ท่ามกลางกระแสรักษ์โลก ที่ทุกภาคส่วนในสังคมกำลังมุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่การสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” มีหลายธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่พัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงแล้ว และนำมาแบ่งปันแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมาร่วมก้าวไปพร้อมกัน ในงาน ESG Symposium 2023: ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

ขนส่งและเดินทางด้วย “รถประหยัดพลังงาน (Green Logistic)”

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีความต้องการที่ต้องเปลี่ยนยานยนต์ทุกคันเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ BEV และพลังงานสะอาด ซึ่งในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของภาครัฐ

มร.ฮิโรกิ นาคาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเดียวจะทำได้โดยลำพัง จึงได้มีการริเริ่มความร่วมมือกับระหว่างบริษัทรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นและได้ก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ “Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT” เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถที่มีเทคโนโลยีหลากหลาย รวมถึงรถจากพลังงานสะอาด และรถที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการขนส่ง โดยได้ขยายความร่วมมือดังกล่าวมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระดับโลก “Detroit of Asia” สำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์

 

นอกจากนี้ มร.นาคาจิม่ายังได้เปิดเผยถึงความร่วมมือที่บริษัท CJPT มีความร่วมมือกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และเอสซีจี เพื่อผลักดันให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ทั้งการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากชีวมวล และอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านการใช้ข้อมูล (Big Data) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ และด้านการเดินทาง โดยการนำเสนอยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) รวมถึงยานยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับด้านพลังงาน ลูกค้า รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในการใช้งาน

โดยในความร่วมมือกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัท CJPT ได้ร่วมมือในการผลิตพลังงานไฮโดรเจนที่มาจากพลังงานไบโอก๊าซ หรือ “ก๊าซชีวภาพ” ซึ่งหมักโดยใช้มูลไก่จากฟาร์มของ CP และนำไปใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นการนำของเสียจากการผลิตภาคการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานสะอาดสำหรับรถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อนได้ด้วย

ส่วนกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น มร.นาคาจิม่าเล่าว่า

กรณีแรกคือ CJPT ได้ริเริ่มให้มีการใช้ “ไฮโดรเจน” ในเมืองฟุกุชิมะ ในรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ซึ่งใช้เป็นร้านสะดวกซื้อและการขนส่ง สำหรับประชากรกว่า 300,000 คน โดยสามารถขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ ได้ในอนาคต

กรณีที่สองคือ ในกรุงโตเกียว ที่ CJPT ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ในการส่งเสริมการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถ BEV และไฮโดรเจนสำหรับรถ FCEVs เพื่อขยายการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันกระจายการใช้พลังงาน

เร่งเครื่อง “พลังงานสะอาด”

จากการที่ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนในการผลิต แต่ในยุคที่ทั่วโลกเริ่มปรับตัวมาใช้พลังงานสะอาดแทน จอห์น โอดอนเนลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Rondo Energy กล่าวว่า ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านนี้ถือเป็น “โจทย์ยาก” แต่สามารถเป็นไปได้

โอดอนเนลล์ อธิบายว่า ไทยเป็นตลาดสำคัญของบริษัทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานใหญ่ระดับโลกเพื่อนำไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทกำลังทำงานกับเอสซีจีเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในไทยใช้พลังงานสะอาดและต้นทุนต่ำ ที่สำคัญ “เมื่อรักษ์โลกแล้ว ต้องทำเงินได้ด้วย”

“การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนั้นแม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นโอกาสเช่นกัน เพราะปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว” โอดอนเนลล์กล่าว “แหล่งพลังงานสะอาดทั้งจากแสงแดดและลมขณะนี้ถือว่าต้นทุนต่ำมาก ๆ อยู่ที่ใครจะกล้าลงทุนหรือไม่”

อีกทั้งยังเป็นโอกาสครั้งใหญ่สุดแห่งยุค “ขณะนี้พลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกใน 50 ปีข้างหน้า”

โอดอนเนลล์ เปิดเผยด้วยว่า บริษัทได้ร่วมกับเอสซีจีในการผลิตอิฐแบบพิเศษที่เก็บความร้อนได้กว่า 1,500 องศาเซลเซียส เพื่อใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ความร้อนซึ่งสามารถแปลงพลังงานสะอาดจาก “ลม” และ “แสงแดด” ให้เป็นพลังงานความร้อนที่สามารถใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมและแสงแดดสูง และต้นทุนพลังงานสะอาดกำลังมีต้นทุนที่ถูกลงเรื่อย ๆ จนขณะนี้มีต้นทุนถูกกว่าพลังงานฟอสซิล ดังนั้น พลังงานเหล่านี้จึงสามารถตอบโจทย์การใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมได้

“นวัตกรรมแบตเตอรี่เก็บความร้อนจากพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่” โอดอนเนลล์ระบุ

“ไบโอพลาสติก” ลดคาร์บอน

ในขณะนี้ จำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากบราซิล บริษัท Braskem จึงได้ริเริ่มนำประโยชน์ที่ได้จากการผลิตเอทานอลจากอ้อย มาผลิตเป็น “ไบโอพลาสติก” ที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

โรเจอร์ มาร์คิโอนี ผู้อำนวยการเอเชีย ฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ บริษัท Braskem กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทสามารถผลิตไบโอพลาสติกจากอ้อยซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก สอดรับกับความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด

ล่าสุด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่กับ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี ภายใต้แบรนด์ I’m green™ (แอมกรีน) และยังสามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอุปกรณ์ดูแลบ้าน ของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน ถุงพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Mechanical recycling และ Advanced recycling เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพของ Braskem เข้ากับความเชี่ยวชาญของ SCGC ในด้านการผลิตพอลิเอทิลีน รวมทั้งศักยภาพของ SCGC ที่เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคโดยโรงงานของบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย และถือเป็นโรงงานผลิต I’m green™ แห่งแรกนอกประเทศบราซิล

จากกรณีตัวอย่างนวัตกรรมคาร์บอนต่ำจากหลากหลายธุรกิจทั่วโลกข้างต้น จะเห็นได้ว่า ขณะนี้ โลกกำลังมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถเกิดขึ้นจริงได้หากทุกคนร่วมมือกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อโลกยังเป็นอีกหนึ่ง “ทางรอด” ท่ามกลางภาวะโลกเดือดในปัจจุบันด้วย

จากรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ตอกย้ำว่า เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า โดย IPCC ระบุว่า โอกาสที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นมีความเป็นไปได้เพียง 50% เท่านั้น ในขณะที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อย CO2 ต่ำมาประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญก็คือ การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวได้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เทนเซ็นต์ จึงเปิดตัวโครงการแฟล็กชิพ “คาร์บอนเอ็กซ์” (CarbonX Program) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำแห่งอนาคต รวมถึงส่งเสริมการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้งานในสเกลระดับใหญ่ภายในปี 2030 โดยในระยะแรกของโครงการฯ จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี CCUS

นายเดวิส ลิน รองประธานอาวุโส เทนเซ็นต์ กล่าวว่า “นวัตกรรมเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำล้ำสมัยเหล่านี้ไปใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและผลักดันการนำไปประยุกต์ใช้กับงานขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวให้มากยิ่งขึ้น”

โซลูชันการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

CCUS ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ เพื่อดักจับ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมทั้งในระยะก่อนหน้า หรือหลังจากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว และนำมาอัดฉีดลงไปกักเก็บในโพรงทางธรณีวิทยา (Geological Formation) ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ หรือนำมาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ และพลาสติก

นายหยงผิง ไจ๋ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกลยุทธ์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของเทนเซ็นต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยี CCUS จะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนตั้งแต่แรกเริ่ม เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเคยได้รับ”

อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนา CCUS จะมีความซับซ้อนและใช้ต้นทุนสูง แต่ก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้และเพิ่มศักยภาพทางการตลาด โดยภาคเอกชนและภาครัฐทั่วโลกกำลังทุ่มทรัพยากร ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและเตรียมนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เทนเซ็นต์มุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ โดยเราจะใช้ความชำนาญเพื่อเร่งสร้างสรรค์โซลูชันล้ำสมัยเพื่อที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่ง

ในพันธสัญญาที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2573 โดยเราเล็งเห็นว่า CCUS จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้เป็นผลสำเร็จ และปัจจุบันเรากำลังทำงานร่วมกับ Carbfix ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไอซ์แลนด์ที่สามารถแปลง CO2 ให้กลายเป็นหินได้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน โดยเรารู้สึกตื่นเต้นกับการเปิดตัวโครงการคาร์บอนเอ็กซ์ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ที่มีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกัน

 

การดำเนินงานของโครงการ “คาร์บอนเอ็กซ์”

คาร์บอนเอ็กซ์ เป็นโครงการที่ผสานทั้งการเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการและการสร้างขีดความสามารถทางดิจิทัล เพื่อค้นหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำแห่งอนาคต และส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานในระดับใหญ่ภายในปี 2030 ด้วยการเร่งระดมเงินทุนและทรัพยากร โดยระยะแรกเริ่มของโครงการจะมุ่งเน้นไปที่โซลูชันและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ CCUS เป็นหลัก โดยโครงการมี 3 ระดับหลักด้วยกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย สถาบัน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และบริษัทสตาร์ทอัปสามารถส่งแผนงานธุรกิจเข้าร่วมโครงการได้

1. CarbonX Lab: ค้นหาและบ่มเพาะสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่จะเป็นตัวพลิกเกมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและช่วยสนับสนุนให้สามารถเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อสาธิตการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

2. CarbonX Accelerator: เร่งขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในเชิงพาณิชย์

3. CarbonX Infrastructure: สนับสนุนการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ฐานข้อมูลและเครื่องมือเพื่อการติดตามการแยกคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางอุตสาหกรรม

ตามรายงานของสหประชาชาติ หน้าต่างแห่งโอกาสในการรักษาอุณหภูมิ 1.5°C กำลังปิดลงอย่างรวดเร็ว โดยเทนเซ็นต์ จะมุ่งมั่นใช้ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรของเราเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลกนี้ต่อไป

 

X

Right Click

No right click