×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

CASTEM GROUP ความฝันคือแรงบันดาลใจ... ลงมือทำคือความสำเร็จ

July 14, 2017 35737

ในบทบันทึกเรื่องราว “การต่อสู้” ของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น มักผสมผสานไปด้วยยุทธศาสตร์ทางความคิดจิตวิญญาณ และวิธีทางปฏิบัติ จากจุดเริ่มจนถึงความสำเร็จมักเป็นเนื้อหาที่อุดมไปด้วยคุณค่าในหลายๆ มิติ ดั่งเรื่องราวของ ทาคูโอะ โทดะ (Takuo Toda) ประธานและผู้ก่อตั้ง CASTEM GROUP ผู้ค้นพบสูตรความสำเร็จทั้งมิติในวิถีชีวิตไปจนถึงแนวทางการบริหาร ที่เริ่มจาก “แรงบันดาลใจ” (passion) และ “ความใฝ่ฝันในวัยเด็ก” (child dreams) ที่หล่อหลอมจากความพยายามและความมุ่งมั่น สร้างเป็นพลังผลักดันจนสำเร็จในกิจการที่ก้าวล้ำนำสมัยในด้านเทคโนโลยี Lost Wax Precision Casting และ Metal Injection Molding อันเป็น machine tool industry คีย์ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่น

  

Originated of Passion

การค้นหาและเรียนรู้ “เคล็ดลับ” ของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น หนีไม่พ้นการผจญภัยในเรื่องแนวคิดและจิตวิญญาณ ว่า “อะไร” คือ “ขุมพลัง” ที่อยู่เบื้องหลัง และส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเป็นทั้ง “นักสู้และนักสร้าง” (fighter & maker) จนได้พบกับความสำเร็จ ดั่งเช่นเรื่องของ ทาคูโอะ โทดะ ที่ถ่ายทอดเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ คือ “ความมุ่งมั่นพยายามผลักดันเพื่อให้ความฝันกลายเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความฝันในวัยเด็ก เป็นเรื่องสำคัญและมีความหมายอย่างเป็นที่สุด” หลายคนคิดว่า ความฝันในวัยเด็กและตอนโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับ ทาคูโอะ โทดะ ไม่ได้คิดดังเช่นนั้น แต่เขาคิดว่า ความฝันในวัยเด็กและตอนโตเป็นผู้ใหญ่นั่นเป็นเรื่องเดียวกันและการไม่ลืม ตลอดจนความมุ่งมั่นพยายามที่ทำให้ความฝันในวัยเด็กนั้นเป็นจริงขึ้นมาให้ได้เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีความสามารถพอ ก็ควรจะมุ่งมั่นพยายามทำสำเร็จ โดยตัวของเขาเองนั้นก็มีความใฝ่ฝันในวัยเด็กเช่นเดียวกัน โดยความฝันของเขานั้นเป็นในเรื่อง “เครื่องบินกระดาษพับ” (Paper Plane) 

 

 

ทาคูโอะ โทดะ อธิบายต่อว่า “ผมชอบเครื่องร่อนมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่คิดในตอนนั้น คือ กระดาษแผ่นเดียวเมื่อพับออกมาก็กลายเป็นเครื่องบินที่มีคุณค่า สามารถลอยร่อนอยู่บนอากาศได้ สิ่งนี้ช่างเป็นความน่าสนใจ และน่าเรียนรู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร” ยิ่งเมื่อได้มารับรู้ในเวลาต่อมาว่า กินเนสบุ๊คมีการบันทึกสถิติการแข่งขัน “เครื่องบินกระดาษพับที่ลอยในอากาศยาวนานที่สุด” โดยมีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของสถิติในขณะนั้น (longest time flying a paper aircraft) คือจุดเริ่มต้นที่ ทาคุโอ โทดะ มีแรงปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของสถิติ “เครื่องบินกระดาษพับที่ลอยในอากาศยาวนานที่สุด” เพื่อจะได้บันทึกลงในกินเนสบุ๊ค ความใฝ่ฝันของทาคูโอะ โทดะ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ในเยาว์วัย และตั้งใจอย่างมุ่งมั่นว่า สักวันหนึ่งจะต้องพิชิตชัยชนะเป็นผู้ทำสถิติเป็นอันดับหนึ่งในการปล่อยเครื่องบินกระดาษพับและลอยอยู่ในอากาศได้ยาวนานที่สุดให้จงได้ และในที่สุด ทาคูโอะ โทดะ ก็ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 2010 โดยเป็นเจ้าของสถิติ “เครื่องบินกระดาษพับที่ลอยในอากาศยาวนานที่สุด” ด้วยสถิติเวลา 29.2 วินาที 

 

Influencing to Business

หลายท่านอาจจะมีความไม่เข้าใจในเรื่องเครื่องบินกระดาษพับ เกี่ยวข้องอย่างไรในเรื่องการทำธุรกิจ ซึ่ง ทาคูโอะ โทดะ ได้อธิบายถึงแก่นสาระสำคัญในเรื่องนี้ “ให้ลองคิดในอีกแง่มุมว่า จากกระดาษแผ่นเดียว เมื่อพับขึ้นเป็นเครื่องบินกระดาษพับ แล้วนำไปปาขึ้นบนอากาศก็เกิดเป็นมูลค่าขึ้นมาได้ สามารถได้รับการบันทึกลงในกินเนสบุ๊ค เหล็กก็เช่นกัน เมื่อนำมาสร้างเป็นวัตถุและสิ่งของก็ก่อให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้น (Value added) ในทำนองเดียวกัน ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่เติบโต และติดอันดับในชั้นแนวหน้าของโลกขึ้นได้ ก็คือการหยิบจับสิ่งของมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นนั่นเอง และนี่คือเคล็ดลับของความสำเร็จของการสร้างเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นตลอด 200 ปีที่ผ่านมา” 

 

 

 

กำเนิดของกิจการ

ทาคูโอะ โทดะ (Takuo Toda) ประธานและผู้ก่อตั้ง CASTEM GROUP ปัจจุบันมีอายุครบ 60 ปี มีถิ่นฐาน

บ้านเกิดที่เมืองฮิโรชิม่า ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวและความเป็นมาของบริษัท CASTEM GROUP ที่ปัจจุบันนอกจากมีสำนักงานใหญ่ในบ้านเกิดเมืองฮิโรชิม่าแล้ว ได้ขยายกิจการไปในหลายประเทศ อาทิเช่น ประเทศฟิลิปปินส์, ไทย, โคลัมเบีย ตลอดจนในสหรัฐอเมริกา โดยก่อนที่จะมาเริ่มต้นธุรกิจแม่พิมพ์ ขึ้นรูปชิ้นงาน (Lost Wax Precision Casting) จนต่อมาได้ขยายธุรกิจไปสู่ งานหล่อเหล็ก (Metal Injection Molding) สร้างเป็นส่วนประกอบ (Parts) เช่นในปัจจุบัน แรกเริ่มของกิจการมิได้เริ่มมาจากงานขี้ผึ้งหรือเหล็กแต่อย่างไร

ครอบครัว ทาคูโอะ โทดะ ในรุ่นพ่อ ได้ก่อตั้งกิจการร้าน ขนมมันจูไส้ถั่วแดง (Momiji Manju / もみじまんじゅう) ขึ้นในปีค.ศ. 1948 ด้วยรูปแบบการทำขนมแบบดั้งเดิม ผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1960 กิจการเริ่มนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการทำขนม แต่การปรับปรุงและพัฒนายังเดินหน้าต่อไปโดยคุณพ่อของทาคูโอะ โทดะ ที่ศึกษาและนำวิธีการสร้างแบบพิมพ์ขนม ด้วยเทคนิคและวิธี ที่เรียกว่า Lost Wax Casting กล่าวอีกนัย คือการหล่อแบบพิมพ์ โดยอาศัยการขึ้นรูป (mold) ด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งปรากฏว่าความสำเร็จในการสร้างแม่พิมพ์ทำขนมในช่วงเวลานั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในงานการผลิตขนมทั้งในเรื่องปริมาณผลผลิต และรูปร่างความสวยงามมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อความสำเร็จของการนำมาซึ่งการขยายกิจการและก่อตั้ง CASTEM GROUP ซึ่งเป็นหนึ่งใน machine tool industry ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Lost Wax Precision Casting และ Metal Injection Molding 

 

 

 

สำเร็จแรกในรุ่นพ่อด้วย Passion และการมี Knowhow

ทาคูโอะ โทดะ บอกเล่าถึงคีย์สำคัญของความสำเร็จของกิจการโรงงานขนมในเบื้องต้นว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ประการ โดยประการแรกเป็นผลจาก แรงบันดาลใจ (passion) ของคุณพ่อที่ฝังใจในสมัยวัยเด็ก ที่ต้องผ่านการใช้ชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสถานะของพี่ชายที่จะต้องดูแลน้องๆ โดยเฉพาะการหาอาหารในยุคสงครามเป็นเรื่องยากลำบาก และการหาขนมให้น้องๆ กินนั้นเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ จึงกลายเป็นความตั้งใจว่าสักวันจะเปิดร้านทำขนมที่มีิคุณภาพดีรสชาติอร่อยให้ผู้คนได้รับประทาน และอีกประการหนึ่งที่ทำให้โรงงานขนมสำเร็จได้คือ การมีโนวฮาว (knowhow) และความรู้เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อของ ทาคูโอะ โทดะ ได้เรียนรู้มา จากการเข้าร่วมเป็นทหารในช่วงสงคราม และด้วยความเป็นคนที่ชอบเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง ในที่สุดก็สามารถคิดค้นรูปแบบของตนเอง โดยการทำแม่พิมพ์ขนมด้วยเทคโนโลยี Lost Wax Casting จนสำเร็จขึ้นได้

 

ขยายฐานกิจการในรุ่นลูก

เมื่อโรงงานขนมประสบความสำเร็จและเริ่มอิ่มตัว อีกทั้ง คู่แข่งเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทาคูโอะ โทดะ จึงมีความคิดว่าน่าจะต้องมีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม ที่อยู่ในกระแสของความเติบโตของเศรษฐกิจโลก ด้วยประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวและเรียนรู้จากโรงงานทำขนม ทั้งทักษะ ความรู้ และเทคนิคที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ขนม ซึ่งเป็นโนวฮาวสำคัญในการสร้างแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาไปสู่การผลิตชิ้นส่วน (parts) และในขณะนั้นได้มีลูกค้าเข้ามาติดต่อและต้องการให้ทำการผลิตชิ้นส่วน (parts) เป็นเหตุผลให้ ทาคูโอะ โทดะ ตัดสินใจขยายกิจการโดยเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับ งานหล่อชิ้นส่วน ด้วยเทคโนโลยี Lost Wax Precision Casting และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จสืบเนื่องจนปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ CASTEM GROUP 

 

 

 

Business

นับจากขยายกิจการออกมาสร้างธุรกิจ งานหล่อชิ้นส่วนโลหะ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทาคูโอะ โทดะ ไม่เคยหยุดที่จะปรับปรุงและพัฒนาวิธีการ เพื่องานหล่อชิ้นส่วนโลหะ ให้มีความแม่นยำ ด้วยการศึกษาวิจัยพัฒนาและเพื่อค้นหาวิธี สร้างโนวฮาว รวบรวมเทคนิคและเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะพัฒนาให้เป็นผู้นำในธุรกิจ งานหล่อชิ้นส่วนโลหะ ทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการตรวจสอบความแม่นยำในกระบวนการหล่องาน (inspected precision casting), เทคโนโลยีในการหลอม (melt), เทคโนโลยีการเคลือบ (coating) จนกล่าวได้ว่า CASTEM GROUP เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีที่เหนือชั้นและเป็นผู้นำในธุรกิจ และสิ่งสำคัญคือ CASTEM GROUP ไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อฐานธุรกิจในบ้านเกิดเริ่มเข้มแข็ง และประเทศญี่ป่นมีนโยบายที่ต้องการให้ผู้ประกอบการขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ ทาคูโอะ โทดะ ในฐานะของ ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตชิ้นส่วน (parts) จึงทำการขยายกิจการออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะขยายโรงงานต่อมายังประเทศไทยในปี ค.ศ. 2002 ในนามบริษัท เคซเท็ม (ไทยแลนด์) จำกัด และอีกโรงงานในนามบริษัท เคซเท็ม (สยาม) จำกัด ในปี ค.ศ.2005

 

Products 

เทคโนโลยีการผลิตของ CASTEM GROUP ในประเทศไทย มีอยู่ 2 เทคโนโลยี คือ

• Metal injection Molding (MIM) ดำเนินงานอยู่ภายใต้ บริษัท เคซเท็ม (ไทยแลนด์) จำกัด และสัดส่วนอยู่ที่ 15% ของผลประกอบการในประเทศไทย มีการลงทุนในกิจการประมาณ 25 ล้านบาท ภายใต้สิทธิประโยชน์ BOI (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) 

ทาคูโอะ โทดะ อธิบายให้ฟัง ถึงลักษณะงานของ Metal Injection Molding (MIM) หรือ งานหล่อโลหะเพื่อสร้างชิ้นส่วน หรือ Parts ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการทำขนมแล้ว การหล่อเหล็กก็เหมือนการทำขนม “คุกกี้” ที่ต้องนำแป้งมากวนแล้วตีไข่ผสมเข้าไป ในทำนองเดียวกันงานหล่อโลหะ หรือ Metal Injection คือการเปลี่ยนวัสดุเป็นการผสมผงโลหะแล้วกวนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ต่อจากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องเพื่อขึ้นรูป และถ้าเป็นขนม “คุกกี้” วิธีการถัดมาคือต้องดึงน้ำหรือความชื้นออกด้วยการอบ ในส่วนของการ injection เราใช้เครื่องฉีดแล้วอบให้ร้อนจนแห้งก็จะได้ชิ้นงานออกมา จากนั้นเป็นขั้นตอนของการวัดค่าความละเอียดแม่นยำ เมื่อผ่าน จึงจะทำการส่งมอบให้ลูกค้าต่อไป

งาน Metal Injection Molding (MIM) ของ บริษัท เคซเท็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เป็นจุดแข็ง และนำหน้าคู่แข่ง คือเรื่องของ ความแม่นยำ หรือ precision ที่ถือกันว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างเป็นที่สุด ของอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ และสิ่งที่เป็นการันตีถึงศักยภาพและความสามารถของบริษัท คือผลงานการผลิตชิ้นส่วนประกอบและทำการติดตั้งใน ตัวอย่างเช่น รถไฟชินกังเซน รุ่น N700, เครื่องบินโบอิ้ง, เครื่อง CNC, ตะขอหูเกี่ยวรับกระเช้า rope way, ของเล่น BANDAI, รถแลมโบกินี, สไปซ์รองเท้าเบสบอล, เครื่องประดับ และอีกหลากหลายผลงานของการผลิตในโลก กระทั่งถึงส่วนประกอบของกล้องที่ใช้ส่องในกระเพาะอาหาร เพื่อการรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น

ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยการนำเทคโนโลยี 3D Printer เข้ามาใช้ในกระบวนการสร้างงาน ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย โดย 3D Printer ช่วยทำให้เกิดเทคนิค direct cast ขึ้นโดยตรง เป็นการลดขั้นตอนในสายงานให้กระชับและมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น จากอดีตที่ต้องใช้เพียง lost wax ในการขึ้นรูป ที่สำคัญยังช่วยให้การตรวจสอบงานออกแบบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิมมาก 

• Lost Wax Precision Casting คืออีกสายงานที่ดำเนินงานภายใต้ บริษัท เคซเท็ม (สยาม) จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2005 ด้วยงบประมาณการลงทุน 242 ล้านบาท และมีผลประกอบการอยู่ในสัดส่วน 80% ของการผลิตในเมืองไทย 

ทาคูโอะ โทดะ อธิบายให้ฟังถึงงาน lost wax casting กับการทำขนม “โมเมจิ มันจู” ว่าการทำขนม “โมเมจิ มันจู” คือการสร้างแม่พิมพ์แล้วหยอดส่วนผสมของขนมลงไป จากนั้นก็นำไปอบ วิธีการแบบนี้ ก็เป็นในแนวเดียวกับ เทคโนโลยี lost wax casting ที่เป็นการหล่อขึ้นรูปด้วยขี้ผึ้ง แล้วเทส่วนผสมลงไป 

 

 

 

Strength Points 

แม้ว่าองค์ความรู้ในเรื่อง lost wax จะเป็นโนวฮาวที่ยาวนานมานับพันปี แต่ภายใต้การพัฒนาและวิจัยอย่างไม่หยุดยั้ง กล่าวได้ว่า ความก้าวหน้าในเทคโนโลยี lost wax precision casting ของ CASTEM GROUP อยู่ในระดับล้ำทันสมัยกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ อยู่มาก อาทิเช่นเรื่อง วัสดุ (materials) ที่นำมาใช้ในการหล่อ หรือขี้ผึ้ง ที่มีชนิดที่มากกว่า 60 ประเภท และในระบบงานของบริษัท ก็สามารถรับทำได้ตั้งแต่ การออกแบบแม่พิมพ์ จนถึงผลสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงานได้อย่างครบวงจร 

 

เป้าหมายและความเห็นต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในประเทศไทย

เหตุผลสำคัญของการขยายธุรกิจมาที่ประเทศไทยของ CASTEM GROUP คือการติดตามมาซัพพลายการผลิตของลูกค้าที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่กว่า 80% ของลูกค้าทั้งหมด โดยมีปัจจัยที่สำคัญ คือ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้เงื่อนไขของ BOI ซึ่งเป็นเงื่อนไขการลงทุนที่ดี และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทาคูโอะ โทดะ มีความรักและชอบประเทศไทยโดยส่วนตัวอยู่มาก โดยมีมุมมองที่ว่า “ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไปลงทุนในประเทศไหนแล้วเราไม่ได้ชอบประเทศนั้น มันเป็นประเด็น (point) สำคัญที่ ถ้าจะไปทำธุรกิจประเทศไหนเราจะต้องรักประเทศนั้นด้วย” 

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Wednesday, 19 July 2017 08:39
X

Right Click

No right click