×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

น้ำในกาน้ำร้อน อันตรายจริงหรือ

April 22, 2018 4152

ข่าวสารที่มีอยู่ในโลกโซเชียลถูกแชร์กันออกไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย แต่ความถูกต้องและสมบูรณ์ของข่าวสารและข้อมูลนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาก่อนแชร์ ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่อง “น้ำต้มเดือด”

หลายครั้งอันตราย!!! ซึ่งมีการแชร์ข้อมูลเหล่านี้มาหลายช่วง โดยเฉพาะในเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ต่างๆ ในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา (สสส. ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553) โดยเนื้อหากล่าวถึงการพบตะกรันที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมาแชร์อีกเรื่อยๆ โดยข้อมูลที่ระบุตามข่าวนั้น
ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่ควรได้รับการเพิ่มเติมและแก้ไขในประเด็นต่อไปนี้

 

ซิลเวอร์ไนไตรท์ที่เกิดจากการต้มน้ำเดือดแล้วเดือดอีกหลายๆ ครั้ง

ข้อมูลตามข่าวระบุไว้ว่า “ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นขณะน้ำเดือดนานๆ นั้น ส่งผลให้ไอออนของซิลเวอร์ไนเตรท ที่มีอยู่ในน้ำจะเปลี่ยนเป็น ซิลเวอร์ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารที่ให้โทษแก่ร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกและทางเดินหายใจอาจทำให้ปอดถูกทำลายได้” ในประเด็นนี้โดยทั่วไปแล้ว เราจะสามารถพบธาตุซิลเวอร์จากน้ำที่นำมาใช้ต้มได้น้อยมาก ยกตัวอย่าง น้ำดื่มบรรจุขวดจะพบธาตุซิลเวอร์เพียง 0.05 mg/L (แทบจะมีค่าเป็นศูนย์) โดยที่ตะกรันและตะกอนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการต้มน้ำมักจะมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต CaCO3 เนื่องจากพบได้ง่ายตามแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มและน้ำประปา นอกจากนี้
ในทางทฤษฎีความร้อนไม่ได้เป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปจากซิลเวอร์ไนเตรท AgNO3 ไปเป็นซิลเวอร์ไนไตรท์ AgNO2
ดังนั้นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญก็คือ ถ้าไม่มีซิลเวอร์เจือปนอยู่ในน้ำที่นำมาต้มก็เท่ากับว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดซิลเวอร์-ไนไตรท์ AgNO2 ได้อย่างแน่นอน

การได้รับแร่ธาตุเกินกว่ามาตรฐานน้ำดื่ม

ในบทความของ สสส. กล่าวไว้ว่า การต้มน้ำจนเดือดจะทำให้มีน้ำบางส่วนระเหยหายไป (ไอน้ำ) ซึ่งจะส่งผลให้แร่ธาตุต่างๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำมีความเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกินมาตรฐาน ไม่สามารถนำมาใช้ดื่มกินได้ ในประเด็นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยสาเหตุจากการระเหยของไอน้ำตามที่ สสส. ได้กล่าวไว้ แต่หากมองในแง่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเราจะพบว่า

1. ไอน้ำที่ระเหยหายไปมีปริมาณน้อยมาก = ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของแร่ธาตุในน้ำน้อยมาก

2. เมื่อน้ำเดือด เราก็จะนำน้ำร้อนไปใช้และเติมน้ำเพื่อต้มให้เดือดใหม่ทุกครั้ง = การเติมน้ำใหม่เป็นการเจือจางความเข้มข้นของแร่ธาตุในน้ำ

ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้รับแร่ธาตุเกินกว่าที่มาตรฐานน้ำดื่มกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามเราควรเลือกน้ำที่จะนำมาใช้ต้มให้เหมาะสม โดยไม่ควรใช้น้ำแร่ น้ำบาดาล เนื่องจากน้ำดังกล่าวมีแร่ธาตุละลายปนอยู่ในปริมาณสูง

 

ตะกรันและตะกอนจากการต้มน้ำ

การเกิดตะกรันและตะกอนจากการต้มน้ำสามารถอ้างอิงได้ถึงค่าคงที่ของสมดุลการละลาย (Solubility Product Constant, Ksp) กล่าวคือ สารประกอบที่มีค่า Ksp สูง จะมีแนวโน้มในการตกตะกอนน้อยกว่าสารประกอบที่มีค่า Ksp ต่ำ โดยการเพิ่มอุณหภูมิจะทำให้ความสามารถในการละลายของสารประกอบสูงขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ายิ่งต้มน้ำให้เดือดแร่ธาตุต่างๆ ก็จะละลายได้มากขึ้นนั่นเอง แต่มีข้อยกเว้นกับสารประกอบในกลุ่มคาร์บอเนต (Carbonate, CO32-) ที่จะมีการตกตะกอนมากขึ้นเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยสารประกอบในกลุ่มคาร์บอเนตที่พบได้บ่อยครั้งในน้ำ คือ หินปูน (Calcium carbonate, CaCO3) ดังนั้นตะกรันและตะกอนที่พบในกาต้มน้ำจึงเกิดขึ้นจากหินปูนเป็นหลัก โดยผลกระทบจากการเกิดตะกรันจะทำให้การถ่ายเทความร้อนในภาชนะหรือระบบต้มน้ำเกิดได้ยากขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการต้มน้ำมากยิ่งขึ้น จึงควรทำความสะอาดเพื่อกำจัดตะกรันหินปูนออกจากภาชนะเป็นประจำเพื่อประหยัดพลังงานที่ใช้ในการต้มน้ำ

 

ข้อแนะนำในการต้มน้ำ

เมื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการต้มน้ำ ผู้เขียนจึงสามารถสรุปสิ่งที่ควรกระทำหรือควรหลีกเลี่ยงในการต้มน้ำสำหรับบริโภคได้ ดังนี้

1. เลือกใช้น้ำที่มีคุณภาพเหมาะกับการบริโภคมาต้ม เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำประปา หรือน้ำบาดาลที่มีคุณภาพตาม
ค่ามาตรฐานน้ำบาดาลสำหรับบริโภค

2. หลีกเลี่ยงการต้มน้ำบาดาลที่มีปริมาณแร่ธาตุอยู่มากและน้ำแร่ เนื่องจากแร่ธาตุที่เจอปนอยู่ในน้ำสามารถเปลี่ยนสภาพเป็นตะกรันหรือตะกอนจากการต้มได้ 

3. ไม่ควรต้มน้ำจนแห้งหมดกาหรือจนมีปริมาตรเหลือน้อยมาก ควรหมั่นเติมน้ำเพื่อลดโอกาสการเกิดของแข็งทั้งตะกรันและตะกอนจากการต้มน้ำ

4. ล้างทำความสะอาดคราบตะกรันด้วยกรดเป็นครั้งคราว เช่น ทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายความร้อน ซึ่งจะประหยัดพลังงานที่ใช้ในการต้มน้ำ

5. ต้มน้ำตามอุณหภูมิที่ต้องการ เพราะการเดือดในแต่ละครั้งจะทำให้เกิดการระเหยและปริมาตรน้ำลดลง จึงมีส่วนทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุเพิ่มสูงขึ้นได้

ข้อมูลที่นำเสนอนี้น่าจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มอุณหภูมิหรือการต้ม รวมถึงของแข็งที่เกิดขึ้นจากการต้มน้ำ
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นอีกภาคส่วนที่ช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการแก่สังคมได้อีกทางหนึ่ง

เรื่อง : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:53
X

Right Click

No right click