มงคล ลีลาธรรม แนวทางพัฒนาเอสเอ็มอีไทย

February 04, 2019 2726

ประมาณกันว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีของไทยมีสัดส่วนอยู่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ มีการจ้างงานกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ เอสเอ็มอีจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ และที่สำคัญธุรกิจขนาดกลางและย่อมคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต 

ดังที่ทราบกันคือเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีปัญหาอีกมากมาย ทั้งด้านเงินทุน แรงงาน เทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งทำให้หลายกิจการไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนอุ้มชูให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเดินหน้าฝ่ามรสุมการสร้างธุรกิจจนเติบโตแข็งแรงต่อไปได้

มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank)หน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ดูแลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจึงเป็นผู้บริหารที่มองเห็นและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีของประเทศไทย

มงคลมองปัญหาของเอสเอ็มอีไทยว่า หากแบ่งตามกลุ่มแล้ว กลุ่มธุรกิจขนาดกลางปัจจุบันนับว่าไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไรเนื่องจากมีความเข้มแข็ง มีการเข้าถึงทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี ขณะที่ขนาดเล็กที่มีพนักงานประมาณ 50 คน โดยส่วนใหญ่เริ่มเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐและหลายหน่วยงานออกมาช่วยเหลือจึงยังเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องกังวลมากนัก

แต่กลุ่มที่ SME D Bank มองว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มที่เรียกว่า “จุลเอสเอ็มอี” ที่มีพนักงานไม่เกิน 5 คน ยอดขายต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ โดยปัญหาที่กลุ่มจุลเอสเอ็มอียังต้องเผชิญมงคลแยกเป็น 

ไม่มีความรู้ กลุ่มนี้คือธุรกิจที่ทำอยู่โดยไม่เหมาะกับสภาพการณ์ ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน โดยยังไม่มีความรู้เรื่องที่ต้องเปลี่ยนหรือคิดว่ายังพอมีเวลา แต่เทคโนโลยีและการตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่งผลให้บางครั้งยอดขายอาจจะหล่นวูบลงไปภายในไม่กี่เดือน ในกลุ่มนี้มงคลชี้ว่า สามารถแก้ไขด้วยการฝึกอบรม โดยที่ SME D Bank ก็มีเตรียมไว้ให้ทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน การตลาด การจัดการธุรกิจ การพัฒนามาตรฐานการผลิตซึ่งการเข้าไปกระตุ้นให้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใช้การ Upskill และ Reskill  ผู้ประกอบการส่งผลให้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เกิดการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มที่มีทัศนคติลบ คือกลุ่มที่ SME D Bank กังวลมากที่สุด ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่ไม่ต้องการเข้าระบบภาษี ไม่ต้องการจดทะเบียนใดๆ กับทางราชการ โดยคิดว่ายังสามารถทำได้และอยู่อย่างนี้จะปลอดภัยสามารถทำมาหากินได้

“เราก็มองเห็นว่าเป็นหน้าที่หลักของSME D Bank ต้องเข้าไปช่วย” มงคลกล่าวและยกตัวอย่างโครงการ‘ฮัก Taxi’เสริมแกร่งแท็กซี่ไทยของธนาคารซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพแท็กซี่ เช่นทักษะภาษา ระบบเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ควบคู่กับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ว่า คนกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือผู้ประกอบการที่ไม่เข้าสู่ระบบเทคโนโลยีมีความยากในการทำธุรกิจ เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น สามารถส่งผลต่อธุรกิจนั้นๆ ได้

 “กลุ่มแท็กซี่ เขาเองก็ต้องดาวน์ 30 เปอร์เซ็นต์ เสียดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ 4 ปี 6 เดือน นั่นคือจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับเงินต้น บิสเนสโมเดลคุณมีความเสี่ยงมีความสามารถชำระหนี้น้อย ทำให้ต้นทุนสูง คุณเลยต้องเลือกผู้โดยสารต้องเอาเปรียบผู้โดยสาร แล้วคุณคิดว่าผู้โดยสารจะให้คุณเอาเปรียบหรือ เมื่อก่อนไม่มีทางเลือกวันนี้มือถือมี มีคนสามารถให้บริการได้ แล้วตัวเองก็ลืมนึกไปว่า จริงแล้วคุณต้องทำงานให้ลูกค้า ซึ่งนี่เป็นทัศนคตินะ” มงคลกล่าว

ทางออกเอสเอ็มอีไทย                                    

จากความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ มงคลมองว่าหลายเรื่องสามารถบริหารจัดการได้เช่นกลุ่มโชห่วย ซึ่งมีกรณีศึกษาในประเทศจีนที่เคยทำกันมาแล้ว นั่นคือ เปลี่ยนวิธีการจากที่ร้านโชห่วยใช้วิธีไปซื้อสินค้าจากโมเดิร์นเทรดแบบยกลังมาเพื่อขายปลีกที่หน้าร้านเป็นการรวมกลุ่มกันผ่านหน่วยงานกลางทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำลง

“ถามว่าวันนี้คุณได้กำไรไหม คุณได้ส่วนต่างจากต้นทุนการเดินทางของคนที่มาซื้อ เพราะคุณอยู่ใกล้บ้านผมก็เดินไปหา แต่ระบบนี้ ถ้าคิดดูว่าโชห่วยทั่วประเทศสมมติมี 500,000 ราย ในวันวันหนึ่งสมมติว่ามี 100,000ราย ขายน้ำมันพืชได้คนละ 2 ขวด ก็เท่ากับ 200,000 ขวด ถ้า 200,000 ขวดรวมซื้อกันที่ไปรษณีย์ ไปรษณีย์ก็ไปต่อรองกับผู้ผลิตว่าผมซื้อวันหนึ่ง 200,000 ขวด แล้วส่งเข้าร้านโชห่วยผมว่าราคาได้เกือบๆ เท่าๆ กับโมเดิร์นเทรดซื้อ”

เป็นตัวอย่างที่มงคลยกให้ฟังเรื่องการสร้างอำนาจต่อรองให้กับเอสเอ็มอี โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยธนาคารก็จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการให้สินเชื่อเพื่อไปใช้ในการซื้อสินค้าจากไปรษณีย์มาวางจำหน่ายในร้าน    

ทางด้านเทคโนโลยีกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ยกตัวอย่างไก่ย่างเขาสวนกวางที่ธนาคารไปช่วยโดยมองว่า คนไทยเรามีพื้นฐานที่ดีและเราหลงลืมไป มัวแต่ไปวิ่งไล่กวดเทคโนโลยี โดยหากดูจากไก่ย่างเขาสวนกวางก็มีภูมิปัญญาในการย่างคือการนำกะละมังมาใช้ในการย่างซึ่งทำให้ได้เนื้อไก่ที่แห้งหนังกรอบ ผู้ประกอบการแต่ละรายก็พัฒนาน้ำจิ้มรสชาติต่างๆ กันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ในระดับหนึ่ง SME D Bank ก็เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมด้วยการแนะนำวิธีการถนอมอาหารช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับผู้ประกอบการ

“มีเทคโนโลยีหนึ่งที่เราเอามาคือทำสุญญากาศ เทคโนโลยีนี้ไม่แพงเครื่องละ 50,000 กว่าบาท ธนาคารเข้าไปสนับสนุนให้ทุกร้านมีตรงนี้ 50,000 บาท ผ่อน 7 ปี วันละ 25 บาท พอคุณเอามาอัดสุญญากาศ กินไก่ย่างตรงนี้อร่อยแล้ว ซื้อไปฝากเพื่อน เราไปสนับสนุนด้านการเงินแล้วสอนให้เขาคิด จริงๆ แล้วเขาสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่ได้สเกล เราเปลี่ยนจากของกินเป็นของฝาก และถ้าทำได้ดีจากของฝากก็กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้ ทำเป็นอุตสาหกรรมเหมือนเอสเอ็มอีซึ่งเพิ่มขึ้น ไก่ย่างที่ขายริมถนนวันหนึ่ง 3,000 ตัว แค่ปีเดียวเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่ง กลายเป็นวันหนึ่งขายได้ 6,000 ตัว” มงคลอธิบายพร้อมเล่าถึงบริการของธนาคารต่อว่า

นอกจากนี้ธนาคารจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อให้บริการโดยเรียกว่า “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 หน่วยทั่วประเทศ ในปีที่ผ่านมาจัดตั้งไปแล้ว 600 หน่วยและจะทำเพิ่มเติมอีก 400 หน่วย โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคือการจัดทำแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ธนาคาร แต่สามารถกรอกข้อมูลความต้องการ เบอร์โทรศัพท์ วงเงิน จากนั้นจะมีพนักงานโทรไปสอบถามคุณสมบัติเบื้องต้นหากมีคุณสมบัติธนาคารก็จะส่งหน่วยรถม้าไปภายใน 3 วัน และภายใน 7 วันวงเงินก็จะได้รับการอนุมัติ โดยเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพราะจากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่มียอดขายไม่เกิน 2 ล้านบาทต้องการสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 600,000-700,000 บาทต่อราย

มงคลบอกว่าด้วยสินเชื่อเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเพื่อช่วยยกประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนได้ เช่น เครื่องคั่วกาแฟ เครื่องอัดสุญญากาศ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตลาด หรือสามารถทำการค้าออนไลน์ได้เพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ SME D Bank เน้นหนักในการให้การสนับสนุน คือกลุ่มด้านการเกษตรหรืออาหาร ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ มงคลมองว่า กลุ่มนี้ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปวัตถุดิบเป็นอาหารหรือเป็นสมุนไพรซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวกขึ้น

กรรมการผู้จัดการ SME D Bank ยกตัวอย่างการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรจากพืชที่ปลูกได้ทั่วไปเช่นตะไคร้ว่า “ตะไคร้ ตัดใบ 15 วันได้ครั้งหนึ่ง กองใหญ่ 5 บาท 5 กิโลกรัมเอามาทำเป็นผงตะไคร้มาชงเป็นชากินได้ 1 กิโลกรัม ก็กลายเป็นต้นทุนก็คือ 20 บาทต่อกิโลกรัม เอามาชงชาถุงหนึ่งสมมติ 20 บาท 10 กรัม หนึ่งกิโลกรัมเท่ากับ 2,000 บาท เอามาทำเป็นแก้วขาย 70 บาท ซึ่งนี่ที่อิตาลีฝรั่งเศสทำมาแล้วคือไวน์แต่เมืองไทยยังไม่ได้นำพวกนี้มาทำอีกมาก”

เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ธนาคารมีนโยบายช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินโดยให้ทุนได้ถึง 5 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยสามารถใช้การค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เป็นโอกาสของเกษตรกรรุ่นใหม่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่จะสามารถสร้างกิจการ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้

หากสรุปสิ่งที่มงคลกล่าวมาโดยรวมแล้ว กลไกสำคัญในการสนับสนุนสร้างเอสเอ็มอีไทยให้มีความเข้มแข็งนั้น จะต้องมีทั้งการให้ความรู้ ทัศนคติที่ถูกต้อง การให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางทั้งด้านการเงิน การจัดการ เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะกลุ่มจุลเอสเอ็มอี สามารถหลุดพ้นจากปัญหาที่เผชิญอยู่ และสามารถเติบโตเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป


เรื่อง บรรณาธิการ  

ภาพ ยุทธจักร

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Monday, 04 February 2019 11:48
X

Right Click

No right click