COVID-19 : การระบาดระลอกใหม่ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

May 31, 2021 5157

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในประเทศที่นำมาซึ่งมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

โดยหลายมาตรการก็เป็นสิ่งที่เราเริ่มจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งการระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้จึงรวบรวมสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงระลอกแรกในหลายประเทศและในประเทศไทย เพื่อย้ำเตือนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและแนวทางที่เราทุกคนจะช่วยกันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่

ทั้งนี้ ทุกท่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงจากการได้รับสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อโดยตรง และการติดเชื้อทางอ้อมผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาแพร่กระจายผ่านทางน้ำประปา เนื่องจากในระบบการผลิตน้ำประปามีการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมากเพียงพอในการกำจัดเชื้อไวรัสต่าง ๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย รวมถึงระบบจ่ายน้ำประปาเป็นระบบปิดที่มีการควบคุมปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือให้ไม่น้อยกว่า 0.2–0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรจนถึงปลายทางหรือบ้านของผู้ใช้น้ำ ดังนั้น มาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาจึงมุ่งเน้นในการลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยจากผู้ป่วยทั้งทางตรง และการสัมผัสทางอ้อมผ่านสิ่งของต่างๆ ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การใช้ภาชนะส่วนตัว และมาตรการ Lock down โดยการปิดสถานประกอบการบางประเภทชั่วคราว รวมไปถึงการขอความร่วมมือในการงดออกจากที่พักและการทำงานที่บ้าน (Work from home) ซึ่งจากข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ กลับพบการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี 2563 และคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปี ก่อนกลับเข้าสู่สภาวะเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศได้มีการประกาศนโยบายเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ที่มีการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสีย หรือประเทศมาเลเซียที่สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น แนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ให้เกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ

รูปที่ 1 การคาดการณ์แนวโน้มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซ้าย) และอุณหภูมิผิวโลกที่เพิ่มขึ้นจากผลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ขวา)[1]

ในทางกลับกัน แม้ว่าการลดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการแพร่ระบาดนี้จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลดลง แต่การงดออกจากที่พักหรือการทำงานที่บ้านส่งผลให้รูปแบบการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 2563 มีการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.9 โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี ลดลงถึงร้อยละ 3.9 ซึ่งกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร และสถานประกอบการยามกลางคืน ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock down ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ที่มาตรการ Lock down ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ทำให้ความต้องการพลังงานทั้งหมดซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ลดลง แต่ความต้องการพลังงานในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14[2] หรือเมืองออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 20[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางวันของวันธรรมดาที่เเสดงถึงแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านทุกวันเหมือนกับเป็นวันหยุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีการคาดการณ์กันว่าการทำงานที่บ้านอาจจะกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังส่งผลให้ปริมาณขยะในเขตเมืองทั้งกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต พัทยา ลดลงในพื้นที่สาธารณะ แต่ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการสั่งอาหารในรูปแบบ food delivery ก็เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงต้นปี 2563 ขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 15 จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน รวมถึงมีการประเมินว่ามีการใช้บริการแอพพลิเคชันสั่งอาหาร (Food delivery application) ประมาณ 66–68 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราวร้อยละ 80 โดยแอพพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ LINE MAN และ Grab Food มีสถิติการใช้งานเพิ่มขึ้นราว 3–4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19[4] อย่างไรก็ตาม หลายบริษัท Food delivery ในประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติกด้วยการเพิ่มตัวเลือก รับ/ไม่รับช้อนส้อม พลาสติกจากร้านค้าในแอพพลิเคชันเพื่อลดการใช้พลาสติกในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์ที่งดให้บริการช้อนส้อมพลาสติกตั้งเเต่ปี 2560 หรือประเทศเกาหลีใต้ที่มีนโยบายต่างๆ เช่น งดการให้บริการช้อนส้อมพลาสติก หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ ทั้งนี้ การจัดการขยะพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยในส่วนของภาคประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถทำได้ทันทีและง่ายที่สุด คือ การลดการใช้พลาสติกที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะ โดยนอกจากจะคัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นแล้ว ควรล้างทำความสะอาด เพื่อให้พลาสติกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากขยะพลาสติกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นแล้ว สถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้มีขยะจากบ้านเรือนอีกประเภทหนึ่งที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น นั่นก็คือหน้ากากอนามัยที่สวมใส่เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัส จากการคาดการณ์แต่ละเดือนอาจจะมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วถึง 1,800 ล้านชิ้นต่อเดือน เนื่องจากการใช้งานคนละ 1 ชิ้นต่อวัน ของประชากรในประเทศไทย 60 ล้านคน ถึงแม้ว่าหน้ากากเหล่านี้จะมีโอกาสปนเปื้อนสารคัดหลั่งหลังการใช้งานแต่ไม่ได้ถูกจัดเป็นขยะติดเชื้อหรือมูลฝอยติดเชื้อตามนิยามในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่ามูลฝอยติดเชื้อหมายรวมถึงมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากการให้บริการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัย การให้ภูมิคุ้มกันโรค และการศึกษาวิจัยในมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเกิดจากสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งมูลฝอยติดเชื้อเหล่านี้จะถูกควบคุมทั้งในระหว่างการรวบรวม การขนส่ง จนกระทั่งไปถึงการกำจัดตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ เช่น การเผาในเตาเผา การทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ หรือการทำลายเชื้อด้วยความร้อน แต่หน้ากากอนามัยที่เราใช้งานแล้วนั้นจะถูกจัดอยู่ประเภทขยะทั่วไปเท่านั้น หากเราไม่ได้ทำการคัดแยกออกมาจะถูกรวบรวมและนำไปจัดการด้วยวิธีการเดียวกับขยะทั่วไปชนิดอื่น ๆ ดังนั้น เราจึงควรแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วรวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มีการระบุชัดเจนว่าเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้ว และมัดปากถุงอย่างมิดชิดเมื่อนำไปทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายและลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่มีการสัมผัสกับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ส่วนผู้แยกสังเกตอาการที่บ้าน (Self-home quarantine) ที่มีความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 ควรแยกขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ออกจากขยะประเภทอื่น โดยใส่ถุง 2 ชั้น ทำลายเชื้อเบื้องต้นด้วยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรด์ 5%) และมัดปากถุงก่อนทิ้งรวมกับขยะทั่วไป[5]

การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของทุกคนในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตามมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคหรือหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วซึ่งอาจเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

[1] https://www.nature.com/articles/s41558-020-0883-0.pdf

[2] Snow, S., Bean, R., Glencross, M. and Horrocks, N. (2020). Energies, 13 (5738), pp. 1-20.

[3] https://www.renewableenergyworld.com/storage/covid-19-is-changing-residential-electricity-demand/#gref

[4] https://www.thaipost.net/main/detail/89342

[5] กระทรวงสาธารณสุข. 2563. แนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ในข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1). เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_other/g_other02.pdf


บทความโดย:

  ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล  

  ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา  

และ ภาวินี พงศ์พันธ์พฤทธิ์

 

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Monday, 31 May 2021 06:59
X

Right Click

No right click