จากกรณีรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ผห 5347 เชียงใหม่ เฉี่ยวชนรถตู้โรงพยาบาลพร้าว หมายเลขทะเบียน จง 8142 เชียงใหม่ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 1001 เชียงใหม่-พร้าว หมู่ 6 ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุได้ตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ทันทีและจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถกระบะ หมายเลขทะเบียน ผห 5347 เชียงใหม่ จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 7 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

ในส่วนของรถตู้โรงพยาบาล หมายเลขทะเบียน จง 8142 เชียงใหม่ จััดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคนและกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน นอกจากนี้มีการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก 5,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์ 980,000 บาท รถยนต์สูญหาย/ไฟไหม้ 980,000 บาท สำหรับความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ร.ย. 01) ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 6 คน ๆ ละ  2,000,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล (ร.ย. 02) จำนวน 500,000 บาทต่อคน ประกันตัวผู้ขับขี่ (ร.ย. 03) 200,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะนี้ผลคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยเบื้องต้นทายาทโดยธรรมของผู้ประสบอุบัติเหตุที่เสียชีวิต จำนวน 4 ราย จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้

  1. ผู้ขับขี่รถกระบะมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าปลงศพ จากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท
  2. ผู้โดยสารรถกระบะที่เสียชีวิต จำนวน 2 ราย มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท
  3. ผู้โดยสารรถตู้โรงพยาบาลที่เสียชีวิต จำนวน 1 ราย มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 500,000 บาท และจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 กรณีความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ รายละ 2,000,000 บาท รวมเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับรายละ 2,500,000 บาท
  4. ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลพร้าว โรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ สำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาตามสิทธิแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสานงานกับบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาเชียงใหม่ และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อรวบรวมเอกสารและอำนวยความสะดวกเพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็วแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอทายาทโดยธรรมจัดเตรียมเอกสารให้แก่บริษัทประกันภัย

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้ประสบภัยหรือผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้มีการทำประกันภัยเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่ หากตรวจสอบพบว่ามีการทำประกันภัยก็จะได้รับสิทธิตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย Big Data สำหรับอุตสาหกรรมประกันภัย” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องสุขุมวิท 1-3 ชั้น 3 โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า ตามที่ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) ขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันวินาศภัย ในการร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลประกันวินาศภัยให้มีความสมบูรณ์ ตลอดจนมีความร่วมมือระหว่างกันในการนำข้อมูลด้านประกันภัยต่าง ๆ ภายในระบบฐานข้อมูลการประกันภัยมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ซึ่งระบบ IBS จัดทำขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยเพื่อเป็นฐานข้อมูล Big Data ของอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และยกระดับการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้สามารถบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างสำนักงานคปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่ง จึงประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่งผลให้ฐานข้อมูลประกันวินาศภัย หรือ Non-Life Insurance Bureau System (Non-Life IBS) มีความครบถ้วนสมบูรณ์และมีคุณภาพ ทำให้สามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐ ภาคธุรกิจประกันภัย และประชาชน ในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลด้านประกันภัยที่มีความครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ และมีคุณภาพ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาฐานข้อมูลการทำประกันภัยกลางของประเทศ ที่ครอบคลุมข้อมูลในทุกมิติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการกำกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีความมั่นคง แข็งแรง ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการดูแลสังคมและประชาชน ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาและการขยายธุรกิจ โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดกลยุทธ์หลักใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์เชิงสถิติ เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน เช่น การกำหนดแผนและกลยุทธ์องค์กร การบริหารความเสี่ยงภัยในการรับประกันภัย การบริหารต้นทุนในการดำเนินงาน การบริหารด้านสินไหมทดแทน การวิจัยในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและการกำหนดนโยบายทั้งในส่วนของสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันวินาศภัย 2. การนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมในการรับความเสี่ยงภัยของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท การคำนวณต้นทุนความเสียหายของความเสี่ยงแต่ละประเภท การประเมินความมั่นคงทางการเงิน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยเกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เอาประกันภัยอย่างแท้จริง 3. การนำข้อมูลไปใช้ในการตรวจสอบในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างการบริการที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับประชาชน โดยการตรวจสอบการทำประกันภัยอย่างเป็นระบบเพื่อการให้บริการที่รวดเร็ว รวมถึงการตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัยที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความระมัดระวังในการพิจารณารับประกันภัย การจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ไม่เหมาะสม อันจะเป็นการรักษาระบบประกันภัยให้มีความยั่งยืน และ 4. การนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาและขยายธุรกิจประกันวินาศภัยในอนาคต เช่น การวิจัยด้านการสร้างช่องทางการตลาดประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางการขายที่เหมาะสม การพัฒนากฎเกณฑ์ในการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย หรือการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยการนำเอาระบบ Generative AI เข้ามาช่วยเพื่อการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และการให้บริการที่รวดเร็ว การพัฒนาต่อยอดการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อรองรับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ๆ จากสภาวะโลกแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เป็นต้น

 

“ระบบ Non-Life Insurance Bureau System จะช่วยการสร้างความไว้วางใจและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบนี้จะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถจัดการข้อมูล ประเมินความเสี่ยง และปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และงานสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการนำฐานข้อมูลในระบบ Non-Life Insurance Bureau System ไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาและขยายธุรกิจ เพื่อการให้บริการที่ดีต่อประชาชนและสังคมต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 คณะกรรมการ คปภ. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ดังนี้

  1. นายอาภากร ปานเลิศ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ด้านกำกับ เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง ทั้งนี้ นายอาภากร ปานเลิศ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ด้านกำกับ
  2. นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ด้านส่งเสริมและพัฒนา ทั้งนี้ นางสาวชญานิน เกิดผลงาม เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ด้านส่งเสริมและพัฒนา
  3. นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทั้งนี้ นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกลยุทธ์องค์กร ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ

พร้อมใจเปิดโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ได้ลงพื้นที่ ณ จุดตรวจเยี่ยมหน้าสถานีตำรวจภูธรกำแพงแสน ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมี นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนางจันทิมา มีโส ผู้อำนวยการภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดในสังกัด เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครประกันภัยจังหวัดนครปฐม และหัวหน้าส่วนราชการ ในการนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบน้ำดื่ม และเครื่องอุปโภค-บริโภคสนับสนุนให้จุดตรวจเพื่อเป็นขวัญและกำลังให้กับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในจังหวัดนครปฐม

สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567 - วันที่ 17 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมาก อาจจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุ   สูงกว่าช่วงปกติ โดยได้เปิดศูนย์บริการสายด่วน คปภ. 1186 และ LINE @OICConnect อย่างครบวงจร ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์

Page 1 of 22
X

Right Click

No right click