ไทยพัฒน์ ชู 2 เครื่องมือใหม่ ผ่านสโตร์ความยั่งยืน ช่วยภาคธุรกิจสร้าง Return on Sustainability ที่วัดผลได้

May 03, 2019 4151

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดบริการใหม่ ผ่าน Sustainability Store ของสถาบันฯ ด้วยเครื่องมือ S-Value

ใช้สร้างคุณค่าที่พึงประสงค์ทางธุรกิจ และเครื่องมือ S-Impact ใช้สร้างผลกระทบที่คาดหวังสู่สังคม ตอบโจทย์การวัดผลที่เป็น Return on Sustainability จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการ

นับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ดำรงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting)  แก่ภาคเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 และในปีที่แล้ว ได้เปิดตัว Sustainability Store โดยนำเครื่องมือและประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 18 ปี มาบรรจุไว้ในสามหมวดบริการหลัก ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)

ในปี 2562 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้เปิดอีก 2 บริการใหม่ ได้แก่ การสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืน (S-Value) และการสร้างผลกระทบแห่งความยั่งยืน (S-Impact) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการในรูปของการวัดผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability

S-Value เป็นการนำเครื่องมือ Value Driver Model ที่พัฒนาขึ้นโดย หน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) มาใช้ออกแบบและสร้างคุณค่าที่สะท้อนสู่ตัววัดทางการเงินของกิจการ จากการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ การเติบโต (Growth) ผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

S-Impact เป็นการนำเครื่องมือ Impact Management ที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรชั้นนำหลายแห่ง อาทิ UNDP, OECD, GRI ฯลฯ ภายใต้กลุ่ม IMP (Impact Management Project) มาใช้ออกแบบการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนเพื่อสร้างและบริหารจัดการผลกระทบที่เป็นระบบและรอบด้านใน 5 มิติ ได้แก่ อะไร (What) ใคร (Who) เท่าใด (How Much) ระดับการเข้ามีส่วนร่วม (Contribution) และความเสี่ยง (Risk)

เครื่องมือ Impact Management

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ [1] ต่อการนำเครื่องมือ Value Driver Model และ Impact Management มาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กับผู้ตอบแบบสอบถาม 107 ท่าน พบว่า ร้อยละ 50.5 มีความสนใจมากในเครื่องมือ Value Driver Model ร้อยละ 40.2 มีความสนใจปานกลางในเครื่องมือ Value Driver Model และร้อยละ 9.3 สนใจน้อยและยังไม่แน่ใจ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มเดียวกัน จำนวนร้อยละ 56.6 ระบุว่ามีความสนใจมากในเครื่องมือ Impact Management ร้อยละ 37.7 มีความสนใจปานกลางในเครื่องมือ Impact Management และร้อยละ 5.7 สนใจน้อยและยังไม่แน่ใจ ตามลำดับ

ขณะที่ผลการสำรวจเรื่องประโยชน์ต่อการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ พบว่า ร้อยละ 80.8 เครื่องมือ Value Driver Model มีประโยชน์มาก ร้อยละ 14.4 เครื่องมือ Value Driver Model มีประโยชน์ปานกลาง และร้อยละ 4.8 มีประโยชน์น้อยและยังไม่แน่ใจ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มเดียวกัน จำนวนร้อยละ 76.7 ระบุว่าเครื่องมือ Impact Management มีประโยชน์มาก ร้อยละ 19.4 เครื่องมือ Impact Management มีประโยชน์ปานกลาง และร้อยละ 3.9 มีประโยชน์น้อยและยังไม่แน่ใจ ตามลำดับ

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “บริการ S-Value เหมาะสำหรับการวัดผลได้ภายใน (Internal Benefit) ที่เกิดขึ้นกับองค์กร ขณะที่ S-Impact เหมาะสำหรับการวัดผลได้ภายนอก (External Benefit) ที่เกิดขึ้นกับสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มที่เป็นเป้าหมาย จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการ”

สำหรับองค์กรธุรกิจที่นำเครื่องมือทั้งสองมาใช้ควบคู่ไปพร้อมกัน จะได้ทั้งคุณค่าภายในและผลกระทบภายนอก ในรูปของผลได้รวม (Total Benefit) ที่ตอบโจทย์การวัดผลที่เป็น Return on Sustainability จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อย่างรอบด้าน

หน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถแวะเยี่ยมเยียน Sustainability Store ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[1] ผลการสำรวจจากแบบสอบถามในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2562” และการเสวนาเรื่อง “Value x Impact: The Power of Sustainability” จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 04 October 2019 07:06
X

Right Click

No right click