วนมากคนหนึ่งยืนมองเหตุการณ์ ถ้าท่านผลักคนอ้วนตกสะพานลอย เขาจะลงไปขวางทางรถในจังหวะนั้นพอดีเลย รถสิบล้อก็จะชนคนอ้วนตาย แล้วแฉลบเสียหลัก คนห้าคนรอดตาย ท่านจะนิ่งเฉยปล่อยให้คนห้าคนตาย หรือว่าท่านจะผลักชายอ้วนให้ตกสะพาน ลงไปขวางทางรถ

เรื่องที่ 3 เหมือนเรื่องที่ 2 ทุกอย่าง แต่ท่านไม่ต้องลงมือผลักคนอ้วนด้วยตนเอง เพราะว่าเขายืนอยู่บนพื้นที่ ที่บังเอิญว่าเป็นกระดานกล มีกระเดื่องกลผูกเชือกโยงมาไกลหลายวา จนถึงจุดที่ท่านยืนอยู่ เพียงแต่ท่านกระตุกเชือกกระเดื่องกลนิดเดียว พื้นกระดานกลที่คนอ้วนยืนอยู่นั้น จะกระดกเทคนอ้วนตกลงไปขวางทางรถด้านล่าง ท่านก็รักษาชีวิตคนห้าคนนั้นไว้ได้ คนอ้วนตายคนเดียว และท่านไม่ต้องลงมือผลักชายอ้วนโดยตรง ด้วยตนเอง

ระหว่างที่นักศึกษาลุกขึ้นยืนพูดอภิปราย แสดงเหตุผล ปกป้องการเลือกลงมือกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใด อยู่นั้น การที่นักศึกษาส่วนมาก ออกเสียงลงคะแนนให้ฆ่าคน ๆ เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้--ตามตัวอย่างเรื่องแรก ก็น่าจะสอดคล้องกับความคิดเรื่องเสียงข้างมากเป็นใหญ่

แต่ในตัวอย่างต่อมา นักศึกษาเริ่มรวนเร ชักไม่แน่ใจว่า เสียงข้างมากจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรเสมอไปทุกกรณี--จริงหรือไม่ เพราะในตัวอย่างที่ 2 นักศึกษาทั้งหลายก็ไม่อยากจะลงมือผลักชายอ้วน ให้ตกลงไปตาย ด้วยตนเอง และแม้ตามตัวอย่างที่ 3 หลายคนก็ไม่อยากดึงกระเดื่องเพื่อพลิกกระดานกล

กรณีตามตัวอย่างในห้องเรียน ทำให้เราพลอยเห็นกระจ่างไปด้วยว่า ความคิดความอ่านที่รองรับศิลธรรมของเราท่านอยู่นั้น มักจะเป็นความคิดอ่านที่ขัดแย้งกันอยู่

เพราะฉะนั้น ข้อปุจฉาปริศนาศิลธรรม ที่ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรเลว จึงอาจจะไม่ได้มีคำตอบที่เด็ดขาดชัดเจน ดุจสีขาวตัดกับสีดำ เสมอไปทุกกรณี

เรื่องที่ 4 สมมติว่าท่านเป็นแพทย์ผ่าตัด มีผู้ป่วยหนักจะต้องตาย จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนอวัยวะอยู่ในความดูแลรวมห้าคน คนหนึ่งต้องเปลี่ยนตับ อีกคนต้องเปลี่ยนไต ฯลฯ แต่เวลานั้น ไม่มีผู้บริจาคอวัยวะเลย ขณะนั้นบังเอิญว่า มีชายสุขภาพดีคนหนึ่ง แวะมาตรวจสุขภาพตามปกติ กำลังนอนหลับอยู่ในห้องข้าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ท่านสามารถเข้าไปควักเอาอวัยวะทั้งห้าออกจากร่างเขา มาเปลี่ยนให้คนไข้ห้าคนของท่านได้ ท่านจะลงมือทำหรือไม่? เพราะถ้าท่านเชื่อตามหลักเสียงข้างมาก ท่านทำให้คนตายคนเดียว เพื่อจะให้มีคนรอดตายห้าคน

กรณีนี้นั้น นักศึกษาส่วนมากยกมือว่า จะไม่ฆ่าคน ๆ เดียวเพื่อรักษาชีวิตคนห้าคน ซึ่งเป็นการยกมือที่ขัดแย้งกับหลักเสียงข้างมาก หรือเสียงส่วนใหญ่ 

สรุปวิธีคิด เพื่อความกระจ่างแจ้งในการพิจารณาปัญหาข้อศิลธรรมทางแพ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปวิธีคิด เพื่อการแสดงเหตุผลเชิงศิลธรรมทางแพ่งในปรัชญาตะวันตก ว่า เรามีวิธีคิดเรื่องนี้สองวิธี คือ ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ กับอีกวิธีหนึ่ง คือ ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา

เช่น ถ้าเราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อเบรกแตก เข้าทางที่มีคนยืนอยู่เพียงคนเดียว ก็เป็นเพราะเราเห็นว่า ศิลธรรม--ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ กล่าวคือ คนรอดตายห้าคน ดีกว่าคนรอดตายคนเดียว

กรณีที่เราเป็นแพทย์ผ่าตัด แล้วปล่อยให้คนไข้ตายห้าคน โดยที่เราไม่ยอมควักอวัยวะห้าชิ้น ออกมาจากคนสุขภาพดี ก็เพราะเราเห็นว่า ศิลธรรม--พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา กล่าวคือ เราไม่ยอมฆ่าชายสุขภาพดี ที่นอนอยู่ในห้องข้าง ๆ เพื่อควักอวัยวะออกมาช่วยคนห้าคนที่กำลังจะตาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการฆ่านั้น จะช่วยชีวิตคนถึงห้าคนได้ เราก็ไม่ทำ เพราะเราถือว่า การฆ่าคน เป็นเรื่องไม่ดีมาก ๆ โดยตัวของมันเอง

ท้ายที่สุด ศ.แซนเดล เตือนไว้แต่ต้น ว่า เรื่องศิลธรรมทางแพ่งนี้ เป็นเรื่องสอนยาก เพราะเป็นเรื่องที่นักศึกษาทั้งหลาย “รู้ ๆ กันอยู่แล้ว” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่อย่างไรก็ดี ท่านประกันว่า หลังจากจบการบรรยายทั้งหมดของท่านแล้ว เรื่องที่นักศึกษารู้ ๆ กันอยู่แล้วนั้น จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โลกของนักศึกษาจะเปลี่ยนไป...


คนกินคน--คดีดังในอังฤษ || Episode 01 Part 2

ศ. แซนเดล แนะนำให้เรารู้จักเอตทัคคะของแนวคิดที่ว่า ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ” คือ อาจารย์เจเรมี เบนแธม

ท่านผู้นี้ ประกาศข้อศิลธรรมแนวประโยชน์นิยม ที่มีหลักเข้าใจง่าย ๆ ว่า มนุษย์ถูกบัญชาด้วยความต้องการจะ เป็นสุขกับหนีทุกข์ เพราะฉะนั้น “ประโยชน์” ของการกระทำใด ๆ ในความเห็นของท่าน ก็คือ เมื่อหักกลบลบผลจากการกระทำแล้ว ปรากฏว่าได้ยอดออกมาเป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์ และท่านบัญญัติศัพท์เรียกการกระทำที่ให้ผลแบบนี้ ว่า กระทำที่ “มีประโยชน์”

เพราะฉะนั้น

  1. โปรดเข้าใจว่า ท่านจึงไม่ได้หมายถึง ประโยชน์ใช้สอย แบบที่เราเข้าใจกันในภาษาชาวบ้าน เพราะ ถ้าการกระทำใดก็ดี ที่ก่อประโยชน์ใช้สอยแบบบ้าน ๆ มากมาย แต่หักกลบลบผลกันแล้ว มีผลลัพธ์ทำให้คนทุกข์แสนสาหัส การกระทำนั้น อาจารย์เบนแธมท่านเห็นว่า “ไม่มีประโยชน์” และผิดศิลธรรม
  2. อนึ่ง การนำคำเดิม ๆ มาใช้ เช่น คำว่า “มีประโยชน์” เป็นต้น แต่กลับมอบความหมายใหม่ให้กับมัน เป็นกิจวัตรปกติอย่างหนึ่งของนักคิดนักปรัชญา ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า ท่านเป็นกันอย่างนั้นเอง

การกระทำที่ “มีประโยชน์” อาจารย์เบนแธม ท่านถือว่า เป็นการกระทำที่ถูกที่ควร” อันพึงทำ หรือเป็นการกระทำที่ “เป็นธรรม” หรือเป็นการกระทำที่ “มีคุณค่าทางศิลธรรม”

ศิลธรรมง่าย ๆ ของอาจารย์เบนแธมนั้น ต่อมาก็มีผู้สรุปให้จำได้ง่ายขึ้นอีก ว่า หมายถึงการกระทำที่จะยังผลให้เกิด “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” บางท่านเรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ ให้ชนคนตายคนเดียว เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม ผู้เป็นเอตทัคคะของแง่คิดฝ่ายค้าน ที่คิดว่า ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา” อันเป็นแนวคิดเชิงศิลธรรมที่แย้งกับศิลธรรม GHGN ได้แก่ อาจารย์เอ็มมานูเอล คานต์ นักคิดผู้มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลทางความคิด ชาวเยอรมัน ศ.แซนเดล กล่าวว่า ท่านจะยกหลักศิลธรรมทั้งสองแนว มาเทียบเคียงกันในการบรรยายลำดับต่อ ๆ ไป

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างคดีอื้อฉาวในอังกฤษ ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เรื่องลูกเรือเดนตายสามคน ที่เรือล่มกลางทะเลหลวง แล้วรอดตายด้วยการฆ่าเด็กรับใช้ในเรือ กินเลือดประทังชีพ โดยที่--หลังจากลอยทะเลอยู่ในเรือบตชูชีพได้สิบเก้าวัน กัปตันก็ตัดสินใจ ฆ่าลูกเรือคนที่เป็นเด็กรับใช้ประจำเรือ เพื่อให้คนอื่นอีกสามคนรอดตาย ด้วยการบริโภคเลือดและเนื้อของคนตาย

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เคยเป็นคดีดังในศาลอังกฤษ ปัจจุบันก็ยังเป็นคดีตัวอย่าง ที่ศึกษากันทั่วโลก การอ้างเหตุผลแนวศิลธรรมประโยชน์นิยม ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ในคดี ว่าฆาตกรได้กระทำไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ศ.แซนเดล ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้ออภิปรายในห้องเรียน เพื่อพิจารณาศิลธรรมแบบประโยชน์นิยม ที่มีหลักว่า

การกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ คือ การกระทำที่จะก่อให้เกิด “ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด” ซึ่งในกรณีนี้ ผลดีอย่างใหญ่สุด คือ การรอดชีวิตของคนเรือ จำนวนมากสุด อันได้แก่ ลูกเรือเดนตายสามคน และการกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ก็คือ ฆ่าเด็กรับใช้ประจำเรือกินเป็นอาหาร

ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาช่วยกันพิจารณาคดีนี้ ว่า ลูกเรือสามคนนั้น ผิด หรือ ไม่ผิด

หลังจากผู้เขียนชมวีดีโอการบรรยาย จับใจความได้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่อภิปรายคัดค้าน การอ้างเหตุผลในครรลองศิลธรรมประโยชน์นิยมในคดีนี้ แนวความคิดคัดค้าน ประมวลได้สามแนว คือ

  1. มนุษย์เรา มีสิทธิบางอย่างบางประการ ที่เป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน ของความเป็นคน ใช่หรือไม่? (เช่น คนเรามี “ขวัญ” ใช่ไหม? เพราะขวัญเป็นพื้นฐานของความเป็นคน ถ้าขวัญบิน หรือขวัญหนี ความเป็นคนของเราก็น้อยลง เราจะใกล้เดรัจฉาน หรือซ็อมบีผีดิบ มากขึ้น) ต้วอย่าง-เด็กรับใช้ประจำเรือ มีสิทธิในชีวิต ที่ผู้อื่นจะมาบั่นชีพเขาไม่ได้ นี่เป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของเขา
  2. การกระทำการใด ๆ ก็ดี ที่มี ขั้นตอนเป็นธรรม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็อาจถือได้ว่าการกระทำนั้น มีศิลธรรม ใช่ไหม? ตัวอย่างเช่น— สมมติว่า ให้คนเรือจับฉลากกัน เพื่อถูกฆ่า ถ้าการจับฉลากถือว่าเป็นขั้นตอน ที่เป็นธรรมแล้วละก้อ การที่เราซวยจับโดนเบอร์ที่จะถูกเขาฆ่า แปลว่า การที่เราโดนฆ่า เป็นการยุติธรรมแล้วใช่ไหม? เพราะขั้นตอน – การจับฉลาก – เป็นขั้นตอนที่ยุติธรรม
  3. ความยินยอม มีบทบาทอะไร ในกระบวนการยุติธรรม? ทำไมการกระทำบางอย่าง คนเห็นว่า ผิดศิลธรรมอยู่ในตัวของมันเอง (หรือ โดยตัวของมันเอง) แต่ครั้นคู่กรณีให้ความยินยอม การกระทำนั้นก็พลิกตัว กลับกลายเป็นถูกศิลธรรม ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กรับใช้ประจำเรือ ยินยอมให้ฆ่าโดยสมัครใจ การฆ่าคนในกรณีนี้ จะกลายเป็น “ถูกศิลธรรม” หรือไม่? 

ศ.แซนเดล บอกนักศึกษาว่า เพื่อจะตอบข้อสงสัยเหล่านี้ เราจะต้องอ่านงานของนักปรัชญาประโยชน์นิยมคนสำคัญสองคน คือ เจอเรมี แบนแธม กับ จอห์น สจวต มิลล์ ซึ่งท่านจะได้เสนอในการบรรยายครั้งต่อ ๆ ไป

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้

“ฆาตกรรม พิจารณาแง่ศิลธรรม กับ คนกินคน คดีดังในอังกฤษ"

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

สรุปวิธีคิด เพื่อความกระจ่างแจ้งในการพิจารณาปัญหาข้อศิลธรรมทางแพ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปวิธีคิด เพื่อการแสดงเหตุผลเชิงศิลธรรมทางแพ่งในปรัชญาตะวันตก ว่า เรามีวิธีคิดเรื่องนี้สองวิธี คือ ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ กับอีกวิธีหนึ่ง คือ ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 178 July-August 2014

X

Right Click

No right click