×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

Goals and Means

August 13, 2018

                “ถังดับเพลิง เครื่องบินรบ รถไฟ เหมือนกันอย่างไร?

                ถังดับเพลิง เครื่องบินรบ รถไฟ 3 อย่างนี้มีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือเราซื้อมาทั้งที่เราไม่ได้อยากใช้ ถังดับเพลิงถ้าใช้แปลว่าไฟไหม้ เราใช้เครื่องบินรบแสดงว่ามีสงคราม แล้วรถไฟละ เราเดินทางจากหมอชิตไปอนุสาวรีย์ชัย เราไม่ได้อยากเดินทาง ผมอยากจะเดินจากบ้านไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน แต่รูปแบบผังเมืองทำให้ไม่มีแผนอะไร มหาวิทยาลัย ห้างอยู่ในเมือง คนซื้อบ้านในเมืองไม่ได้ ก็ต้องไปชานเมือง จริงๆ แล้วเราเดินทางไม่ใช่เพราะเราอยากเดินทาง เราอยากไปทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ไปซื้อของไปเรียนหนังสือไปเจอเพื่อน แต่เงื่อนไขทำให้เราต้องเดินทาง”

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอ่ยขึ้นในช่วงหนึ่งของการสนทนา เป็นตัวอย่างที่สื่อความหมายของเป้าหมายและวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายตามหน้าที่ของคำแต่ละคำ

                ผศ.ดร.ประมวล นอกจากเป็นสอนหนังสือแล้วยังทำหน้าที่ช่วยกระตุกผู้บริหารประเทศและสังคมด้วยบทความและการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นลูกค้าโดยตรงเช่นรถไฟ ยุทโธปกรณ์ รวมถึงการค้าที่เปลี่ยนรูปแบบไป

                MBA มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดที่ผศ.ดร.ประมวลพยายามนำเสนอมานับสิบปี เพื่อช่วยกระจายแนวคิดการพัฒนาประเทศในอีกรูปแบบหนึ่งสู่สังคมไทย และช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมภาคกาผศึกษาและสังคมโดยรวมของประเทศในอนาคต

                บทสนทนาเริ่มด้วยฐานความคิดของ ผศ.ดร.ประมวล ในการคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ

                 อันดับแรกคือคำว่า Goals เป้าหมาย และ Means วิธีการ ดูเหมือนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่

              “ถ้าเรามองเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เป้าหมายของประเทศคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกคนที่อยู่ในประเทศ ถ้าเราเข้าใจว่าเป้าหมายคือพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต การศึกษา และอื่นๆ ผมกำลังจะบอกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ไม่ใช่เป้าหมาย คนที่ไม่เข้าใจก็จะใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย และใช้การพัฒนาคนเป็นเครื่องมือ”  

                อันดับที่สอง คือกลไกใดจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนคือการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งอาจหมายรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย “มีคนเคยพูดไว้ว่า ถ้าเราพัฒนาอุตสาหกรรมเปรียบเหมือนกับการปักบันไดเลื่อนลงไปในประเทศ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเดินขึ้นบันไดเลื่อนเหล่านี้ได้ คนที่จะขึ้นก็ต้องมีการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ถึงจะสามารถก้าวเท้าเดินขึ้นบันไดเลื่อนได้ เมื่อเดินขึ้นแล้ว บันไดเลื่อนก็จะพาไหลไป ความหมายคือ อายุงานมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น  ภาพคือคนเหล่านี้โตไปเรื่อยๆ รายได้ก็สูงขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ความน่าสนใจคือ ถ้าระบบนี้สมดุล แปลว่าพออายุ 60 คนที่ปลายบันไดเลื่อนก็เดินจากไปคนใหม่ก็เดินขึ้นมา ถ้าบันไดเลื่อนมีมากพอ และตัวบันไดเลื่อนยาวเพียงพอ คนเข้าคนออกสมดุลกันทุกอย่างก็สมดุล”

               แต่โจทย์ของประเทศไทยคือเมื่ออัตราการเกิดของคนในประเทศต่ำลง แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบลดลง และอีกส่วนหนึ่งคือคนทำงานไม่อยากเข้าไปทำงานใช้แรง อยากทำงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งคำถามคือสังคมไทยได้เตรียมอุตสาหกรรมรองรับคนเหล่านี้ไว้หรือไม่

               “ประเทศไทยมีปัญหานอกจากสังคมผู้สูงอายุ หรืออุตสาหกรรมเรายังมีปัญหาเรื่องระดับเทคโนโลยีในประเทศไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาขีดความสามารถของคน การพัฒนาขีดความสามารถของคนไม่เท่าทันกับระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ประเทศต้องการ ทั้งหมดนำไปสู่ความไม่สมดุล ..ถ้าเรามองเห็นภาพว่าเป้าหมายการพัฒนาชาติคือการพัฒนาคนและใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ คนเก่งขึ้นก็จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เอาความรู้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ด้วย”

                อันดับที่สาม รูปแบบธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากการขายสินค้าและบริการ สู่การขายพ่อค้า และปัจจุบันเป็นการขายแพลตฟอร์ม

                “เดิมถ้ารูปแบบเอ็กซ์พอร์ตเตอร์จีน คนขายผักจีนส่งผักมาให้ไทย ก็เป็นรูปแบบเดิม คือเจ้าของผักขายผัก คนซื้อก็ซื้อผัก โมเดลปัจจุบัน พ่อค้าจีนจำนวนหนึ่งมาทำงานในประเทศไทย มาเป็นพ่อค้าในไทย ทำหน้าที่เป็นอิมพอร์ตเตอร์จีนในไทย เพื่อนำเข้าผักจากจีนมาไทย  โมเดลสิบปีที่ผ่านมา คือเขาส่งออกพ่อค้ามาทำงานที่ไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเริ่มขายโรงแรมในไทยให้คนจีนมาใช้ ขายร้านอาหารให้คนจีนมาใช้ โมเดลขายสินค้าและบริการไม่ใช่แล้ว  เป็นลักษณะวิธีการทำธุรกิจที่กำลังเปลี่ยน แต่รูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นในอนาคต กำลังหมดยุคส่งออกพ่อค้า จะเข้าสู่ยุคส่งออกแพลตฟอร์ม คือ อาลีบาบา เถาเป่าที่เคยอยู่ในจีนตอนนี้ยกขบวนมาในไทยแล้ว มาตั้งในไทย แปลว่าเมื่อรูปแบบนี้มา พ่อค้าจีนไม่ต้องมาแล้ว แพลตฟอร์มมา ก็ปลั้กอินเข้าแพลตฟอร์มเลย แต่สังเกตคนได้กำไรเยอะสุดไม่ใช่คนที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ คนที่เป็นเทรดเดอร์พ่อค้าได้กำไรสูงกว่า ต่อไปคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มได้กำไรสูงสุด เพราะว่าตัวเองเป็นคนควบคุมช่องทางการจัดจำหน่าย”

                คำถามที่ตามหลังมาจากแนวคิดเบื้องต้นทั้ง 3 ข้อของ ผศ.ดร.ประมวลคือ “ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบวางแผนพัฒนาศักยภาพของคนให้สอดรับกับขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่ต้องการ ซึ่งต้องเป็นยุทธศาสตร์ชาติและวางอยู่บนความเข้าใจว่า ในอีก 5-10 ปีอะไรจะเกิดขึ้น และกำหนดเงื่อนไขในการพัฒนายุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับบริบทที่จะเกิดขึ้น”

ยกระดับไทยด้วยอุตสาหกรรม

ตัวอย่างจากรถไฟฟ้า

                 คำตอบของ ผศ.ดร.ประมวลคือ กลไกที่สามารทำให้เกิดการพัฒนาคนในประเทศผ่านเครื่องมือกลไกต่างๆ โดยเขายกตัวอย่างโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนาดใหญ่ในประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่เราสามารถนำโครงการเหล่านี้มาช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม สร้างงานที่มีคุณภาพให้กับแรงงาน รวมถึงลดปัญหาการพึ่งพาต่างชาติลง

                เพราะแค่ความต้องการตู้รถไฟที่จะมาวิ่งบนรางต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและกำลังสร้างขึ้นมาอยู่ก็มีหลายร้อยขบวน แต่ปัญหาคือที่ระบบรถไฟฟ้าที่ผ่านมาของประเทศไทยแต่ละระบบไม่เคยใช้รูปแบบเดียวกัน  “โมเดลไม่เหมือนกัน อะไหล่ใช้ด้วยกันไม่ได้ สีม่วงซื้อจากญี่ปุ่นแน่นอนใช้ร่วมกันไม่ได้ เราใช้รถร่วมกันไม่ได้ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน ไทยญี่ปุ่นก็ใช้ร่วมกันไม่ได้ ผมกำลังบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีโมเดลรถไฟฟ้าเต็มไปหมด และทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้วอลุ่มขนาดใหญ่ แต่โมเดลในการผลักไปสู่ภาคการผลิตในไทย เราไม่ได้ทำ”

                “ถ้าเรามองภาพการพัฒนามนุษย์ เรามองว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่เราต้องการลงทุนเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตคนในเมืองและในประเทศดีขึ้น จะเจ๋งมากถ้าทำให้ความต้องการใช้ระบบขนส่งทั้งหมด ผูกไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และใช้อุตสาหกรรมในประเทศผูกสู่การพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ ช่าง วิศวกร วิจัยพัฒนา เมื่อคนพวกนี้เก่งขึ้น อาจจะไม่ได้แค่ทำรถไฟก็ได้ อาจจะเอาความรู้ไปทำอย่างอื่น ถ้าเรามีกลไกส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้ ใครจะไปรู้ต่อไปคนไทยอาจจะเป็นคนสร้างไฮเปอร์ลูปด้วยตัวเองก็ได้หรือทำสิ่งอื่นเช่น ทำวีลแชร์อัตโนมัติควบคุมด้วยสมอง แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 20 ปีข้างหน้าวีลแชร์พวกนี้เราก็นำเข้าจากต่างประเทศ”

                ผศ.ดร.ประมวลบอกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นนี้เปรียบเหมือนกับการสร้างมังกรให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อให้คนเก่งของประเทศไทย มีโจทย์สำหรับพิชิต  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ

                “ผมไม่ได้มองเห็นแค่รถไฟ ผมยังมองเห็นเรือดำน้ำ เครื่องบินรบ ที่รัฐบาลต้องจัดซื้อสามารถผันให้กลายเป็นเครื่องมือพัฒนานักปราบมังกรได้ และนักปราบมังกรที่พูดถึง ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานในปัจจุบัน ผมกำลังพูดถึงงานสำหรับอนาคต เป็นงาน Value Creation งานแบบนี้ต้องการโจทย์เพื่อเทรนคนปัจจุบันให้สามารถทำอะไรบางอย่างในอนาคตได้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ แล้วใครจะทำ”

Lesson Learn

                ผศ.ดร.ประมวล ยกตัวอย่างกลไกที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศเกี่ยวกับการผูกพันโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเข้ากับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เริ่มด้วยประเทศจีนที่กำลังมาทำรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยในปัจจุบัน

                ปี 2003 หลังจากทดลองพัฒนาเทคโนโลยีทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง ด้วยตัวเองก่อนหน้าแต่ไม่สำเร็จ จีนตัดสินใจซื้อจาก 4  บริษัท 4 ประเทศ บริษัทละ 60 ขบวน โดยในเงื่อนไขการสั่งซื้อทั้ง 4 บริษัทจะต้องร่วมกับจีนเพื่อพัฒนามาตรฐานรถไฟของจีน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งการพัฒนาชิ้นส่วน และการประกอบ และยินยอมให้จีนพัฒนาต่อเพื่อขายประเทศที่ 3 ได้ และสุดท้ายก็ได้รถไฟแบรนด์ CHR (China Rail Hexie) ออกมาเป็นแบรนด์ของจีนเอง (hexie มาจากภาษาจีนแปลว่า harmonyความกลมกลืน)

                ผศ.ดร.ประมวล อธิบายเพิ่มเติมว่า จีนมีรูปแบบการรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยมีการศึกษาว่าเทคโนโลยีใดคือเทคโนโลยีหลักที่จีนต้องการได้

                  ประเทศมาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พัฒนาอุตสาหกรรมรองรับเทคโนโลยี ในปี 1987 มาเลเซียตั้งโครงการ Malaysian Industry-Government Group for Hige Technology (MIGHT) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้วยอุตสาหกรรมที่เลือกมา 5 อุตสาหกรรม คือ เรือ การบิน รถไฟ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเครื่องยนต์เจ็ต ด้วยการใช้ความต้องการจัดซื้อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม

                ในช่วงแรกโครงการนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าใดจึงมีการจัดทำโมเดล Industrial Collaboration Program เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้กระทรวงทบวงกรมที่ต้องการจะจัดซื้อสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เดิมมี 5 อุตสาหกรรม ปัจจุบันมี 12 อุตสาหกรรม) ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด มิฉะนั้นทางกระทรวงการคลังจะไม่อนุมัติการจ่ายเงินงบประมาณให้

                ด้วยกลไกการจัดซื้อใหม่นี้ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียสามารถผลิตรถไฟได้เอง และกำลังพัฒนาให้เป็นระบบไฟฟ้า จากยุทธศาสตร์ของชาติที่วางเอาไว้

                ผศ.ดร.ประมวล อธิบายกลไกนี้ว่า วิธีการเช่นนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศโดยภาครัฐ ผ่านสินค้าที่ภาครัฐเป็นผู้ซื้อเพียงผู้เดียว หากรัฐจะช่วยสร้างระบบนิเวศในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์มากกว่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาใช้งานเพียงมิติเดียว เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ไม่มีประโยชน์อย่างอื่น แต่หากสามารถมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในหลายมิติ

                เพราะเมื่อมีกลไกการขับเคลื่อนจากภาครัฐ มีภาคเอกชนที่เกิดขึ้นมาทำอุตสาหกรรมนั้นๆ ภาคการศึกษาก็จะมีโจทย์ที่ชัดเจนในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศที่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากโจทย์วิจัยที่มีอยู่เดิม เป็นการพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                โดยรัฐสามารถบริหารจัดการให้งานที่วิจัยที่จะเกิดขึ้นมีความเกี่ยวพันกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสาขาวิชาและเทคโนโลยีที่แต่ละสถาบันมีความถนัดและสนใจได้

                การขับเคลื่อนกลไกที่สนับสนุนระบบนิเวศการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ในรูปแบบที่ ผศ.ดร.ประมวล แสดงความคิดเห็นมา จำเป็นต้องใช้การระดมสมองจากผู้รู้ ผู้มีอำนาจในประเทศ เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคนไทยให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

                และจาก 2 ประเทศตัวอย่างข้างต้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิด และหาเป้าหมายและวิธีการที่จะทำให้ไทยสามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไม่อายใคร

X

Right Click

No right click