ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และพัฒนาคุณภาพการบริการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดแรงงาน ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีความสามารถและความทุ่มเทมากกว่าเคย ทำให้ปี 2023 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาวิธีการให้บริการลูกค้า พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถที่ดีที่สุดไว้กับองค์กร โดย Ibi Montesino รองประธานบริหาร ผู้จัดจำหน่ายและประสบการณ์ลูกค้า และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฮอร์บาไลฟ์ ได้แนะนำขั้นตอนไว้ดังนี้

เพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีดิจิทัล

เทคโนโลยีช่วยให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพียงคนเดียวสามารถดูโดดเด่นขึ้นได้ แต่เนื่องจากลูกค้ามักมีความคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะทำงานได้อย่างราบรื่น ทำให้บางครั้งการสร้างเว็บไซต์ที่ใช้งานยากอาจสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ใช้และทำให้ภาพลักษณ์บริษัทดูไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใดก็ตามในการเชื่อมต่อกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและช่วยในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของบริษัท เนื่องจากข้อมูลเปรียบเสมือนแหล่งเชื้อเพลิงความสำเร็จของธุรกิจ ตั้งแต่ใช้เพื่อวิเคราะห์คู่แข่ง ติดตามการส่งสินค้า การประเมินราคา วิเคราะห์ปัญหาและความกังวลของลูกค้า ไปจนถึงการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

สร้างการเติบโตและขยายธุรกิจ

นักธุรกิจหลายคนอาจได้เคยยินคำกล่าวที่ว่า การจัดการและทำความเข้าใจการเติบโตของบริษัทนั้นเป็นเรื่องท้าทาย บางครั้งธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยการดำเนินงานจากเจ้าของคนเดียว อาจกลายเป็นธุรกิจที่ต้องการทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในชั่วพริบตา เมื่อเป็นเจ้าของธุรกิจมาสักระยะหนึ่ง ความสามารถในการจัดการจะเฉียบคมขึ้นและเมื่อพร้อมสำหรับธุรกิจก้าวต่อไปแล้ว อาจสามารถขยายการเติบโตได้โดยการเพิ่มบุคคลากร หรือมองหาวิธีเพิ่มกำไรโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีที่มีฟังชั่นอัตโนมัติ เพื่อทดแทนการใช้แรงงานคนจำนวนมาก ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและเงิน

สร้างประสบการณ์ที่น่าหลงใหลให้กับลูกค้า

การบริการที่ไม่ดีเป็นฝันร้ายของเหล่าผู้บริโภค บริษัทต่างๆ ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนประสบการณ์การบริการลูกค้าให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและช่วยให้ลูกค้าทุกคนรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการตั้งแต่การฝึกอบรมตัวแทนฝ่ายสนับสนุนลูกค้า ไปจนถึงการ

จัดหาผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ แม้หลายบริษัทมุ่งเน้นการแก้ปัญหาของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีในหลากหลายวิธี แต่สิ่งสำคัญที่ยังคงจำเป็นต้องมีคือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีความเชื่อมต่อแบบบุคคลและไม่รู้สึกเหมือนคุยกับหุ่นยนต์

อีกวิธีหนึ่งที่ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้คือ การใช้ข้อมูลเพื่อทำความรู้จักลูกค้าให้มากที่สุด เช่น วิธีการซื้อและความความคิดในการซื้อของลูกค้า เพราะการมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จะทำให้การเข้าถึงลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจมากขึ้นเช่นกัน

ให้ความสำคัญกับพนักงาน

การระบาดของโรคได้สอนบทเรียนสำคัญมากมายให้กับธุรกิจต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนได้เรียนรู้ว่าการทำงานที่ออฟฟิศไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจเสมอไป จากการศึกษาล่าสุดเปิดเผยว่า พนักงานกว่า 87% มีแนวโน้มรับการทำงานแบบยืดหยุ่นหากมีโอกาส และพบว่าพนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเมื่อทำงานจากระยะไกล รวมทั้งการทำงานที่ยืดหยุ่นยังช่วยเพิ่มความภักดีต่อบริษัทอีกด้วย

บางครั้งการทำงานเป็นทีมแบบอยู่คนละที่ ต้องตรวจสอบและจัดเตรียมให้แน่ใจว่าเครื่องมือเทคโนโลยีสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เว็บแคมและสถานที่ทำงานที่สะดวกสบายที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่น รวมทั้งผู้จัดการต้องสื่อสารกับทีมของตัวเองที่กระจายตัวตามเมืองต่างๆ หรือทั่วโลก เพื่อให้ลูกทีมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการงานและรู้สึกได้รับความสำคัญ ดังนั้นควรมีการนัดหมายประชุมตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผู้จัดการได้ติดตามพนักงานแบบตัวต่อตัวและสร้างความเป็นกันเอง

นอกจากนี้ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานก็เป็นเรื่องสำคัญ การเป็นสมาชิกฟิตเนส การมีบริการด้านสุขภาพจิตและโปรแกรมอื่นๆ จะช่วยให้พนักงานมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ

ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีเจ้าของคนเดียวไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ความยั่งยืนเป็นสิ่งดีทั้งต่อโลกและลูกค้า ซึ่งบริษัทสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การลดการใช้พลังงาน การเปลี่ยนไปใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือแม้แต่การจัดหาซัพพลายเออร์ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมทั้งมาตรการง่ายๆ เช่น การรีไซเคิลในสำนักงาน การเลือกวิธีเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดประชุมแบบดิจิทัล และการคิดถึงผลกระทบที่ธุรกิจสร้างต่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2023 นี้ เป็นโอกาสให้เจ้าของธุรกิจทุกขนาดได้ประเมินวิธีการให้บริการลูกค้า พัฒนาการสื่อสารออนไลน์และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความคาดหวังของลูกค้าและพนักงานเป็นหลัก ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและเน้นการขยายธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ปีนี้เป็นปีที่นำพาความสำเร็จมาให้บริษัทได้มากที่สุด

ฟาร์มพลังงานไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกำลังจะสร้างขึ้นในประเทศโปแลนด์

ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตรวม 205 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตต่อปีสามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 160 ตัน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าดังกล่าว หัวเว่ย (Huawei) เตรียมจัดหาเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบสตริง (สตริงอินเวอร์เตอร์) จำนวน 710 เครื่อง และสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานีให้แก่ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่เหมืองเก่าในเมืองเคลตเชฟ (Kleczew) จังหวัดวีแยลกอปอลสกา (Wielkopolska)

เคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ (Kleczew Solar & Wind) ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองเก่า และจะกลายเป็นอุทยานพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกของโปแลนด์ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าด้วยกัน สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกประกอบด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 193 เมกะวัตต์พีค (MWp) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 12 เมกะวัตต์ (MW) โดยหัวเว่ยจะสนับสนุนด้วยสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานี และสตริงอินเวอร์เตอร์จำนวน 710 เครื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตต่อปีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 222 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และของโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะอยู่ที่ราว 47 กิกะวัตต์ชั่วโมง ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของบ้านเรือนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน

รีสซาร์ด ฮอร์ดีนสกี (Ryszard Hordynski) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการสื่อสารของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคส่วนพลังงานสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะมาเป็นระยะเวลาหลายปี ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีของเราสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงรุกของโปแลนด์ในโครงการสำคัญ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าไฮบริดในเมืองเคลตเชฟ นี่เป็นการลงทุนที่สำคัญมากบนเส้นทางสู่การลดคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบของเศรษฐกิจโปแลนด์ รวมถึงการจัดหาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และคุ้มค่าให้แก่สังคม

ผู้ลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ คือบริษัทเลวันด์โพล กรุ๊ป (Lewandpol Group), ผู้จัดการทรัพย์สินคือบริษัทเออร์จี (Ergy), ผู้รับผิดชอบด้านการทำสัญญาทั่วไปคือบริษัทอิเล็กทรัม กรุ๊ป (Electrum Group) และผู้ดำเนินงานควบคุมกำลังไฟฟ้าจริง (Active Power) และกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Reactive Power) คือบริษัทเรนีเดียม (Renedium)

มาร์ซิน คูเปรล (Marcin Kuprel) ซีอีโอของบริษัทเออร์จี กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการลดคาร์บอนของเศรษฐกิจโปแลนด์ ซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในระหว่างและหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เรามั่นใจว่าเรากำลังจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุด และหนึ่งในนั้นคือหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดโปแลนด์อยู่แล้วในฐานะซัพพลายเออร์อินเวอร์เตอร์ระดับไฮเอนด์ที่เชื่อถือได้

หัวเว่ยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน คลาวด์ และเทคโนโลยี AI โดยนำเสนอโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์+ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ สำหรับสามสถานการณ์หลักในการผลิตไฟฟ้า การส่งกําลังไฟฟ้า การจ่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะระดับสาธารณูปโภค โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งโซลูชันเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดอายุการใช้งาน และช่วยยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้า (กริด) ตลอดจนทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานหลัก

พาเวล สตราซซอลคาวสกี (Pawel Strzalkowski) ตัวแทนฝ่ายบัญชีอาวุโส ธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า การที่พันธมิตรทางธุรกิจเลือกอินเวอร์เตอร์และสถานีหม้อแปลงอัจฉริยะของเรา เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีของเราได้ดีที่สุด การลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ เป็นทั้งจุดสูงสุดของความร่วมมือทางธุรกิจแบบองค์รวมที่ดำเนินมานานหลายปี รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าไฮบริดให้ก้าวหน้าต่อไป ความเชื่อมั่นของพันธมิตรทางธุรกิจทั้งเออร์จี อิเล็กทรัม และผู้ลงทุนอย่างเลวันด์โพล ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของเรา ทำให้เรามีความภาคภูมิใจและมีแรงทำงานต่อไปเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานที่ปราศจากมลพิษ และเป็นที่น่าจดจำว่าอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ยเป็นเจ้าแรกในโปแลนด์ที่ได้รับใบรับรองภาคบังคับแบบไม่มีกำหนด

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ กำลังก่อสร้างด้วยความร่วมมือของบริษัทอิเล็กทรัม, จินโกะ โซลาร์ (Jinko Solar), บุดมัต (Budmat) และเตเล-โฟนิกา คาเบล (Tele-Fonika Kable)

นายสุรชัย นิ่มละออ Chief Innovation & Technology Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด และนายวิเชษฐ์ ชูเชื้อ Chief Operating Officer บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง

การศึกษาความเป็นไปได้ในการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์จากก๊าซเผาไหม้ ที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กับนาย Takashi Suzuki (ทาคาชิ ซูซูกิ) BoD Environment Energy Sector - Nippon Steel Engineering Co., Ltd. (NSE) และ นาย Masaya Watanabe (มาซายะ วาตานาเบะ) CEO - Thai Nippon Steel Engineering and Construction Corporation, Ltd. (TNS) โดยความร่วมมือดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นำโดย นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และนาย Yukito Ishiwa (ยูกิโตะ อิชิวะ) Representative Director and President – NSE Group เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Cement & Concrete ในปี 2050

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ได้ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างเร่งด่วน หนึ่งในแผนการดำเนินงาน คือ การศึกษาและนำเอา Carbon Capture and Utilization (CCU) เทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับและเหมาะสำหรับการนำมาใช้ดักจับก๊าซเผาไหม้ที่มีความดันค่อนข้างต่ำและความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำในปริมาณมาก เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท รวมถึงก๊าซจากปล่องของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางเอสซีจี และ NSE จะได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในระบบการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบดูดซับสารเคมีที่พัฒนาขึ้นภายในบริษัท ที่เรียกว่า “ESCAP™”[1] เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซเผาไหม้ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี ที่จังหวัดสระบุรี และจะพัฒนาโครงการ[2] และโมเดลทางธุรกิจในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ โดยจะเปลี่ยนให้เป็นก๊าซมีเทน รวมถึงก๊าซออกซิเจนที่เกิดจากกระบวนการผลิต จะถูกนำกลับไปใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ความร้อนที่เกิดจากระบบส่วนหนึ่งจะถูกนำไปหมุนเวียนในระบบ ESCAP™ เพื่อเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยความรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นเอสซีจี มีแผนเตรียมโรงงานนำร่อง (Demonstration Plant) ที่พัฒนาร่วมกับ NSE ในปี 2024 (โดยประมาณ) เพื่อนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดังกล่าว และนำข้อมูลไปออกแบบและติดตั้งโรงงานในเชิงพาณิชย์ (Commercial Plant) ต่อไป เพื่อให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรงงานผู้ผลิตปูนซีเมนต์ อันเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเอสซีจี เพื่อบรรลุเป้าหมาย “Net Zero Cement & Concrete ภายในปี 2050” สอดคล้องตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ “1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ Plus เชื่อมั่น โปร่งใส”

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ถ่ายทอดระบบ “ฟาร์มอัจฉริยะ หรือสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm)” มุ่งสู่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง มุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม IOT ในฟาร์มสุกร ช่วยยกระดับการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สวัสดิภาพสัตว์ระดับสากล ลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะ และเพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภค

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาเป็นก้าวย่างสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจเลี้ยงสัตว์ (Farm) รุดหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจสุกรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยผนึกกำลังกับซีพีเอฟไอที เซ็นเตอร์ และทรู คอร์ปอเรชั่น ในการพัฒนาระบบ “ฟาร์มอัจฉริยะ หรือสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm)” มาผนวกกับกิจการเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ เมื่อข้อมูลจำนวนมากของบริษัทที่ถูกเก็บรวบรวมแบบออนไลน์ ทำให้ได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์และประมวลผล อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยยกระดับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้อมูลต่างๆ และบริษัทยังพัฒนาการเลี้ยงสุกรครบวงจร “SMART PIG” มาปรับใช้ในการเลี้ยงสุกรทุกช่วงอายุ เพื่อช่วยยกระดับการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ การเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต 

ขณะเดียวกัน ยังผลักดันให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือ Contract Farming นำระบบสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การตรวจสอบและควบคุมสภาพแวดล้อมแบบอัตโนมัติ (Automatic) การติดตั้งระบบกล้อง CCTV โดยร่วมกับทรูติดตั้งจนครบ 100% ในฟาร์มเกษตรกร 3,700 ราย และมีระบบตรวจวัดการไอของหมู หรือ Sound Talks เพื่อติดตามสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมงผ่านออนไลน์ เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายในฝูงสัตว์

“ซีพีเอฟใช้เทคโนโลยีระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มระบบปิด ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ทำให้สัตว์มีสุขภาวะที่ดีจากภายใน ลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะ ได้เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค พร้อมถ่ายทอดระบบสู่เกษตรกร ส่งผลการผลิตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยตรวจสอบการป้องกันโรคในฟาร์มอย่างเข้มงวด ด้วยเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และ IOT (Internet of Things) ทำให้ซีพีเอฟและเกษตรกรมีเทคโนโลยีการผลิต (Operation Tech) ที่สามารถผลิตสุกรในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” นายสมพร กล่าว

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเลี้ยงสุกร ได้แก่ ระบบ SMART Farm Solution ทำให้ทราบถึงปริมาณการกินน้ำและอาหาร อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ก๊าซแอมโมเนียที่จะมีผลต่อสุขภาพสุกร และสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้สม่ำเสมอตลอดทั้งหลัง เหมาะสมกับสุกรมากที่สุด หากอุปกรณ์เกิดความผิดพลาด ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทันที, ระบบ SMART Eye AI Detector ทำการบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมและสุขภาพสุกรแม่พันธุ์ก่อนคลอดได้อย่างแม่นยำ เจ้าหน้าที่จึงบริหารจัดการได้อย่างมีประสทธิภาพ, ระบบ Smart Pig (QR Code) บันทึกข้อมูลในระบบออนไลน์ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการจัดการสุกรแม่พันธุ์ผ่าน QR Code, ระบบตรวจวัดการไอของสุกร Sound Talks ตรวจวัดสุขภาพสุกรจากการไอ แล้วแปลงเป็นระบบคลื่นเสียง พร้อมแสดงแถบสีบนอุปกรณ์ และแจ้งข้อมูลในระบบทันที, ระบบกล้องวงจรปิด CCTV ติดตั้งในจุดที่สำคัญทั้งภายนอกและภายในโรงเรือน เพื่อตรวจสอบระบบการป้องกันโรค ลดโอกาสการนำเข้าเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม และ ระบบรายงานออนไลน์สำหรับเกษตรกร Chatbot เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลสำคัญในกระบวนการผลิต ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งรวดเร็วกว่าการจดบันทึก และยังสามารถส่งภาพพฤติกรรมสุกรภายในโรงเรือนให้กับสัตวบาลและสัตวแพทย์ช่วยวิเคราะห์สุขภาพสุกรขุนได้ตลอดเวลา ช่วยให้ดำเนินแก้ปัญหาได้ทันท่วงที สามารถลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง./ 

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด  นำร่องโครงการ “รถดิจิทัลเพื่อสังคม” เร่งสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัล

Page 3 of 7
X

Right Click

No right click