×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

แผนรับมือของ สสว. กับเทคโนโลยีที่จะเขย่าวงการ SMEs ปี 2018

December 10, 2017 6581

คุณเสือ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  ให้สัมภาษณ์ MBA Magazine ถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวงการ SMEs  ในปี 2018  ในอีกไม่กี่วันนี้ว่า “ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบอย่างสุดสุดต่อวงการ SME คือ เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก SME ส่วนใหญ่จะตามไม่ทัน เข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าใจ เพราะโดยส่วนใหญ่จะอาศัยกรอบการทำงานแบบเดิมๆ “

ในขณะที่ในโลกธุรกิจ มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแกนกลางสนับสนุนการเข้าถึงลูกค้า การนำข่าวสารมาวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ รูปแบบการขายและจัดจำหน่ายต่างๆครอบคลุมไปมากกว่าเดิม  ส่งผลทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงและจะหมุนไปในอัตราที่รวดเร็วมากกว่าเก่ามาก   ดังนั้นเทคโนโลยีจึงมีผลอย่างมาก  ถึงมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อ SMEs  แต่ในระดับที่แตกต่างกัน    ขึ้นอยู่กับการตั้งรับและการเตรียมความพร้อมได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่

เทคโนโลยีคือเหรียญ 2 ด้าน

เมื่อถามว่าการที่เทคโนโลยีเข้ามาจะมี “ข้อดี” อย่างไรได้บ้างนั้น   ผอ.สสว.  สุวรรณชัย ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “  นั่นอยู่ที่ว่า “ใครใช้เป็น ใครใช้เร็ว ใครรู้เร็ว ใครรู้ไว ก็ขยายโอกาสได้เร็วกว่า”  ส่วนในด้านลบนั้น   “ มีอย่างแน่นอน และจะเกิดขึ้นกับ “คน” ที่ไม่เข้ามาสัมผัส  ไม่สนใจ  มีความกลัวเทคโนโลยี  จึงไม่หยิบมาใช้ หรือใช้อย่างไม่เป็น ลงทุนไปแล้วไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ นี่คือจุดลบ ที่มีคน 2 กลุ่ม คือ คนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เนื่องจากงบประมาณจำกัด กับคนที่เข้าถึงเทคโนโลยี แต่ใช้อย่างไม่เต็มที่ ตรงนั้นจะเป็นข้อลบด้วยเช่นกัน “

ดังนั้นในสิ่งที่จะต้องรุกหนักในปีหน้า คือ การทำให้ SMEs  ไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีทั้งใหม่ และที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ในการสร้าง Economic  System  (ระบบเศรษฐกิจ) และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ SMEs ที่จะสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น  โดยที่ผ่านมามีบทพิสูจน์ที่ชี้ชัดกันดีแล้วว่า เทคโนโลยีมีส่วนช่วยธุรกิจ ทำให้ทุกคนประกอบธุรกิจได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น

3 คีย์เวิร์ดการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้

สำหรับนโยบายของ สสว. ในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับ SMEs ประกอบไปด้วย 3 คีย์เวิร์ดหลัก

ข้อแรก คือ จับมือกับผู้รู้ทั้งไทยและต่างประเทศเป็นหนึ่งในคียเวิร์ดสำคัญในการทำ Transformation  รวมถึงจะมี AI ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเสริมศักยภาพภายในองค์กรด้วย

ข้อสอง คือ  Business Transformation ผ่านเทคโนโลยี และ Human Resource (ทรัพยากรมนุษย์) โดยทั้ง 2ส่วนนี้จะเป็นเรื่องหลักในการ Transformation

ข้อสาม คือ Internationalization ที่จะเป็นโจทย์หลักในการยกระดับผู้ประกอบการ ขึ้นเป็นผู้ประกอบการแห่งเอเชีย ขยายฐานไปสู่การเจาะตลาด Global  niche market ( ตลาดเฉพาะกลุ่ม ) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เมื่อผลิตสินค้าออกมา แทนที่จะขายสินค้าเฉพาะภายในประเทศ  ต้องขยายไปต่างประเทศด้วย จากที่ทุกคนเกรงว่าจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นนั้น เรามองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะมีระบบออนไลน์เข้ามาแล้ว และเรายังมีองค์ความรู้  นอกจากนี้ยังมีการจับมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) รวมทั้งสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบในการดำเนินธุรกิจ และธุรกรรมกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างครบพร้อม

นับว่าทั้ง 3 เรื่องหลักนี้เป็นโปรเจ็กต์ของสสว. ที่ผู้อำนวยการคนใหม่  ได้กล่าวว่า  “เป็นโจทย์ที่เราตั้งใจต่อยอดการทำงานจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED )ซึ่งมีหน่วยงานที่พัฒนา SMEs อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันจะมีนักพัฒนา SMEs  ที่จะมีองค์ความรู้ชุดใหม่ เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์สถานการณ์ไปสู่อนาคตว่า ธุรกิจอะไรกำลังจะเกิดขึ้น และกำลังจะแข็งแรง และจะเป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจ SMEs ในอนาคต 

ทั้งนี้จะมีการตั้งทีมวางแผน  ทีมวิจัยใหม่ขึ้นมา  เพื่อพัฒนาสถาบันต่างๆ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์  ปรับตัวได้เร็ว ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ใน กระบวนการทางความคิดใหม่ และบิสิเนสโมเดลใหม่  นำมาสู่กลุ่ม SMEs  พันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จากผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนา SMEs รุ่นใหม่ที่เข้ามาเติมในเครือข่ายร่วมกับสสว.

Global Niche market ขุมทรัพย์ที่มีในทุกมุมโลก

นอกจากนั้นแล้ว ผอ.  สุวรรณชัย  เพิ่มเสริมและเพิ่มเติมให้เห็นเป็นภาพที่ซูมลึกลงไปกว่านั้นว่า   ต้องมีการพัฒนา SMEs ใน เชิงลึกหรือ “SMEs  Focus economy” เนื่องจากเราไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ ทั้งในด้านของทุนทรัพย์ และทีมทรัพยากรต่างๆ ฉะนั้นการปรับตัวของ SMEs จะต้องโฟกัสไปที่การทำธุรกิจสินค้าหรือบริการให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน  และเฝ้าติดตามการเติบโตของกลุ่มเป้าหมาย ในแง่ของตัวคนและการขยายเข้าไปในพื้นที่ต่างๆอย่างเจาะลึกและครอบคลุม  จะเป็นแนวโน้มที่สำคัญในการพลิกเกมกลายเป็นผู้เติบโตได้โดยเป็นนิชมาร์เก็ตในตลาดโลก

“สสว.ในยุคของผมจะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SMEs  คือ Global Niche market  เป็นเรื่องสำคัญ  ยกตัวอย่างคือ ผมเป็นพ่อลูกสามซึ่งจากไลฟ์สไตล์แล้ว คนที่มีไลฟ์สไตล์อย่างผมน่าจะมีอีกในประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือประเทศอื่นๆ ธุรกิจที่จับกลุ่มเป้าหมายแบบเรานั้นมีอะไรบ้าง อาทิ กลุ่มที่เป็นจุดแข็งของไทย อย่างอาหาร  การดูแลสุขภาพ การดูแลครอบครัว ความเป็นอยู่ซึ่งเสริมเข้ามาได้ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล”

ถ้าจะจับกลุ่มนิชมาร์เก็ตแบบนี้  และคิดว่าเรามีกลุ่มตัวอย่างแบบนี้ คนแบบนี้มีอยู่หลายที่  เราจะเข้าถึงกลุ่มนี้ได้อย่างไร เราต้องไปสร้างคอมมูนิตี้ในที่ต่างๆเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดเครือข่าย แทนที่จะเป็นเครือข่ายเฉพาะในประเทศ ต้องเชื่อมโยงไปสู่การเกิดเครือข่ายข้ามประเทศ หรือเครือข่ายต่างประเทศ

 

 

เมื่อเจาะตลาดนี้ได้แล้ว  จะมีกลุ่มคนประเภทเดียวกันกระจัดกระจายอยู่ในหลายๆประเทศ และเชื่อมโยงกันด้วยการค้าออนไลน์เพื่อไปแตะกลุ่ม Global Niche market ในประเทศอื่นให้ได้

หากจะมองอีกด้าน คือ วิธีการประกอบธุรกิจของ SMEs  ยุคใหม่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะคนให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบ Business Model เห็นหน้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างชัดเจน  เปลี่ยนจากคนที่เคยทำในสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบ กลายมาเป็นการทำในสิ่งที่ลูกค้ารักและลูกค้าชอบ

นี่จะเป็นอีกจุดที่เพิ่มเติมเข้ามาใน SMEs  รุ่นใหม่ที่ สสว. ตั้งใจจะเข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีหลายโครงการ ทั้งการสานต่อโครงการดีๆที่มีอยู่ต่อไป  โครงการสตาร์ทอัพต่างๆ  โครงการ Strong & Regular  โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs ( Turnaround ) เพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการของ SME ที่มียอดขายตกต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

สิ่งที่ดีจะนำมาร้อยเรียงปรับมิติเพิ่มเติม เหมือนเราดูแล Business ตาม Cycle ของ SMEs ทั้งคนที่เริ่มต้นใหม่  คนที่ทำธุรกิจมาแล้วจุดหนึ่ง  คนกำลังเติบโตแข็งแรง คนที่กำลังเหน็ดเหนื่อยและเผชิญปัญหา ต้องการปรับเปลี่ยนแผน นี่คือแผนที่มีอยู่แล้ว  แต่เรามาสานต่อไปอีกหนึ่งปี เพราะว่าปีงบประมาณเราเขียนไว้ล่วงหน้า

ด้านนโยบาย Internationalization ที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมไทยมีของดีจำนวนมาก  ทั้งโลกรู้จักประเทศไทย เริ่มจากเอเชีย เชื่อมโยงประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และในอีกหลายประเทศที่คาดว่า จะเป็นลูกค้าของเราได้ เพราะมีความต้องการในผลิตภัณฑ์และการบริการของไทย  ซึ่งเราจะเข้าไปทำการตลาดเพื่อให้เป็นลูกค้าเป้าหมาย

นโยบายใหม่ที่เข้ามาเสริมศักยภาพสสว.ในปี 2018

นอกจากงานสานต่อนโยบายแล้ว  ผอ. สุวรรณชัย  ยังเสริมว่า  มีอีก 2 เรื่องสำคัญคือถือเป็นเรื่องใหม่ของสสว. ที่มองว่าคนในองค์กรเป็นคนที่มีคุณภาพและอยู่กันมานานมีประสบการณ์  เห็นกลไกลการพัฒนา SMEs ในแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564)  มาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นจึงจะร้อยเรียงจากแผนนั้น แล้วมาสร้างบุคลากรภายใน   ดึงศักยภาพที่ทุกคนมีมาขยายผลอยางเต็มที่ เพื่อให้บุคคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตของ SMEs  โดยใช้คีย์เวิร์ดคำว่า Re - inventing SME Future หมายถึง เราจะสร้างอนาคตให้ SMEs  ผ่านการสร้างบุคคลากรที่มีอนาคต และในส่วนนี้เองเป็นการสร้าง SMEs ต่อเนื่องด้วยความรัก ความเข้าใจ  และการเข้าถึง

โดยมีพื้นฐานและจุดยืนที่มีความรักและความอบอุ่นเป็นกันเอง เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยง เราจะเป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ร่วมทาง เป็นคนที่อยากทำงานไปด้วยกัน  เราเรียนรู้ระหว่างกัน และมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน  

การที่เราพูดถึงบุคลากรภายใน เพราะเรากำลังต้องการให้บุคลากรภายในนำศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่ ผมมีหน้าที่เสริมทุกคนให้นำจุดแข็งออกมา  ระเบิดจากข้างในแสดงผลงานจากตัวเอง จากกลุ่มและจากทีมงานที่มีอยู่

ในเรื่องเดียวกันนำมาใช้กับ SMEs  เพราะทุกคนมีความเก่ง มีความรอบรู้ในสิ่งที่ตนเองถนัด เราจะระเบิดจากข้างใน จากองค์กรได้อย่างไร   ซึ่งจะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนไปพร้อมกัน   เพื่อทำให้องค์กรและเจ้าของกิจการนั้น พร้อมที่จะระเบิดจากข้างใน ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่ประสงค์ให้คนไทยเก็บความรู้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สร้างความชำนาญอย่างต่อเนื่อง  จนเป็นความรู้ที่ติดตัวแล้วพร้อมจะระเบิดจากข้างในออกมาสู่ภายนอก   และขยายศักยภาพของระบบทุกอย่างที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ และการเติบโตส่วนบุคคลและองค์กร ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จและเจริญเติบโตต่อไป 

ขณะเดียวกันจะใช้กลไกนี้ในการขับเคลื่อน แคมเปญ  “SMEs  วันนี้ดีเร็ว” คือจะพัฒนา SMEs ให้มีสินค้าที่มีคุณภาพดี ผลิตได้อย่างรวดเร็ว บริการดี บริการเร็ว    โดยชวนคนไทย ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ใส่  “แฮชแท็ค # SMEs วันนี้ดีเร็ว”  ทุกวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 เดินหน้าเข้าร้าน  SMEs  โดยแคมเปญนี้จะเริ่มลอนช์ชิ่งทั่วประเทศในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เป็นระยะเวลา  1 ปี

 

SME ONE  โครงการรณรงค์เพื่อ SMEs  ทุกระดับ

ผอ. สุวรรณชัย ยังมีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งมั่นที่จะรณรงค์ให้คนไทย หันมาใช้สินค้า ร้านค้า และบริการร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวของSMEs ไทย  โดยจะมีป้ายสัญลักษณ์ SME ONE ไปติดที่ร้านต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายสสว.  ประมาณ 3 แสนราย และจากนี้ไปจะมีการวางแผนผัง แบ่งโซนขยายร้านที่ติดโลโก้ SME ONE เพิ่มขึ้นอีก

แคมเปญนี้คาดหวังเพื่อปรับทัศนคติและจิตสำนึก ในการชวนคนไทยหันมาอุดหนุน SMEs ไทย  เพราะวันนี้หาก SMEs จะดีได้นั้น คนไทยต้องมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาจะเห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับ SMEs  มาโดยตลอด ซึ่ง SMEs ก็มีการ พัฒนามาตามลำดับ   แน่นอนว่าสินค้ามีทั้งดีและยังที่ปรับพัฒนา   ซึ่งหากคนไทยหันมาใส่ใจในผลิตภัณฑ์ของคนไทยด้วยกันเอง  ก็จะได้รับรู้ว่า สินค้า SMEs ไทยเราดีเพียงใด    เราพิสูจน์ได้ด้วยการหันไปช่วยซื้อ ทุกวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 โดยให้เดินหน้าเข้าร้าน SMEs    ซึ่งหากซื้อแล้ว  สินค้ายังไม่ดี SMEs ที่ขายไม่ดีก็ต้องมีการปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นเร็วขึ้น ส่วนที่ขายดีอยู่แล้วก็มีกำลังใจ   ที่ผ่านมา SMEs เหนื่อยมาก ในวันนี้กระเป๋าต้องมีเงิน ขายของก็ขายยาก และยังต้องแข่งขัน การกระตุ้นด้วยแคมเปญนี้ สุดท้ายแล้วทำให้ SMEs  ไทยมีเงินเข้ากระเป๋า โดยผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการช่วยซื้อ

ส่วนแคมเปญช่วยเหลือที่ผ่านมาของภาครัฐนั้น อิงกับห้างสรรพสินค้าหรือว่ากิจกรรมสัญจรจัดบู้ทในงานต่างๆ ส่วนนี้เราคนซื้อต้องตั้งใจไปซื้อ ซึ่งก็ยังไม่ยกเลิก คงทำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมี SME ที่มีร้านตึกแถวอยู่ริมถนนหลายแห่ง ที่ไม่เคยเข้าถึงงานสัญจรขายสินค้าลักษณะนั้น จะเข้าไปขายในห้างฯก็เข้าไม่ได้

ผอ. สุวรรณชัย   กล่าวถึงการทำแคมเปญนี้ขึ้นมา เพื่อหวังชวนคนไทยไปซื้อของที่ร้านตึกแถวหลายแห่ง ที่ไม่เคยร่วมงานออกบู้ทขายสินค้า ไม่เคยไปสัญจรกับรัฐบาล เข้าห้างฯก็ไม่ได้  เราจะไม่ลืมเค้า เราจึงชวนคนว่า ช่วยเดินเข้ามาหน่อย จะซื้อของอยู่แล้ว ของต้องกินอยู่แล้ว จะซื้อข้าวอยู่แล้ว  มาซื้อกับพี่ๆพวกนี้หน่อย ผมต้องการให้พวกเราช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เข้าห้างฯไม่ได้ หรือเข้าไปแล้วผลิตภัณฑ์ไม่ถึงเกรด ขายก็ขายไม่ดี ไปงานสัญจร  ไปออกงานแฟร์ก็ลดราคาไม่ได้เพราะไม่เหลือกำไร แต่ร้านเหล่านี้มีสต๊อกเหลืออยู่ พร้อมจะขาย แค่ปรับสำนึกให้คนไทยเดินเข้าไปช่วยเหลือ และนี่คือที่มาของแนวคิดแคมเปญ SME ONE ของ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คนใหม่ ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “ เพื่อเติมเต็มด้านความช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อผู้ประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือกระจายไปอย่างทั่วถึงใน SME ทุกๆระดับ”

Last modified on Sunday, 10 December 2017 04:53
X

Right Click

No right click