การบริหารภาษีมรดก

October 18, 2019 2502

ตั้งแต่มีข่าวภาษีมรดกเกิดขึ้น ขนาดว่าตามข่าวล่าสุดจะเก็บจากกองมรดกที่มีขนาด 50 ล้านบาทขึ้นไปในอัตราภาษี 10% อัตราเดียว โดยจะจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีการลงทะเบียนเอาไว้อย่างชัดเจน

เพราะสามารถตีราคาสินทรัพย์ที่เป็นปัจจุบันได้ ทำให้สะดวกในเรื่องของการคำนวณราคา และการคำนวณภาษี เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีของธนาคาร พันธบัตร ตราสาร และหุ้น เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการลงทะเบียน เช่น เครื่องประดับ พระเครื่องและวัตถุโบราณ เป็นต้น จะไม่นำมาคำนวณในการเก็บภาษีมรดก และจะเก็บจากผู้รับมรดก แม้ว่าจะมีการมอบมรดกให้ก่อนเสียชีวิตก็ตาม เพราะหากมอบให้ภายใน 5 ปีก่อนเสียชีวิต ทายาทผู้รับมรดกก็ต้องเสียภาษีมรดกตามเงื่อนไขอยู่ดี

ซึ่งแม้ข่าวนี้ก็ยังไม่แน่นอนอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลายคนกังวลว่า แล้วจะบริหารมรดกอย่างไรดีถึงจะไม่เป็นภาระให้ทายาทต้องเสียภาษีมรดกมากๆ วิธีก็คือทำลายความก้าวหน้าของทรัพย์มรดกไม่ให้เกิน 50 ล้านบาท ก็โดย

  • การแบ่งมรดกให้ทายาทหลายๆ คนเพื่อให้มรดกแก่ทายาทแต่ละคนไม่ถึง 50 ล้านบาท วิธีนี้ก็มีข้อเสีย คือ อาจทำให้เราต้องมอบทรัพย์สินของเราให้กับบางคนที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจให้บ้าง
  • การเปลี่ยนทรัพย์สินจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินที่ไม่จดทะเบียน อย่างเช่น ถอนเงินฝากออกมาเก็บเป็นเงินสด แม้ไม่เสียภาษีมรดก แต่ก็มีความเสี่ยงที่เงินจะสูญหาย
  • การโอนเงินให้ก่อนเสียชีวิตเลย ก็ดีนะแต่ว่าอาจต้องลุ้นไม่ให้เสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังโอน และอาจมีความเสี่ยงที่ทายาทที่เราโอนทรัพย์สินให้ไม่กตัญญู เราอาจลำบากตอนบั้นปลายชีวิตก็ได้
  • การเปลี่ยนทรัพย์มรดกให้เป็นทรัพย์ที่ไม่ใช่มรดก อย่างเช่น การซื้อประกันชีวิต และมอบผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตให้ทายาท

เอ๊ะ เงินประกันชีวิตไม่เป็นมรดกเหรอ เพราะเข้าใจว่าเงินประกันชีวิตในกรณีที่ผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตจะเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท ก่อนตอบคำถามนี้ เรามาดูความหมายของคำว่า มรดก กันก่อนนะครับ มรดกคือทรัพย์สินของ ผู้ตาย ทรัพย์สินนั้นจึงต้องเป็นของผู้ตายอยู่ แล้วในเวลาที่ถึงแก่ความตาย เมื่อความตายเป็นเหตุให้ผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลนับแต่ตายแล้วเป็นต้นไป ผู้ตายก็ไม่อาจมีสิทธิหรือหน้าที่ได้ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะความตาย หรือหลังจากนั้นไปก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายนั้น เป็นการถือเอาความตายของบุคคลมาเป็นเหตุให้ต้องชำระเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน ตัวอย่างเช่น เงินบำนาญตกทอดซึ่งทางราชการจ่ายให้ในกรณีที่ข้าราชการถึงแก่ความตาย เงินทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลืองานศพและอุปการะบุตรของสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย เงินทดแทนที่นายจ้างจ่ายให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นต้น จากความหมายของมรดกดังกล่าว ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายก็ไม่เป็นมรดก ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตาย ไม่เป็นมรดก

เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยตายบริษัทที่รับประกันก็จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้สืบเนื่องจากความตายของผู้ตาย เงินที่ได้จากประกันชีวิตนี้จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตเนื่องจากไม่ใช่มรดกจึงไม่ตกทอดไปสู่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมเช่น คู่สมรสตามกฎหมาย, บุตร ฯลฯ หรือทายาทผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรม แต่จะตกกับคนที่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตครับ

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่๔๗๑๔/๒๕๔๒ เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายและบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้

เว้นแต่ในกรณีหากผู้รับผลประโยชน์ตายก่อนผู้ทำประกันชีวิต สิทธิในการรับเงินประกันชีวิตนั้นก็จะระงับ และไม่ตกแก่ทายาทของผู้รับผลประโยชน์ เพราะสิทธินั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย และเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้รับผลประโยชน์ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนผู้ทำประกันชีวิต และผู้ทำประกันชีวิตไม่มีการแจ้งบริษัทประกันชีวิตเพื่อเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ ก็ถือว่าไม่มีผู้รับผลประโยชน์ ฉะนั้น หากต่อมาผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตนั้นก็จะตกเป็นกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากกองมรดกนี้เพื่อเอาชำระหนี้ได้ และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนย่อมได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

หรืออีกกรณีคือ ข้อยกเว้น ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 897) ที่ว่า หากผู้เอาประกันภัยกำหนดให้ใช้เงินแก่ทายาท โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ใดไว้ เงินนั้นก็จะตกเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของกองมรดก

ดังนั้นเงินประกันชีวิตจึงต่างจากทรัพย์สินและหนี้สิน ตรงที่ทรัพย์สินและหนี้สินจะตกไปยังทายาทโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทผู้รับพินัยกรรม แต่เงินประกันชีวิตจะตกแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้เงินประกันชีวิตที่ระบุผู้รับประโยชน์ เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดอายัดได้ทั้งหมดเหมือนมรดก เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของเจ้ามรดก ดังนั้นคุณสามีภริยาทั้งหลายก็อย่าประมาทนะครับ ควรตรวจสอบให้ดีว่าคู่ชีวิตเรามีไปแอบทำประกันชีวิตแล้วระบุชื่อผู้รับประโยชน์เป็นคนอื่นหรือเปล่า ? ไม่งั้นคุณกับลูกก็ต้องรับผิดชอบแต่หนี้สินที่เขาก่อเอาไว้หัวโต โดยที่ไม่มีเงินก้อนอื่นมาช่วยเหลือในการใช้ชีวิตต่อได้เลยนะครับ

และเพื่อไม่ให้เงินประกันชีวิตมีปัญหา ก็ควรระบุผู้รับประโยชน์ให้ชัดเจนเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง สามี-ภรรยา คนรัก ฯลฯ เพราะมิฉะนั้นเงินที่เราพากเพียรผ่อนจ่ายให้กับบริษัทประกันมาตลอดชีวิตทั้งหมดรวมกับดอกเบี้ยที่เป็นผลประโยชน์ของเราก็จะกลายเป็น “กองมรดก” ที่เจ้าหนี้ของเราสามารถเข้ามายึดครองได้ทั้งหมด

อ้าว งั้นถ้าเราเป็นหนี้เยอะๆ ก็เลี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตเยอะๆ เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถมาตามรังควานลูกหลานเราหรือมายึดเงินประกันได้ก็ดีสิ อ๊ะๆ อย่าเพิ่งดีใจครับ กฎหมายก็ป้องกันความเห็นแก่ตัวของผู้ที่ชอบก่อหนี้แล้วเอาเงินไปซื้อประกันชีวิตกับบริษัทประกัน ด้วยการระบุชื่อผู้ได้รับประโยชน์ไว้ โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้สามารถยึดหนี้ได้จากจำนวนเงินเบี้ยประกันที่ส่งให้บริษัทประกันได้เหมือนกัน แต่ไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่เป็นผลประโยชน์ ชักงง เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ อย่างเช่น หากเราเสียชีวิต ทายาทเราต้องได้เงินทั้งหมดจากการเสียชีวิตของเรา 2,000,000 บาท ซึ่งมาจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายทั้งหมดก่อนเสียชีวิตจำนวน 500,000 บาท เบี้ย 500,000 บาทนี้ทายาทเราซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ต้องส่งให้กับกองมรดก ทำให้เจ้าหนี้ของเราสามารถเข้ามายึดหนี้ได้จากวงเงิน 500,000 บาทนี้ได้เท่านั้น ทั้งนี้กฎหมายออกอย่างนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ทำประกันภัยทำสัญญาโดยการเอาเปรียบเจ้าหนี้กองมรดกนั่นเองครับ

หรืออีกกรณีที่มีคนถามกันมา คือ กรณีที่หากเราเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ เราในฐานะผู้รับประโยชน์ก็เลยรีบบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยว่าจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น เพราะกฎหมายบอกไว้ว่า ถ้าผู้รับผลประโยชน์ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้มีจดหมายไปแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่าตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต กรมธรรม์เลขที่_____ ในกรณีที่มีการส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ และผู้รับผลประโยชน์ได้มีหนังสือถึงผู้รับประกันภัยแล้ว กรณีนี้ผู้เอาประกันจะเปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์ไม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้ถ้าเราในฐานะผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน เงินประกันก็จะตกเป็นของทายาทของเราซึ่งผู้รับผลประโยชน์ ไม่ตกอยู่ในกองมรดกของผู้เอาประกันใช่หรือไม่

กรณีนี้ขอตอบเลยครับ ไม่ใช่ครับ เพราะสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่ผู้เอาประกันระบุให้ประโยชน์เฉพาะกับผู้รับประโยชน์เท่านั้น ดังนั้นถึงแม้ว่าผู้รับประโยชน์จะมีหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยว่าจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น หากผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน ประโยชน์ของสัญญาประกันนั้นก็จะกลับไปที่ผู้เอาประกัน ดังนั้นกรณีนี้หากผู้เอาประกันเกิดไม่ได้เปลี่ยนผู้รับประโยชน์ ก็ถือว่าไม่มีผู้รับผลประโยชน์ ฉะนั้น หากต่อมาผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตนั้นก็จะตกเป็นกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากกองมรดกนี้เพื่อเอาชำระหนี้ได้ และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนย่อมได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กันครับ

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางกว้างๆ สำหรับการบริหารภาษีมรดกตามข้อมูล ณ ขณะนี้นะครับ แต่หากกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร วิธีการบริหารภาษีมรดกก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงครับ


เรื่อง : สาธิต บวรสันติสุทธิ์

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 180 September-October 2014

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 18 October 2019 09:28
X

Right Click

No right click