ผมเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมา และได้รับการศึกษา ในยุคพุทธทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา หรือถ้าเทียบเป็นทศวรรษแบบฝรั่งก็ต้องถือว่าเป็นเด็กที่เกิดในยุค 60s แต่เจริญเติบโต เริ่มมีความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนเข้าสู่ Formative Years ในระหว่างยุค 70s-80s

สมัยโน้น เมื่อผู้ใหญ่ถามว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" เด็กส่วนใหญ่มักจะตอบว่า อยากเป็นนักบินอวกาศ หรือนักวิทยาศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นสุดยอดปรารถนาของเด็กสมัยนั้น สมัยที่ Apollo 11 นำมนุษย์ขึ้นไปเหยีบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก และชื่อเสียงของนักบินอวกาศเหล่านั้น โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่จดจำได้ยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารบกของไทยเสียซ้ำ

หุ้นชั้นแนวหน้าของโลกที่คนนิยมลงทุนกันมากในสมัยโน้นคือ Coca-Cola, Sears, Philip Morris (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Altria) และ GE หรือ General Electric

หุ้นเทคโนโลยี (สมัยโน้นยังไม่เรียกว่า Hi-Tech) ซึ่งนิยมกันในหมู่ผู้ลงทุนหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น ก็มีเช่น Polaroid, Xerox, Texas Instruments, และต่อมาก็ IBM เป็นต้น โดยกิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ยกเว้น Philip Morris แล้ว กิจการอื่นล้วนมีส่วนพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการอวกาศ" และ "Moonshot" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สื่อมวลชนสมัยนั้น มักชอบใช้คำเขื่องๆ มาอธิบาย ทำนอง "นับเป็นก้าวย่างสำคัญของมนุษยชาติ"....ว่างั้น

ฝรั่งเรียกหุ้นเหล่านี้ “Nifty Fifty” คือเป็นหุ้นสำคัญระดับ Blue Chip ของสหรัฐฯ นั่นเอง

จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบัน ยกเว้น Altria (และอาจจะอนุโลมนับ Coca-Cola เข้าไว้ด้วย) หุ้นที่เหลือได้กลายเป็น "ไก่รองบ่อน" ไปเสียแล้ว ช่างสอดคล้องกับกฎอนิจจังของพุทธศาสนาเสียนี่กระไร

เดี๋ยวนี้ ถ้าไปถามผู้ลงทุนที่ถือตัวว่าหัวทันสมัยและทรงภูมิ ว่าหุ้นยอดนิยมชั้นแนวหน้าของโลกคืออะไร ร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า "หุ้น FAANG”

FAANG คือ Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google)

“ห้าใหญ่" ของ Nifty Fifty ในปัจจุบันกลายเป็นกิจการไฮเทคไปเสียสิ้น

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิจัยฝรั่ง ได้ไปถามเด็กๆ อเมริกันสมัยนี้ว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?"

หลายคนซึ่งดูฉลาดเฉลียวและฉะฉานที่สุดในกลุ่ม มักจะตอบว่า "อยากเป็นยูทูปเบอร์" (แทนคำตอบของเด็กรุ่นก่อนหน้านั้น ซึ่งมักตอบว่า "อยากเป็นนักฟุตบอล" “นักร้อง" "ดาราฮอลลีวูด" “นักวิทยาศาสตร์" หรือ "นักธุรกิจ" และ "ผู้ประกอบการ" เป็นต้น)

แน่นอน เดี๋ยวนี้ เรามีคำว่า “YouTube Celebrities” คือเหล่าดาราที่โด่งดังและมีอาชีพของตัวเองแบบเป็นล่ำเป็นสันในช่อง YouTube ของตน เด็กสมัยนี้แทบทุกคนบริโภค YouTube และ Social Media

เฉพาะเกมอย่างเดียว ก็เล่นกันแยะมากแล้ว (เว็บไซต์เกมอย่าง WePC ประมาณว่าทุกๆ วันมีคนเล่นวิดีโอเกมทั่วโลกถึงกว่า 2,500 ล้านคน และ Pew Research Center พบว่า 60% ของผู้ชายที่อายุระหว่าง 16-29 ปี เล่นวิดีโอเกม และ 53% ของผู้ชายที่อายุระหว่าง 30-49 ปี ก็ยังคงเล่นเกมต่อเนื่องมาอีก)

"เซียนเกม" สมัยนี้ สามารถทำเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วยการเล่นวิดีโอเกม หลายคนมีช่องของสตรีมมิ่งของตัวเองบน YouTube และ Twitch ยิ่งมีคนเข้ามาดูพวกเขาเล่นเกมมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะได้เงินจากค่าโฆษณา และผู้ชมจำนวนมากก็บริจาคเงินให้พวกเขาอีกด้วย

อย่าง Tyler “Ninja” Blevins เซียนเกม Fortnite (ซึ่งคาดว่ามีผู้เล่นทั่วโลกกว่า 125 ล้านคน) นั้น ก็คาดกันว่ามีรายได้ประมาณ 500,000 เหรียญฯ ต่อเดือน หรืออย่าง Daniel Middleton เซียนเกม Minecraft ก็คาดว่ามีรายได้ในปี 2560 ทั้งปี จากการเล่นเกมดังกล่าวถึง 16.5 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 50 ล้านบาท เลยทีเดียว (ข้อมูลจากนิตยสาร ESPN ฉบับ กันยายน 21)

เห็นหรือยังว่า ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงอยากเป็น YouTuber

แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่สายเกมสายเดียวเท่านั้น ยังมี YouTuber สายอื่นอีกนับไม่ถ้วนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกทั้งในเชิงชื่อเสียงและรายได้

นั่นเป็นเพราะผู้คนในโลกบริโภค YouTube (และ Social Media) กันมาก ตัวเลขที่มักนำมาอ้างอิงกันคือ "11 ชั่วโมงต่อวัน" หมายความว่าคนสมัยนี้ ใช้เวลาโดยเฉลี่ยคนละ 11 ชั่วโมงต่อวัน ก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับ Electronic Media กัน แน่นอน มันเป็นการเสพติดอย่างหนึ่ง!

ความหมายของคำว่า "เสพติด" คืออะไรก็ตาม หากเราได้ลองบริโภคมันเข้าไปแล้วระดับหนึ่ง มันจะเรียกร้องให้เราต้องหามาบริโภคซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง และจะต้องบริโภคมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อสนองให้เกิดความพอใจที่ได้บริโภคมัน เห็นหรือยังครับว่าทำไม Altria และ Coca-Cola ถึงอยู่ยงอย่างยิ่งใหญ่มาได้เป็นร้อยๆ ปี เพราะยักษ์ใหญ่เหล่านี้เขาค้าขาย “นิโคติน” และ “คาเฟอิน” ซึ่งใครจะว่ายังไงก็ช่าง สำหรับผมแล้ว มันเป็น Stimulant ที่ทำให้ "เสพ" หรือ "บริโภค" แล้ว "ติด"

ไม่แปลกใช่ไหมครับที่ Starbuck เติบโตเร็วมาก และอภิมหาเศรษฐีระดับนำของไทย 2 ตระกูล สามารถสร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย มาเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกได้ ด้วยการค้า “แอลกอฮอล์” และ “คาเฟอิน” คือตระกูล สิริวัฒนภักดี และ อยู่วิทยา

ผมคงไม่ต้องพูดว่าของพวกนี้มี Dark Side ยังไงบ้าง เพราะท่านผู้อ่านนิตยสาร MBA ฉบับนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงภูมิด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับผู้ค้าสารเสพติดยุคก่อน พวก FAANG ซึ่งเป็นผู้ค้า Social Media หรือสารเสพติดยุคใหม่ ร่ำรวยกันมากเพียงใด

แน่นอน การเสพติด Social Media มากเกินไป ย่อมต้องมี Dark Side เช่นเดียวกัน เป็นที่รับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า การหมกมุ่นอยู่กับ Social Media มากเกินไป อาจนำมาสู่โรคหลายโรค เช่นโรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียด และโรคเหงา

นี่ยังไม่นับว่าคนจำนวนมากกังวลว่าตัวเองจะดูไม่ดี และตัวเองจะพลาดรถไฟ (FoMo หรือ Fear of missing out) ตลอดจนถูกด่าว่าและดูถูกดูแคลน (Social Bullying) ผ่าน Social Media แต่สำหรับผม ผมว่าด้านมืดเหล่านี้ยังไม่น่ากลัวเท่าใด เพราะมันยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว และยังรักษาได้ ยังไม่กระทบต่อส่วนรวมและภาพรวม สักเท่าใด

สำหรับผม ผมว่า Dark Side ที่สำคัญยิ่งของ Social Media คือ "มันมาแย่งเวลาและความสนใจของมนุษย์" ไป มันทำให้เรา "ทำงาน" ได้น้อยลง และที่สำคัญ "มีเวลาคิด" “เวลาตรึกตรอง" น้อยลงด้วย

อย่าลืมว่า "เวลา" เป็นทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์

มนุษย์เรามี "เวลา" จำกัด ถ้าเรา "หมดเวลา" เราตาย...

ผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยชั้นแนวหน้า เคยเล่าให้ผมฟังว่า เพื่อนเศรษฐีของท่านคนหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตายในอีกไม่ช้า เปรยให้ฟังว่าอยากจะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่หามาได้ในชีวิตนี้ ให้กับภารโรงคนหนึ่งเพื่อแลกกับชีวิตของตัว...

“กูอยากจะต่อเวลา" เขาพูด

หากมนุษย์เรามีเวลาคิดและทำงานน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเวลาในการผลิต ก็ย่อมจะน้องลงด้วย สำหรับผม มนุษย์ต้องทำงานและต้องผลิต จะอยู่เฉยๆ แล้วสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ขึ้นมา หาได้ไม่ความข้อนี้ ฝรั่งซึ่งคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งใช้กันอยู่ในโลกใบนี้ รู้กันดีอยู่แล้ว ในคัมภีร์ไบเบิล มีข้อความที่พระเจ้าตรัสกับมนุษย์คู่แรก หลังจากได้กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเข้าไปแล้ว อย่างชัดเจนว่า “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้า จนเจ้ากลับไปเป็นดิน เพราะเจ้าถูกนำมาจากดิน และเพราะเจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม" (ปฐมกาล 3:19)

นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องลงมือลงแรงผลิต และเรามีเวลาจำกัด จะนั่งๆ นอนๆ คอยกินจาก Passive Income อย่างเดียว หาได้ไม่ ลองคิดในเชิงเศรษฐกิจดูสิครับ ถ้าการผลิตน้อยลง รายได้ของคนส่วนใหญ่ก็น่าจะน้อยลง...ใช่ไม่ใช่?

แล้วถ้ารายได้ของคน ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจภาพรวมถือเป็น "ผู้บริโภค" ด้วย ลดลง รายได้ของภาคธุรกิจและภาคราชการ (ภาษี) ย่อมลดลง เป็นเงาตามตัว และกำไรก็ย่อมลดลง

ทีนี้ลองหันกลับมาพิจารณาพวก FAANG ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจาก "รายได้ค่าโฆษณา" แต่รายได้จากการโฆษณา ย่อมมีที่มาจาก "งบโฆษณาของกิจการ" ซึ่งมีที่มาจาก "รายได้และกำไร" ของกิจการนั้นๆ ซึ่งจะมากจะน้อย ก็ต้องขึ้นอยู่กับ "รายได้ของผู้บริโภค" อีกทอดหนึ่ง

แล้วท่านผู้อ่านคิดว่า "รายได้ของผู้บริโภค" มีอะไรเป็นตัวกำหนด

ผมว่าตัวกำหนดสำคัญคือ "เวลา"

นั่นแหล่ะครับ IRONY OF LIFE ที่เรากำลังเผชิญอยู่

ตอนนี้กำลังใกล้ฤดูเลือกตั้ง ผมกำลังรอดูอยู่ว่า พรรคการเมืองพรรคไหน จะคิดตรงนี้แตก


บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

Page 3 of 3
X

Right Click

No right click