การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสู่อนาคตของตนเองและองค์กรที่ดี

May 25, 2021 2882

ทุกองค์กรล้วนแสวงหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่ดีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ทุกองค์กรต่างขับเคลื่อนด้วยบุคลากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า

ยิ่งไปกว่านั้นคุณค่าของบุคคลที่สามารถรวมกันเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรได้ ทุกองค์กรมีสินค้าหรือบริการที่คู่แข่งสามารถพัฒนาได้เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่บุคลากรที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่มีประสิทธิภาพนั้นยากจะลอกเลียนแบบได้ นั่นหมายความว่า ทีมงานที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน ความท้าทายขององค์กร คือ ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำอย่างไรให้เป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ ข้อแรก ทีมที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทีมที่รวมกันเฉพาะกิจเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็น Mindset ของการทำงานเป็นทีมที่มุ่งเน้นประโยชน์ขององค์กรเป็นสำคัญ

อีกประการ คือ ทีมที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีองค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม STECO  ได้แก่ S - Support ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน T - Together ร่วมทุกข์ร่วมสุข E - Equality เท่าเทียมอย่างให้เกียรติ C - Challenge ท้าทายความสามารถ และ O - Opportunity โอกาสในการพัฒนาตนเอง วันนี้จึงขอนำองค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม STECO  มาแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองสู่การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

S - Support ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของทีมงานที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในมิติของความรู้ ทักษะ และทัศนคติ  ในมิติของความรู้ เช่น หากสมาชิกในทีมได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะบางอย่างที่ตนเองไม่ถนัด แต่สมาชิกในทีมอีกคนมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ก็สามารถช่วยเหลือด้วยการใช้ความรู้ที่ตนเองมีเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมได้ เช่นเดียวกันกับมิติของทักษะ หากสมาชิกในทีมมีทักษะเฉพาะที่ทำให้งานเสร็จลุล่วงได้ดี ตัวอย่างเช่น บางครั้งเราถนัดใช้เครื่องมือที่ทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น ก็อาจจะแนะนำเครื่องมือนี้เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมได้ ส่วนมิติของทัศนคติ เมื่อสมาชิกในทีมประสบปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือทางความคิด คงไม่ใช่การช่วยปรับทัศนคติ แต่เป็นการช่วยให้มุมมองหรือแนวคิดที่นำไปสู่ความสำเร็จของงาน มากกว่าการปลุกปั่นให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่องาน ต่อเพื่อนร่วมงาน หรือต่อองค์กร เพราะนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ในบางครั้งอาจจะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในทีมด้วยหรืออาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดีในอนาคต 

T - Together ร่วมทุกข์ร่วมสุข

การร่วมสุข คือ เมื่องานประสบความสำเร็จ เมื่อสมาชิกในทีมทำงานได้บรรลุตามเป้าหมายของงาน เมื่อสมาชิกในทีมจัดการกับปัญหาด้วยความเรียบร้อย ทีมงานที่มีประสิทธิภาพจะร่วมชื่นชมแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ การร่วมทุกข์ คือ เมื่องานไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อสมาชิกในทีมไม่สามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายของงาน เมื่อสมาชิกในทีมไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ทีมงานที่มีประสิทธิภาพจะร่วมแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจกันด้วยความจริงใจ การตั้งคำถาม เช่น งานเป็นอย่างไรบ้าง จึงเป็นเทคนิคหนึ่งที่สำคัญในการเข้าใจสถานการณ์และแสดงออกถึงความยินดีหรือเห็นอกเห็นใจได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับสมาชิกภายในทีมแล้ว จะยังช่วยให้บรรยากาศของการทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทำให้ทุกๆ วันในการทำงานมีแต่ความสุข

E - Equality เท่าเทียมอย่างให้เกียรติ

ทีมที่มีประสิทธิภาพพึงปฏิบัติต่อสมาชิกในทีมด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม คำว่าเท่าเทียม คือ มาตรฐานเดียวกัน เช่น ชื่นชมในความสำเร็จของสมาชิกในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือสมาชิกทุกคนในทีมอย่างเท่าเทียมกัน มอบหมายงานสมาชิกทุกคนในทีมอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันความเท่าเทียมอย่างให้เกียรติ ทีมงานจะต้องรู้และเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในทีม เช่น หัวหน้างานมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการทำงาน มอบหมายงาน และติดตามงาน  ทีมที่มีประสิทธิภาพสมาชิกในทีมทุกคนล้วนมีความสำคัญภายใต้บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง ความเท่าเทียมอย่างให้เกียรติจึงเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละบุคคลให้ดีที่สุดโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่งผลให้สมาชิกในทีมต่างตระหนักในความสำคัญของกันและกัน

C - Challenge ท้าทายความสามารถ

ทีมที่มีประสิทธิภาพต้องทำงานที่ท้าทายความสามารถและเปิดโอกาสให้ทีมงานแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด แปลงศักยภาพของตนเองให้เป็นพลังบวกในการขับเคลื่อนและทำงานภายใต้ความท้าทาย ความท้าทายจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน อาทิ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการวางแผน ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ความท้าทายจึงควรถูกมองเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคในการทำงาน หากทีมงานเป็นคนที่มีพฤติกรรมเชิงรุกก็มักจะแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่งานขาดซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ก็เปรียบเสมือนกระบี่ที่ไม่เคยใช้ในการศึกใด ความคมของกระบี่ก็จะเลือนหายไปและจะกลายเป็นเพียงของไร้ค่า ทีมงานที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ผ่านความท้าทายมานับไม่ถ้วน

O - Opportunity โอกาสในการพัฒนาตนเอง

การทำงานเราคงต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราดีขึ้นกว่าเมื่อวานหรือไม่ เราเก่งขึ้นกว่าเมื่อวานหรือไม่ โอกาสในการพัฒนาตนเองจากการทำงานเป็นทีมจึงมีความสำคัญ เพราะทีมงานที่ดีจะสร้างโอกาสให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ทีมงานที่ดีจะสร้างโอกาสให้เราฝึกฝนทักษะที่จำเป็นได้ตลอดเวลา อยู่ที่สมาชิกแต่ละคนว่าจะใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเองและองค์กรได้อย่างไร หลายคนไม่ยอมรับโอกาสเพราะตกอยู่ในขอบเขตแห่งความกังวล แต่ถ้าเราสามารถขยายขอบเขตแห่งอิทธิพลได้ก็จะค้นพบว่ามีโอกาสในการพัฒนาตนเองมากมายซ่อนอยู่ เช่น การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นต้น

จากองค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม STECO จะเห็นได้ว่าสมาชิกในทีมมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี ทุกคนต่างแสวงหาองค์กรที่ประสบความสำเร็จและทำงานอย่างมีความสุขเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม หากมองว่าสมาชิกในทีม คือ องค์ประกอบที่สำคัญขององค์กร องค์กรที่ประสบความสำเร็จและทำงานอย่างมีความสุขจึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในทีม  ด้วยเหตุนี้ ทีมที่มีประสิทธิภาพจึงต้องเริ่มต้นตัวเราเอง ไม่ใช่หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง องค์กรที่จะแข่งขันได้ต้องอาศัยทีมที่มีประสิทธิภาพ และคนที่มีประสิทธิภาพก็ต้องสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และทำงานเป็นทีมได้ ดังนั้น องค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม STECO  น่าจะเป็นแนวทางการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสู่อนาคตของตนเองและองค์กรที่ดีให้กับหลายๆ องค์กรได้


บทความโดย: ดร. วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ
ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

X

Right Click

No right click