SCB WEALTH เปิดสินทรัพย์การลงทุน แม้ปีนี้เต็มไปด้วยความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ผันผวนด้วยปัจจัยต่างๆที่กดดันตลาด สินทรัพย์ด้านการลงทุนของ SCB WEALTH ยังเติบโตกว่า 7% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่โต 4% ด้านสินเชี่อ Wealth Lending เติบโตกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายใน3 ปีข้างหน้า มุ่งครองอันดับหนึ่งใน3แกนหลัก ได้แก่ 1) เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า 2) ผู้นำด้านสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ และ 3) ผู้นำการบริหารภาพรวมพอร์ตโฟลิโอสร้างผลตอบแทนให้ยั่งยืนแก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้าน SCB CIO แนะปีหน้าให้ระมัดระวังการลงทุน ควรแบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ Investment Grade ส่วนตลาดหุ้น ทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth เช่น 7 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐ ญี่ปุ่น และ อินเดีย หุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมนำAIวิเคราะห์ข้อมูลเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าและยกระดับ WPlan แพลตฟอร์มดูแลความมั่งคั่งแบบครบวงจร InnovestXมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว3-4% ดัชนีหุ้นไทยพุ่งแตะ1,750 จุด

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ WEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทายท่ามกลางภาวะการลงทุนในตลาดโลกที่มีความผันผวนตลอดปี ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะลุกลามหรือยืดเยื้อนานเท่าใด แต่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง SCB WEATH ยังคงมุ่งมั่นปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อตอบโจทย์การลงทุนให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า Wealth และลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน ด้วยความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำตลาด ได้มีการคัดสรรและนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบ

โจทย์ตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินดอลล่าร์ ในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้นหรือกองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ Capped Floored Floater Note หรือ Callable Note เป็นต้น สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนและสามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ผันผวนจนเกินไปและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในภาวะดอกเบี้ยสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทำให้สินทรัพย์การลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มลูกค้า SCB WEALTH เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 4%

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกัน และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง (Wealth Lending ประเภท Property Backed Loan และ Lombard Loan) ที่มียอดสินเชื่อเติบโตขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน Regular Unit-linked ยังครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปีนี้ และธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า รายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth ในปี2566 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในปีนี้ SCB WEALTH ยังคว้ารางวัลได้สูงถึง 11 รางวัลระดับโลก เป็นรางวัลที่โดดเด่นในการเป็น Digital Banking ที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และแพลตฟอร์มอัจฉริยะ มีการนำData มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน และดูแลพอร์ตลูกค้าที่ออกแบบเป็นพิเศษให้เฉพาะลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสามารถการันตีความเป็น "Digital Wealth with Human Touch" ได้อย่างแท้จริง

SCB Wealth มีเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า และธนาคารวางเป้าหมายในการเป็น “ดิจิทัลแบงก์อันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง” จะเป็น Thought partners ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและจะอยู่กับลูกค้าทุกช่วงจังหวะการลงทุนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า ใน 3 ปีข้างหน้าไว้ดังนี้ คือ 1) เป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้าด้วยการส่งมอบประสบการณ์การบริหารความมั่งคั่ง ภายใต้กลยุทธ์ Digital Wealth with Human Touch 2) ผู้นำอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการในเชิงของผู้ให้คำปรึกษา (Advisory) เพื่อนำมาซึ่งการได้รับความไว้วางใจและเพื่อเป็น Main Wealth Bank ของลูกค้า และ 3) ผู้นำในการบริหารภาพรวมพอร์ตโฟลิโอเพื่อก้าวข้ามทุกความท้าทายและสร้างผลลัพธ์ด้านผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2566 นี้เป็นปีแห่งความผันผวน เริ่มต้นปีด้วยความกังวลเศรษฐกิจถดถอย มาสู่ปลายปีด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวแบบจัดการได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและค้างนาน (Higher for longer) กำลังนำไปสู่ความคาดหวังว่าธนาคารกลางหลักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Rate pause expectation) ส่วนประเด็นสงคราม ก็ยังมีทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะที่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดไทยไปต่างประเทศยังคงมีอยู่และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และล่าช้าออกไป

ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่เศรษฐกิจปี2567ที่มีแนวโน้มชะลอตัวไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ (Uneven slowdown) ทำให้นักลงทุนคาดหวังเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง, ธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงที่ต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก, ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศหลักๆ ที่จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน และสภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening : QT)

ด้วยเหตุผลนี้ เราแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ ที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย โดยควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น การทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ควรทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สามารถรองรับธุรกิจชะลอตัว และรักษาอัตรากำไรได้ดี เช่น 7 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่แนะนำ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ อินเดีย ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม

พอร์ตลงทุนที่แนะนำเพื่อคาดหวังผลตอบแทน 7-10% กรณีเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) รับความเสี่ยงได้สูง เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน คือ แบ่งเงิน 15% ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการ เลือกลงทุนตราสารหนี้ 15% เน้นตราสารหนี้ระยะยาว ลงทุนในหุ้น 30% ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มคุณภาพ เติบโตสูง โดยควรมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสร้างผลบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในพอร์ตด้วย พร้อมกันนี้ควรลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted ที่จำกัดผลตอบแทนต่ำสุด แลกกับการจำกัดผลตอบแทนสูงสุด 10% หุ้นกู้อนุพันธ์อื่นๆ 10% สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) 10% และสินค้าโภคภัณฑ์อีก 10% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ

ด้านการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการลงทุนให้ลูกค้า ในส่วนของ SCB Easy เราได้นำเสนอบริการ Wealth4U โดยมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI)มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์กองทุนที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละบุคคล พร้อมเปรียบเทียบทางเลือกการลงทุนที่ลูกค้าสนใจ เพื่อแนะนำทางเลือกที่ดีที่สุดให้ลูกค้า นอกจากนี้ เรายังพัฒนาบัญชีหุ้นกู้ SCB Easy-D ซึ่งสามารถเสนอขายครั้งแรก (IPO) ให้บุคคลธรรมดาบนสมาร์ทโฟน และรับฝากหุ้นกู้ผ่านช่องทางดิจิทัลแบบ 100% พร้อมกันนี้ เรายังเป็นธนาคารที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลกับนักลงทุนผ่านแพลตฟอร์ม และสามารถซื้อขายกองทุนรวมจากหลากหลาย บลจ. ได้

ไม่เพียงเท่านี้เรายังมีแผนยกระดับ wPlan แพลตฟอร์มสำหรับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลลูกค้าใช้งาน ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การนำเสนอโซลูชันดูแลความมั่งคั่งของลูกค้าแบบครบวงจรในแบบเฉพาะบุคคล เช่น การทำ Portfolio Allocation ออกแบบการจัดสรรสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุนตามแต่ระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล 2) การพัฒนาความสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละบุคคลมากขึ้น 3) การเพิ่มขีดความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนจากช่องทางการลงทุนที่หลากหลาย (Omni-Channel) ให้ลูกค้าแบบไร้รอยต่อ และ 4) การยกระดับควบคุมระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับลูกค้า ควบคู่กับการมี 2 ช่องทางดิจิทัล ให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้สะดวกและง่าย ในการเรียกดู Statement การลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์ม WealthDIY และ Line โดย SCB WEALTH ซึ่งในอนาคตจะมีการยกระดับขีดความสามารถของ Line SCB WEALTH ให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละท่านมากขึ้นและสามารถรับสิทธิพิเศษเหนือระดับต่างๆ สำหรับลูกค้า Wealth ของธนาคารได้ผ่านช่องทางนี้

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (INVX) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2024 ยังคงมีความผันผวนแต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปี 2023 เนื่องจากระดับ SET Index ในปัจจุบัน ถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (undervalue) โดยคาดว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด

ปัจจัยที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2024 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึง ความรุนแรงที่

เกิดขึ้นในรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ในขณะที่ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย เป็นปัจจัยที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบไม่รุนแรงมากเป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีโอกาสปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2024 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า

ส่วนปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทย มาจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจาก คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม เนื่องจากโดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 2023 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวได้ 10-15% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2023 ที่ชะลอตัว 10%

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 2024 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 2) กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 3) หุ้นที่ได้ ESG Score สูง ระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก

นอกจากนี้ INVX มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาให้บริการนักลงทุนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงบริการด้านการลงทุนแบบครบวงจร เช่น การสร้าง Application ที่สามารถลงทุนได้ครบทุกสินทรัพย์เพียงแอปเดียวหรือตัวช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Personalized Wealth Alert) ผ่านแอป InnovestX และ Streaming สำหรับการลงทุนในหุ้นไทย และทาง INVX research ได้มีการนำเทคโนโลยี ChatGPT- Open AI มาช่วยพัฒนาการทำงานวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและเพิ่มปริมาณให้ครอบคลุมจำนวนหุ้นได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาจัดทำลดลง ล่าสุดประสบความสำเร็จในการจัดทำบทวิเคราะหุ้นต่างประเทศโดยใช้ ChatGPT ช่วยเขียนบทวิเคราะห์

นายอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการและหุ้นส่วนอาวุโส บริษัท บอสตันคอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) กล่าวว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่าตลาด Wealth Management ของประเทศไทยทั้ง onshore และ offshore จะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 4.5% ต่อปีในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า เราพบว่ามี 4 เทรนด์หลักในธุรกิจ Wealth Management ที่พบในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย ได้แก่ 1) ลูกค้ากลุ่ม High Net Worth (HNW) มีความต้องการที่จะได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนส่งต่อมรดกให้ทายาทรุ่นถัดไปและการวางแผนเพื่อเตรียมการเกษียณ 2) สถาบันการเงินข้ามชาติ ทั้ง ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และบริษัทFintech ต่างๆเข้ามาประกอบการในธุรกิจนี้ส่งผลให้การแข่งขัน ในธุรกิจนี้ร้อนแรงขึ้นมาก 3) ลูกค้าต้องการคำแนะนำ ที่ครบถ้วนและหลากหลายมากขึ้นรวมไปถึง การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ที่เมื่อก่อนเข้าถึงได้แต่เฉพาะกลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth (UHNW) เท่านั้น และ4) ลูกค้าต้องการประสบการณ์ในการใช้บริการการบริหารความ มั่งคั่งแบบไร้รอยต่อ (seamless experience) เช่น การจัดพอร์ตการลงทุน การค้นหาข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับการตลาดและผลิตภัณฑ์หรือหรือการทำรายการซื้อขายและมอนิเตอร์พอร์ตการลงทุน

ทั้งนี้ BCG ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง มีการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกและทำการวิจัยกับผู้บริโภคในหลายประเทศ ซึ่งพบว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาท มากขึ้นในการบริหารความมั่งคั่ง ทั้งนี้ เครื่องจักรหรือสมองกลจะไม่ได้มาแทนที่คนทั้งหมด ลูกค้า High Net Worth ต้องการการผสมผสานกันระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการได้รับความดูแลจากคนอย่างเช่น relationship manager (RM) ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยใน 5 เรื่องใหญ่ดังต่อไปนี้

1. ทำให้ลูกค้าและผู้ใช้สามารถใช้บริการ wealth managementได้อย่างง่ายที่สุด (effortless) เช่น การทำ digital KYC, การประเมินความเสี่ยงของลูกค้า

2. สร้างความโปร่งใส (transparent) เช่น wealth dashboard, family wealth view, benchmarks

3. ทำให้การบริหารความมั่งคั่งตรงใจและเฉพาะเจาะจง กับลูกค้าแต่ละท่าน (personalized) เช่นการสร้างเป้าหมายในการบริหารความมั่งคั่งการจัดวางพอร์ตการลงทุน

4. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเชิงรุก (proactive) เช่น การส่ง alert และข้อความต่างๆ ให้ตรงกับลูกค้าแต่ละท่าน (personalized content)

5. ทำให้การใช้งาน ง่ายและสนุก (delightful) เช่น dynamic scenario planning, และเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการคำนวณ เป็นต้น

ดร. สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เทรนด์กฎหมายในปีหน้า ยังคงต้องติดตามกฎหมายต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเก็บภาษีการรับมรดกที่อาจมีการปรับปรุงกฎหมายและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนกฎหมายภาษีการลงทุนต่างประเทศ ตามที่กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เมื่อเดือนกันยายน 2566 และ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 ซึ่งมีผลให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป หากมีเงินได้จากต่างประเทศ เช่น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย และได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใดก็ตาม จะต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทยในปีนั้น ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะใช้สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ Wealth Planning and Family office จึงขอแนะนำนักลงทุนไทยที่ลงทุนต่างประเทศ อาจจะพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ข้อดีคือผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากได้กำไรจากการลงทุน แต่หากมีปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10

ในปีนี้ลูกค้ากลุ่มHNWให้ความสนใจเรื่องการสร้างความมั่งคั่งผ่าน Family Holding Company เพราะช่วยในการเก็บรวบรวมทรัพย์สินของครอบครัวเพื่อการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนรวมทั้งยังช่วยแก้หรือลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจโดยสมาชิกครอบครัว การจัดโครงสร้าง Family Holding Company ที่ดีก็เหมือนการวางรากฐานของบ้านให้แข็งแกร่ง หากในอนาคตธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตขึ้น และวางอยู่บนฐานของโครงสร้างที่ดีก็จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความแข็งแกร่ง

“บลจ.เอ็มเอฟซี” ตอกย้ำพันธกิจ "เพื่อนสนิทการลงทุน" เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ "Rebalance Port" ในแอปพลิเคชัน “MFC Wealth App” ช่วยเปรียบเทียบพอร์ตการลงทุนของลูกค้ากับพอร์ต MFC แนะนำ เติมเต็มพอร์ตไม่ตกเทรนด์ พร้อมปรับพอร์ตตามระดับความเสี่ยงและ Fit & Firm ตามเป้าหมายการลงทุน นอกเหนือจากฟีเจอร์เด่นอัดเต็มตอบโจทย์ทุกการลงทุน

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี ได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชัน “MFC Wealth App” บริการผ่าน mobile application อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีมียอดดาวน์โหลดประมาณ 160,000 ราย นับตั้งแต่เปิดให้บริการ 2 ปี ซึ่งเป้าหมายอยากให้ทั้งนักลงทุนกลุ่มใหม่ ที่ยังไม่เคยเปิดบัญชีมาทดลองใช้ ได้เรียนรู้และเห็นช่องทางในการวางแผนการลงทุนและวางแผนทางการเงิน รวมทั้งลูกค้าเดิมที่มีบัญชีกองทุนอยู่แล้วได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ต่างใน App เสมือนเป็น "ผู้ช่วยส่วนตัว" ให้แก่ผู้ลงทุน สอดรับพันธกิจ "Your investment partner เพื่อนสนิททางการลงทุน"

จุดเด่นของ “MFC Wealth App” ซึ่งให้บริการครอบคลุมการเปิดบัญชีการซื้อขายและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน และการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนแล้ว ยังมีฟีเจอร์เด่นด้านข้อมูลที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล อย่าง "MFC AVENUE" ตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบหาข้อมูลลงทุนเอง ขณะที่บลจ.เอ็มเอฟซีจะคอยอัพเดทข่าวสารการลงทุน รวมถึงเทรนด์การลงทุนให้กับผู้ลงทุนตลอดเวลา

ฟีเจอร์ "WEALTH JOURNEY" ที่เสมือนเป็นหนึ่งใน (Personal Assistant) หรือผู้ช่วยส่วนตัวด้านการลงทุน ซึ่งเหมือนมีผู้เชี่ยวชาญเตรียมพอร์ตที่เหมาะสมให้ ทำให้ลูกค้าสามารถลงทุนเองแบบมีเครื่องมือให้ครบถ้วน ทั้งปรับพอร์ต และดูผลตอบแทน รวมถึงการสร้างพอร์ตจำลองตามความเสี่ยงไว้เปรียบเทียบกับพอร์ตการลงทุนจริง โดยสามารถกำหนด Asset Allocation เองได้ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวไม่ต่างจากการใช้บริการ Investment Strategist และผู้แนะนำการลงทุนคุณภาพ

"การจำลองพอร์ตการลงทุน ซึ่งมีลูกเล่นให้ผู้ลงทุนได้ทดลองและทดสอบจากความเสี่ยงในระดับที่รับได้ พร้อมตั้งเป้าหมายการลงทุน เพื่อเตรียมแผนการเงินในอนาคต เช่น การวางแผนสำหรับบ้านหลังแรก วางแผนเพื่อการลงทุน วางแผนตามเป้าหมาย หรือเตรียมตัวเกษียณ ซึ่งฟีเจอร์นี้ช่วยให้ลูกค้าใหม่ลองเข้ามาใช้งานได้ก่อนตัดสินใจลงทุน"นายธนโชติ กล่าว

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ที่เติมเข้ามา คือ "Rebalance Port" สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมของบลจ.เอ็มเอฟซี สามารถนำพอร์ตของตัวเองมาเปรียบเทียบกับพอร์ตที่บลจ.เอ็มเอฟซีแนะนำ ซึ่งมีทั้งพอร์ตแนะนำตามความเสี่ยง (สูง กลาง ต่ำ) และพอร์ต Fit & Firm ที่ปรับตามเป้าหมายในการลงทุน เช่น ลงทุนแบบ Defensive หรือ Long-term Growth ทำให้ลูกค้าสนุกกับการ

ซื้อกองทุนมากขึ้น เหมือนมีเพื่อนมาช่วยคิดว่าจะซื้อกองทุนอะไรดีที่เหมาะกับตัวเอง เพราะปัจจุบันกองทุนเอ็มเอฟซีมีมากกว่า 100 กองทุน ซึ่งฟีเจอร์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ "WATCH LIST" ใช้ติดตามกองทุนโปรดอย่างใกล้ชิด โดยตั้งค่าให้ระบบแจ้งเตือนเมื่อถึงเป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้งมีเมนูกองทุนลดหย่อนภาษี LTF, SSF, RMF ที่สรุปยอดเงินลงทุนทั้งรายปีและภาพรวม มีเมนูที่ขายหน่วยลงทุนหรือกองทุนที่ครบเงื่อนไขของ LTF, SSF ที่สามารถทำผ่าน App ได้ทันที ซึ่งเป็นจุดแตกต่างจากบลจ.อื่นๆ ที่ปกติการขายกองภาษีจะยุ่งยากต้องยื่นเอกสารขาย ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด App ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS , Android

“MFC Wealth App ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้แนะนำการลงทุนที่ให้ลูกค้ามอนิเตอร์ เพื่อปรับพอร์ตลงทุน ปัจจุบันยังมีลูกค้าที่ต้องการคำแนะนำค่อนข้างมาก เราจึงให้ตัวแทนขายอิสระและตัวแทนขายผ่านคู่ค้าได้มีเครื่องมือและข้อมูลแนะนำลูกค้า เมื่อนักลงทุนได้ลองจำลองพอร์ตหรือดีไซน์พอร์ตตัวเอง เมื่อเห็นโอกาสลงทุนก็จะเข้ามาเปิดบัญชี ส่งผลให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้าเก่าก็มีโอกาสลงทุนต่อเนื่องได้ ทำให้จำนวนลูกค้าน่าจะติบโตเท่าตัวได้"นายธนโชติ กล่าว

บลจ.เอ็มเอฟซียังมีแผนนำฟีเจอร์ที่มี Innovation ใหม่ๆ ช่วยให้ชีวิตนักลงทุนสบายกว่าเดิม อาจนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์พอร์ต ช่วยลูกค้าให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

นายธนโชติ กล่าวทิ้งทายถึงมุมมองการลงทุนจากปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ท้าทายทุกสินทรัพย์ติดลบ ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ขณะที่ในปี 2566 นี้มองตลาดอาจดีขึ้นในบางภูมิภาค บางตลาดยังไม่กลับมาที่เดิม ซึ่งการให้ข้อมูล คำแนะนำการลงทุนให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พยายามให้ลูกค้าเชื่อมั่นในการลงทุน เพื่อตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันให้ความรู้ในการจับจังหวะการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งการจัดพอร์ตกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะตลาด ความเสี่ยงในระยะสั้นจากเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้คาดการณ์มาก่อนผ่านการจัด Asset Allocation

ทั้งนี้เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลและสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด MFC เลือกวางแผนการใช้สื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยนางสาวมาลินี ขันสนิท ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Yellow Media ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสินค้าและแบรนด์ต่างๆให้วางแผนการใช้สื่อนอกบ้าน Out Of Home Media (OOH) กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันสินค้าและแบรนด์จะให้น้ำหนักการสื่อสารไปทางออนไลน์มากกว่า เพราะสามารถเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องทางออฟไลน์ หรือ OOH ก็ทรงพลังที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เช่นกัน เพราะเป็นสื่อที่มีคนเห็นจำนวนมากและพบเห็นได้ง่าย สร้างการจดจำได้กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงลูกค้าทั่วไปทำให้รับรู้แบรนด์ได้ เพื่อให้เกิดความเคยชินและสร้างความน่าเชื่อ และไปสู่การเป็นลูกค้าในอนาคต

SCB WEALTH จัดสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2023 ภายใต้ชื่อ “EMBRACING THE LIGHTNING OPPORTUNITY”ให้กับกลุ่มลูกค้า First

บนเวทีสัมนา   SCB CIO  ชี้เศรษฐกิจสหรัฐเป็น Soft Landing ปีหน้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4% หุ้นสหรัฐแพงแต่ถือต่อได้ หากซื้อเพิ่มแนะรอจังหวะย่อตัวค่อยทยอยสะสม ส่วนตลาดEM ไทย จีน เวียดนาม ราคายังถูก ด้านวิกฤติอสังหาในจีนกระทบตลาดหุ้นกู้เป็นหลัก ในตลาดหุ้น A-share และH-shareกระทบเพียงบางตัวเท่านั้น ชี้ตราสารหนี้สกุลดอลล่าร์ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินบาท กองทุนตลาดเงินอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง Double Shark Fin Note รักษาเงินต้นอายุ 1 ปี อยู่ที่ 0-15% และ KIKO โอกาสรับผลตอบแทน 15 -25%ต่อปี ช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ด้าน InnovestX คาดภายในครึ่งหลังของปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับได้ถึง1,650-1,700จุด หลังรัฐบาลใหม่พร้อมบริหารประเทศ หุ้นกลุ่มได้รับอนิสงค์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหุ้นที่ได้อนิสงค์วัฐจักรโลก คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจWEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2023 ภายใต้ชื่อ “EMBRACING THE LIGHTNING OPPORTUNITY ” ว่า ในช่วงที่ภาวะตลาดทุนโลกมีความผันผวนหลังวิกฤติโควิด จนส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน นำไปสู่เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางหลักทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและคงไว้ในระดับสูง จนส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ มองว่าวัฐจักรดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะใกล้จุดสูงสุดแล้ว แม้เงินเฟ้อทั่วโลกจะยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบของนโยบายการเงินของหลายประเทศ แต่มีแนวโน้มลดลง เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอาจจะลดน้อยลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศไทย ขณะนี้ได้รัฐบาลใหม่พร้อมเข้าบริหารประเทศแล้ว ทำให้มุมมองโอกาสในการลงทุนมีความชัดเจนขึ้น การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change ) เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการที่ทั่วโลกตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ การปล่อยสินเชื่อ และพอร์ตการลงทุนของธนาคาร ต้องเป็น Net zero ในปี 2050 นอกจากนี้ธนาคารมุ่งมั่นในการเฟ้นหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตมีเสถียรภาพในทุกช่วงจังหวะของการลงทุน และพร้อมเดินเคียงข้างลูกค้า เพื่อดูแลความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย จาก 0.25% มาอยู่ที่ 5.5% ภายในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ทำให้เงินเฟ้อชะลอลงบ้าง แม้ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง เราจึงปรับปรุงมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft landing) ซึ่งคาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ แต่ละเดือนจะปรับลดลง 0.2% ทำให้ในปีหน้าอยู่ที่ประมาณ 2.4% และดอกเบี้ยใกล้จบรอบการปรับขึ้นแล้ว แต่จะยังค้างอยู่ในระดับสูงจนถึงกลางปี 2024 ส่วนพันธบัตรระยะสั้นให้อัตราผลตอบแทน (yield) มากกว่าพันธบัตรระยะยาว ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนกลับทิศ (Inverted yield curve) ทั้งนี้ หากย้อนดูช่วงที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ส่วนต่างของ Inverted yield curve จะเริ่มลดลง โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า และกลางปี 2024 yield ของพันธบัตรรระยะยาวจะกลับมามากกว่าพันธบัตรระยะสั้น

นอกจากนี้ เรามองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนแต่จะช้ากว่าที่คาดส่วนความกังวลที่จีนอาจเผชิญภาวะ Balance sheet recession หรือภาวะที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนกังวลกับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้จ่ายบริโภคและลงทุน รวมถึงไม่กู้ยืมเพิ่มเติมแต่เน้นการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน เนื่องจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับลดลงเร็วกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งอาจลุกลามทำให้เกิด Lost Decades เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปี 1980-2000 ราคาบ้านในจีนไม่ได้เข้าสู่ภาวะฟองสบู่เหมือนกับญี่ปุ่น และภาคธนาคารพาณิชย์ของจีนไม่ได้มีหนี้เสียสูงเท่ากับญี่ปุ่น (ล่าสุด NPLจีน อยู่ที่ 1.6 % และญี่ปุ่นอยู่ที่ 6.2% ) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ของจีนยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานทุนและสภาพคล่อง

ทั้งนี้ เมื่อดู Valuation หุ้นประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างแพง โดยหุ้นสหรัฐฯ แม้จะปรับลงมาบ้าง แต่ในเดือน ส.ค. ดัชนี S&P500 ยังซื้อขายที่ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 19-20 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในค่าเฉลี่ย ดังนั้น หากมีหุ้นสหรัฐฯ อยู่ สามารถถือต่อได้ แต่ถ้าต้องการซื้อเพิ่ม เราแนะนำให้รอจังหวะย่อตัวลงมาแล้วค่อยทยอยสะสม ส่วนหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) ราคายังถูก เช่น ไทย จีน และเวียดนาม แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง โดยเรามีมุมมอง Neutral กับหุ้นเวียดนาม (ถือได้แต่ยังไม่ซื้อเพิ่ม) เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลง ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่น้อยกว่าที่คาด

ส่วนตลาดหุ้นจีน H-Share มีมุมมอง Neutral แม้ว่าตลาดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจะปรับขึ้น 5-6% แต่ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และน่าจะทำให้ตลาดผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง ตลาดหุ้นจีน A-Share ซึ่งเน้นอุปสงค์ในประเทศ เราแนะนำให้ทยอยซื้อ เนื่องจากราคาค่อนข้างถูก และซื้อขายที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เท่า ประเด็นภาคอสังหาฯ จีน มองว่า สัดส่วนหุ้นกลุ่มอสังหาฯ คิดเป็น 1% ของตลาดหุ้น A-Share และกว่า 2%ของ H-Share เท่านั้น และเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว สถานการณ์ภาคอสังหาฯจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นกู้เป็นหลัก ส่วนในตลาดหุ้นกระทบเพียงหุ้นรายตัวที่มีปัญหา แต่โดยรวมไม่มีผลกับตลาดหุ้นมากเพราะมูลค่าตามราคาตลาดไม่สูง ขณะที่หุ้นไทย แนะนำทยอยซื้อ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงไปมาก ส่วนเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทจดทะเบียนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product Function และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสให้ผลตอบแทนน่าสนใจกว่าผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันที่เป็นสกุลเงินบาท และ ครอบคลุมในทุกระดับความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไปถึงความเสี่ยงสูง ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน บนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.0% ต่อปี ในขณะที่สกุลเงินบาท ผลตอบแทนประมาณ 1.68% ต่อปี ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงปานกลางและมุ่งรักษาเงินลงทุน เช่น Double Shark Fin Note หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง แบบรักษาเงินลงทุน อายุการลงทุน 1 ปี เหมาะกับตลาดที่ยังมีความผันผวน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผลตอบแทนประมาณ 0-15% ต่อปี สกุลเงินบาท ให้ผลตอบแทน 0-10% ต่อปี และผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง เช่น KIKO ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีมุมมองเคลื่อนไหวในกรอบแคบ (sideway) เมื่อสิ้นสุดสัญญา ได้รับคืนเงินต้นในรูปแบบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง โดยมีเงื่อนไขเรื่องราคาปรับลดลงไปถึงระดับราคาต่ำสุดที่ตกลงกันไว้ (Knock-in) เป็นตัวช่วยลดโอกาสการรับหุ้น ซึ่ง KIKO สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผลตอบแทนประมาณ 15-25% ต่อปี ขณะที่ สกุลเงินบาท ให้ผลตอบแทนประมาณ 6-10% ต่อปี

โดยรวมแล้วการใช้กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนได้ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนกังวลเรื่องการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เรามองว่าในระยะสั้นทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ไปอีกระยะ เนื่องจากมีทั้งปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและแข็งค่าหักล้างกันอยู่ เช่น ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ได้แก่ การท่องเที่ยวฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า คือ เงินบาทเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเงินหยวนมากขึ้น เพราะไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนสูงขึ้น ซึ่งเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง เป็นแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เงินลงทุนต่างชาติไหลออก และราคาทองคำลดลง ทำให้คนขายเงินบาทเพื่อไปซื้อทองคำ เป็นต้น ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระดับที่ผู้ลงทุนสามารถทยอยแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไปลงทุนในต่างประเทศได้

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีสัญญาณฟื้นตัว ถ้ามองในเชิงนโยบาย เมื่อได้รัฐบาล

ใหม่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีหลังควรจะเติบโตดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรก ปรับตัวลดลง 10% โดยเงินลงทุนไหลออกไปตลาดหุ้นอื่น เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับสู่ขาขึ้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีแรงขายลดลง ดังนั้น โอกาสที่จะกลับมาซื้อจึงเป็นไปได้ และเวลานี้ไทยถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะการเมืองมีความชัดเจนแล้ว โดยมองว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปได้ถึง 1,650-1,700 จุด ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่วนความเสี่ยงด้านการปรับลดลงประเมินไว้ที่ 1,450 จุด ซึ่งปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ระดับกว่า 1,500 จุด และมองว่าน่าจะผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้ หุ้นขนาดใหญ่ ราคายังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเลือกตั้ง ส่วนหุ้นกลุ่มการแพทย์ก็ยังปรับตัวขึ้นน้อยมากจึงยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ ธุรกิจที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตมีเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น พลังงาน ท่องเที่ยว การแพทย์ ค้าปลีก และ พาณิชย์

สำหรับหุ้นที่ได้อานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลและนโยบายพักหนี้เกษตรกรส่วนนโยบายลดราคาน้ำมันและค่าไฟจะให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้คนใช้แรงงาน นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ได้อานิสงส์จากวัฎจักรเศรษฐกิจโลก ที่เซมิคอนดักเตอร์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยพิจารณาจากผลประกอบการ เรามองว่า มี 4 อุตสาหกรรมและ 8 หุ้นเด่น ได้แก่ 1) กลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันฟื้นตัว ได้แก่ PTT และ BCP 2) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากอุปสงค์ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ได้แก่ KCE และ HANA 3)กลุ่มท่องเที่ยว ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ได้แก่ AOT และ ERW และ4) กลุ่มสุขภาพ จากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น ได้แก่ BDMS และ BCH

X

Right Click

No right click