Episode 06 | ระแวงเจตนาของตนเองไว้ให้ดี... และ หลักศีลธรรมสูงสุดคืออะไร?

November 19, 2019 7332

ปูพื้น-ทบทวน ก่อนจะเข้าเรื่อง || เอ็มมานูเอล คานต์ นักปรัชญาผู้ขวางโลกในยุคสมัยของท่าน

ภายหลังกลายเป็นนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ผู้ทรงอิทธิพล ท่านผู้นี้บอกปัดปรัชญา ประโยชน์นิยม โดยแสดงเหตุผลว่า คนเราแต่ละคน ต่างก็มีหน้าที่และมีสิทธิพื้นฐานบางอย่างบางประการ ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากเรื่องประโยชน์สูงสุด

ศ. แซนเดล บอกนักศึกษาว่า ปมปรัชญาของ คานต์ จะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในบรรดาแนวคิดทั้งหลาย ที่ท่านนำมาสอนในวิชานี้

ด้วยเหตุนี้ ผู้สรุปภาษาไทยจึงจะขอทบทวนปรัชญา ประโยชน์นิยม--Utilitarianism ซึ่งถูก เอ็มมานูเอล คานต์ โต้แย้ง เป็นการปูพื้นให้ท่านผู้อ่านและให้กับตนเองไว้สักครั้งหนึ่งก่อน

ทั้งนี้ จาก Episode 01 part 2 คนกินคน คดีดังในอังกฤษ ได้สรุปไว้ว่า การกระทำที่ “มีประโยชน์” นั้น อาจารย์เบนแธม ถือว่าเป็นการกระทำ “ที่ถูกที่ควร” อันพึงทำ หรือเป็นการกระทำที่ “ชอบธรรม” หรือเป็นการกระทำที่ “มีคุณค่าทางศีลธรรม”

ผู้สรุปภาษาไทยพบในแหล่งอื่น (คำบรรยาย ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด) ว่า

หลักศีลธรรมของอาจารย์เบนแธมนั้น ต่อมาก็มีผู้สรุปให้จำได้ง่ายขึ้นอีก ว่า หมายถึงการกระทำที่จะยังผลให้เกิด “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” เรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of People เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ ให้ชนคนตายคนเดียว เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม เอตทัคคะทางศีลธรรมอีกท่านหนึ่งกลับเห็นว่า พึงพิจารณาศีลธรรมกันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่ใช่พิจารณาผลที่จะตามมา อันเป็นแนวคิดศีลธรรมที่ตรงกันข้ามกับศีลธรรมประเภท GHGN เอตทัคคะท่านนี้ได้แก่ อาจารย์ เอ็มมานูเอล คานต์ นักคิดผู้มีชื่อเสียงชาวเยอรมัน ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่

ศ.แซนเดล กล่าวว่า ท่านจะได้ยกหลักศีลธรรมทั้งสองแนว ขึ้นมาเทียบเคียง

ผู้สรุปภาคภาษาไทย ขออนุญาตท่านผู้อ่าน แสดงความเห็นส่วนตัวโดยไม่ก้าวก่ายการบรรยายของ ศ.แซนเดล ว่า : คนในวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายใด เมื่อเริ่มรู้รสปรัชญาตะวันตก คนเหล่านั้นก็น่าที่จะถูกใจกับแนวคิดของ เอมมานูเอล คานต์ มากกว่าแนวคิดปรัชญาตะวันตกแนวอื่น และความคิดความอ่านของนักปรัชญาผู้ขวางโลก (ตะวันตก) ผู้นี้ ผู้เขียนก็เดาว่า น่าจะถูกใจมิตรสหายหลายท่านที่ติดตามอ่านอยู่ในนิตยสาร MBA เพราะฉะนั้น ก็จะสรุปคำบรรยาย Episode 06 part 1 รู้จักระแวงเจตนาของตนเอง ไว้ให้ดี ของ ศ.แซนเดล อย่างละเอียด เพื่อเป็นการทุ่นแรงแก่ท่าน ก่อนที่ท่านจะคลิกชมวิดีโอต้นฉบับ ต่อไป


รู้จักระแวง เจตนาของตนเอง ไว้ให้ดี || Episode 06 Part 1

หลักศีลธรรมสูงสุด คือ อะไร

เสรีภาพ คือ อะไร

ปรัชญาของ คานต์ จะตอบปริศนาข้างบนนั้น โดยที่เอมมานูเอล คานต์ ประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ ต่อปรัชญาแนวประโยชน์นิยม ที่เห็นว่าการกระทำที่ มีประโยชน์” เป็นการกระทำ “ที่ถูกที่ควร” หรือเป็นการกระทำที่ “ชอบธรรม” หรือเป็นการกระทำที่ มีคุณค่าเชิงศีลธรรม”

อันได้แก่กระทำที่จะยังผลให้เกิด ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” เรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of People เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ พุ่งชนคนตายคนเดียว เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย เป็นต้น

ผู้สรุปภาษาไทยจะขอยกตัวอย่าง คำโฆษณาให้ดาวน์โหลดเบราว์เซอร์ไฟร์ฟ็อก ที่เคยโฆษณาว่า

เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้น – ว่านั่นคือตัวอย่างภาคปฏิบัติ ของปรัชญาประโยชน์นิยม หรือ Utilitarianism ซึ่งภาษาอังกฤษแหล่งหนึ่งนิยามปรัชญาชนิดนี้ ว่า :

– a belief that the more people of a course helps, the better it is.

ส่วนแนวความคิดอย่างใหม่ ของคานต์ อยู่ในหนังสือของเขาชื่อ “Groundwork for the Metaphysics of Morals” ซึ่งถูกใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการบรรยาย ของ ศ.แซนเดล หนังสือเล่มนั้น แสดงเหตุผลตอบปริศนาสองข้อ คือ

  1. หลักการสูงสุดของศีลธรรม คือ อะไร
  2. จริง ๆ แล้วเสรีภาพ คือ อะไร

คานต์ เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนมีเกียรติภูมิบางอย่างบางประการ ซึ่งผู้อื่นจะต้องเคารพ แต่เกียรติภูมิของมนุษย์ไม่ได้เกิดเพราะมนุษย์แต่ละคน “เป็นเจ้าของ” ตัวตนของเขาเอง เฉกเช่นที่พวกประโยชน์นิยม เข้าใจ

ทว่า เกียรติภูมิแห่งความเป็นคนเกิดมีขึ้นได้ เพราะเราท่านทั้งหลายเป็น “สัตว์รู้คิด” หรือ “Rational Being” ซึ่งหมายความว่า เราท่านทั้งหลาย มีความสามารถที่จะรู้จักที่จะคิดอย่างมีเหตุผล—นั่นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง เราต่างเป็น “สัตว์อิสระ” หรือ “Autonomous Being” ซึ่งหมายความว่า เราทั้งหลายมีความสามารถที่จะ กระทำการ และ “เลือก” ที่จะกระทำการ ใด —ได้อย่างเสรี โดยที่ คานต์ ได้กำหนดนิยามเรื่องเสรีภาพ เสียใหม่ ดังจะได้กล่าวต่อไป

ก่อนอื่น คานต์ ยอมรับว่าพวกประโยชน์นิยม คิดถูกอยู่กึ่งหนึ่ง กล่าวคือ คิดถูกที่บอกว่าคนหลีกหนีความเจ็บปวด (Pain) และชอบหาความสุขสันต์หรรษา (Pleasure) แต่การที่ เจอเรมี เบนแธม นักปรัชญาประโยชน์นิยมคนดังเห็นว่า ความเจ็บปวดกับความสุขสันต์หรรษา คือ “นายเหนือหัวมนุษย์” นั้น คานต์เห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

คานต์ เสนอว่าความสามารถที่จะ รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ต่างหาก ที่ยกระดับมนุษย์ขึ้นเหนือส่ำสัตว์ทั้งหลาย ทำให้มนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่กอปรด้วยความหิวกระหาย ความใคร่ความอยาก เพียงอย่างเดียว

หันมาทางประเด็น “เสรีภาพ” บ้าง เรามักจะคิดว่าเสรีภาพหรือความเป็นอิสระก็คือ ได้ทำตามใจนึกอยาก หรือนึกใคร่ หรือนึกจะทำอะไรก็ได้ทำตามอำเภอใจ หรือได้ทำอะไรโดยปราศจากอุปสรรคขัดขวาง เช่น นึกอยากจะยืนฉี่ หรือนั่งลงฉี่ที่ไหน ก็ฉี่ได้ เป็นต้น

แต่ คานต์ นักปรัชญาผู้ขวางโลก (สมัยโน้น) ชาวเยอรมันผู้นี้ มีความเห็นต่าง.....

อิสรเสรีภาพ ตามความเห็นของ คานต์ ค่อนข้างจะเข้มงวด แต่จะกระนั้นก็ดี ศ.แซนเดล กล่าวกับนักศึกษาว่า ถ้าเราได้ลองคิดเรื่องเสรีภาพตามความคิดของคานต์ให้ตลอด ก็จะพบว่า เป็นความคิดที่น่านิยมไม่น้อย คานต์แสดงเหตุผลดังนี้

“เมื่อคนเรา ในฐานะสิ่งมีชีวิต แสวงหาความสุขสันต์หรรษา หรือหลีกหนีความเจ็บปวดอยู่นั้น เราหาได้กระทำลง อย่างอิสรเสรีไม่”

ทำไมหรือ...

“ก็เพราะว่า--เรากระทำไปดุจจะเป็นขี้ข้า ของความหิวกระหาย ความใคร่ ความอยากต่างหาก เอาเข้าจริง ๆ เราก็ไม่ได้ “เลือก” ที่จะหิวกระหาย หรือ “เลือก” ที่จะนึกใคร่นึกอยากแต่ประการใดเลย ดังนั้น เมื่อเราทำการดับกระหาย หรือดับความใคร่ หรือสนองความอยากใด ๆ ก็ดี เราจึงทำลงตามความจำเป็นทางธรรมชาติ”

ซึ่งสำหรับคานต์ อิสรเสรีภาพเป็นเรื่อง ตรงกันข้าม กับ “ความจำเป็นทางธรรมชาติ” — ประเด็นนี้ เป็นจุดสำคัญที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องเสรีภาพ ของคานต์

เพื่อทำประเด็นให้กระจ่างขึ้น ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างโฆษณาเครื่องดื่มสไปรท์ ขึ้นประกอบการบรรยาย สไปรท์เคยโฆษณาว่า “จงเชื่อฟังความกระหายของคุณ” (Obey your Thirst.) ท่านว่า นี่คือคำโฆษณาที่ได้รับอิทธิพลจาก คานต์

เวลาเราดื่มสไปรท์ เราอาจจะคิดว่า เรา เลือก ที่จะดื่มสไปรท์แทนที่จะดื่มเป๊ปซี่ แต่ที่จริงเรากำลัง เชื่อฟัง ความกระหายหิวต่างหาก ความกระหายดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เราไม่ได้เจตนาจะให้มันเกิด

การกระทำตามบงการของธรรมชาติ หรือทำเพราะธรรมชาติเรียกร้อง เช่น ทำตาม แรงกระตุ้นทางเพศ หรือหิวอาหาร หรือกระหายน้ำ เป็นต้น คานต์ เห็นว่า นี่มิใช่กระทำอย่างมีอิสรเสรี

ข้อฉงนมีว่า หากถือเช่นนั้นแล้ว เสรีภาพในการกระทำใด ๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร.....ก็ในเมื่อการเรียกร้องของธรรมชาติ ที่คอยชักนำให้เรากระทำการใด คานต์ถือว่าเป็นการเชื่อฟังกฎธรรมชาติ ไม่ได้ทำโดยเสรี แล้วเราจะทำการใด ๆ อย่างมีเสรีภาพได้อย่างไรเล่า

ปริศนาข้อนี้เป็น ปริศนาขั้นปฐมภูมิ ในเรื่องเสรีภาพของคานต์

คานต์ ไขปริศนาว่า การกระทำอย่างเสรี ได้แก่ กระทำอย่าง อัตโน-อนุมัติ (to Act AUTONOMOUSLY) การกระทำอย่าง อัตโน-อนุมัติ ก็คือ กระทำลงตามกฎที่ตนเองรับรองไม่ใช่ทำตามบงการของกฎธรรมชาติ เช่น อยากกินส้มตำร้านนี้เพราะเป็นส้มตำโคราช ไม่ชอบร้านโน้นเพราะว่าตำแบบอุบล

To Act Freely = to Act Autonomously = to Act According to A Law I Give Myself.

เพื่อสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นในใจนักศึกษา ศ.แซนเดล ได้ใช้วิธีตั้งคำถามชนิดตัดกันแบบขาว/ดำ ว่า “การกระทำที่ ตรงกันข้าม กับการกระทำอย่างอัตโน-อนุมัติ คือ ทำอย่างไร”

คานต์ คิดคำขึ้นใหม่ บัญญัติศัพท์เรียกสิ่งตรงข้ามกับ อัตโน-อนุมัติ (Autonomy) ว่า “Heteronomy” ซึ่งหมายความว่า กระทำตามกิเลสตัณหา ความหิวกระหาย ความใคร่ความอยาก หรือกระทำตามที่ธรรมชาติเรียกร้องบงการ อันล้วนเป็นเรื่องที่ เราไม่ได้เลือกเอง หมายความเป็นภาษาอังกฤษว่า to Act According to Desires I haven’ t chosen myself.

(ตัวอย่างเรื่องลูกบิลเลียด) ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราปล่อยลูกบิลเลียดให้หล่นลงจากมือ ลูกบิลเลียดย่อมตกลงกับพื้น ซึ่งเราคงจะไม่มั่วคิดว่า ลูกบิลเลียดได้กระทำการนั้นอย่างเสรี ทำไมหรือ – ก็เพราะว่าลููกบิลเลียดตกลงสู่พื้นตามกฎธรรมชาติ คือ กฎแห่งความโน้มถ่วง

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อ คานต์ หันมาพิจารณาเรื่องศีลธรรม คานต์ก็พิจารณาศิลธรรมอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับที่คานต์ได้แสดงเหตุผลเรื่องเสรีภาพ--ซึ่งบอกว่า เสรีภาพ คือการได้ปฏิบัติโดยอัตโน-อนุมัติ

To act freely is not to choose the best means to a given end; it’ s to choose the end itself for it’ s own sake.

แปล: การได้เลือกหนทางที่ดีที่สุด เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่การประพฤติอย่างเสรี การประพฤติอย่างเสรีได้แก่ การเลือกจุดหมายปลายทาง เพื่อ--ตัวจุดหมายปลายทางนั้นเอง

ผู้สรุปภาษาไทย ขอสรุปเสนออีกสำนวนหนึ่งว่า “การเลือกไอ้นี่เพื่อàไอ้โน่น ไม่ใช่การประพฤติอย่างเสรี การประพฤติอย่างเสรี คือ การเลือกไอ้โน่นเพื่อไอ้โน่นเอง”

ซึ่งเรื่องนี้ ศ.แซนเดล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ มนุษย์ทำได้ แต่ ลููกบิลเลียดทำไม่ได้

เมื่อใด ที่เราประพฤติตามกิเลสตัณหา ความหิวกระหาย ความใคร่ ความอยาก หรือกระทำลงตามที่ธรรมชาติเรียกร้อง เมื่อนั้น เรากำลังเดินไปตามทางเพื่อจะบรรลุจุดหมายปลายทาง--อันเป็นจุดหมายปลายทางที่ถูกกำหนดมาจากแหล่งนอกตัวตนของเรา (กำลังทำไอ้นี่เพื่อไอ้โน่น)

เรากำลังกลายเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ เราไม่ได้เป็นเจ้าของงาน หรือเจ้าของเรื่อง หรือเป็นเจ้าของตัววัตถุประสงค์ -- อันเป็นที่สุดแห่งความปรารถนา

เราไม่ได้เป็นเจ้าภาพ แต่เราอาจเป็นเด็กเสิร์ฟ หรือแขกรับเชิญของงานนั้น เจตนาอันชักนำให้เราประพฤติเช่นนั้น คานต์เรียกว่า Heteronomous Determination of The Will หรือ เจตนาที่ถูกก่อขึ้น ตามบงการของกิเลสตัณหา

ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่เราประพฤติตามกฎที่เราตั้งขึ้นเอง หรือที่คานต์เรียกว่าประพฤติอย่างอัตโน-อนุมัติ (Autonomously) เมื่อนั้นแปลว่า เรากำลังกระทำการใดการหนึ่งเพื่อการนั้น ๆ เอง การกระทำจึงเป็นจุดหมายปลายทางอยู่ในตัว ไม่ได้ทำนี่เพื่อจะเอาโน่น

เมื่อเราประพฤติอย่างอัตโน-อนุมัติ คือ เราไม่ได้ รับคำบงการมาจากภายนอกตัวตน เราถือว่าเราคือเรา และเราเป็นเรา เราคือจุดหมายปลายทางของตัวเราเอง

การได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเสรีเช่นนี้นี่เอง ที่คานต์บอกว่า ทำให้ชีวิตมนุษย์มีเกียรติภูมิ และนี่คือเสรีภาพ -- ตามเหตุผลของคานต์

การเคารพต่อเกียรติภูมิของมนุุษย์ จึงมิใช่การเห็นมนุษย์เป็นทางผ่าน หรือเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ตนเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเห็นมนุษย์เป็นจุดหมายปลายทางในตัวของมนุษย์ผู้นั้นเองด้วย

แล้วก็เพราะเหตุนี้ การใช้ประโยชน์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นเครื่องมือหรือเป็นเพียงทางผ่าน เพื่อไปสู่ความสุข และเพื่อความอยู่ดีกินดีของตัวเราเองเท่านั้น หรือเพื่อตัวเราถ่ายเดียว ไม่ได้คำนึงว่า มนุษย์ผู้นั้นก็เป็นจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวของเขาเองด้วย จึงผิดศีลธรรม

ประเด็นนี้ คือประเด็นที่คานต์เห็นว่า ปรัชญาประโยชน์นิยมคิดผิด

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างว่า ถ้าไม่จับพวกคริสเตียนโยนให้สิงห์โตกิน (สมัยโรมัน) เพียงเพราะเกรงว่า ความหวาดกลัวจะแพร่สะพัดออกไปในสังคม แล้วสังคมโรมันจะอยู่ไม่เป็นปกติสุข คานต์ ก็จะยังเห็นว่าเป็นการกระทำที่ ไร้คุณค่าเชิงศีลธรรม เพราะว่า ทำไปด้วยเหตุผลผิด ๆ ไม่ได้เคารพตัวมนุษย์เอง แต่ยังคงใช้มนุษย์เป็นทางผ่าน ไปสู่ความเป็นปกติสุขของคนอื่น ๆ หรือของสังคมส่วนรวม

ศ.แซนเดล เห็นว่า จนถึงบัดนี้ เรายังต้องตอบคำถามอีกคำถามหนึ่ง คือคำถามที่ถามว่า

ในที่สุดแล้ว อะไรเล่า ที่คอยประสิทธิ์ประสาทคุณค่าเชิงศีลธรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ของเรา

ถ้า ความมีคุณค่าทางศีลธรรม ไม่ใช่ การกระทำที่มีประโยชน์àที่จะนำไปสู่ประโยชน์ใหญ่ของส่วนรวม หรือของสังคม หรือ GHGN (= Greatest Happiness, for Greater Number of people) ขณะเดียวกัน — ก็ ไม่ใช่ การกระทำที่เห็นแก่ตัวของตัวเอง (ตามคำเรียกร้องของกิเลสตัณหาแห่งตน)

ไอ้นั่นก็ไม่ใช่ ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ เห็นแก่ส่วนรวมก็ไม่ใช่--เห็นแก่ตัวก็ไม่ใช่ ถ้ากระนั้นแล้ว คุณค่าทางศีลธรรม อยู่ที่ไหน?

คานต์ แสดงเหตุผลว่า สิ่งที่จะทำให้การกระทำใด ๆ มีคุณค่าทางศีลธรรมหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ผลลัพธ์ อันเกิดจากการกระทำนั้น ๆ แต่ขึ้นอยู่กับ เจตนาแห่งการกระทำ หรือขึ้นอยู่กับชนิดของเจตนานั้น (Quality of The Will)

หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย - ตรงนี้ต้องแปล Quality ว่า “ชนิด” จึงจะตรงความหมาย ตัวอย่างการแปลคำว่า Quality เป็น “ชนิด” มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ

แล้ว เจตนาก็ดี หรือชนิดของเจตนาก็ดี หรือความตั้งใจก็ดี จะต้องเป็นเจตนาหรือความตั้งใจตามแบบของคานต์.....คือเขาบอกว่า บุคคลพึงทำความดีด้วยเหตุผลที่ดี (ที่ถูกต้อง) ถ้าทำความดีด้วยเหตุผลที่ผิดหรือเหตุผลที่เลว ความดีนั้นก็ไร้ค่าเชิงศีลธรรม

ผู้สรุปภาษาไทยขอยกตัวอย่างว่า การทำเลี้ยง “กุ้ก ๆ ๆ ๆ” เรียกไก่ที่เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน เพื่อให้ไก่นึกว่า เรียกมาให้อาหาร แต่ที่จริงเรียกมาเพื่อจะเชือดไก่ทำอาหารต่างหาก จะแกงเขียวหวานไก่ไปทำบุญ เป็นต้น เอมมานูเอล คานต์ จะคิดไหมว่า การทำบุญดังกล่าวไร้ค่าเชิงศีลธรรม (แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่ได้ “บุญ” นะ -- คนละประเด็นกัน) จะเป็นไปได้ไหมว่า เป็นบาปแต่ “ได้บุญ” ท่านผู้ใฝ่เชิงปรัชญาคงจะต้องคิดต่อกันเอาเอง -- ถ้าคิดไม่ออก ตกดึกท่านก็คงต้องลองถามดาวลูกไก่ดู

เจตนาตามแบบอย่างของคานต์ ที่บอกว่าทำความดีด้วยเหตุผลที่ดี (ที่ถูกต้อง) นั้น เป็นเช่นไร

และเหตุผลที่ถูกต้อง คือ เหตุผลชนิดใด -- เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ศ.แซนเดล ได้ทบทวนหลักศีลธรรมของ คานต์ ดังนี้

Kant’ s conception of morality: moral worth of an action depends on motive (do the right thing for the right reason)

แปล: คุณค่าทางศีลธรรมของการกระทำใด ๆ ก็ดี ขึ้นอยู่กับเจตนา (คือทำสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงกระทำ ด้วยเหตุผลที่ถูกที่ควร)

“A good will isn’ t good because of what it affects or accomplishes, it’ s good in itself. Even if by utmost effort the good will accomplishes nothing it would still shine like a jewel for its own sake, as something which has its full value in itself.”

-- Emmanuel Kant

แปล: เจตนาดี ไม่ได้ดีเพราะผลของการกระทำที่จะตามมาจากเจตนานั้น หรือเพราะผลลัพธ์ที่เจตนานั้นบันดาล แต่เจตนาดี จะดีอยู่ในตัวของตัวเอง ถึงแม้ว่า การแสดงเจตนานั้น เมื่อได้ทำถึงที่สุดแล้ว จะไม่ได้เกิดมรรคผลอะไรเลย แต่เจตนานั้น ก็จะยังเปล่งประกายสุกสว่างได้ด้วยตัวของตัวเอง ดุจอัญมณีที่มีค่าบริบูรณ์อยู่ในตัว ฉะนั้น

-- เอ็มมานูเอล คานต์

เพชรเม็ดหนึ่งที่อยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้ขึ้นเรือนทำแหวน เพชรเม็ดนั้นก็ยังแพรวพราวและมีค่าแห่งความเป็นเพชร ครั้นถูกนำไปขึ้นเรือนทำแหวน เพชรเม็ดนั้นก็ยังคงมีค่าแห่งความเป็นเพชรสมบูรณ์ ครั้นต่อมา ถูกช่างรื้อออกจากแหวน จะนำไปทำเป็นจี้เพชรห้อยคอ ค่าของเพชรก็ยังบริบูรณ์ทุกประการ

ซึ่ง คานต์ เห็นว่า การกระทำใดจะมีคุณค่าเชิงศีลธรรมได้ (คือ เป็นการกระทำที่ “ดี-มีศีลธรรม”) การกระทำนั้น ใช่ว่าจะต้องอยู่ในครรลองคลองธรรม “Conform to the Moral Law” อย่างเดียว แต่การกระทำนั้นจะต้องถูกทำลงเพราะผู้กระทำ เห็นแก่กฎศีลธรรมกฎนั้นด้วย

ไอเดียของคานต์ตรงนี้ก็คือ เจตนา เป็นตัวสร้างคุณค่าเชิงศีลธรรม 

แล้วเจตนาที่จะสามารถประสาทคุณค่าเชิงศีลธรรม ให้กับการกระทำใด ๆ ได้ ก็คือ เจตนาที่ทำตามความสำนึกในหน้าที่ (The Motive of Duty)

คำว่า “หน้าที่” ถูกสอดเข้ามา ณ จุดนี้

โดยที่ คานต์ เห็นว่า เวลาที่เรา ทำตามความสำนึกในหน้าที่ ได้แก่กระทำลงไปเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำโดยแท้ ๆ อย่างชนิดเนื้อ ๆ เมื่อนั้น การกระทำของเราจึงจะมีคุณค่าทางศีลธรรม

ตามความเข้าใจของผู้สรุปภาคภาษาไทย คำว่า หน้าที่” อาจสร้างปัญหาในการทำความเข้าใจแก่ผู้ใช้ภาษาไทยบางท่าน เพราะ หน้าที่” ของ คานต์ ไม่ใช่หน้าที่ราชการงานเมือง หรือหน้าที่การงานในองค์กรธุรกิจภาคเอกชน กรณีนี้หน้าที่ไม่ใช่ Job Description หน้าที่ ของคนมีอยู่หน้าที่เดียว คือ หน้าที่ ๆ จะต้องทำ “ตาม” กฎศีลธรรม และทำ “เพื่อ” กฎศีลธรรม

ค่อนข้าง วกวน...ผู้สรุปภาษาไทยเริ่มเวียนศีรษะ

เพราะว่า ศีลธรรมคือสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ -- ในปรัชญาของคานต์และในปรัชญาตะวันตกเพราะฉะนั้น กฎศีลธรรม ก็คือ กฎที่คอยบอกมนุษย์ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ

ศ.แซนเดล ไม่ได้พูดตรง ๆ ว่า เจตนาที่จะทำตามความสำนึกในหน้าที่ เป็นอย่างไร แต่ท่านใช้วิธียกอุทาหรณ์ขึ้นมาเทียบ ให้ตัดกันแบบขาว/ดำ โดยตั้งคำถามว่า สิ่งที่ ตรงข้าม กับเจตนาที่จะทำตามความสำนึกในหน้าที่ เป็นอย่างไร

คำตอบของท่านมีว่า ที่ตรงข้าม กับการกระทำตามเจตนาแห่งความสำนึกในหน้าที่ ก็คือ การกระทำตามเจตนาประการอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น ทำตามความโน้มเอียงของจิตใจ หรือกิเลสตัณหา เช่น ความอยากความใคร่ ความต้องการ แรงกระตุ้นทางธรรมชาติ ฯลฯ

เพื่อแสดงตัวอย่างประกอบให้ข้อคิดแจ่มกระจ่าง คานต์ ยกตัวอย่างเจ้าของร้านค้า ผู้ไม่ฉวยโอกาสทอนเงินขาด ให้กับลูกค้าเซ่อ ๆ คนหนึ่ง เพราะพ่อค้าเกรงว่า ถ้าการทอนเงินขาดล่วงรู้ เข้าหูลูกค้ารายอื่น ๆ การค้าของเขาจะเสียหาย

ซึ่งตัวอย่างเรื่องนี้ของคานต์ ก็น่าที่จะถูกใจ โดนใจ และกินใจคนไทยหลายคน เพราะความคิดอ่านสำคัญแนวหนึ่งในเมืองไทย ได้แก่ ความคิดอ่านแบบร้านขายของชำ ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เรามาฟัง เอมมานูเอล คานต์ ยกตัวอย่างร้านขายของชำ กันต่อไปจะดีกว่า

ตามกรณีตัวอย่าง คานต์เห็นว่า การกระทำของเจ้าของร้านค้ารายนั้น อันได้แก่ ไม่ทอนเงินขาดเมื่อสบโอกาส เป็นการกระทำที่ไม่ได้มีคุณค่าทางศีลธรรมแต่ประการใด เพราะว่า เขาได้ทำสิ่งที่ถูกที่ควรก็จริงอยู่ แต่เขากระทำลงไปตามเหตุผล ที่ผิดศีลธรรม

ถ้าจะทำด้วย เหตุผล ที่ถูกศีลธรรม เขาจะต้องทำลงเพราะการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำโดยแท้ ไม่ใช่ทำการนั้นไปเพราะกลัวผลลัพธ์ด้านภาพลักษณ์ที่จะตามมา

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เหตุที่พ่อค้าร้านชำผู้นั้นไม่ทอนเงินขาด เพราะเขาเล็งถึงผลลัพธ์ว่า การค้าของเขาอาจเสียหายได้ เพราะฉะนั้น คานต์ จึงสรุปว่า การกระทำของเขา เป็นการกระทำที่ ไม่มีคุณค่าทางศีลธรรม


หลักศีลธรรมสูงสุด || Episode 06 Part 2

เอ็มมานูเอล คานต์ วางหลักไว้ว่า การกระทำใด ๆ ก็ดี จะมีคุณค่าเชิงศีลธรรมได้ ก็ด้วยเหตุที่ผู้ลงมือกระทำ สามารถลอยตัวขึ้นสูงพ้นจากความเห็นแก่ตัวและกิเลสตัณหา แล้วลงมือกระทำการนั้นไปตามหน้าที่ ไม่ใช่ ตาล่อกแล่กเล็งอยู่ที่ผลลัพธ์หรือวิบากกรรม (=ผลแห่งการกระทำ)

 

ศ. แซนเดล ทำความกระจ่างแก่ประเด็นนี้ ด้วยการยกตัวอย่างเรื่องจริงของเด็กชายอเมริกันอายุสิบสามปี ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดสะกดคำศัพท์ แต่เด็กคนนั้นได้สารภาพกับคณะกรรมการตัดสินในภายหลังว่า อันที่จริงแล้ว เขาสะกดคำศัพท์ตัวสุดท้ายผิด แต่คณะกรรมการจับผิดเขาไม่ได้เอง

ศ. แซนเดล ยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ เพื่ออธิบายวิธีทดสอบหลักศีลธรรมของคานต์ ที่วางหลักไว้ว่า เราต้องหาทางกำหนดรู้ให้ได้เสียก่อน ว่าทฤษฎีหรือหลักการที่แฝงอยู่กับการกระทำนั้น ๆ เป็นอย่างไร

ครั้นรู้หลัก หรือทฤษฎี ที่คอยควบคุมกำกับการกระทำแล้ว ก็ให้พิจารณาให้เห็นแจ้งว่า หลักการดังกล่าวสามารถจะตั้งขึ้นเป็น “กฎสากล” อันมนุษย์ทุกผู้ทุกนามจะนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ ได้หรือไม่

ถ้าทฤษฎีที่รองรับการกระทำนั้น สามารถตั้งเป็น “กฎสากล” ได้ เมื่อนั้นดอกการกระทำดังกล่าว จึงจะมีคุณค่าเชิงศีลธรรม

การที่จะพิสูจน์ว่า หลักหรือทฤษฎีรองรับการกระทำใด แปลงเป็นกฎสากลได้จริงหรือไม่ เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อ ถ้าหากบัญญัติหลักนั้นเป็นกฎสากลแล้ว กฎสากลดังกล่าว จะไม่แว้งกลับ ย้อนศร มาทำลายตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหลักสากลอยู่ว่า การทอนเงินถูกต้องครบถ้วน เป็นสาระสำคัญของการค้าปลีก ซึ่งเหตุที่หลักหรือทฤษฎีนี้ สามารถที่จะตั้งเป็น กฎสากล ได้ ก็เพราะว่า กฎสากลดังกล่าวจะเป็นกฎที่จะพิทักษ์การค้าปลีกเอาไว้สืบไป ไม่แว้งกลับ ย้อนศร มาทำลายระบบการค้าปลีกเสียเอง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากพ่อค้าปลีกทั่วไป ยึดถือกฎสากลตรงข้าม ว่า ในวงการค้าปลีก เราจะต้องทำมาหากินกับการทอนเงินขาด เพราะว่ามันคือกำไรเหนาะ ๆ ซึ่งกรณีนี้ ในระยะยาว ระบบการค้าปลีกก็จะเสียหาย เพราะว่าหลักการนั้นมันจะแว้งกลับ ย้อนศร มาทำร้าย บั่นทอนระบบการค้าปลีกเสียเอง

คานต์เห็นว่า เราท่านสามัญมนุษย์ทั้งหลาย สามารถใช้วิธีทดสอบความคิด ที่ทำได้ไม่ยากนี้ คอยพิจารณาตัดสินว่า การกระทำใดถูกศีลธรรม หรือไม่ถูกศีลธรรม

ผู้สรุปภาคภาษาไทย เชื่อฟังครูปรัชญาตะวันตกหลายๆ ท่าน ว่าปรัชญาเป็นเรื่องที่สามัญมนุษย์เข้าใจได้ ปรัชญาจึงเป็นประทีปปัญญาส่องทางให้แก่มนุษย์ได้ ถ้ามีแต่ลิงชิมแปนซีหรือตัวละครในเรื่องสตาร์วอว์เท่านั้นที่จะเข้าใจข้อปรัชญาได้ มนุษย์คงจะเลิกสอนปรัชญากันมานานแล้ว

ผู้สรุปภาคภาษาไทย จะขออนุญาตท่านผู้อ่าน เสนอตัวอย่างเรื่อง “คอรัปชัน” เช่น สมมติว่าเราตั้ง กฎสากล ไว้ว่า

“ระบบงานภาครัฐและเอกชน การคอรัปชันจะต้องแฝงตัวอยู่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันเสมอ เพื่อจะได้นำหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ให้พากันฉลุย-มุ่งไปสู่ความเลอเลิศสะแมนแตน”

ถ้าปรากฏว่า กฎนี้ไม่แว้งกัด หรือย้อนศร กลับมาทำลายหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน แล้วละก้อ ครั้น เอมมานูเอล คานต์ ได้ล่วงรู้ด้วยญาณใด ท่านก็น่าจะอนุโมทนาสาธุด้วยกับการส่งเสริมคอรัปชัน เช่น ตั้งรางวัล “คอรัปชันแห่งปี” ให้แก่หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันเหล่านั้น เป็นต้น

เพราะว่า การคอรัปชันของพนักงานบริษัทและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตามกฎสากลดังกล่าวของเรา มีแต่จะช่วยให้หน่วยงาน องค์กร สถาบัน เจริญก้าวหน้า พัฒนา อยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนอยู่ยั้งยืนยง ยิ่งใหญ่ไชโยขึ้น ลูกเดียว

แต่--หยุดคิดกันสักนิด จริงหรือว่า กฎสากลเรื่องส่งเสริมการคอรัปชัน จะไม่ย้อนศรกลับมาแว้งกัด บั่นทอน บ่อนไส้ กัดกร่อน หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันเหล่านั้นเสียเอง

ชมต้นฉบับวีดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้ 

รู้จักระแวงเจตนาของตนเองไว้ให้ดี... กับ หลักศีลธรรมสูงสุด

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

คนเราแต่ละคน ต่างก็มีหน้าที่และมีสิทธิพื้นฐานบางอย่างบางประการ ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากเรื่องประโยชน์สูงสุด


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 183 December 2014

X

Right Click

No right click