×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

ถอดรหัส APM’s Pattern

January 23, 2018 3367

“21-24 พ.ย. ไปพนมเปญและสีหนุวิลล์  24 กลับมาไป หาดใหญ่และภูเก็ต และ 26 พ.ย. ไปสอนหนังสือเชียงใหม่ และปลายเดือนพ.ย. บินเข้าลาวต่อ ส่วนเดือนธันวาคมอยู่กรุงเทพประมาณ 3-4 วัน”

ฟังตารางงานของ สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) และ CEO APM ในภูมิภาคอินโดจีน มือทองด้านการเงินขาลุยที่ตระเวนเปิดตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจนได้รับการยอมรับในวงการ การหาเวลานั่งพูดคุยกับเขาจัดว่าเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อมีโอกาส MBA จึงขอนัดคุยอัปเดตเรื่องราวของ APM ทั้งในไทยและต่างประเทศว่ามีความคืบหน้าไปในระดับใดบ้างแล้ว รวมถึงรูปแบบธุรกิจที่เขาและทีมงานกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจ APM ทั้งในไทยและต่างประเทศ

หากจะสรุปวิธีการทำธุรกิจของ APM จะใช้วิธีสร้างพื้นฐานให้แน่น ใส่ใจกับรายละเอียด และมีความอดทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และจากนั้นก็จะเริ่มขยายฐานออกไปสู่พื้นที่หรือธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกัน เห็นได้จากการที่ APM เริ่มปูงานในประเทศไทยจนมีความเข้มแข็งสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแววทั่วประเทศ โดยสมภพและทีมงานใช้วิธีเข้าไปเชิญชวนให้กิจการนั้นๆ เห็นประโยชน์ของการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และการใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ

เมื่อ APM มีความมั่นคง 7 ปีที่ผ่านมา สมภพก็นำทีมเข้าไปวางรากฐานการทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินใน สปป.ลาว ที่เขามองว่าแม้ตลาดหลักทรัพย์ของ สปป.ลาว ในขณะนั้นยังเล็ก แต่ก็เป็นตลาดที่มีโอกาสอยู่มาก ประกอบกับความใกล้ชิดของทั้งสองประเทศเป็นประโยชน์ต่อการสร้างฐานธุรกิจให้เข้มแข็ง จนได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงินสามารถเริ่มนำบริษัทเจ้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว แล้ว 3 บริษัท และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างเตรียมการ ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มวางรากฐานธุรกิจใหม่ของ APM คือธุรกิจเช่าซื้อที่กำลังเริ่มต้นในวันนี้

 

สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) และ CEO APM ในภูมิภาคอินโดจีน

 

ปูฐานให้มั่นคง

การเติบโตตามธรรมชาติเป็นวิธีที่ APM ใช้ขยายธุรกิจ สมภพและทีมงานวางรากฐานทั้งการขยายฐานลูกค้าและบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน ตัวอย่างการขยายธุรกิจเช่าซื้อ สมภพมองว่าเขาและทีมงานมีประสบการณ์จากสายธนาคารมาก่อน การทำธุรกิจนี้จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สามารถเกื้อหนุนธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่เดิมได้สมภพวิเคราะห์ว่าปี 2561 ที่กำลังจะมาถึง ตลาดทุนใน CLMV จะมีความตื่นตัวมาก เพราะผู้กำกับดูแลรวมถึงผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านี้วางเป้าหมายให้มีบริษัทจดทะเบียนในแต่ละตลาดแต่ละแห่งขั้นต่ำ 20 บริษัท ทำให้ตลาดทุนในประเทศกลุ่มนี้ยังเป็นโอกาสของ APM

เขาแจกแจงกิจกรรมที่น่าสนใจของ APM ในแต่ละประเทศโดยเริ่มจาก สปป.ลาว ที่เพิ่งนำ Phousy Construction and Development Public Company (PCD) เข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังเตรียมนำ UDA Farm เข้าจดทะเบียนในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า และยังมีบริษัทที่เตรียมจะยื่นเข้าจดทะเบียนอีก 2 บริษัทในปี 2561 และกำลังเตรียมความพร้อมอีก 1 บริษัท ทิศทางการทำงานใน สปป.ลาวจึงยังคงเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่กัมพูชา APM กำลังรอรับใบอนุญาตในนามบริษัท APM Cambodia Securities จำกัดซึ่งคาดว่าจะได้รับในไม่นานนี้ ขณะเดียวกันก็เริ่มเจรจาให้คำปรึกษาธุรกิจในกัมพูชาเพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาไว้แล้ว นอกจากนี้ APM ยังจะจับมือกับ ก.ล.ต.กัมพูชา เพื่อผลักดันเอสเอ็มอี 50 บริษัทเข้าโครงการ Excellence Program เตรียมเอสเอ็มอีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย APM จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ช่วยผลักดันเตรียมความพร้อมบริษัทเหล่านี้ในด้านระบบบัญชี

เมียนมาเป็นอีกประเทศที่ APM ตั้งใจจะเข้าไปทำธุรกิจ โดยยังอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ รวมทั้งปัจจุบันประเทศเมียนมายังไม่มีการนำหุ้นเข้า IPO แต่มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 4 บริษัทที่เดิมมีการซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC) เดิมอยู่แล้ว และก็ขออนุญาตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Rangon Stock Exchange) จึงยังไม่มีความคืบหน้าด้านที่ปรึกษาทางการเงินมากนัก เวียดนามเป็นประเทศที่มีตลาดทุนมา 19 ปีแล้ว สมภพมองว่า APM ก็ให้ความสนใจแต่ยังต้องทำให้กิจการในประเทศต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้นก่อนจึงจะรุกเข้าไปได้ อีกทางหนึ่ง APM ก็รุกเข้าไปที่สิงคโปร์ โดยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและศึกษากฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อไปเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยสมภพให้ความสนใจ Catalyst Board ซึ่งเป็นตลาดรองที่มีกฎเกณฑ์ไม่มากนัก แต่ให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเป็นคนรับผิดชอบหากเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา

สมภพสรุปกรอบที่วางไว้ทั้งหมดว่า “เพื่อให้ครอบคลุมการบริการใน 3- 5 ปีจากนี้ได้ เราไม่จำเป็นต้องเร่ง เพราะเราเรียนรู้ว่าแต่ละอย่างเร่งไม่ได้ ใจเราเร่ง แต่บางอย่างเร่งไม่ได้ อย่างไลเซนต์ พอได้แล้วเราเร่งคนก็ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้”ความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับงานที่ปรึกษาทางการเงิน ตัวอย่างเช่นที่สปป.ลาวซึ่ง APM ต้องส่งคนลงไปทำงานอย่างทุ่มเทอย่างน้อย 1-2 ปีเรียนรู้ทำความรู้จักตลาดใหม่ ให้ความรู้กับตลาดเกี่ยวกับสินค้าและบริการ พัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้ความทุ่มเททรัพยากรทั้งเงินทุนและเวลาเป็นอย่างมาก หัวเรือใหญ่อย่างสมภพจึงต้องลงมือด้วยตัวเองในแบบที่เรียกได้ว่ากัดไม่ปล่อยจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะต้องเดินทางไปมาแทบไม่มีเวลาพักแต่นั่นคืองานที่เขาสนุกและอยากทำเพื่อให้งานมีคุณภาพและเดินหน้าต่อเนื่อง

 

 

รักษาฐานขยายตลาด

การลุยงานอย่างต่อเนื่องของสมภพเป็นจุดเด่นที่เขาได้รับการยอมรับในวงการ ทำให้เขามีคิวงานแน่นล้นแทบทุกวันทั้งนี้เพื่อรักษาฐานที่มีอยู่พร้อมกับขยายตัวต่อไปหาพื้นที่ใหม่ๆ จำนวน IPO ที่ APM นำเข้าจดทะเบียนในแต่ละปีมีหลายบริษัทคือคำตอบที่เห็นได้ชัดเจน หากไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องคงทำได้ยากในประเทศไทยปี 2560 APM ยื่นไฟลลิ่งไปแล้ว 5 บริษัท เข้าจดทะเบียนซื้อขายไปแล้ว 2 บริษัท ขณะที่ปี 2561 สมภพบอกว่าน่าจะยื่นได้ประมาณ 6-8 บริษัท

สมภพมองว่า เอสเอ็มอียังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะหากดูตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาบริษัทใหญ่ๆ ล้วนเกิดจากการผลักดันเอสเอ็มอีเข้าตลาดแนสแด็กแล้วเติบโตขึ้นทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งของการผลักดันโดย APM คือการจัดงานดินเนอร์ทอล์กตามจังหวัดต่างๆ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อโปรโมตหุ้นน้องใหม่ที่เข้าจดทะเบียน ที่สมภพมองว่าเป็นการสร้างโอกาส 2 ทาง ทางหนึ่งคือการสร้างนักลงทุน และอีกทางหนึ่งคือการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ “เป็นเวทีให้คนได้ฟัง หลายรายที่เป็นนักลงทุนคือผู้ประกอบการพอฟังเสร็จเขาก็เรียกรุ่นลูกมาบอกว่า เขาแก่แล้ว รุ่นลูกไปคุยกับ APM ว่าจะเอาบริษัทเข้าอย่างไรแต่ต้องคิดเองพูดเองเพราะต้องเป็นคนอยากเอาเข้าเอง เตี่ยแค่ปิ๊งไอเดีย เราก็จะได้คนรุ่นใหม่ฟังครั้งหนึ่ง 200-300 คน ครั้งหนึ่งได้ 1 ราย ก็พอแล้ว คิดแค่นี้ แต่ถ้าไม่จัดก็ไม่มีได้ ต้องยอมเหนื่อยและลงทุนด้วย

อีกเรื่องที่ APM ทำมาต่อเนื่องคือการให้ความรู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่บริษัทให้คำปรึกษาทางการเงินและกำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดหลักสูตร High Flyer Entrepreneur ให้แนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว สามารถใช้ศาสตร์ด้านบริหารจัดการเข้าไปใช้ได้อย่างไร และเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ การใช้ประโยชน์จากตลาดทุน การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสร้างความเติบโต โดยในประเทศไทยจัดมาแล้ว 5 รุ่น และกำลังเตรียมจะจัดหลักสูตรเดียวกันใน สปป.ลาวและกัมพูชาในปีหน้า

นอกจากเป็นการให้ความรู้กับผู้ประกอบการยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงกันและอีกทางหนึ่งคือการสร้างสายสัมพันธ์ที่มัดแน่นกับ APM ในฐานะที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือธุรกิจ การสานสัมพันธ์รักษาฐานลูกค้าเมื่อพัฒนาให้เข้มแข็งได้แล้ว ก็จะมีส่วนช่วยเสริมธุรกิจของ APM ให้ขยายตัวไปได้ ดังที่สมภพกล่าวในช่วงหนึ่งของการสนทนาว่า APM ไทยมั่นคง APM ลาวมั่นคง กัมพูชามั่นคง พอเราจะไปที่สิงคโปร์หรือเมียนมา เขาเห็นผลงาน 3 ประเทศว่ามั่นคงถึงจะต่อยอดความเป็น FA ได้ง่ายขึ้น เราจะมาพูดปากเปล่าคงไม่ได้ เราต้องพูดถึงนิติบุคคลที่เรามีผลงานนี่คือหลักการ”

สมภพเล่าภาพอนาคตที่เราจะเห็น APM จะประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลัก คือที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมีฐานหลักที่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ค่อยๆ ขยายตัวไปยังประเทศกัมพูชา เมียนมาและเวียดนามภายใน 5 ปีข้างหน้า อีกข้างหนึ่ง คือธุรกิจเช่าซื้อ ที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นโดยจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาถือหุ้นในลิสซิ่งทุกประเทศในอนาคตจะผลักดันโฮลดิ้งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจใน CLMV ต่อไป

 

"เพื่อให้ครอบคลุมการบริการใน 3- 5 ปีจากนี้ได้ เราไม่จำเป็นต้องเร่ง เพราะเราเรียนรู้ว่าแต่ละอย่างเร่งไม่ได้ ใจเราเร่ง แต่บางอย่างเร่งไม่ได้"

 

APM Leasingใส่เกียร์ 1 เริ่มเดินหน้า

สมภพเริ่มด้วยข่าวดีของ APM ในลาว ว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ APMLAO Leasing จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทำธุรกิจเช่าซื้อใน สปป.ลาว หลังจากยื่นขออนุญาตมาแล้วกว่า 2 ปี เป็นการเติมเต็มภาพ APMLAO ที่เขาเคยเล่าให้ MBA ฟังว่า จะมีด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับใบอนุญาตมาครบ 4 ปีแล้ว และด้านลิสซิ่งที่จะเป็นดาวเด่นในอนาคตของกลุ่มธุรกิจเข้ามาเสริม

สมภพเล่าเบื้องหลังว่ากว่าจะได้ใบอนุญาตมีหน่วยงานที่ร่วมพิจารณาให้ใบอนุญาตหลายหน่วยงาน โดยเริ่มต้นจะปล่อยสินเชื่อได้ในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ก่อนระยะเวลาหนึ่งจึงจะได้รับอนุญาตให้ไปทำธุรกิจในแขวงอื่นๆ ได้ ซึ่งตามแผนงานของ APM ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวด้วยการผสมผสานทั้งคนในพื้นที่และพนักงานที่มีประสบการณ์จากประเทศไทย

แผนงานที่ APM วางไว้สำหรับธุรกิจลิสซิ่งหลังจากได้รับใบอนุญาตจากกรมคุ้มครองสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งชาติ สปป.ลาว คือภายใน 2 เดือนที่เหลือของปีนี้จะเริ่มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์ร้านเสริมสวย และอุปกรณ์ทางการเกษตร

เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสมภพบอกว่า “ปี 2018 ก็น่าจะปล่อยเพิ่มเติบโตไม่น้อยกว่าเป็น 100 เปอร์เซ็นต์จากปีนี้ เป้าหมาย 50 ล้านบาท ปีนี้ (2017) น่าจะปล่อย 10-20 ล้านบาท และปีต่อไป 2019 ก็อยู่ 100-200 ล้านบาท ปี 2020 น่าจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท เป็นการปล่อยเพิ่มนะ แสดงว่าผมต้องวางแผนทางการเงินทำลิสซิ่ง สุดท้ายลิสซิ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ทำให้ผลงานของ APMLAO Leasing โดดเด่นในปี 2020 ได้ และมีโอกาสใช้ตลาดทุนในการระดมทุนเพื่อไปขยายในประเทศกัมพูชา และ CLMV”

สมภพมองว่าธุรกิจลิสซิ่งจะเป็นดาวเด่นของ APM ในอนาคต เขาจึงมุ่งมั่นลงลึกถึงรายละเอียด ด้วยการเป็นหนึ่งในกรรมการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของบริษัทด้วยตัวเอง “ผมปล่อยลิสซิ่งถ้าปล่อยเสียไปหนึ่งรายสองรายกำไรที่ควรจะได้นี่หายไปเลย เพราะฉะนั้นต้องเข้ม นี่คือหัวใจการทำงานธุรกิจลิสซิ่ง ต้องดูผู้เช่าซื้อให้ถี่ถ้วน เพราะลิสซิ่ง มีตั้งแต่การวางดาวน์ 10-15 เปอร์เซ็นต์และดูความสามารถในการผ่อนชำระ ดูครอบครัว ดูที่บ้าน ไม่ใช่ทำง่าย เช่นรถปิ๊กอัป เดือนนี้จะปล่อย 1-2 คัน รู้ตัวตน รู้พ่อแม่ อย่างนี้ปล่อย เราค่อยๆ เรียนรู้ไป อย่าไปเร่ง”

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:53
X

Right Click

No right click