CUTIP หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกร

July 21, 2020 4591

หากพูดถึงหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกภายในประเทศ เรามักคุ้นเคยกับการเรียนที่เน้นความเชี่ยวชาญหรือเฉพาะด้านสาขานั้นๆ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของตลาดงาน

แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายรวมไปถึงทักษะของพนักงานที่องค์กรมองหา หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของกิจการก็ต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรสหสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (CUTIP) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้นิสิตได้มีไอเดียสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม ในขณะเดียวกันก็สามารถนำนวัตกรรมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ ถือเป็นหลักสูตรที่ริเริ่มบนรากฐานนวัตกรรม และสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างไปจากหลักสูตรทั่วไปได้อย่างชัดเจน ศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตร ได้เผยถึง Core Concept ของหลักสูตร กับทีมงานนิตยสาร MBA เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

“เนื่องจากตอนนี้มีสถาบันหลายแห่งเริ่มหันมาทำหลักสูตรคล้ายกัน เรายังไม่มีแผนจะเปลี่ยนหลักสูตรแต่จะเน้นไปที่การดึงเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ให้มากขึ้น มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่โดยทั่วไปการเรียนจะเป็นลักษณะที่นิสิตเข้ามาเรียนเป็น Course Work จบเป็นเทอมๆ มีการบ้าน แต่หลังจากนี้เราจะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะ Coaching Base System และ Design Thinking Base นิสิตจะต้องเรียนควบคู่กับภาคปฏิบัติ รวมถึงมีการ Coach ด้วย เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่า นิสิตจะสามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอนนี้เราทำในรูปแบบเป็น Module เริ่มตั้งแต่การหาไอเดีย หา Pain Point หา Customer Insights ว่าจริงๆ เป็นอย่างไร ก็จะได้เป็น 1 Module เท่ากับ 3 หน่วยกิต พอได้โจทย์มาก็จะเข้าสู่การหาเทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาโจทย์ที่ต้องการ เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทุกขั้นตอนที่เป็น Module จะมีอาจารย์จุฬาฯ เป็นทีม Coach รวมถึงผู้บริหารจากบริษัทระดับ SET 50 หรือหน่วยงานภาครัฐอย่าง NIA สวทช. กระทรวงการคลัง ภาคแบงก์และจากบริษัท Startup ท่านที่ประสบความสำเร็จจากสนามจริง มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เรียน” ศ.ดร.นงนุช กล่าว

แกนเดิมของ CUTIP คือการที่นิสิตหาโจทย์ขึ้นมา ส่วนเราสร้างความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถแก้ไขและทำให้เกิดโครงการขึ้นได้จริง รวมถึงตอนนี้มีแนวทางการ Coaching โดยผู้รู้และเชี่ยวชาญก็จะมีส่วนผลักดันให้เป็นผลสำเร็จได้มากขึ้นทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและส่วนที่เกี่ยวกับภาครัฐ 

คืบหน้าทั้งวิชาการ&งานวิจัย

ศ.ดร. นงนุช เผยถึงความคืบหน้าของหลักสูตร และสถาบันฯ ว่า “ตอนนี้เรามีจำนวนนิสิตปริญญาโท 125 คน ปริญญาเอกราว 45 คน ที่กำลังเรียนอยู่ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารเป็นปีที่สอง  อาจารย์ก็พยายามผลักดันให้มี Success Case เกิดขึ้นจริง ก็ร่วมสิบกว่าโปรเจ็กต์ และมีการได้รับทุนจาก TED Fund เคสที่ประสบความสำเร็จเช่น เคสของนิสิตยงพฤทธิ์ เยี่ยงอร่ามกุล นิสิตปริญญาโท ที่ทำแอปพลิเคชั่น 'My Style' ซึ่งเป็นระบบการจัดการหลังบ้านธุรกิจแฟชั่นอีคอมเมิร์ซ โดยความพิเศษคือสามารถแนะนำการแต่งกายของลูกค้าให้ไม่ตกเทรนด์โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning”  โดยคำกล่าวของ ดร.นงนุชซึ่งยังเผยต่อถึงเคสของนิสิตระดับปริญญาเอกที่ไปคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ด้วย 1. เหรียญเงิน 2. เหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษจาก Association of Polish Inventors and Rationalizers ในงานนวัตกรรมระดับโลก 4th International Exhibition of Inventions Geneva ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

โดยมีทั้งหมด 3 โครงการด้วยกัน คือ Pre-aseptic-Sterilization-System Plus (PASS+) for controlling the growth of microorganism in dairy industry ซึ่งเป็นการออกแบบระบบชั้นฟิลม์บางที่มีขนาดเฉพาะในการลดและควบคุมจุลินทรีย์ในของเหลวทึบแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้รางวัลคือ Golden Silk by BIO Colostrum หรือเซรั่มบำรุงผิวจากน้ำนมสีทอง เป็นผลงานของ ดร.เดวิด มกรพงศ์ และ ผศ. นายแพทย์ ดร. อมรพันธ์ เสรีมาศพันธุ์ ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการวิจัยนมแรกเกิดของโคนมในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในอุตสาหกรรมและในระดับวิชาการ โดย Colostrum ที่ผ่านกระบวนนาโนแคปซูลแล้วสามารถการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ ยังมีเคสทางด้านนวัตกรรมการเงินของนิสิตปริญญาเอกกิตตินุที่เข้าสู่ตลาดการเทรดหุ้นจริง

 

สำหรับอีกโครงการวิจัยที่ได้รางวัลคือ Innovative Whitening Serum from nano-encapsulation of lady’s finger and vitamin C from puree extract นั้นเป็นงานวิจัยจากการนำกระเจี๊ยบเขียวจากภาคเหนือของประเทศไทย มาผ่านกระบวนการเตรียมวัตถุดิบซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ ก่อนเข้ากระบวนการห่อหุ้มเพื่อรักษาสาระสำคัญทั้ง 4 ชนิดที่่ทีมวิจัยได้มาจากทุกส่วนของกระเจี๊ยบเขียว ประสิทธิภาพสารธรรมชาติที่ได้นั้น มากกว่าสารสังเคราะห์ที่เป็นที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมทุกวันนี้และมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความกระจ่างใสและปรับเม็ดสีผิวให้ดูเป็นธรรมชาติได้ภายใน 14 วัน และนั่นคือผลงานวิจัยล่าสุดภายใต้การผลักดันในวาระของ ศ.ดร.นงนุช

ความท้าทาย และ การมุ่งเป้างานบริการวิชาการ

ความท้าทายที่ผ่านมาสำหรับประเด็นเรื่องจำนวนผู้เรียนที่มีแนวโน้มลดลงในทั้งภาคอุตสาหกรรมการศึกษา ด้วยสาเหตุหลักอันเป็นมาแต่โครงสร้างประชากรที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป แต่ด้วยจุดแข็งของหลักสูตรยังทำให้ CUTIP ยังสามารถรับนิสิตได้ตามจำนวนเป้าหมาย กระทั่งในระดับปริญญาเอกที่ถือว่าเป็น Blue Ocean เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนนอกเวลาและเกี่ยวกับนวัตกรรม ซึ่งตอบโจทย์เจ้าของกิจการที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นระยะเวลานานได้

“เราอยู่ภายใต้บัณฑิตมหาวิทยาลัย ที่มีการบริหารจัดการร่วมมือกันเป็นสหสาขา เราระดมสรรพกำลังด้านบุคลากรของจุฬาฯ เพื่อที่จะตอบโจทย์ในจุดอ่อนของการศึกษาในปัจจุบัน หลักสูตรเราจะเป็นการเสริมทุกๆ ด้าน ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้เชิงพาณิชย์ให้ได้จริง ดังนั้น จะมีทั้งเรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจ การหานวัตกรรมใหม่ๆ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การสื่อสาร การทำแบรนด์ดิ้ง กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายการค้า รวมถึงมีทีมอาจารย์ที่จบด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย มาช่วยในเรื่องของกฎหมายดิจิทัลอีกด้วย เพื่อเป้าหมายของการเรียนที่ต้องการให้บัณฑิตประสบความสำเร็จไม่เพียงการได้มาซึ่งปริญญาและความรู้ที่อยู่บนหิ้ง แต่จะต้องเป็นผลผลิตที่เป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.นงนุช กล่าว

นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรของ CUTIP ได้แนวทาง Design Thinking เข้ามาใช้เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่กับผู้เรียน และผู้สอน โดย ศ.ดร.นงนุชได้ยกตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม SET50 ซึ่งธุรกิจโน้มเอียงไปในแนววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเมื่อพบ Pain Point ในบริษัทเขามักให้บริษัทเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ หรือบริษัทที่ปรึกษาจากต่างชาติเข้ามาอบรมแต่บริษัทส่วนมากมักไม่เข้าใจเรื่องงานวิจัยอย่างแท้จริงหรือไม่เข้าใจธรรมชาติของนักวิจัยไทย ดังนั้นจึงไม่สามารถหาโอกาสทางเทคโนโลยี หรือ แนวโน้มทางเทคโนโลยีจริงๆ ไม่ได้ แต่เมื่อ CUTIP เข้าไปช่วยทำการจัดอบรม  เรานำจุดเด่นของเรา คือ เรามีทีมนักวิชาการ ทุกๆ ศาสตร์ ทั้งสายวิทย์ สายธุรกิจ และ สายการตลาด ที่มีประสบการณ์จริงและเข้าใจเรื่องธุรกิจ ผ่านการทำธุรกิจมาแล้วด้วยตนเอง จึงทำให้สามารถสร้างประสบการณ์จัดอบรมได้ตรงเป้าหมายและได้ประสิทธิภาพมากกว่า

 

“หลังจากที่มีการออกไปจัดอบรมให้กับหลายๆ องค์กร ทำให้ CUTIP สามารถปรับกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นองค์ความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมและการจัดการนวัตกรรมได้จริง เราเริ่มค้นพบความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน ทำให้เริ่มมาเปิดการอบรมรายวิชาเพื่อเป็นการบ่มเพาะ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่อง Tech Inno Lab ซึ่งทำร่วมกับศิษย์เก่า CUTIP และ NIA ก็ได้รับความสำเร็จที่เป็นไปได้ดี และเริ่มมีตัวเลขความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น สามารถนำตัวเลขรายรับส่วนนี้กลับไปสนับสนุนอัดฉีดโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจของนิสิตให้เกิดขึ้นได้จริงในอีกทางหนึ่งอีกด้วย” ผู้อำนวยการ CUTIP เผย

ในส่วนของการเติบโตปีนี้  CUTIP  เน้นการก้าวออกสู่งานบริการวิชาการภายนอกมากขึ้น เพิ่มพันธมิตรด้านต่างๆ  แทนที่จะรอให้นิสิตเข้ามาหาหลักสูตร  ทางหลักสูตรก็ปรับตัวเปลี่ยนเป็นการวิ่งออกไปหาผู้เรียน  มีการจัดอบรมให้หน่วยงานภายนอก เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง การจัดอบรมเพื่อส่งเสริมการสร้าง Mindset ในเรื่องการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์  เพื่อเป้าหมายในการตอบโจทย์ต่อผู้บริโภคและทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้บริษัทของเขาเติบโต พยายามสร้างให้ส่วนของนักวิจัยและนักการตลาดเข้ามารับมุมมองของแต่ละฝ่าย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับทางหลักสูตรที่สร้างเส้นทางความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต ทั้งด้านการวิจัยและการเรียนการสอน อย่างกรณีเช่น  สวทช. ตอนนี้ CUTI Pกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพูดคุย  เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาความร่วมมือเป็นหลักสูตรเพื่อที่ทาง CUTIP จะเข้าไปสอนอยู่ในแคมปัสของ สวทช. เพื่อเป้าหมายในการสร้างความเติบโตทั้งด้านของจำนวนนิสิต และ Collaboration ระหว่างภาครัฐและเอกชน

หลักสูตร นวัตกรรม เพื่อสร้างนวัตกร

แม้ขณะนี้ดูเหมือนว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีแนวโน้มไปในแนวทางคล้ายๆกัน แต่ ศ.ดร นงนุช เผยว่า

แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าหลักสูตร CUTIP มีความแตกต่าง เพราะคณาจารย์ของเรามาจากทุกคณะ ทั้งสายวิทยาศาสสตร์ เทคโนโลยี บริหารจัดการธุรกิจ และ กฎหมาย นอกจากนี้เรามีองค์ความรู้ที่มีทั้ง Innovation Synthesis และ Design Thinking Base หรือ Human Centric Base และ Coaching Base อย่างถ้าเรียนวิชาวิจัย ก็จะมีองค์ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และพาณิชย์ด้วย เพราะอาจารย์เรามาจากคณะต่างๆ ที่ทำวิจัย โดยมีหลักสูตรเราเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เช่น นิสิตทำวิจัยเรื่องนวัตกรรมเครื่องมือการแพทย์ นิสิตจะสามารถออกแบบเครื่องมือการแพทย์ที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานจริงตรงกลุ่มเป้าหมายผ่านกระบวนการ Human Centric Base research จากนั้น นิสิตยังสามารถเลือกงานวิจัยที่เป็น deep tech จากอาจารย์นักวิจัยชั้นนำของจุฬาลงกรณ์ฯ และยังสามารถ Business Model  ได้อีกด้วย เพราะการที่เรานำ Coach ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ คนที่ประสบความสำเร็จทาง Startup และธุรกิจเข้ามาประสานกัน จะเป็นปัจจัยเสริมที่สามารถทำให้นิสิตประสบความสำเร็จได้ เป้าหมายของเราคือหลักสูตรนวัตกรรมสร้างนวัตกรที่ทำงานได้จริง สร้างผลงานได้จริง สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาจริงๆ ซึ่งต้องมีกระบวนการมากมายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ 

Core Content และความโดดเด่นของหลักสูตร CUTIP

ศ.ดร. นงนุช กล่าวถึงความโดดเด่นของ หลักสูตรของ CUTIP ว่า จะเน้นเป็นการปฏิบัติได้จริง  งานวิจัยของนิสิตที่จบการศึกษาต้องเป็นรูปธรรมชัดเจน มีการศึกษาตั้งแต่เริ่ม ไปจนถึงการตลาด จับต้องได้ เราต้องการให้เขาสามารถนำงานวิจัยมาเพื่อทำตลาดหรือขายแผนของเราให้กับเอกชน หรือ ในอีกมุมหนึ่ง ภาคธุรกิจหรือบริษัทฯ ที่มีปัญหาหรือโจทย์มาให้เราแก้และต้องการได้นวัตกรรมไปใช้ในการสร้างความเติบโตให้กับองค์กร นั่นเป็นอีกแนวทาง  และความโดดเด่นอีกประการคือการออกไปดูงานต่างประเทศ อย่างปีที่แล้วเราพานิสิตไป Silicon Valley พบ CTO ของ eBay พาไปญี่ปุ่นพบประธาน Softbank ของญี่ปุ่น และบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ อีกหลายองค์กร  อาทิเช่น  Pinterest, StartX, TESLA หรือ Facebook เมื่อนิสิตได้ไปศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ได้เข้าไปพูดคุยและตั้งคำถามต่างๆ ทำให้เขาได้เปิดมุมมอง ได้รับแรงบันดาลใจและมองเห็นโอกาสที่กว้างขึ้น

สำหรับ Startup ที่มีการเกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา ถ้ามองแล้วจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ กลุ่มที่สามารถอยู่รอดต่อไปได้และกลุ่มที่ทำเพื่อจะให้สอดคล้องกับเทรนด์ เพราะฉะนั้น startup ที่จะอยู่ได้ยาวต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งคาดการณ์กันว่าในอนาคตบริษัทใหญ่ๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่มาก แต่จะมีบริษัทเล็กๆ จำนวนมากที่สามารถเคลื่อนที่ได้คล่องและปรับตัวได้เร็วเพิ่มจำนวนมากขึ้นมากกว่า และเชื่อว่า’นวัตกรรม’ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแจ้งเกิดของกิจกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

ซึ่งตัว ‘นวัตกรรม’ มีมิติมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี อาจจะเป็น Process ที่ปรับและทำให้ Generate รายได้ใหม่ หรือสามารถสร้าง Service ใหม่ๆ ให้กับตลาด หลักสูตรของเราจะเป็นการผสมระหว่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ซึ่งมักถูกมองข้าม ซึ่งหากมองเห็นในส่วนของการบริหารจัดการและเรื่องการสื่อสาร นำมาปรับให้เข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้คนต่างเจเนอร์เรชั่นจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งทำให้องค์เกิดเติบโต

ผู้เรียนและความสำเร็จ

ศ.ดร. นงนุช เผยถึง ความสำเร็จของหลักสูตรในช่วงที่ผ่านมาว่า “มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นความภูมิใจคือ เราสามารถเพิ่มจำนวนนิสิตได้ตามเป้าหมายและมีคุณภาพ พร้อมที่จะก้าวไปเป็นหลักสูตรระดับนานาชาติ การเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญและเพิ่มการรับรู้ต่อหลักสูตรในสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีพันธมิตรด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น  เมื่อเรามีปัญหาเกิดขึ้น เราสามารถแก้ไขและตั้งเป้าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างการบริการให้เข้าถึงผู้เรียนและผู้สอนได้ในระดับที่ดี”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มกลุ่มนิสิตที่มาเรียนว่า ผู้เรียนปริญญาโทในอดีตจะอยู่ในช่วงอายุ 26-27 ปีตอนนี้ขยับลงมาอยู่ที่ 24 สำหรับระดับปริญญาเอกเมื่อก่อนจะอยู่ระหว่าง 35 – 40 ขึ้นไป ตอนนี้ลงมาที่ 30 ต้นๆ ช่วงความต่างระหว่างกลุ่มกว้างขึ้น น้อยสุดราว 26 ปีไปจนถึงคนอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ยังมีไอเดียและต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งความต่างของวัยนี้ทำให้เกิดความหลากหลาย ผู้เรียนได้รับมุมมองและความรู้ที่กว้างขึ้น เวลากับกลุ่มการทำงาน เรื่องเดียวกันก็จะทำให้ได้หลายมุมมองเป็น Multi-disciplinary ไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น คนที่มาเรียนหลักสูตรนี้ก็เหมือนเป็นการเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่มาจากหลากหลายคณะ มองได้ 360 องศา ทำให้นิสิตสามารถมองปัญหาได้หลายมุมและหาวิธีแก้ได้หลากหลาย นักศึกษาปริญญาโท CUTIP ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตที่เรียนจบแล้วต้องการเพิ่มพูนความรู้และต้องการประกอบธุรกิจเป็นของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ สำหรับปริญญาเอกนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ เจ้าของธุรกิจหรือทายาทที่เกี่ยวกับธุรกิจที่เขาต้องการคำแนะนำและคำปรึกษาจากอาจารย์หรือนักวิชาการผู้รู้โดยตรงซึ่งจุดนี้ตรงใจผู้เรียน เพราะเราเปิดโอกาสให้อาจารย์ทุกท่านในมหาวิทยาลัยเข้ามาบรรยาย เพื่อให้นิสิตเราเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่โดนใจ อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้เรียนที่เป็นอาจารย์ เพราะข้อกำหนดที่ยุคนี้อาจารย์จะต้องจบปริญญาเอก และส่วนที่สามคือ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการนำความรู้ในเรื่องนวัตกรรมกลับไปปรับใช้หรือสร้างให้กับองค์กร แล้วจึงจะเป็นผู้ที่มีพื้นฐานและต้องการต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์

Management Style

ปิดท้าย ศ.ดร.นงนุช ได้ตอบกับนิตยสาร MBA ว่า “หากจะถามว่าอาจารย์ปรัชญาหรือหลักการ หรือสไตล์ทำงานของอาจารย์ว่าเป็นอย่างไร คงตอบไม่ได้ในทันทีและอาจต้องของเวลาคิดพอสมควร เพราะในการทำงานทุกๆวันอาจารย์รู้อยู่อย่างเดียวว่า สิ่งที่เราทำต้องมีประโยชน์และทุกวันต้องดีขึ้น ปัญหามีไว้แก้ไขอย่างกลัวปัญหา ความล้มเหลวคือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งล้มเหลวยิ่งแข็งแกร่ง อย่างมัวเสียใจ อย่ามัวกังวล ยิ้มสู้ทุกสถานการณ์”

อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลาการบริหารจัดการหลักสูตรสิ่งที่ ศ.ดร. นงนุช นำมาใช้ในการทำงานจนสามารถนำพา CUTIP สามารถเดินหน้าและมีความเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับนั้น คือ

ความตั้งใจจริง มุ่งมั่นทำเป้าหมายให้สำเร็จ เมื่อเกิดปัญหาก็มุ่งมั่นที่จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงเพื่อให้งานเดินต่อไปให้ได้ ภายใต้กระบวนทัศน์การประสานทุกฟากฝ่ายให้เชื่อมเข้าด้วยกัน และทำให้เกิด Action มีการรับฟังปัญหาและที่สำคัญคือต้องก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอดไม่หยุดอยู่กับที่


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

 

Last modified on Thursday, 24 June 2021 08:41
X

Right Click

No right click