ใกล้ฤดูเลือกตั้งแล้ว เราจึงได้ยินคำหวานบ่อยขึ้น จากผู้ปกครองและบรรดานักการเมืองที่คิดจะเข้ามาชิงหรือขอแชร์อำนาจในการปกครองกับเขาบ้าง

"รัฐบาลของเราต่อไปจะต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน" หัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พูดออกอากาศ ในความหมายคล้ายคลึงกันนี้

ท่านผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่า ตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา กรุงปารีสได้ลุกเป็นไฟ

นับเป็นเวลาเกือบ 4 สัปดาห์ ที่ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวเองว่า “Gilets Jaunes” หรือ "เสื้อกั๊กเหลือง" ได้ทำการเผารถรา ขว้างปาก้อนหินและเศษเหล็กใส่ตำรวจ ตลอดจนทุบทำลายกระจกและปล้นสะดมธนาคารและร้านรวง และได้ยึดถนนหนทางในหลายย่านไว้เป็นป้อมค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประตูชัย" (Arc de Triomphe) สัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ซึ่งตั้งอยู่ ณ Place Charles de Gaulle ตรงด้านปลายสุดของถนน Avenue Champs-Elysees อันมีชื่อเสียง โดยได้ทำการต่อต้านกับตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตาและรำกระบี่กระบองเข้าใส่ฝูงชน อย่างแข็งขันที่สุด และบ้างก็ขีดเขียนพ่นสีไปบนผนังของประตูชัย และทุบทำลายสิ่งของในชั้นใต้ดินจนเสียหายอีกด้วย และการประท้วงก็ได้ลุกลามไปทั่วประเทศ โดยมีคนตายไปแล้ว 4 คนและบาดเจ็บเกือบ 200

ประเมินกันว่าการประท้วงครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งในรอบ 50 ปี ดีกรีของความรุนแรง ไม่ด้อยไปกว่าเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรเมื่อคราวพฤษภาคม ปี 2511 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ "Mei 1968”

ในครั้งกระโน้น นักศึกษาและประชาชนได้เข้ายึดมหาวิทยาลัยปารีสในเขต Left Bank และกะเทาะเอาแท่งหินที่ปูบนพื้นถนนมาทำป้องค่าย ตลอดจนเผาทำลายรถราและปล้นสะดมร้านรวงอย่างกว้างขวาง ผมเคยอ่านข้อมูลที่ไหนจำไม่ได้นานมาแล้วว่า Daniel Cohn Bendit ผู้นำนักศึกษา ทำนอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้นำม็อบในครั้งนั้นเข้ายึด Arc De Triomphe เป็นที่ปราศรัยและได้ปัสสาวะลงไปในกองไฟแห่งนิรันดร์กาล (Flames of Eternity) ด้วย ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวประตูชัยก็จะต้องเห็นคบเพลิงนี้ลุกโชนอยู่ตลอดเวลา ใต้ประตูชัยแห่งนั้น ถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งทหารนิรนาม ที่เคยพลีชีพเพื่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสอีกด้วย

ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ปรากฏว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron ได้ออกมากล่าวขอโทษออกทีวีพร้อมกับมอบแพ็กเกจใหญ่ให้ประชาชนอีก คือการลดภาษีและเพิ่มสวัสดิการบางอย่าง

“Au début, c’ était de la colère contre les impôts et le Premier ministre a réagi en annulant et en supprimant toutes les augmentations prévues pour le début de la nouvelle année. Mais cette colère est plus profonde. J’ estime que cela est juste à bien des égards ... Je vous ai peut-être donné l’ impression que cela m’ était égal, que j’ avais d’ autres priorités. Je sais que j'ai peut-être fâché certains d'entre vous avec mes mots" เขากล่าวตอนหนึ่งเป็นทำนองเสียใจแกมขอโทษ

ก็ต้องรอดูต่อไปว่า ม็อบจะพอใจและหยุดประท้วงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้เลื่อนการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นแห่งการประท้วง ออกไปอีก 6 เดือน (Six-Month Moratorium) แล้ว การประท้วงก็ไม่ได้แผ่วลงแต่อย่างใด แต่กลับรุนแรงขึ้นทุกวันๆ

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพราะผมอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นความข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากและควรนำมาพิจารณาถกเถียงกันอย่างละเอียด แต่ได้ถูกละเลยไป เพราะผู้คนไปให้ความสนใจกับความเป็นไปของม็อบและความรุนแรงต่างๆ เสีย จนกลบความสำคัญของประเด็นนี้ไป

อันที่จริง ปฐมเหตุแห่งความไม่พอใจมันมาจากเรื่องที่รัฐบาลต้องการขึ้นภาษีน้ำมัน และจะทำให้น้ำมันแพงขึ้น แต่เหตุผลเบื้องหลังของการขึ้นในครั้งนี้ มันเป็นเหตุผลที่หวังดีต่อโลกและคนรุ่นหลัง คือขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อใช้กลไกตลาดบังคับให้คนลดการใช้น้ำมันลง แล้วหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างอื่นที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษ

เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นถือเอาปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญมาตั้งนานแล้ว และทำตัวเป็นผู้นำของโลกในเรื่องนี้อยู่ตลอดมา

เรียกว่าเป็นเหตุผล "รักษ์โลก" "เจตนาดี" และ "อยากทำความดี" ว่างั้น

แต่ราษฎรชั้นกลางของฝรั่งเศสเองกลับรับไม่ได้กับการที่ต้องใช้น้ำมันที่กำลังจะแพงขึ้น (เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2562) และเริ่มใส่เสื้อกั๊กเหลืองออกมาประท้วงกัน

ตอนแรกรัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ (อย่างที่ประธานาธิบดีออกมายอมรับตอนออกทีวีซึ่งผมนำมาแปะไว้ให้อ่านข้างต้นแล้ว) และประธานาธิบดีก็มั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้ เลยมีข่าวว่าเขากล่าวขึงขังเป็นทำนองว่าจะไม่ยอมถอยเด็ดขาด เพราะมั่นใจในเจตนาดีของนโยบายนี้

"Nous ne changerons rien. Les taxes sur le carburant resteront en place et seront levées en 2019. Les taxes sur les véhicules polluants augmenteront également."

คือนอกจากจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว ยังย้ำว่าจะขึ้นภาษียานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลภาวะอีกด้วยในอนาคต

เห็นไหมครับ ว่ามันเป็นการท้าทายม็อบอย่างหนึ่ง

เขายังกล่าวเจตนาดีอีก (ซึ่งต่อไปผมจะแปลเป็นภาษาไทย) ว่า

"ความรับผิดชอบของผมง่ายนิดเดียว คือการันตีว่าราษฎรของเราทุกคน สามารถเข้าถึงพลังงานราคาถูกและสะอาดได้....เราต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล...ภายใน 30 ปี เราต้องเปลี่ยนจากฝรั่งเศสที่ 75% ของการใช้พลังงานมาจากฟอสซิล ไปเป็นฝรั่งเศสที่การผลิตและบริโภคพลังงานจะกลายเป็นพลังงานที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนโดยสิ้นเชิงในปี 2050...และเราต้องการที่จะสร้างการขนส่งรูปแบบใหม่...ภายในปี 2030 จำนวนกังหันลมจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า แผงพลังแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า...และเราจะนำกังหันลมไปตั้งอยู่กลางทะเลด้วย...."

ผมว่าถ้าคนชั้นกลางไทยได้ฟังนายกรัฐมนตรีของเรากล่าวทำนองนี้ ผมว่าส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยและบางส่วนอาจจะชื่นชมด้วยซ้ำว่ามีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง นอกเสียจากภาคธุรกิจเท่านั้นที่ไม่อยากต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่อันนี้

แต่นี่ราษฎรฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้า มีวัฒนธรรมสูง และชนชั้นผู้นำของพวกเขาก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้แท้ๆ กาลกลับตาลปัตรไปได้

ผมว่ามันน่าคิด เพราะราษฎรกลับไม่ไว้ใจผู้นำของเขาในประเด็นเหล่านี้ และถ้าใครติดตามเรื่องโลกร้อนมาอย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าระยะหลังมานี้ มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มจะไม่เชื่อ หรือไม่ก็มีความคิดทำนองว่า "ถึงโลกจะร้อนขึ้น แล้วไงหล่ะ?" หรือหลายคนที่เชื่อ แต่ก็ไม่เชื่อว่าการหันไปใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือนิวเคลียร์ จะถูกและดีจริงอย่างที่โฆษณากัน

ยิ่งผู้นำอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาตั้งแง่กับเรื่องโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้ประเด็นโลกร้อนถูกดิสเครดิตลงไปอีก

คนฉลาดที่คิดได้เอง สืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยเหตุด้วยผล ก็มักจะตั้งข้อสงสัยว่า คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นสาเหตุของโรคร้อนจริงหรือ หรือมันเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และเราคงตอบให้แน่ใจชัดเจนลงไปไม่ได้ทีเดียว เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ โลกไม่ใช่ห้องทดลอง ที่ควบคุมอะไรได้หมด

และถึงแม้มีคาร์บอนเพิ่มขึ้น แล้วมันไม่ดีจริงหรือ เพราะอย่าลืมว่า พืชทั้งมวลต้องการคาร์บอน ยิ่งคาร์บอนมาก พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี และพื้นที่เขียวชอุ่มย่อมเพิ่มขึ้น

พวกเขายังรู้อีกว่า ในอดีตอันไกลโพ้น โลกก็เคยเผชิญกับภาวะโลกร้อนมาแล้ว และรุนแรงกว่าปัจจุบันหลายเท่าพันทวี บรรพบุรุษของเราก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Homo Sapiens ก็เคยผ่านยุคน้ำแข็ง แล้วก็เข้ายุคโลกร้อน น้ำแข็งละลาย แล้วก็กลับเป็นยุคน้ำแข็ง แล้วก็กลับเป็นโลกร้อน กลับไปกลับมาแบบนี้หลายเที่ยว ในทุกๆ 100,000 ปี

พวกเขาจึงคิดว่าโลกร้อนรอบนี้ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง สุดที่มนุษย์จะไปก้าวล่วงและมีอิทธิพลต่อ แต่สุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องปรับตัวได้อยู่ดี

เพียงแต่มันจะมีคนได้และคนเสีย

เช่นผู้คนในกรุงเทพฯ อาจต้องไร้ที่อยู่อาศัย เพราะถูกน้ำทะเลไหลบ่าขึ้นมาท่วมบ้านเรือนหมด แต่ก็อาจทำให้พวกที่มีบ้านแถวเขาใหญ่ กลายเป็นบ้านชายทะเลไป และทะเลทรายในเมืองจีน ในเอเชียกลาง ในแอฟริกา และในอเมริกาเหนือ ที่เคยแห้งผาก ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ก็อาจจะกลับกลายเป็นพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารให้โลก เป็นการแก้ปัญหาความอดอยากไปโดยปริยาย เป็นต้น

ไหนจะไซบีเรีย แคนนาดาเหนือ กรีนแลนด์ อลาสก้า ตลอดจนขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ อาจจะกลายมาเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติมเลี้ยงโลกได้ไหม ถ้าน้ำแข็งละลายเพราะอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น... ฯลฯ แล้วราคาอาหารจะลดลงหรือไม่?

เหล่านี้ ล้วนยังไม่มีคำตอบซึ่งเป็นที่พอใจหรือเป็นข้อยุติ

เพียงแต่เป็นสมมติฐานแทบทั้งสิ้น

และตราบใดที่มันยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจสำหรับราษฎรหมู่มาก ย่อมหวังยากว่าพวกเขาจะต้องมาทนแบบรับภาระต่างๆ เพื่อการนี้

เหมือนกับที่ราษฎรฝรั่งเศสกำลังปฏิเสธภาระที่พวกเขาคิดว่าชนชั้นนำของพวกเขายัดเยียดให้


บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

ผมเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมา และได้รับการศึกษา ในยุคพุทธทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา หรือถ้าเทียบเป็นทศวรรษแบบฝรั่งก็ต้องถือว่าเป็นเด็กที่เกิดในยุค 60s แต่เจริญเติบโต เริ่มมีความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนเข้าสู่ Formative Years ในระหว่างยุค 70s-80s

สมัยโน้น เมื่อผู้ใหญ่ถามว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" เด็กส่วนใหญ่มักจะตอบว่า อยากเป็นนักบินอวกาศ หรือนักวิทยาศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นสุดยอดปรารถนาของเด็กสมัยนั้น สมัยที่ Apollo 11 นำมนุษย์ขึ้นไปเหยีบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก และชื่อเสียงของนักบินอวกาศเหล่านั้น โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่จดจำได้ยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารบกของไทยเสียซ้ำ

หุ้นชั้นแนวหน้าของโลกที่คนนิยมลงทุนกันมากในสมัยโน้นคือ Coca-Cola, Sears, Philip Morris (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Altria) และ GE หรือ General Electric

หุ้นเทคโนโลยี (สมัยโน้นยังไม่เรียกว่า Hi-Tech) ซึ่งนิยมกันในหมู่ผู้ลงทุนหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น ก็มีเช่น Polaroid, Xerox, Texas Instruments, และต่อมาก็ IBM เป็นต้น โดยกิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ยกเว้น Philip Morris แล้ว กิจการอื่นล้วนมีส่วนพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการอวกาศ" และ "Moonshot" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สื่อมวลชนสมัยนั้น มักชอบใช้คำเขื่องๆ มาอธิบาย ทำนอง "นับเป็นก้าวย่างสำคัญของมนุษยชาติ"....ว่างั้น

ฝรั่งเรียกหุ้นเหล่านี้ “Nifty Fifty” คือเป็นหุ้นสำคัญระดับ Blue Chip ของสหรัฐฯ นั่นเอง

จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบัน ยกเว้น Altria (และอาจจะอนุโลมนับ Coca-Cola เข้าไว้ด้วย) หุ้นที่เหลือได้กลายเป็น "ไก่รองบ่อน" ไปเสียแล้ว ช่างสอดคล้องกับกฎอนิจจังของพุทธศาสนาเสียนี่กระไร

เดี๋ยวนี้ ถ้าไปถามผู้ลงทุนที่ถือตัวว่าหัวทันสมัยและทรงภูมิ ว่าหุ้นยอดนิยมชั้นแนวหน้าของโลกคืออะไร ร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า "หุ้น FAANG”

FAANG คือ Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google)

“ห้าใหญ่" ของ Nifty Fifty ในปัจจุบันกลายเป็นกิจการไฮเทคไปเสียสิ้น

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิจัยฝรั่ง ได้ไปถามเด็กๆ อเมริกันสมัยนี้ว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?"

หลายคนซึ่งดูฉลาดเฉลียวและฉะฉานที่สุดในกลุ่ม มักจะตอบว่า "อยากเป็นยูทูปเบอร์" (แทนคำตอบของเด็กรุ่นก่อนหน้านั้น ซึ่งมักตอบว่า "อยากเป็นนักฟุตบอล" “นักร้อง" "ดาราฮอลลีวูด" “นักวิทยาศาสตร์" หรือ "นักธุรกิจ" และ "ผู้ประกอบการ" เป็นต้น)

แน่นอน เดี๋ยวนี้ เรามีคำว่า “YouTube Celebrities” คือเหล่าดาราที่โด่งดังและมีอาชีพของตัวเองแบบเป็นล่ำเป็นสันในช่อง YouTube ของตน เด็กสมัยนี้แทบทุกคนบริโภค YouTube และ Social Media

เฉพาะเกมอย่างเดียว ก็เล่นกันแยะมากแล้ว (เว็บไซต์เกมอย่าง WePC ประมาณว่าทุกๆ วันมีคนเล่นวิดีโอเกมทั่วโลกถึงกว่า 2,500 ล้านคน และ Pew Research Center พบว่า 60% ของผู้ชายที่อายุระหว่าง 16-29 ปี เล่นวิดีโอเกม และ 53% ของผู้ชายที่อายุระหว่าง 30-49 ปี ก็ยังคงเล่นเกมต่อเนื่องมาอีก)

"เซียนเกม" สมัยนี้ สามารถทำเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วยการเล่นวิดีโอเกม หลายคนมีช่องของสตรีมมิ่งของตัวเองบน YouTube และ Twitch ยิ่งมีคนเข้ามาดูพวกเขาเล่นเกมมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะได้เงินจากค่าโฆษณา และผู้ชมจำนวนมากก็บริจาคเงินให้พวกเขาอีกด้วย

อย่าง Tyler “Ninja” Blevins เซียนเกม Fortnite (ซึ่งคาดว่ามีผู้เล่นทั่วโลกกว่า 125 ล้านคน) นั้น ก็คาดกันว่ามีรายได้ประมาณ 500,000 เหรียญฯ ต่อเดือน หรืออย่าง Daniel Middleton เซียนเกม Minecraft ก็คาดว่ามีรายได้ในปี 2560 ทั้งปี จากการเล่นเกมดังกล่าวถึง 16.5 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 50 ล้านบาท เลยทีเดียว (ข้อมูลจากนิตยสาร ESPN ฉบับ กันยายน 21)

เห็นหรือยังว่า ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงอยากเป็น YouTuber

แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่สายเกมสายเดียวเท่านั้น ยังมี YouTuber สายอื่นอีกนับไม่ถ้วนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกทั้งในเชิงชื่อเสียงและรายได้

นั่นเป็นเพราะผู้คนในโลกบริโภค YouTube (และ Social Media) กันมาก ตัวเลขที่มักนำมาอ้างอิงกันคือ "11 ชั่วโมงต่อวัน" หมายความว่าคนสมัยนี้ ใช้เวลาโดยเฉลี่ยคนละ 11 ชั่วโมงต่อวัน ก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับ Electronic Media กัน แน่นอน มันเป็นการเสพติดอย่างหนึ่ง!

ความหมายของคำว่า "เสพติด" คืออะไรก็ตาม หากเราได้ลองบริโภคมันเข้าไปแล้วระดับหนึ่ง มันจะเรียกร้องให้เราต้องหามาบริโภคซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง และจะต้องบริโภคมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อสนองให้เกิดความพอใจที่ได้บริโภคมัน เห็นหรือยังครับว่าทำไม Altria และ Coca-Cola ถึงอยู่ยงอย่างยิ่งใหญ่มาได้เป็นร้อยๆ ปี เพราะยักษ์ใหญ่เหล่านี้เขาค้าขาย “นิโคติน” และ “คาเฟอิน” ซึ่งใครจะว่ายังไงก็ช่าง สำหรับผมแล้ว มันเป็น Stimulant ที่ทำให้ "เสพ" หรือ "บริโภค" แล้ว "ติด"

ไม่แปลกใช่ไหมครับที่ Starbuck เติบโตเร็วมาก และอภิมหาเศรษฐีระดับนำของไทย 2 ตระกูล สามารถสร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย มาเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกได้ ด้วยการค้า “แอลกอฮอล์” และ “คาเฟอิน” คือตระกูล สิริวัฒนภักดี และ อยู่วิทยา

ผมคงไม่ต้องพูดว่าของพวกนี้มี Dark Side ยังไงบ้าง เพราะท่านผู้อ่านนิตยสาร MBA ฉบับนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงภูมิด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับผู้ค้าสารเสพติดยุคก่อน พวก FAANG ซึ่งเป็นผู้ค้า Social Media หรือสารเสพติดยุคใหม่ ร่ำรวยกันมากเพียงใด

แน่นอน การเสพติด Social Media มากเกินไป ย่อมต้องมี Dark Side เช่นเดียวกัน เป็นที่รับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า การหมกมุ่นอยู่กับ Social Media มากเกินไป อาจนำมาสู่โรคหลายโรค เช่นโรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียด และโรคเหงา

นี่ยังไม่นับว่าคนจำนวนมากกังวลว่าตัวเองจะดูไม่ดี และตัวเองจะพลาดรถไฟ (FoMo หรือ Fear of missing out) ตลอดจนถูกด่าว่าและดูถูกดูแคลน (Social Bullying) ผ่าน Social Media แต่สำหรับผม ผมว่าด้านมืดเหล่านี้ยังไม่น่ากลัวเท่าใด เพราะมันยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว และยังรักษาได้ ยังไม่กระทบต่อส่วนรวมและภาพรวม สักเท่าใด

สำหรับผม ผมว่า Dark Side ที่สำคัญยิ่งของ Social Media คือ "มันมาแย่งเวลาและความสนใจของมนุษย์" ไป มันทำให้เรา "ทำงาน" ได้น้อยลง และที่สำคัญ "มีเวลาคิด" “เวลาตรึกตรอง" น้อยลงด้วย

อย่าลืมว่า "เวลา" เป็นทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์

มนุษย์เรามี "เวลา" จำกัด ถ้าเรา "หมดเวลา" เราตาย...

ผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยชั้นแนวหน้า เคยเล่าให้ผมฟังว่า เพื่อนเศรษฐีของท่านคนหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตายในอีกไม่ช้า เปรยให้ฟังว่าอยากจะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่หามาได้ในชีวิตนี้ ให้กับภารโรงคนหนึ่งเพื่อแลกกับชีวิตของตัว...

“กูอยากจะต่อเวลา" เขาพูด

หากมนุษย์เรามีเวลาคิดและทำงานน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเวลาในการผลิต ก็ย่อมจะน้องลงด้วย สำหรับผม มนุษย์ต้องทำงานและต้องผลิต จะอยู่เฉยๆ แล้วสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ขึ้นมา หาได้ไม่ความข้อนี้ ฝรั่งซึ่งคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งใช้กันอยู่ในโลกใบนี้ รู้กันดีอยู่แล้ว ในคัมภีร์ไบเบิล มีข้อความที่พระเจ้าตรัสกับมนุษย์คู่แรก หลังจากได้กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเข้าไปแล้ว อย่างชัดเจนว่า “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้า จนเจ้ากลับไปเป็นดิน เพราะเจ้าถูกนำมาจากดิน และเพราะเจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม" (ปฐมกาล 3:19)

นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องลงมือลงแรงผลิต และเรามีเวลาจำกัด จะนั่งๆ นอนๆ คอยกินจาก Passive Income อย่างเดียว หาได้ไม่ ลองคิดในเชิงเศรษฐกิจดูสิครับ ถ้าการผลิตน้อยลง รายได้ของคนส่วนใหญ่ก็น่าจะน้อยลง...ใช่ไม่ใช่?

แล้วถ้ารายได้ของคน ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจภาพรวมถือเป็น "ผู้บริโภค" ด้วย ลดลง รายได้ของภาคธุรกิจและภาคราชการ (ภาษี) ย่อมลดลง เป็นเงาตามตัว และกำไรก็ย่อมลดลง

ทีนี้ลองหันกลับมาพิจารณาพวก FAANG ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจาก "รายได้ค่าโฆษณา" แต่รายได้จากการโฆษณา ย่อมมีที่มาจาก "งบโฆษณาของกิจการ" ซึ่งมีที่มาจาก "รายได้และกำไร" ของกิจการนั้นๆ ซึ่งจะมากจะน้อย ก็ต้องขึ้นอยู่กับ "รายได้ของผู้บริโภค" อีกทอดหนึ่ง

แล้วท่านผู้อ่านคิดว่า "รายได้ของผู้บริโภค" มีอะไรเป็นตัวกำหนด

ผมว่าตัวกำหนดสำคัญคือ "เวลา"

นั่นแหล่ะครับ IRONY OF LIFE ที่เรากำลังเผชิญอยู่

ตอนนี้กำลังใกล้ฤดูเลือกตั้ง ผมกำลังรอดูอยู่ว่า พรรคการเมืองพรรคไหน จะคิดตรงนี้แตก


บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

Page 5 of 5
X

Right Click

No right click