เมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยรองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นำโดย นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภาค 4 (ปปช.ภาค 4) ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้งสององค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ, รองศาสตราจารย์ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ, นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น และ หน่วยงานภาคีเครือข่ายป้องกันการทุจริต ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) โดยเป็นความร่วมมือทางวิชาการ สำหรับเรื่องทุจริตในหน่วยงานภาครัฐอย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าเป็นมะเร็งร้ายที่กัดเซาะความเจริญก้าวหน้า ของประเทศ การที่ปปช.ได้มีแผนงานที่จะทำในหลายมิติและรูปแบบถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในส่วนภาคการศึกษาเรามีหน้าที่โดยตรงในการให้ความรู้ การอบรมระยะสั้น และด้านการศึกษา โดยเฉพาะกับนักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะต้องออกไปทำงานในอนาคต ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์และเสริมอุดมการณ์ของ ปปช. อีกทั้งยังเป็นอุดมการณ์ของ มข.ด้วย ที่จะผลิตบัณฑิตให้ออกไปให้เป็นคนไม่ทุจริต 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้การสนับสนุนเต็มที่และยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ ปปช.ในทุกมิติการป้องกันและปราบปรามทุจริต ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล วางระบบการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ให้เกิดทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยยึดหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) คือ หลักการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ซึ่งได้ถ่ายทอดและนำไปใช้กับทุกหน่วยงาน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านก็ได้ดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น การออกนโยบายการไม่ให้หรือไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลการเรียนรู้ ในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองอีกด้วย

นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาค 4 กล่าวว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการเป็นสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรมการทุจริต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการพัฒนาหลักสูตร การวิจัย และความร่วมมือทางวิชาการผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลการเรียนรู้ในหลักสูตรฯ ตลอดจนการนำเรื่องการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ไปเป็นหลักสูตรอบรมคณาจารย์ ข้าราชการ ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ITA ให้กับนักศึกษา นอกจากนี้จะขยายผลไปยังภาคีสถาบันการศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสานอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการจัดฝึกอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับการทำงานในองค์กรภายใต้ หลักคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในรูปแบบการ ฝึกอบรมระยะสั้นในสถานที่ และรูปแบบออนไลน์ 2. เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลการเรียนรู้ในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 3.เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประเมินโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ว่า ในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ผลการประเมิน รวม 90.06 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนในระดับเกรด A และที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้คะแนนมากกว่า 85 คะแนน โดยประเมินคะแนนจาก 3 ส่วน ดังนี้

  1. แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ได้คะแนน 97.50
  2. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) ได้คะแนน 84.57
  3. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) ได้คะแนน 85.67

ผศ.นพ.ธรา กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส และเข้าร่วมการประเมินไม่เคยขาด ปีนี้เราได้คะแนนเป็นองค์กรเกรด A เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา โดยมีผลประเมินโดดเด่นด้านการป้องกันการทุจริต และการเปิดเผยข้อมูลที่ได้คะแนนเกือบเต็ม ส่วนคะแนนที่ยังน้อยอยู่คือ การปฏิบัติการที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไป และการได้รับคะแนนเกรด A ในครั้งนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยได้ติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินความโปร่งใสของผู้บริหารโดยใช้คะแนน ITA เป็นองค์ประกอบมานานกว่า 4 ปีแล้ว พร้อมกำหนดประเด็นด้านคุณธรรมความโปร่งใสเป็นยุทธศาสตร์ที่ 10 ของมหาวิทยาลัยด้วย

“ITA เป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งภาพลักษณ์ด้านนี้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นมีความโดดเด่น เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้รับรางวัลด้านความโปร่งใสจาก ป.ป.ช. เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการด้านนี้อย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ บุคลากรและนักศึกษาทุกคนเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ภาพลักษณ์ด้านคุณธรรมความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกนั้นต้องมีความโปร่งใส ให้บริการเท่าเทียมกัน ไม่เรียกรับผลประโยชน์ และมีจิตให้บริการ รวมถึงนักศึกษาที่ประพฤติดี ช่วยเหลือชุมชน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ได้รับผลการประเมินคะแนน ITA เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

นักศึกษาวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Moral Hackathon 2023 จัดขึ้นภายใต้โจทย์ “Moral Move” เเรงขับเคลื่อนแห่งสังคมคุณธรรม จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งมีทั้งหมด 14 ทีม จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ ได้ร่วมกับเพื่อสมาชิกต่างสถาบัน ชื่อทีม Easy Easy” ประกอบด้วย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,นายปริภัทร์ มะลีแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,นายเมฆินทร์ วงศ์ศรีลานักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

จัดทำผลงานชื่อ “Sign Sense” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมโลกของคนหูดี และคนหูหนวกเข้าด้วยกันผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสาร นวัตกรรมนี้จึงช่วยสื่อสารระหว่างผู้พิการในการได้ยินและคนหูดี ช่วยเชื่อมโลกสองใบเข้าด้วยกัน

นางสาวชาคริยา จันทรคามิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “SignSense เกิดขึ้นจากที่พวกเรานั่ง ระดมความคิดกันว่าอยากลองทำเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ โดยสนใจกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย (คนหูหนวก) เมื่อลองศึกษาปัญหาของคนหูหนวกดูว่าปัจจุบันพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง เราจึงพบว่าจริงๆ แล้วคนหูหนวกไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และไวยากรณ์ภาษามือไทยไม่เหมือนกับภาษาไทย ทำให้เค้าสื่อสารกับคนหูดีลำบาก บางคนจึงเขียนไม่ได้เลย อ่านไม่ได้ด้วย หรือเขียนออกมาแล้วคนหูดีไม่เข้าใจ พวกเราจึงเกิดไอเดียที่ว่าจะดีกว่ามั้ยถ้าจะทำให้คนหูหนวกและคนหูดียังสื่อสารกันได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายยังได้ใช้ภาษาแม่ของตัวเอง”

“พวกเราจึงทำ SignSense ซึ่งเป็น Application ที่ใช้ AI ที่แปลง ‘ภาษามือเป็นเสียง’ และ ‘แปลงเสียงเป็นภาษามือ’ ไปพร้อมๆ กันแบบ Realtime กล่าวคือเมื่อคนหูดีพูดก็จะแปลงคำพูดเป็นภาษามือ และเมื่อคนหูหนวกทำภาษามือก็จะแปลงเป็นเสียงออกไปให้คนหูดีได้ยินนั่นเอง โดยการแปลในลักษณะนี้จะทำให้สื่อสารกันได้อย่างไร้รอยต่อ (seamlessly) เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างในการสื่อสาร และทำให้คนหูหนวกได้เข้าถึงสื่อ, ข้อมูลมากขึ้นนั่นเอง”

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

X

Right Click

No right click