“ความรู้คู่คุณธรรม” (Knowledge and Morality) ถือเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ปรากฏอย่างแพร่หลายบนพื้นที่อารยธรรมหลักของโลกมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นกรีก-โรมัน อินเดีย และจีน สะท้อนถึงคุณค่า ความเชื่อ และวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันที่แต่ละสังคมยึดถือ

กรอบคิดดังกล่าวเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสังคมไทยช่วงปี 2540 เมื่อคณะกรรมการศึกษาวิจัยปัญหาสังคม เปิดเผยว่า ครอบครัวไทยในสังคมเมือง นอกจากไม่อบรมให้ความรู้แก่บุตรหลานในทางที่ถูกต้องแล้ว ยังสร้างค่านิยมในทางตรงข้ามให้เด็ก ท่ามกลางการพัฒนาทางสังคมและเทคโนโลยีล้ำสมัย

เพื่อร่วมส่งเสริมให้เยาวชนไทย ได้เติบโตเป็นคนดี พร้อมเป็นแบบอย่างให้แก่คนรอบข้าง คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงมีแนวคิดมุ่งเผยแพร่ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมตามแนวทางพุทธศาสนา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติพัฒนาตนเอง สร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นโครงการ “สามเณร ปลูกปัญญาธรรม” รายการเรียลลิตี้ธรรมะเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยปัจจุบันล่วงเข้าปีที่ 10

True Blog มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ อดีตสามเณร 10 คน ถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วม การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม รวมถึงเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ

มองปัญหาผ่านการคิดเชิงเหตุผล

อภิภู เตชะอาภรณ์ชัย หรือ เพชร เข้าร่วมโครงการฯ เป็นรุ่นแรก ขณะนั้นมีอายุเพียง 10 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยเขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการด้วยตัวเอง เพราะตระหนักถึงลักษณะนิสัยส่วนตัวที่มีความหุนหันพลันแล่น อารมณ์ร้อน โมโหง่าย ซึ่งอาจนำมาสู่การยั้งคิด ขาด “สติ” และนำมาซึ่งภยันตรายตามมา คิดได้ดังนั้น เพชรจึงน้อมนำคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่ทางธรรมด้วยการบวชเรียน ขัดเกลาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เป็นเวลา 1 เดือนเต็มที่เพชรได้เรียนรู้และฝึกตนภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยมีพระพรหมวชิรสุธี เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นพระอาจารย์ใหญ่ เพชร บอกว่า การเข้าร่วมโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมนำมาสู่ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของชีวิตวัยเด็ก โดยในช่วงแรกของการบวชเรียน เพชรต้องปรับตัวกับระเบียบและกฎเกณฑ์แบบบรรพชิต ซึ่งแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง รวมถึงเข้าร่วมบททดสอบทางจิตใจต่างๆ

แต่ด้วยการฝึกตนเพียง 1 เดือน ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ จากเดิมเป็นคนใจร้อน หุนหันพลันแล่น ก็กลายเป็นคนที่ใจเย็นลง มีสติ และใช้เหตุผลการในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์แห่งการกระทำ และการฝึกใจปล่อยวาง

ด้วยแนวทางการพัฒนาตัวเองตามหลักพุทธศาสนาที่ศึกษาผ่านโครงการฯ เพชรได้นำมาปรับใช้กับการทำงาน โดยพินิจพิเคราะห์ถึง “ปัญหาและอุปสรรค” ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมอันมีเหตุและผลเป็นเครื่องบ่งชี้ รวมถึงการปล่อยวางต่อสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งถือเป็นการฝึกจิตให้สงบ ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ปัจจุบัน เพชร กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะด้วยความสนใจด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลก ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่มาก

“ผมมองว่าวิทยาศาสตร์และธรรมะมีจุดร่วมสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดีขึ้น นั่นคือ การคิดเชิงเหตุผล ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาและวิทยาการ ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สรรพสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ได้นานัปการ” เพชร อธิบาย

ธรรมะในชีวิตประจำวัน

ปัญญ์ เทอดสถีรศักดิ์ หรือ ปัน อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมรุ่น 2 บอกเล่าถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ส่วนตัวมีความสนใจด้านธรรมะอยู่แล้ว ด้วยเพราะครอบครัวปลูกฝัง-อธิบายหลักธรรมมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อได้ติดตามชมรายการของรุ่น 1 ก็รู้สึกชื่นชอบในเนื้อหาคำสอนของพระอาจารย์ และกิจกรรมภายในโครงการ จึงยื่นใบสมัครอย่างไม่ลังเล และท้ายที่สุดก็ได้รับการคัดเลือก

“พระอาจารย์มีเทคนิคการถ่ายทอดธรรมะที่เข้าใจง่าย โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมให้เราเลือกวิธีการรับมือกับปัญหา ซึ่งสุดท้าย พระอาจารย์จะค่อยๆ อธิบายหลักธรรม เข้าใจถึงหลักคิด ทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้” ปัน เล่า

ปัจจุบัน ปันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ภาคอินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ความกดดัน ความทุกข์ที่เป็นวัฏฏะของโลกทุนนิยม แต่ด้วย“หลักธรรม” ที่เรียนรู้จากโครงการฯ ทำให้ปันสามารถแก้ไขกับปัญหาและผ่านอุปสรรคอย่างเต็มประสิทธิภาพมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สติและสมาธิ” ตั้งจิตอยู่กับปัจจุบันเพื่อมองอนาคต

ใช้ “สติ-สมาธิ” นำทาง

ศุภฤกษ์ กอธงชัย หรือ แบ็งค์ชาติ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปีที่ 2 ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเรื่องราวแรงบันดาลใจของรุ่นพี่ปี 1 ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอย่างชัดเจน ประกอบกับตัวโปรแกรมกิจกรรมฝึกตนที่น่าสนใจอีกด้วย

ภายใต้โปรแกรมการฝึกฝนขัดเกลาตัวเองระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ทำให้แบ็งค์เข้าใจหลักในการพัฒนาชีวิตอย่างบูรณาการผ่านหลักธรรม “ไตรสิกขา” ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ของการต่อยอดทางการเรียนรู้

ปัจจุบัน แบ็งค์ชาติ กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยิ่งทำให้เขาต้องใช้ “สมาธิและสติ” อย่างมาก เพราะอาชีพแพทย์เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของชีวิต ต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ ความผิดพลาดต้องเป็นศูนย์

“ตอนที่กำลังจะสึก พระอาจารย์ให้สามเณรทุกรูปสรุปคำสอนที่ผ่านมาแบบง่ายๆ ทำให้ผมคิดได้ว่า ทุกการกระทำ ทุกย่างก้าวของชีวิต มนุษย์ต้องใช้ ‘สติและสมาธิ’ นำอารมณ์อยู่เสมอ ซึ่งผมยังคงน้อมนำหลักคำสอนนั้นมาใช้เป็นแก่นในการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกวันนี้” แบ็งค์ชาติ กล่าว

นอกเหนือจากการขัดเกลาและพัฒนาตัวเองแล้ว แบ็งค์ชาติยังได้เรียนรู้ถึงการมีเมตตา เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ และนั่นได้จุดประกายเป้าหมายใหญ่ในชีวิตที่ต้องการกระจายโอกาสในการรักษา เข้าถึงระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น เพื่อโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

ความละอายต่อบาป

พชรณัฏฐ์ เยียระติกานต์ หรือ เป้ยเป้ย อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 3 เล่าถึง เหตุผลการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ว่าเดิมที เขาต้องการบวชให้คุณปู่ที่เพิ่งเสียชีวิตเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ากระบวนการฝึกตน ผลลัพธ์ที่กลับมามากมายเหลือคณานับ โดยเฉพาะวิธีการควบคุมอารมณ์ โดยใช้ “สติ” เป็นเครื่องจับอารมณ์ ทำให้จากเดิมที่เป็นคนอารมณ์ร้อน เสี่ยงต่อการมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ก็กลายเป็นคนที่นิ่งขึ้น

นอกจากนั้น เป้ยเป้ยยังได้เรียนรู้มุมมองด้าน “ความรัก-ความเมตตา” โดยเริ่มจากรักตัวเอง แผ่ขยายออกเป็นวงกว้างสู่เพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ทำให้เขารู้จักถึง “การให้-การแบ่งปัน” พร้อมกับที่จะกระทำหากมีโอกาส

“ที่สำคัญ การที่ผมได้เรียนรู้เรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ทำให้เรารู้ซึ้งถึงความละอายต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) ตระหนักถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรกระทำ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมควรมี และจะทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติขึ้น” เป้ยเป้ย กล่าว

เป้ยเป้ยยังบอกอีกว่า เป้าหมายในวันนี้ของเขาคือการเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศแคนนาดา ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาและอุปสรรครออยู่เบื้องหน้า แต่เขาเชื่อว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากโครงการฯ จะเป็นเครื่องนำทางให้เขาใช้ชีวิตต่างถิ่นได้อย่างราบรื่น

รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

เทรเวอร์ ทารา โรวเลย์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ ลูกครึ่งเชื้อสายไทย-นิวซีแลนด์ เผยถึงการร่วมโครงการฯ ว่า ตัวเขาเองต้องการเรียนรู้ ทำความเข้าใจหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธให้ลึกซึ้งขึ้น ที่สำคัญ การถ่ายทอดผ่านรายการเรียลลิตี้ยังเป็นอีกช่องทางที่ให้คนรอบตัวเขาได้ศึกษาธรรมะไปพร้อมกันด้วย

เดิมที เทรเวอร์เป็นคนที่มีสมาธิสั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการฝึกทำสมาธิกับพระอาจารย์ ทำให้ตอนนี้ เขามีจิตใจจดจ่อและสมาธิต่อการกระทำหนึ่งๆ มากขึ้น จนปัจจุบัน การฝึกทำสมาธิได้กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน โดยจะต้องทำสมาธิและสวดมนต์ไหว้พระทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ส่งผลให้มีสมาธิและสติกับการเรียนมากขึ้น

“กิจกรรมหนึ่งที่วัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ได้ฝึกเรากำหนดจิตให้มีสติตั้งมั่นโดยการนอนอยู่ที่หน้าเชิงตะกอน ซึ่งแปลกใหม่สำหรับผมมากและใจหนึ่งก็แอบกลัว แต่สุดท้ายแล้ว ความตายเป็นสิ่งธรรมดา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” เทรเวอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจ

รัก-รอ-พอ-ให้

ปวเรศ แอนโทนี ปราณีประชาชน หรือ ป๊อบ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 5 บอกว่า ขณะนั้น ทีมงานฯ ได้ไปประชาสัมพันธ์โครงการฯ ที่โรงเรียน เขาสนใจอยากศึกษาหลักธรรมมากขึ้น จึงร่วมกิจกรรมค่ายธรรมะ 3 วัน 2 คืนก่อน จากนั้นเกิดความเลื่อมใสและสมัครร่วมบรรพชาสามเณรปลูกปัญญาธรรมเป็นเวลา 1 เดือน ณ วัดเขาวง จ.สระบุรี

ด้วยเมตตาจากพระราชภาวนาพัชรญาณ เจ้าอาวาสวัดเขาวง(ถ้ำนารายณ์) ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ ท่านมีสอนหลักธรรมและบทสวดมนต์ที่แฝงไว้ด้วยความหมายและกุศโลบายที่ลึกซึ่ง พร้อมด้วยเทคนิคการสอนธรรมะที่เข้าใจง่าย ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องสมาธิและความอดทน ตัวอย่างเช่น อาการหิวตอนดึกที่ต้องอาศัยความอดทนล้วนๆ เลย

“ผมมีโอกาสได้ขึ้นเทศน์และบรรยายหลักธรรมตามเข้าใจของผม ซึ่งอาจมีติดขัดบ้าง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง และยังได้ส่งต่อรอยยิ้มให้แก่ญาติโยมอีกรูปแบบหนึ่งครับ” ป๊อบ เล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจ

ธรรมะคือพื้นฐานสังคมที่น่าอยู่

 

อาชว์ วรรธนะภัฏ หรือ ปุณณ์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 6 เล่าถึงแรงบันดาลในการบรรพชาสามเณรว่า เดิมทีเขาต้องการบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เพิ่งสวรรคตไป ในเวลาเดียวกัน ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 8 ขวบ ความตื่นเต้นปนประหม่าจึงเกิดขึ้นจากการที่ต้องห่างอกพ่อแม่เป็นระยะเวลา 1  เดือนเต็ม

แต่เมื่อผ่านกิจกรรมต่างๆ นานาของโครงการฯ ทั้งวัตรปฏิบัติแบบบรรพชิตและกิจกรรมขัดเกลาตนเอง ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้าง รู้จักใช้ชีวิตกับคนหมู่มาก ทั้งเณรเพื่อน พระพี่เลี้ยง ทีมงาน ซึ่งจำต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกา รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการให้-การแบ่งปัน ที่สำคัญ ยังได้เรียนรู้และฝึกตน เพื่อการเจริญสติ รู้จักคุมอารมณ์ในยามที่เขากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นบนโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ

“ผมมีความฝันอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมะมากขึ้น เพราะธรรมคือความสุข ทางออก ความพอดี ความเท่าเทียม ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานของสังคมที่น่าอยู่” ปุณณ์ ในวัย 14 ปี เล่า

สันติ-อหิงสา

จิรวัชร หอมเกตุ  หรือ ท็อป อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมรุ่นที่ 7 บอกว่า เขาเป็นแฟนรายการมานานแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจในหลักธรรมคำสอน และเมื่อมีโอกาสเขาจึงส่งใบสมัครและได้รับการคัดเลือก

“ผมดีใจมากครับที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งหลังจากนั้นผมก็รีบเตรียมตัวหาข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับสายพระป่า หาหนังสือหลวงปู่ชามาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ เพราะต้องไปอยู่วัดป่าไทรงาม วัดสาขาของวัดหนองป่าพง โดยมีพระราชภาวนาวัชรมุนี  เมตตาเป็นพระอาจารย์ใหญ่” ท็อป กล่าว

เหตุการณ์ที่ผมประทับใจและทดสอบจิตใจมากที่สุดคือ “การฝึกธุดงควัตรริมเชิงตะกอน” ซึ่งเขาเป็นคนกลัวผีมาแต่เดิม แต่ด้วยวิธีการฝึกจิตของพระอาจารย์ ทำให้ท็อปตระหนักรู้ถึงความปรุงแต่งในใจของตัวเอง หลังจากนั้น ทำให้เขาเข้าใจถึงธรรมะแห่งการมี “สติ” รู้ตนเอง รู้ปัจจุบัน เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น

และด้วยการฝึกสมาธิ เจริญสติ ภาวนานี้เอง ช่วยเปลี่ยนท็อปจากคนอารมณ์ร้อน-ฉุนเฉียวง่าย เป็นคนที่นิ่ง-เท่าทันอารมณ์ตัวเอง สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อเกิดความมั่นใจและทักษะความเป็นผู้นำ ที่เเต่เดิมเขาไม่มีเลย

“ผมมีเป้าหมายในการทำหน้าที่ทูต อยากเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาคมโลก อยากเห็นสังคมอยู่อย่างสงบสุข เป้าหมายนี้เกิดขึ้นจากหลัก Compassion and  Kindness ที่เป็นตัวจุดประกายแนวคิดเรื่องสันติ-อหิงสาตามหลักศาสนาพุทธ” ท็อป อธิบาย

เมตตา-กรุณา: กุญเเจแห่งความสุข

กฤษิกร เศรษฐวรากร หรือ นะโม อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 8 บอกว่า เขาตัดสินใจยื่นใบสมัครบรรพชาเป็นสามเณรกับโครงการฯ ทันที เมื่อเปิดรับสมัคร เพราะจากการติดตามรายการฯ พบว่ากิจกรรมน่าสนใจ  บวกกับลักษณะนิสัยที่เป็นคนสนใจใครรู้ ทำให้ยื่นใบสมัครอย่างไม่ลังเล ไม่มีคำว่ากลัวหรือกังวลอยู่ในหัวเลย และเมื่อผลการคัดเลือกประกาศ ชื่อของนะโมติด ก็ยิ่งดีใจกระโดดโลดเต้นไปใหญ่

สำหรับปีที่ 8 นี้ ได้รับเมตตาจากพระราชวัชรโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอาจารย์ใหญ่ ผ่านแนวคิดหลัก “เมตตา-กรุณา” อันเป็นกุญแจเปิดใจให้พบกับความสุข ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินจงกรม การทำวัตร การสนทนาธรรม ทำให้นะโมรู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวันพร้อมกับเรียนรู้หลักธรรมอย่างง่าย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเข็มทิศนำทางเส้นทางเดินชีวิตในอนาคต

“ทุกครั้งที่ผมเจอกับปัญหาการเรียนหรือต้องตัดสินใจ ผมจะยึดหลักธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจเสมอ เพื่อให้มั่นใจการแก้ไขหรือตัดสินใจเป็นไปตามครรลองคลองธรรม” นะโม กล่าว

และด้วยหลักธรรมที่เขาได้เรียนรู้ นะโมวัยเพียง 10 ปีจึงมาพร้อมกับฝันใหญ่ที่ต้องการทำงานจิตอาสา ช่วยเผยแผ่หลักธรรมแก่พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานทางใจในการดำเนินชีวิตในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ธรรมะคือพื้นฐานของมนุษย์

ณัฐชานนท์ ยงกฤตยา หรือ ปอนด์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 9 บอกว่า เขาต้องการตอบแทนคุณพ่อแม่ อากงอาม่า ตามคติความเชื่อเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เพิ่มเติมจากความสนใจในธรรมะ-เข้าคอร์ปฏิบัติธรรมเป็นทุนเดิม

“การบวชเณรครั้งนี้ ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น ทั้งนิสัย การยอมรับและปรับปรุงตน การพัฒนาตัวเอง รวมถึงความเข้าใจในพุทธประวัติอย่างลึกซึ้ง เป็นโชคดีที่โครงการฯ ในปีนั้นจัดขึ้น ณ พุทธโบราณสถาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยความเมตตาของพระราชภาวนาวชิรญาณ เจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ทำให้ผมมองเห็นความเชื่อมโยงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่มีมาอย่างยาวนานครับ” ปอนด์ บอกเล่าความรู้สึก

ธรรมะคือพื้นฐานที่มนุษย์ควรมีในทุกขณะ เป็นนักเรียนก็ต้องมีธรรมะ ฝึกสติและสมาธิเพื่อไตร่ตรองสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล ฝึกตนให้มีความใจกว้าง มีเหตุผล รับฟังผู้อื่น เมื่อต้องเข้าสังคม และนี่คือเป้าหมายของเด็ก ม.1 อย่างปอนด์ที่ต้องการเรียนให้ได้ความรู้และเป็นคนดีมีคุณธรรม

ติดตามเรื่องราวของเหล่าสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 10 ขณะบรรพชา ได้ทางช่องเรียลลิตี้ ทรูวิชั่นส์ ช่อง 60, 99 และช่องเรียลลิตี้ เอชดี ทรูวิชั่นส์ ช่อง 119, 333 หรือทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน TrueID หรือ www.truelittlemonk.com พร้อมรับชมช่วงไฮไลท์ประจำวัน ที่จะออกอากาศทาง TNN ช่อง 16, ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 และช่องทรูปลูกปัญญา (ทรูวิชั่นส์ 37) ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 พฤษภาคม 2567 นี้

มีกำไรภายหลังการปรับปรุง 802 ล้านบาท พร้อม EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน

ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว เนื่องด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาช่องว่างทางทักษะ ความล้าหลังในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำองค์กรที่มีกลยุทธ์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคมและเทคโนโลยี จึงควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมยกระดับขีดความสามารถและเร่งผลักดันให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทรู เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา การส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังที่นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมอง ในบทความพิเศษ “Thought Leadership” จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบ่มเพาะทักษะแห่งอนาคต

ประเทศไทยต้องเร่งลงทุนด้านคน เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มผลผลิตของแรงงานในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือนาโนและไบโอเทค ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโซลูชันเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง

ทรู ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมไทย ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับทั้งคนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษา โดย ทรู ดิจิทัล อะคาเดมี ได้จัดการฝึกอบรมทักษะธุรกิจดิจิทัลให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพสูง (talent)​ จำนวนกว่า 30,000 คน ในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกัน โครงการทรูปลูกปัญญา สามารถเข้าถึงนักเรียนจำนวนกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ โดย trueplookpanya.com คลังความรู้คู่คุณธรรม ยังเป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562

แม้ที่ผ่านมา ทรูจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่อาจทดแทนความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ อันเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ทรู จึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในปี 2563 ซึ่งสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จากโรงเรียนจำนวน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนั้น กว่า 72% สามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินคุณภาพในระดับดีถึงดีเลิศ ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจำนวน 6,000 เครื่องให้แก่โรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ แล้ว มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ยังได้ฝึกอบรมผู้นําด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT talent จำนวนกว่า 5,000 คน เพื่อเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี นำสื่อและอุปกรณ์ไอซีทีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศยังได้รับการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกด้วย

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย แรงสนับสนุนจากพันธมิตรในเครือข่ายและความร่วมมือจากภาครัฐ จะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดขยายผลความสำเร็จ และช่วยเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับประเทศได้

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากเราประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ได้เร็ว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กล้าคิดกล้าทำ ความท้าทายต่อไป คือการปลูกฝังให้พวกเขาได้ดูแลและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นถัดไป เกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยนั้นประกอบอาชีพในภาคการเกษตร แต่ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและสภาพอากาศแบบสุดขั้วกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงกับการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

จุดมุ่งหมายของทรูนั้น คือการนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้สังคมไทยสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลวิจัยของ GSMA Intelligence ชี้ว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือ (mobile connectivity)​ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจการขนส่ง พลังงาน การก่อสร้าง และการผลิตลงกว่า 40% ได้ภายในปี 2573 และด้วยเครือข่าย 4G ของทรู ที่ครอบคลุมประชากรไทย 99% ในขณะที่ 5G ครอบคลุมมากกว่า 90% ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของทรู ทำให้เกิดการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และโรงงานอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทั่วประเทศ

นอกเหนือจากศักยภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทรู ยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมา เราสามารถลดการใช้พลังงานทั้งในการดำเนินธุรกิจและในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้สูงสุดถึง 15% ในขณะที่ภาคการเกษตร ยังช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้ยาปฏิชีวนะ และปุ๋ยลงอีกด้วย

ความพยายามทั้งหมดดังกล่าวนี้ สามารถลดการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้เราบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อให้ บรรลุภารกิจ อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรูเดินหน้าผลักดันให้เกิดโครงข่ายที่ใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยยังส่งเสริมให้คู่ค้ากำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) พร้อมให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการและประโยชน์จากการรับมือและบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในฐานะหนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ทรู มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้นำองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การลงทุนด้านนวัตกรรม

นอกเหนือจากประเด็นด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทย คือความจำเป็นในการ “ยกระดับขีดความสามารถการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่ฟื้นตัว” (อ้างอิงจากธนาคารโลก) การผนึกศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) IoT และ 5G จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต

แน่นอนว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทย จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ และการที่บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตระดับโลกจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าในที่สุดแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยเสมอไป

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทรูมุ่งมั่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และผู้ขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของประเทศไทยนั้นทำงานอย่างสอดประสานกัน นวัตกรรมของทรู ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรถึง 120 ฉบับ และเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 50 แห่งในการสนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ เรายังได้ก่อตั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาด 230,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสัญชาติไทย บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก นักลงทุน โครงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ไว้ด้วยกัน

ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพเกือบ 3,000 รายที่อยู่ในระบบนิเวศของเรา และโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ทรู อินคิวบ์ สามารถระดมเงินทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย (Venture Capital Funds) อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นว่ายังคงต้องมีการลงทุนอีกมา และเรามีแผนที่จะสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเปิดตัวกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาร่วมมือกับเรา หรือก่อตั้งกองทุนของตนเองขึ้น เพื่อเร่งสร้างการเติบโตด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับโจทย์ท้าทายในด้านการศึกษา การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ ด้วยการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และพันธมิตรภาคเอกชน เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย แข็งแกร่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และทรู คอร์ปอเรชั่น มีเจตนารมณ์แรงกล้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

 

ปัจจุบัน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย นายมนัสส์เป็นผู้มากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และมีความมุ่งมั่นในการนำศักยภาพการเชื่อมต่อมาสร้างประโยชน์สูงสุด เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความตอนพิเศษที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเชิญผู้นำทางความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ จากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์มุมมองเกี่ยวกับการพลิกโฉมระบบที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง อ่านเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำบริษัทโทรคมนาคม - เทคโนโลยี ร่วมกับ กสทช. สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ออกโปรเสริมพิเศษแบบเติมเงิน! สำหรับผู้พิการหรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งออกเป็น 2 แพ็กหลักตามการใช้งาน ดังนี้ 1. แพ็กเกจเน็ต - ความเร็วสูงสุด 10GB เมื่อใช้ครบตามปริมาณเน็ตที่กำหนด หลังจากนั้นใช้งานต่อเนื่องที่ความเร็ว 128Kbps ราคา 66 บาท (รวมภาษีแล้ว) ใช้ได้นาน 30 วัน (โปรเสริมนี้จะต่ออายุอัตโนมัติ หรือจนกว่าจะยกเลิก) 2. แพ็กเกจเน็ตและโทร - ความเร็วสูงสุด 8GB เมื่อใช้ครบตามปริมาณเน็ตที่กำหนด หลังจากนั้นใช้งานต่อเนื่องที่ความเร็ว 128Kbps โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที (ส่วนเกินคิดตามโปรโมชั่นหลัก) ราคา 66 บาท (รวมภาษีแล้ว) ใช้ได้นาน 30 วัน (โปรเสริมนี้จะต่ออายุอัตโนมัติ หรือจนกว่าจะยกเลิก)

ลูกค้าทรู ดีแทค สนใจสมัครโปรเสริมพิเศษ ได้ง่ายๆเพียงโชว์บัตรผู้พิการหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ที่ ทรูช้อป หรือดีแทคช้อปทุกสาขา ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิ.ย.67

ในโลกเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง Women in Tech เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้หญิงสายเทคสำหรับบางองค์กรก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

แต่นั่นไม่ใช่ที่ “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” (True Digital Group: TDG) หน่วยธุรกิจซึ่งรับผิดชอบพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีคนเก่งหลายคนรวมทั้ง ภรรททิยา โตธนะเกษม ร่วมนับหนึ่งตั้งแต่วันแรก และวันนี้ เธอยังคงทำหน้าที่เป็น “มันสมอง” ให้ TDG ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy

ค้นหาสิ่งที่ชอบ

ภรรททิยาเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross Culture) ในช่วงวัยเด็ก เธอได้รับทุน ASEAN Scholarship ของรัฐบาลสิงคโปร์ให้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้นที่โรงเรียนชั้นนำของสิงคโปร์ ระบบการศึกษาที่นั่นมีการแข่งขันสูงแต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยความพยายาม หลังจากนั้น ภรรททิยามีโอกาสไปศึกษาต่อมัธยมตอนปลายเป็นเวลาสั้นๆ ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว เพื่อที่จะได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวและน้องสาวที่ตอนนั้นยังเล็ก ภรรททิยาจึงตัดสินใจกลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น เธอมีอายุเพียง 16 ปี การเลือกเรียนในสายบริหารธุรกิจนี้ ภรรททิยามีคุณพ่อคุณแม่ ศ.ดร.วรภัทร-กิตติยา โตธนะเกษม นักบริหารเลื่องชื่อของไทย เป็นแรงบันดาลใจ

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วจามจุรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในวัยเพียง 20 ปี ภรรททิยาสมัครและได้รับคัดเลือกทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 1 ปีกว่า แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต เพราะทำให้รู้ตัวว่าไม่ค่อยอินกับธุรกิจธนาคารเท่าใดนัก หลังจากได้คิดไตร่ตรองแล้วเธอจึงตัดสินใจสละสิทธิทุนการศึกษา เพื่อให้โอกาสตนเองได้ไปค้นพบประสบการณ์ด้านอื่น

ถึงแม้ภรรททิยายังไม่มีชั่วโมงทำงานที่มากพอ แต่ก็ได้ทดลองสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการคัดเลือกเข้าหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Harvard Business School

ภายในคลาสที่มีผู้เรียนราว 900 คนจากทั่วทุกมุมโลก วิธีการเรียนการสอนที่เน้นการอภิปราย และถกเถียงในชั้นเรียนแบบที่ต้องแย่งกันยกมือพูด เพราะถ้าไม่พูดก็อาจจะสอบตกวิชานั้น กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับภรรททิยา ที่มีวัยวุฒิเด็กที่สุดและประสบการณ์ทำงานน้อยที่สุดในห้อง ในช่วงแรก เธอไม่กล้าพูด แต่ก็พยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จนมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียนได้ ทำให้ได้เรียนรู้โลกธุรกิจของจริง จากทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมห้อง ที่อาจหาไม่ได้จากตำรา

 

จุดเริ่มต้นนักกลยุทธ์หญิงสายเทค

ช่วงที่เธอเรียนนั้น เป็นยุคที่บริษัทเทคโนโลยีกำลังเริ่มบูม บวกกับความชอบที่เธอมีต่อ gadgets อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มรู้ตัวว่าสนใจในวงการนี้ ระหว่างเรียนปีสองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Samsung ได้ไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเพื่อรับพนักงานใหม่ ในรุ่นนั้น Samsung รับ MBA graduates เกือบ 40 คน เป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงเพียง 6 คน ภรรททิยาเป็นผู้หญิงเอเชียเพียงคนเดียวและเด็กที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้เข้าสู่วงการเทคโนโลยีในตำแหน่ง Global Strategist (Internal Consultant) แผนก Global Strategy Group ของบริษัท Samsung Electronics

ที่ Samsung ได้ปลดล็อกให้เธอได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ ด้วยบทบาทหน้าที่ของ In-House Think Tank ประจำอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำงานร่วมกับ C-suite ของ Samsung ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคล การตลาด การพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเธอถือว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า เปิดให้เห็นโลกกว้างของเทคโนโลยี วิธีการคิดเชิงกลยุทธ์ และฝึกให้เข้าใจและตีโจทย์ธุรกิจของลูกค้าในเวลาสั้นๆ การทำงานแบบเกาหลีเองก็มีความท้าทาย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ ทั้งในระดับผู้จัดการ และ C-suite สื่อสารด้วยภาษาเกาหลีเป็นหลัก

ในปี 2558 ภรรททิยาได้รับการติดต่อจาก Apple Inc  เพื่อให้ดูแลธุรกิจ App Store ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทีมใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและเธอเป็นคนไทยคนแรกของทีม ในตำแหน่ง App Store Business Manager ประจำที่สิงคโปร์ ในเวลานั้น ระบบนิเวศน์ของโมบายแอปพลิเคชันในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มบูม เป็นยุคก่อตัวของแอปฯ ยูนิคอร์นต่างๆ เช่น Grab, Garena งานที่ Apple ทำให้ได้เข้าใจโมเดลธุรกิจของแอปฯ และได้พบกับ startups มากมาย ทั้งนักพัฒนาแอปฯ และเกมขนาดเล็กแบบทำคนเดียว ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้เห็นการทำงานของบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งให้ความใส่ใจลูกค้าในระดับที่เรียกว่า Customer Obsession มีวิธีคิดแบบ Outside-In ทุกอย่างทุกดีไซน์ล้วนแต่ถูกคิดอย่างละเอียด ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง เพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า

ผ่านไปหลายปี ภรรททิยาตระหนักว่า เธอใช้ชีวิตในต่างแดนถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว และน่าจะถึงเวลา “กลับบ้าน” เสียทีเพื่อให้เวลากับสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือครอบครัวและการได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

ขณะนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ทรู กำลังก่อร่างสร้าง TDG เพื่อต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการโทรคมนาคม ในปี 2560 เป็นยุคที่ดิจิทัลกำลังบูมสุดขีด TDG ถูกสร้างขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์แห่งการเป็น Digital Enabler เป็น North Star เปลี่ยนจาก traditional telco สู่ digital services ดึงดูดคนเก่งที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งภรรททิยาก็เป็นหนึ่งในนั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาราว 7 ปีที่ภรรททิยาได้มีโอกาสทำงาน ในหลายหน้าที่ใน TDG ไม่ว่าจะเป็น Strategy, Investments, Digital Transformation จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่ Head of Digital Growth Strategy เพื่อสร้างอิมแพคให้กับผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ และสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

 

ผู้หญิงในสายงานเทค

ภรรททิยา ให้มุมมองถึงประเด็น Women in Tech ว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นผู้หญิงเป็นนักพัฒนาแอปฯ มากขึ้น เป็น data scientist มากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผู้นำหญิง (Female Leadership) อาจมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่ Tech Forum แห่งหนึ่ง จากวิทยากรกว่า 10 คน มีผู้หญิงที่ขึ้นพูดเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งนี่อาจสะท้อนถึงการเติบโตในหน้าที่การงานของผู้หญิงในระดับบริหาร

จากการสำรวจของ Tech Talent Charter ในปี 2566 ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ทำงานสายเทค มีแผนที่จะออกจากงาน เพราะเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องการบริหารการทำงานไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว

เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เธอเห็นจากบริษัทเทคหลายแห่ง ที่มีแนวทางสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถสร้างสมดุลชีวิตทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว โดยไม่ต้อง “เสียสละ” ความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อความเป็นแม่ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้หญิงฝากไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือแห่งการสร้างความเท่าเทียม

 

ชีวิตคือการส่งต่อ

จากโอกาสชีวิตที่ได้รับมา ภรรททิยา เห็นความสำคัญของการส่งต่อประสบการณ์ให้กับผู้อื่น ล่าสุด เธอกำลังทำหน้าที่ Mentor แบ่งปันความรู้ ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกับที่เคยได้ทำให้น้องๆ วัยมัธยมตอนช่วงทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ภรรททิยาเห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะไปโลดแล่นในระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งระดับโลก พวกเขามีไอเดียที่ดี แต่อาจต้องการคนรับฟังและชี้แนะเพื่อช่วยให้เขาเดินทางไปสู่เป้าหมาย

นอกจากการส่งต่อ “ความรู้” แล้ว ภรรททิยา มองว่า “ความสุข” ก็ส่งต่อได้ด้วย ยามว่างเธอชอบร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุและผู้ต้องขังในเรือนจำ

ทีมบรรณาธิการถามคำถามสุดท้ายว่า ภรรททิยาได้รับโอกาสดีๆหลายอย่าง อยากจะฝากอะไรกับผู้ที่อาจไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ภรรททิยาตอบว่า มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ และควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ เช่น สังคมแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เราทุกคนจัดการได้คือ ตัวเราเอง ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทำในสิ่งที่เราถนัดและชอบ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเปล่งประกายในแบบของเรา ส่วนคนที่โชคดีเกิดมาได้รับโอกาสมากกว่าผู้อื่น การแบ่งปันและเกื้อกูลกัน ก็จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

Page 1 of 14
X

Right Click

No right click