มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการมาครบ 20 ปี ในปีนี้ แนวคิดการจัดการอยู่บนพื้นฐานบริบทของสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และกระบวนการมีส่วนร่วม ควบคู่ไปกับการสอดแทรกแนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ ทางด้านการบริหารธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนของหลักสูตร และพร้อมสำหรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจทั้งในประเทศและการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก

ผู้ศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร ทั้งหมดเป็นบุคลากรจากภาคธุรกิจ มาจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาคธุรกิจและราชการ ในระดับผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ ผู้มากด้วยประสบการณ์ ที่ต้องการความรู้เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนแก่อาชีพและธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเจ้าของธุรกิจ Start up (คนรุ่นใหม่) เปิดบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับธุรกิจด้านไอที และรวมถึงต้องการทำธุรกิจให้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้จำนวนมาก คนทั้งสองกลุ่มนี้ต้องการการเรียนรู้ ต้องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับการประกอบอาชีพ นับได้ว่าโครงการเราได้เปรียบในการมีผู้ศึกษาที่ประกอบด้วยคนที่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่มนี้ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดระหว่างกันได้

วัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร เพื่อสร้างความยั่งยืน คือการออกแบบหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น ที่จะสามารถนำความพร้อมที่แตกต่างกันของผู้เรียนทั้งสองกลุ่ม ให้สามารถนำประสบการณ์ที่ผ่านมาเข้ามาแบ่งปันแนวคิดของคนต่างรุ่น ตลอดจนสอดแทรกแนวคิดทางการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ มาบูรณาการกับการเรียนรู้ในหลักสูตรของเรา โดยมุ่งเน้นการสร้างความผูกพันและสังคมแห่งการแบ่งปัน ทั้งระหว่างผู้เรียนในชั้นปีและศิษย์เก่าชั้นปีต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกิดจากความผูกพัน ความจริงใจ ในการช่วยเหลือแบ่งปันในลักษณะครอบครัว Ex-MBA อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาหลักสูตร วิชา และวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมในการดึงเอาศักยภาพของผู้ศึกษาเพื่อให้เกิดการแบ่งปันและพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนที่มีอยู่ ในภาพรวมของฟังก์ชั่นการบริหารธุรกิจ ทั้งการบริหารจัดการ การเงิน บัญชี การตลาด การวิจัย เป็นต้น แต่ในการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนนั้น ทางโครงการยังได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม การปรับเปลี่ยนหลักสูตร ไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวที่เกิดขึ้น แต่เป็นการนำประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยไปตอบสนองความต้องการของสังคม ที่สำคัญ เราต้องสร้างจิตวิญญาณที่ทำให้คนแต่ละคนสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากขึ้น

 

ในการเรียนการสอน เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสภาพแวดล้อมจริง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นในปีที่ผ่านมาทางหลักสูตรได้ บูรณาการ การเรียนกับโจทย์จากธุรกิจจริงในท้องถิ่น โดยทำในรูปแบบของการจัดทำแผนธุรกิจให้กับธุรกิจท้องถิ่นที่ยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่าง ๆ ให้ทีมนักศึกษาเข้าร่วมในการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจและนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจนั้นๆ ในรูปแผนธุรกิจ จำนวน 6 กลุ่มธุรกิจ นักศึกษาแต่ละกลุ่มจะได้เรียนรู้โดยเอาแนวคิดที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ ประสบการณ์การบริหารจัดการส่วนตัว ความถนัดในแต่ละสาขาวิชาที่มีอยู่ การทำวิจัย มาแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกันและบูรณาการร่วมกัน โดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดทุกกลุ่ม

ผลการจัดทำ Action Learning จะทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ใช้เวลาในการศึกษาภาคทฤษฎีจากคณาจารย์ไปพร้อมๆ กับการประชุมกลุ่ม การเข้าพบผู้ประกอบการนอกเหนือจากเวลาเรียนมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนต้องใช้ความพยายามและเวลามากขึ้น แต่ผลการทำ Focus Group กับกลุ่มผู้เรียน พบว่าส่วนมากเกิดความรู้เข้าใจในธุรกิจใหม่ๆ ที่ต่างไปจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ ได้มุมมองภาพรวมของการบริหารจัดการมากขึ้นว่าทุกฟังก์ชั่น ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งหมด เช่น การบริหารด้านการเงิน จะส่งผลต่อระบบธุรกิจด้วย เป็นต้น ในด้านเจ้าของธุรกิจที่กรุณามาเป็น Case ให้เรา จากการทำแบบประเมินพบว่า การเรียนการสอนรูปแบบนี้ช่วยสะท้อนแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในมุมมองของคนภายนอกธุรกิจของตน ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ดี และมีความพึงพอใจในระดับมาก ในปีนี้เราจึงทำการสอนในรูปแบบ Action Learning ต่อเป็นปีที่สอง แต่ทางคณาจารย์ของโครงการ มีการปรับวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมและช่วยลดเวลาต่างๆ ของนักศึกษาลง โดยนำเอาจุดอ่อนของปีที่ผ่านมาเป็นตัวตั้งในการปรับปรุง เพื่อให้สามารถดึงพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์จากการเรียนรู้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ และวิธีการเรียนการสอนแบบ Action Learning ของทางหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร เป็นที่สนใจของศิษย์เก่ารุ่นพี่ๆ ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ทางเรากำลังคิดว่า อาจมีการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นๆ สำหรับอัปเดตความรู้ให้กับศิษย์เก่ารุ่นพี่ๆ ในอนาคต อาจเป็นการสมัครเข้ามาเรียนรู้ในบางหัวข้อร่วมกับรุ่นน้องและคณาจารย์ผ่านการเรียนการสอนแบบ Action Learning เพื่อตอบสนองต่อผู้เรียนในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องจากการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ทางหลักสูตรยังได้มุ่งเน้นไปที่การเปิดวิสัยทัศน์ ด้าน International Business Management ให้กับกลุ่มผู้เรียน โดยในช่วงแรกๆ จะเป็นรูปแบบการไปเยี่ยมเยือนต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และดูงานในกลุ่มประเทศต่างๆ ในระยะสั้นๆ เพื่อการเปิดวิสัยทัศน์และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน แต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาทางหลักสูตรเริ่มให้มีการเข้าไปศึกษาโดยฟังการบรรยายในหัวข้อสำคัญๆ ด้าน International Business Management ในปี ค.. 2015-2017 เข้าฟังการบรรยายด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส และ ในปี ค.. 2018 และ 2019 ทางหลักสูตรได้ติดต่อพาผู้เรียนไปศึกษากระบวนวิชา International Business Management ระยะเวลา 5 วัน กับมหาวิทยาลัยที่มี MOU กับทางคณะ ในประเทศเยอรมัน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดวิสัยทัศน์ ฝึกใช้ภาษาต่างประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียน

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีศิษย์เก่าของทางหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (Ex-MBA) ที่สำเร็จการศึกษาและประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งในส่วนของภาคราชการ ภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งคงขอยกเป็น Case ธุรกิจโดยไม่เอ่ยชื่อผู้เรียนเพราะอาจจะทำให้ผู้ไม่ถูกเอ่ยนามน้อยใจ เช่น ในภาคราชการเราจะมีทั้งในส่วนของอาจารย์ ตำรวจ ทหาร พยาบาลในหน่วยงานของภาครัฐบาล ที่หลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้วได้นำความรู้ที่เรียนมาไปช่วยในการทำงานจนประสบความสำเร็จได้เลื่อนตำแหน่ง เช่น เป็นคณบดี เป็นหัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ได้รับรางวัลยกย่องเป็นบุคลากรดีเด่นของหน่วยงาน เป็นต้น ในส่วนของผู้บริหารมืออาชีพได้รับความสำเร็จในอาชีพบริหาร ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าหน่วยงาน ผู้จัดการเขต ผู้จัดการภาค ก็มากมาย หรือในส่วนของผู้ประกอบการก็มีผู้สำเร็จการศึกษาที่สามารถกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ขยายธุรกิจให้มีหลายสาขามากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ มีการเข้าไปทำธุรกิจเป็นธุรกิจระดับ International และมีกลุ่มที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับนานาชาติ หรือบางท่านนอกจากจะไปเป็นผู้บริหารมืออาชีพระดับประเทศแล้ว ยังใช้ความรู้ที่ได้จากระดับปริญญาโทไปต่อยอดในการศึกษาระดับปริญญาเอกอีกด้วย ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าการเรียนที่ได้สามารถตอบสนองผู้เรียนได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้จริงๆ

ที่สำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของหลักสูตร คือ ศิษย์เก่าของหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สำหรับผู้บริหาร (Ex-MBA) ของเรา ไม่เคยลืมที่จะกลับมาช่วยเหลือทางคณะ เพื่อนๆ ร่วมหลักสูตร และเป็นคนคิดดีทำดี


เรื่อง : รศ.อรชร มณีสงฆ์ | ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้บริหาร
ภาพ : ชัชชา ฐิติปรีชากุล

แม้ว่าปัจจุบันหลายๆ คนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นภายใต้พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามาทั้งช่วยต่อยอด ช่วยต่อเติม กระทั่งถึงการแทรกแซงการศึกษาในระบบ

หากมองว่าเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการในยุคนี้ อาทิเช่น AI หรือ ArtificialIntelligent จะเข้ามาแทนที่ หรือ Disrupt แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกระทั่งถึงงานด้านการบัญชีแล้ว แล้วเรามองว่านั่นคืออุปสรรคและเรากำลังจะถูกแทนที่ คงไม่จำเป็นต้องเปิดสอนหลักสูตรการบัญชีกันอีกต่อไป แต่ในข้อเท็จจริงคือปรากฏการณ์กำลังจะส่งผลต่อทุกๆ อาชีพและหากพลิกมุมมองจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากความท้าทายยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ รวมอยู่ด้วย หากว่าเราสามารถดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีทั้งความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว แล้วตัวเราเองก็หันมาพัฒนาทักษะและปรับบทบาท ตลอดจนการเรียนรู้เพื่อเป็นนักบัญชียุคใหม่ คือความเห็นของ รศ.ดร.นฤนาถ ศราภัยวานิช หัวหน้าภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ AccBA CMU

ด้วยการเล็งเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ภาควิชาการบัญชีของ AccBA จึงเริ่มกระบวนการปรับพัฒนาหลักสูตรซึ่งจะ Implement ในปี พ.ศ. 2563 โดยหลักสูตรระดับปริญญาตรีจะมีวิชา Minor เกี่ยวกับไอทีเพิ่มเข้ามาและกำหนดเป็นวิชาบังคับ ซึ่งหลักสูตรบัญชีปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาต้องเรียน Minor แต่หากนักศึกษาสนใจจะเรียน Minor ก็จะเปิดกว้างให้สามารถเลือกเรียน Minor สาขาอะไรก็ได้ เช่น Major บัญชี แต่ Minor อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน วิทยาศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ เป็นต้น แต่หลักสูตรใหม่จะเป็นภาคบังคับเลยว่า Major บัญชี ต้อง Minor ไอที ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 วิชา โดยทางภาควิชาได้เข้าไปสร้างความร่วมมือกับคณะวิศวฯ เพื่อร่วมศึกษาและกำหนดแนววิชาด้านไอทีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องและจำเป็นกับวิชาชีพบัญชี หรือ AI มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานในวิชาชีพตรงไหน อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ รศ.ดร.นฤนาถ ยังกล่าวถึงกระบวนการปรับพัฒนาหลักสูตรของภาควิชาบัญชีว่า “อันดับแรกทางสาขาการบัญชีเราเริ่มจากการทำความเข้าใจ AI ด้วยวิชา Minor ที่จะสอนให้นักศึกษาได้รู้ว่า AI ทำงานอย่างไรและสามารถนำมาสนับสนุนและต่อยอดในวิชาชีพได้อย่างไร โดยเทรนด์ปัจจุบันจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาช่วยการจัดการด้านบัญชีได้มาก ถึงขั้นที่สามารถสแกนเอกสารแล้วเข้าสู่ระบบงานบัญชีเพื่อทำการบันทึกและรวบรวมข้อมูลได้เลย ซึ่งช่วยลดงานด้านการบันทึกรายการหรือ Record Transaction เบื้องต้นได้มาก เท่ากับว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาช่วยลดทอนงานในลักษณะที่เป็น Routine ออกไปได้มาก นั่นคือความหมายของการถูกแทนที่หรือถูกดิสรัป แต่อย่างไรก็ตามงานที่เป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ งานวางแผน การตัดสินใจหรือหน้าที่ในการ Approve ข้อมูล วิเคราะห์ Transaction เชิงลึกนั้นยังคงต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์อยู่นั่นเอง ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจึงต้องมีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ยุคสมัย นอกจากนี้ทางหลักสูตรยังมีการส่งเสริม Soft Skill เพื่อเป็นทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีจิตสำนึกต่อสังคมอีกด้วย”

บ่มเพาะจิตสำนึกเพื่อสังคม

ทั้งนี้ รศ.ดร.นฤนาถ ยังขยายความถึง Vision ด้านการเรียนการสอนของคณะที่นอกจากเรื่องทักษะทางวิชาชีพแล้ว ทางคณะฯ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่มีจิตสำนึกต่อสังคมหรือ Social Conscious ว่า

“ความรู้ที่เราจัดในหลักสูตร 4 ปีนี้น่าจะก่อประโยชน์อะไรให้สังคมได้บ้าง มีการปรับหลักสูตรให้นักศึกษาปี 4 เข้าไปศึกษาหาข้อมูลว่ามีชุมชนใดที่ต้องการความช่วยเหลือและนักศึกษาเห็นว่าตนเองสามารถนำองค์ความรู้ในสาขาบัญชีที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืนบ้าง แล้วพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการที่ระบุวัตถุประสงค์ แนวคิด วิธีการในการแก้ปัญหา ตัวชี้วัด หลังจากที่โครงการได้รับแนะนำและอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ นักศึกษาจะเข้าไปทำการช่วยเหลือชุมชนตามแนวทางและวิธีการที่ได้ออกแบบไว้ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ภาคการศึกษา ทำให้นักศึกษามีเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เป็นการผสมผสานความรู้และทักษะทางวิชาชีพบัญชีกับศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอที Soft Skill ในด้านความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมและการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีเหล่าคณาจารย์ช่วยกันทำหน้าที่เป็น Advisor คอยให้คำปรึกษา แนะนำและกลั่นกรองไอเดียต่างๆ ให้แก่นักศึกษา”

นอกจากบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการเพื่อสังคมของนักศึกษาแล้ว คณาจารย์ของภาควิชาฯ ยังมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลประสานการนิเทศและการฝึกงานของนักศึกษา กับผู้ประกอบการตลอดจนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่อยู่ในตลาดงาน โดยทางคณะฯ จะเน้นการเป็น Partner กับสำนักงานบัญชีบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงาน

รศ.ดร.นฤนาถ กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรบัญชีของ AccBA ว่าคือ เรื่องของการนำเอาไอทีมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกงานและ Social Conscious ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมและทักษะการสื่อสาร นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้จริง เรามีการกำหนดให้นักศึกษาเรียนซอฟต์แวร์ก่อนที่เด็กจะออกไปฝึกงาน ทั้งตัวเล็ก อย่าง Express หรือ BC Account แล้วแต่ว่าช่วงนั้นอะไรที่กำลังมาแรง ตัวกลางก็จะเป็น SAP B1 และตัวใหญ่ ที่ Listed Company ใช้เช่น SAP ซอฟต์แวร์ทั้ง 3 ระดับนี้จะถูกบรรจุในหลักสูตรให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับใช้ได้กับซอฟต์แวร์อื่นๆ ทำให้เราได้รับ Feedback จากบริษัทต่างๆ ว่าเด็กเราต่างจากที่อื่นเพราะรู้จักโปรแกรมเหล่านี้ สร้างความพึงพอใจและบัณฑิตก็มีโอกาสที่จะได้รับ Offer งานค่อนข้างสูง

ปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างปรับเปลี่ยนไปอย่างมากทั้งเรื่องของการลดลงของจำนวนประชากรทั้งของเราเองและในหลายๆ ประเทศ โอกาสการศึกษามีมากขึ้น รูปแบบการศึกษา และคุณสมบัติของพนักงานที่นายจ้างต้องการในอนาคตอาจไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงปริญญา แต่อยู่ที่ทักษะที่จะทำงานได้ จุดนี้จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับเรา ทำให้ระยะเวลาของการปรับหลักสูตรจากเดิมทุกๆ 4 ปี ต้องเร่งเร็วขึ้นเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสาขาการบัญชียังคงได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากจากผู้เรียนและผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและมีตำแหน่งงานรองรับจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชน

สำหรับเทรนด์ทางด้านการบัญชีจะยังคงก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ทางภาควิชาบัญชี AccBA พยายามที่จะทำงานให้รองรับและตอบสนองในสิ่งที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าน่าจะส่งผลกระทบและเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนให้มากที่สุด โดยเฉพาะหลักสูตรปี พ.ศ 2563 จะเห็นการปรับเปลี่ยนของหลักสูตรมากพอสมควร แต่ในระหว่างนั้นหากมีอะไรที่เปลี่ยนใหม่ ทางภาควิชาบัญชีและคณะฯ ก็มีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสำหรับศิษย์เก่าของคณะฯ หรือนักบัญชีทั่วไปที่จำเป็นต้องปรับความรู้เพื่อให้ก้าวทันมาตรฐานรายงานทางการเงินและสภาพงานที่เปลี่ยนไป ทางภาควิชาก็ยังมีโครงการ Refresh ให้กับศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาวิชาชีพด้านการบัญชี


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา

“ภาพรวมโดยกว้างของปรากฏการณ์ Disruptive Technologies ที่เรากำลังเผชิญหน้าร่วมกันในช่วงเวลานี้มีหลายมุมมอง หากมองบวกก็คือการลัดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่เคยมีมา เพื่อมุ่งเป้าเข้าสู่จุดหมายให้ได้โดยเร็ว

Page 5 of 5
X

Right Click

No right click