×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

AEC Connected with MBA National University of Laos

August 03, 2017 3378

ปี 2559 ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศ ก็จะก้าวเข้าสู่บรรยากาศของเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC

โดยพร้อมเพรียงกันแล้ว หากมองดูในเวลานี้ ความเปลี่ยนแปลง การตั้งรับ การเตรียมตัวให้พร้อม เกิดขึ้นมากมายในหลายบริบท และในหลักสูตร MBA หรือหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตของสถาบันการศึกษาหลายแห่งก็เช่นกัน ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในหลักสูตร หรือมีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่สนใจขยายตลาดหรือธุรกิจไปยังตลาดอาเซียนด้วย

ในโอกาสนี้ MBA Magazine จึงขอเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับประเทศไทยที่สุดอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อไปอัพเดทหลักสูตร MBA ของ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หรือ National University of Laos NUOL ที่ได้เปิดสอนมาแล้วตั้งแต่ปี 2009 มาบัดนี้ หลักสูตร MBA ของที่นี่ได้ขยายสาขาวิชา ปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อรับ AEC อย่างไรบ้าง ดร.พันประกิด อ่อนพันดาลา ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึง Background หลักสูตร MBA ที่เปิดสอนในประเทศลาวก่อนว่า

“ปัจจุบันนี้มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตร MBA ที่ประเทศลาวอยู่ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ที่เดียวเท่านั้น จากแต่ก่อนที่มีการเปิดสอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง แต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วได้เกิดการปฏิรูปการศึกษา มีผลให้หลักสูตร MBA ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันการศึกษาทั่วไป ต้องหยุดทำการเรียนการสอนไป เพื่อให้กระทรวงการศึกษาได้ตรวจสอบ และปฏิรูปหลักสูตรให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเหลือการเรียนการสอนในหลักสูตร MBA ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เท่านั้น”

ต่อมา ดร.พันประกิด เปิดเผยถึงแนวโน้มของผู้สนใจเรียนในหลักสูตร MBA ที่ประเทศลาวว่า มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเมื่อปีกลาย ทางคณะเปิดรับสมัครผู้เรียนทั้งหมด 100 คน สาขาวิชาละ 25 คน โดยเปิด 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ การเงินและการธนาคาร การตลาด และการบัญชี แต่ปรากฏว่ามีผู้สนใจมาสมัครเรียนเกือบ 400 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศลาวกำลังพัฒนาและต้องการกำลังคน และเหตุผลส่วนใหญ่ของชาวลาวที่สนใจมาเรียนในหลักสูตร MBA คือ การมาอัพเดท เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อไปปรับใช้ในการทำงานในสายงานด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน โดย 1-2 ปี ที่ผ่านมาพบว่า สาขาวิชาที่มีผู้สนใจสมัครเรียนมากที่สุดยังคงเป็นสาขาวิชาบริหารธุรกิจ และที่เพิ่งมาเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ สาขาวิชาการเงินการธนาคาร เพราะเมื่อมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC ทั้งธนาคารลาวเองก็มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น และยังมีธนาคารต่างชาติเข้ามาขยายธุรกิจ เปิดสาขา ในประเทศลาวเพิ่มมากขึ้น บวกกับผู้ทำงานอยู่ในสายงานการเงินการธนาคารเดิม ก็ต้องการเพิ่มพูนความรู้เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดอาเซียนกันด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้น ดร.พันประกิด ยังสะท้อนให้เห็นถึงอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า มีผู้เรียนชาวจีนมาสมัครเรียนในหลักสูตร MBA ที่ NUOL ด้วย โดยชาวจีนเหล่านี้เป็นชาวจีนที่ย้ายเข้ามาทำธุรกิจอยู่ในประเทศลาวระยะหนึ่งแล้วและสามารถสื่อสารภาษาลาวได้ จึงมาศึกษาเพิ่มเติมที่นี่ และสำหรับหลักสูตร MBA ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นี้ ไม่ได้มีเปิดสอนแค่ที่คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เท่านั้น แต่มีเปิดสอนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับภาษาลาว ในอัตราส่วน 50:50 ที่ สถาบันลาว-ญี่ปุ่น ในสังกัดมหาวิทยาลัยด้วย 

 

 

ส่วนเนื้อหาหลักสูตรนั้น ดร.พันประกิดกล่าวชัดเจนว่า ที่จริงแล้ว หลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวนี้ ถือว่าเปิดช้ากว่าที่อื่น ซึ่งเป็นเพราะทางคณะเชื่อมั่นว่า ควรเปิดหลักสูตรเมื่อพร้อมจริงๆ ทั้งคณาจารย์ผู้สอน ที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน และมีจำนวนมากพอที่จะดูแลนักศึกษาที่รับเข้ามาในแต่ละปี โดยทางคณะคำนึงถึงช่วงที่นักศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งที่นี่จะกำหนดให้นักศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวเท่านั้น และอาจารย์คนหนึ่งจะต้องดูแลนักศึกษาอย่างมากไม่เกิน 5 คน จึงจะให้คำปรึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 

เมื่อถามถึงเทรนด์ความนิยมในการเลือกหัวข้อเพื่อทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาลาวในหลักสูตร MBA ในยุคนี้ ดร.พันประกิดเผยว่ามีอยู่ 2 หัวข้อหลัก นั่นคือ การศึกษาเกี่ยวกับ E-Commerce หรือการทำธุรกิจด้วยการใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบัน เช่นการขายของผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างเฟสบุ๊ก เป็นต้น และมีหัวข้อหนึ่ง นักศึกษาก็มักจะสนใจทำทีซิสเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรและองค์กรกับการแข่งขันในตลาดอาเซียน ซึ่งในแต่ละหัวข้อที่นักศึกษาใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้นักศึกษาเลือกทำหัวข้อที่เมื่อได้ผลงานวิจัยออกมาจะสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง หรือพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ด้วย 

ไม่เพียงแค่ความรู้ด้านบริหารธุรกิจที่ทางคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจสอนให้นักศึกษาเท่านั้น หากแต่ในการเรียนหลักสูตร MBA ของที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ยังมีการสอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนา Soft skill อย่าง Leadership Skill โดยมีการสอนเรื่องภาวะความเป็นผู้นำ ที่กำหนดให้เป็นอีกหนึ่งรายวิชาที่นักศึกษาต้องเรียนด้วย ขณะที่บรรยากาศในการเรียนที่นี่ ยังสร้างเสริมให้นักศึกษาได้รู้จักทำงานเป็นทีม รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และได้ฝึกทักษะการเจรจา การ present งาน ไปโดยไม่รู้ตัว

และในส่วนของการพัฒนาหลักสูตร MBA ด้วยกลไกการร่วมมือทางวิชาการ ดร.พันประกิด เล่าว่า ที่ผ่านมา ทางคณะ ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาไปศึกษาดูงานในประเทศกลุ่มสมาชิก ASEAN เพราะเล็งเห็นว่าเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อรู้เขารู้เรา ก่อนเข้าสู่ยุค AEC ในปีหน้า โดยส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ก็มีการติดต่อ สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยไม่น้อย เช่น การร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดการประชุมวิชาการนานาชาติกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประจำทุกปี โดยในงานประชุมวิชาการนี้เองที่จะเป็นเวทีให้นักศึกษาในหลักสูตร MBA ของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยได้มา present ผลงานวิจัยของพวกเขา

นอกจากนั้น ในกลุ่มคณาจารย์ ก็ได้มีการทำงานวิจัยร่วมกันในหัวข้อที่น่าสนใจและคาดว่าจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจได้จริง อย่าง การสำรวจ เปรียบเทียบ พฤติกรรมผู้บริโภคชาวลาวกับชาวไทย ซึ่งใช้สินค้าไทยเหมือนกัน ว่ามีพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อ การบริโภค ที่แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร โดยคณาจารย์ผู้วิจัยทั้ง 2 ประเทศก็เชื่อว่า ความแตกต่างมาจากปัจจัยภายในของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อัตรารายได้ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็มีการศึกษา เปรียบเทียบ ลักษณะการลงทุนของบริษัทไทยที่มาลงทุนอยู่ที่ลาว จะมีการดำเนินงานแตกต่างจากที่บริษัทนั้นทำในประเทศไทยหรือไม่อีกด้วย

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Tuesday, 19 November 2019 07:04
X

Right Click

No right click