×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Food Packaging Trend

August 07, 2017

เห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ แล้ว ที่ใครไปซื้อเนื้อหมู แล้วคนขายห่อเนื้อหมูด้วยใบตองยื่นให้

เดี๋ยวนี้คนทั่วโลกนิยมเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตกันทั้งนั้น โดยหยิบเนื้อหมูจากเชลฟ์ พิจารณาเนื้อหมู ดูบรรจุภัณฑ์ วันหมดอายุ ก่อนเดินไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ 

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพราะคำว่า เชย แต่เป็นเพราะสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน 

ไลฟ์สไตล์จึงเปลี่ยนตาม 

แล้ววันหนึ่งหนึ่ง เราซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มอะไรบ้าง บรรจุในกล่อง ถุง กระป๋อง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์ใดๆ เคยสังเกตไหมว่า มันสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามากขนาดไหน 

 

มีชั้น มีเชิง

เป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมอาหาร จะไม่เกิดมาคู่กับอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (Food Packaging) เพราะไม่ว่าผู้ผลิตจะผลิตอาหารใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการห่อหุ้มอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อน และเพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ คืออะไร แบรนด์อะไร ควรบริโภคก่อนวันเดือนปีใด ทั้งยังช่วยรักษาคุณภาพ กลิ่น รสของอาหาร ก่อนเดินทางจากโรงงานผลิต ผ่านระบบขนส่ง ไปยังร้านค้า แล้วจึงถึงมือผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารมีความหลากหลาย เช่น

- กระป๋อง (can)

- แก้ว (glass)

- ขวดพลาสติก (plastic bottle)

- ฟิล์มพลาสติก (plastic film)

- รีทอร์ทเพาส์ (retort pouch)

- ถุงในกล่อง (bag in box)

- กล่องปลอดเชื้อ (aseptic carton)

- การบรรจุแบบดัดแปรบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging) 

ซึ่งถ้าจะแบ่งประเภทของบรรจุภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ จึงแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิตบรรจุ-ภัณฑ์, แบ่งตามรูปทรง เช่น รูปทรงแข็งตัว (Rigid Forms) อย่างแก้ว เซรามิก รูปทรงอ่อนตัว (Flexible Forms) อย่างพลาสติก ถุง หรือแบ่งตามการขาย เช่น ขายปลีก หรือขายส่ง โดยในด้านการแบ่งตามวัสดุที่นิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ มี 4 อย่าง ได้แก่ 

 

ไม้และเยื่อ : ในรูปของกระดาษ, ลังกระดาษ, กล่องกระดาษแข็ง (เช่น กล่องพับ กล่องหิ้วบรรจุขวด กล่องกระดาษลูกฟูก)

แก้ว : เป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุใส่มากที่สุด โดยใช้คู่กับฝาปิด เช่น ปากฝาจีบ ปากเกลียวธรรมดา ปากเกลียวล็อค 

โลหะ : ในรูปของกระป๋อง ถัง หลอด ฯลฯ ช่วยให้เก็บอาหารไว้ได้นาน และไม่แตก

พลาสติก : แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ เทอร์โมเซ็ตติง พลาสติกที่มีรูปทรงถาวร นำกลับไปหลอมละลายอีกไม่ได้ กับ เทอร์โมพลาสติก พลาสติกที่นำมาหลอมใช้ใหม่ได้อีก โดยพลาสติกที่ใช้บรรจุหีบห่อส่วนใหญ่เป็น เทอร์โมพลาสติก ซึ่งมีใช้อยู่ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ ฟิล์มและแผ่นพลาสติก (Plastic Film and Sheet) กับภาชนะพลาสติก (Plastics Container)

 

 

บรรจุภัณฑ์ยังแบ่งได้อีก 3 ลักษณะคือ บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 (Primary Package) ชั้นที่สัมผัสกับอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยตรง เช่น ถุงขนมขบเคี้ยว หลอดยาสีฟัน บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 2 (Secondary Package) ทำหน้าที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 เช่น กล่องกระดาษที่บรรจุนม 12 กล่อง และสุดท้าย บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Tertiary Package of Shipping) ทำหน้าที่ป้องกันผลิตภัณฑ์ระหว่างขนส่ง ซึ่งผู้ซื้อจะไม่ได้เห็นบรรจุภัณฑ์นี้

ในด้านส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ วัสดุ และ ป้ายฉลากสินค้า ซึ่งงานออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งวัสดุและป้ายฉลากสินค้า ยึดโยงกับการสื่อสารกับผู้บริโภค การตลาด และการจำหน่าย อย่างไม่สามารถแยกจากกันได้ นักออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนักออกแบบกราฟิกจึงต้องคำนึงถึงความงามและสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพ ทั้งภาพถ่ายหรือภาพประกอบ โลโก้ อักษร สี เพราะทุกรายละเอียดสามารถทำให้ผู้บริโภคทราบถึงตัวผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่แรกเห็น รวมถึงนักออกแบบอาจนำวัฒนธรรมนิยม (Traditional) มาใช้กับสินค้า เช่น นำการใช้สีแบบไทย เช่น สีแดง สีทอง หรือลายไทย ไปอยู่บนบรรจุภัณฑ์ขนมไทย คนไทยหรือชาวต่างชาติเห็นก็จะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทย 

นอกจากนี้ นักออกแบบยังต้องจัดวางข้อความบนป้ายฉลากสินค้าเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคให้ครบ ตั้งแต่ชื่อบอกชนิดหรือประเภทของอาหาร น้ำหนัก วัน เดือน ปี ที่ผลิต, หมดอายุ รายการแสดงส่วนผสม การเก็บรักษา วิธีบริโภค ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้บรรจุ หรือผู้จัดจำหน่าย เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดีและสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

 

สังเกตบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่น

อีกหนึ่งภาพที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของไทยผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์คือ สินค้าโอท็อป (OTOP) ซึ่งไทยนำไอเดียมาจากเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดย อ.นเร ขอจิตต์เมตต์ เรียบเรียงข้อสังเกตจากนักออกแบบชาวไทยที่ไปเรียนปริญญาโทด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นไว้ในหนังสือ “Packaging Design เสกสรรปั้นแต่งบรรจุภัณฑ์” ว่า

“คนญี่ปุ่นมักจะออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้เก่ง เพราะเขาปลูกฝังเรื่องการพับกระดาษและมีการพัฒนาออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด รวมไปถึงความเข้าใจในเรื่องศิลปะและการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนชาติอย่างเหนียวแน่น” 

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของคนญี่ปุ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้จดจำแบรนด์หรือโลโก้ได้ง่าย และผ่านการไตร่ตรองเป็นอย่างดี ใช้สีสันไม่มากนัก ซึ่งเมื่อออกแบบก็จะคิดด้วยว่า “ต้องทำลายง่าย” เพราะที่ญี่ปุ่นมีกฎที่ต้องชำระค่าขยะเพิ่มตามจำนวนที่ทิ้ง จึงดีต่อสภาพแวดล้อมของทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์จะไม่คงอยู่ในรูปแบบใดเพียงแบบเดียว หากแต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เนื่องจากบรรจุภัณฑ์มี Product Life Cycle เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี เหมาะสมกับเทรนด์ กับความต้องการแต่ในละสังคม แต่ละยุค จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการตลาดและการขายได้ และยิ่งประเทศไทยส่งออกอาหารไทยไปยังต่างแดนนับเป็นมูลค่ามหาศาล ดังที่ แผนกวิจัยนโยบายและอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยใน บทสรุปอุตสาหกรรมอาหารไทย ปี 2557 และแนวโน้ม ปี 2558 ว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2557 มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,080,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

 

 

“ส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกของไทยในปี 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสินค้าข้าว น้ำตาลทราย ไก่ และแป้งมันสำปะหลัง มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินค้าปลาทูน่ากระป๋อง กุ้ง และสับปะรดกระป๋อง มีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ส่วนเครื่องปรุงรสเป็นสินค้ารายการเดียวที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกคงที่” (ที่มา : http://fic.nfi.or.th/broadcast/Thai_Food_Industry_2014_and_Trend_2015.pdf)

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งมีการขยายตัวด้านการส่งออกอาหารมากขึ้นเท่าใด อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารก็ยิ่งมีความต้องการมากขึ้นเท่านั้น 

 

Food Packaging Trend

เทรนด์ของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งเป็นที่ต้องการในขณะนี้ นอกจากตอบโจทย์การใช้งาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย โดดเด่น ก็ยังมีความต้องการที่ต่างกันออกไป เช่น มีน้ำหนักเบา หยิบ จับ หรือบริโภคสะดวก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายเดินทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากเดิมที่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ใช้เพียงวัสดุธรรมชาติ หรือเศษวัสดุ เช่น ใบตอง กะลา หนังสือพิมพ์​ ยุคนี้เป็นยุคของงานดีไซน์ ใบตอง กะลา จึงถูกนำมาประยุกต์ต่อและเพิ่มมูลค่า และมีการใช้วัสดุอื่นที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ ผลิตขึ้นใหม่ ใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น ฟิล์มพลาสติกแอคทีฟ บรรจุภัณฑ์นาโน ที่ช่วยรักษาความสดและคุณภาพของอาหารประเภทผักและผลไม้ ดังนั้น การผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารจึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์มาก และใช้เงินลงทุนมากน้อยต่างกันไปด้วยหลายปัจจัย แต่บางครั้งผู้ทำธุรกิจก็ลงทุนกับค่าบรรจุภัณฑ์มากกว่าตัวสินค้าด้วยซ้ำ

โดยในด้านนาโนเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็น Nano Packagingจะเข้ามามีบทบาทกับบรรจุภัณฑ์อาหารมากขึ้น ในลักษณะของการช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในหีบห่อ โดย www.safenano.org แบ่งบรรจุภัณฑ์นาโนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มแรก บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม (Improved Packaging) ซึ่งช่วยป้องกันการซึมผ่าน (Gas Barrier) ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้น ที่จะมีผลต่ออาหารภายในห่อ

กลุ่มที่ 2 บรรจุภัณฑ์ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับอาหารหรือสภาพแวดล้อมโดยตรง (Active Packaging) เช่น บรรจุภัณฑ์นาโนซิลเวอร์ ช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจส่งผลต่ออาหารได้ 

กลุ่มที่ 3 บรรจุภัณฑ์อันชาญฉลาด (Smart Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของอาหารที่อยู่ภายใน ช่วยป้องกันการเติบโตของเชื้อโรค ตลอดจนตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารได้

 

 

นิตยสาร Packaging Strategies นำรายงานฉบับใหม่ของ Persistence Market Research ชื่อ ‘Global Market Study on Nano-Enabled Packaging For Food and Beverages: Intelligent Packaging to Witness Highest Growth by 2020’ มาเปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์นาโนสำหรับอาหารและเครื่องดื่มในตลาดโลกไว้ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020

“…predicts that the nano-enabled packaging market will enjoy a healthy CAGR of 12.7% during the report’s forecast period of 2014-2020, and will expand from its 2013 market value of US$6.5 billion to US$15 billion in 2020.”

ไม่นานมานี้ นิตยสารดังกล่าวยังทำแบบสำรวจจากผู้อ่านบนเว็บไซต์ และเผยแพร่บทความ Single-serve packaging becomes a lifestyle เกี่ยวกับเทรนด์ต่อไปของบรรจุภัณฑ์ว่า ด้วยชีวิตที่รีบเร่ง คนต้องการความสะดวก บรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ครั้งเดียว จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น

“…One major convenience trend is single-serve packaging. These busy, on-the-go consumers want portioned, portable, packaged food for one. And they want that food to follow all the other major trends such as sustainable packaging, upscale look and ingredients, and creative solutions and flavors. In a poll on PackagingStrategies.com, readers voted “Single-serve snacking is growing in popularity” as the top food packaging trend here to stay, and it seems they are quite right.”

 

PDG : Capacity and Innovation 

นอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ย้อนกลับไปดูยุคแรกของน้ำดื่มที่มีการบรรจุขวดในไทย โพลาริส (Polaris) เป็นแบรนด์แรกที่ทำขึ้นและจดทะเบียนธุรกิจในปี 2499 เวลาผ่านไปมากกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีน้ำดื่มหลากประเภทบรรจุในขวดจำนวนมากและมีสารพัดแบรนด์ วางจำหน่ายเต็มตู้แช่ ไม่ว่าจะเป็นในร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ศูนย์การค้าระดับไฮคลาส

 

 

นิตยสารเอ็มบีเอได้พูดคุยกับ ธงชัย ตันสุทัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอดดิจิ จำกัด (มหาชน) (PDG)เจ้าของธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเป็นขวดพลาสติก PET ที่ทำจากเม็ดพลาสติกของคนไทย บรรจุได้ทั้งน้ำมันพืช น้ำดื่ม  น้ำผลไม้ น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอสปรุงรส 

ธงชัยบอกว่า ธุรกิจขวด PET ของเขามีกลุ่มน้ำมันพืชเป็นตลาดหลัก แต่รวมแล้วมีกำลังผลิตเดือนละ 60 ล้านขวด ทำรายได้กว่า 700 ล้านบาท 

“ก่อนจะเป็นขวด PET ในอดีตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวด PVC PE หรือขวดขุ่น แล้วจึงพัฒนาจนเป็นขวด PET ซึ่งพรอดดิจิเริ่มต้นกิจการจากการผลิตขวด PET เมื่อปี 2535 เรามองว่าขวด PET มีจุดเด่นคือมีความใสเหมือนแก้ว น้ำหนักเบา คงทน และยังทนต่อกรดด่าง เช่น น้ำส้มสายชูที่มีความเป็นกรดก็บรรจุได้ และด้วยขวด PET ไม่มีสารพิษ (toxic) จึงไม่เป็นพิษภัยต่อร่างกาย”

สำหรับบรรจุภัณฑ์ของพรอดดิจิ ในด้านการดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ บ้างก็เป็นการออกแบบร่วมกันกับลูกค้า บ้างก็ออกแบบตามความต้องการของลูกค้า ส่วนในด้านการคิดค้นนวัตกรรม ธงชัยบอกว่า

“เราพัฒนาสินค้าของพรอดดิจิอย่างต่อเนื่อง เช่น การเป่ายืด 2 ทิศทาง (Stretch Blow) ในภาพใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในภาพย่อย Stretch Blow มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น มี output ที่สูงขึ้น มีการใช้ material น้อยลง ส่วนนวัตกรรมในช่วงไม่กี่ปี การจะมีพลาสติกใหม่ๆ มาใช้แทน PET ยังไม่มี เพราะขวด PET ยังเหมาะสมสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม และใช้กันทั่วโลก แต่นวัตกรรมต่อไปที่เรามองคือ Bio Plastic เป็นขวด PET ที่ผลิตจาก Renewable Plastic หรือพลาสติกจากพืชที่ย่อยสลายได้ง่าย จึงช่วยลดจำนวนขยะ ลดโลกร้อนได้ นี่เป็นไอเดียของต่างประเทศ แต่ตอนนี้ยังติดปัญหาตรงที่มีราคาแพง ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต”

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

• หนังสือ Packaging Design เสกสรรปั้นแต่งบรรจุภัณฑ์ อ.นเร ขอจิตต์เมตต์

• หนังสือ Packaging Design ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผศ.สุมาลี ทองรุ่งโรจน์

• www.mew6.com/composer/package/package_0.php

• http://fic.nfi.or.th/broadcast/Thai_Food_Industry_2014_and_Trend_2015.pdf

• www.foodpackthailand.com

• www.foodnetworksolution.com

• www.foodpackconference.com

• www.packagingstrategies.com

• www.packworld.com

• www.packagingoftheworld.com 

• www.safenano.org

มีคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนมักได้ตอบอยู่เรื่อยๆ คือ เคล็ดลับความสำเร็จของบริษัทญี่ปุ่นคืออะไร กับคำถามสั้นๆ เช่นนี้ ถ้าจะตอบให้ผู้ถามสิ้นสงสัยนั้นอาจต้องใช้เวลายาวนาน จึงขอเลือกหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่เป็นจุดแข็งของการบริหารธุรกิจในแบบญี่ปุ่นแท้ๆ คือ การใช้ Bottom up Policy หรือการบริหารจากระดับล่างสู่บน มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรคุณภาพก่อนนั่นเอง

สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น พนักงานทุกคนได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม และยังดำเนินนโยบายใช้ความเข้มแข็งของชุมชนผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

โดยหนึ่งในบริษัทที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำนโยบาย Bottom up Policy ไปใช้อย่างได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ คือ บริษัท โตโยต้า เริ่มตั้งแต่การกำหนดปณิธานชัดเจนเพื่อนำทางการดำเนินธุรกิจว่า “การผลิตสินค้าคือการสร้างคน” หมายความว่า ก่อนวางแผนธุรกิจ ก่อนวางระบบการผลิตสินค้า ต้องสร้างคนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนก่อน เมื่อเขามีพื้นฐานการทำงานที่เข้มแข็งแล้วจึงปล่อยให้คนเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดทักษะด้านต่างๆ ด้วยตนเองต่อไป ซึ่งสิ่งที่บริษัทจะได้ตอบแทนจากนโยบายนี้ คือ ทรัพยากรคนที่มีคุณภาพเหล่านี้ก็จะไปเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง

นอกจากนั้น เพราะความเชื่อมั่นในสติปัญญา ศักยภาพ ตลอดจนความสามารถของบุคลากรชาวโตโยต้าทุกคนนี่เองที่สานต่อให้เกิดบรรทัดฐานของคนทำงานที่เรียกว่า “Toyota Way” โดยผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับการชี้แนะพนักงานและโฟกัสไปที่ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานจริงของพนักงาน จากนั้นจึงอบรม ให้ข้อคิดแก่พนักงานตามปรัชญาธุรกิจที่บริษัทตั้งไว้ อาทิ

“...การปรับปรุงที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากความต้องการเป็นพื้นฐาน แม้จะเป็นแค่ความคิดเห็นเล็กๆ หรือข้อทักท้วงแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องให้ความสำคัญ”

“...เมื่อเจอปัญหาในการทำงาน ในเรื่องที่ไม่รู้คำตอบ ถามปัญหานั้นซ้ำกับตัวเองสัก 5 รอบ เพื่อให้ได้มีการทบทวนซ้ำไปซ้ำมา การทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งคำตอบของปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไรในที่สุด”

“...การปรับปรุงการดำเนินธุรกิจต้องทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการผลักดันนวัตกรรมใหม่ และวิวัฒนาการการผลิตใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา” (เป็นหลัก 1 ใน 5 ของ Toyota Way เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ไคเซน หรือ Kaizen)

ไม่เพียงแค่กับการทำธุรกิจเท่านั้น หากในนโยบายด้านการศึกษา แนวคิดแบบ Bottom up Policy ยังถูกนำไปใช้ผูกโยงกับแนวคิดการศึกษายุคกรีกโบราณ ที่มีคำว่า “PAIDEIA” พอแปลงมาเป็นภาษาอังกฤษอ่านว่า “พีเดีย” หมายถึง การศึกษา คำนี้มีความหมายครอบคลุมถึง 1. AGOGE การชี้นำ 2. DIDAKE การสอน 3. TROPE การเลี้ยงดู บวกกับ แนวคิดที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “EDUCATIO” ที่มีความหมายด้านการศึกษา ในสองทิศทาง ได้แก่ การสอน เป็นการกระตุ้นจากภายนอก ด้วยวิธีนำความรู้ไปสอนให้คนรู้ อีกด้านหนึ่ง คือ การเลี้ยงดู โดยดึงเอาศักยภาพ ความสามารถที่อยู่ในคน มาต่อยอดให้เพิ่มมากขึ้น

โดยคนญี่ปุ่นได้นำแนวคิดข้างต้นนี้มาปรับใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานที่อธิบายความสำคัญของการศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างรากฐานการศึกษาอันแข็งแกร่งกันตั้งแต่เด็กเริ่มเรียนรู้ในวัย 1-3 ขวบ และเมื่อเติบโตมา ประเทศญี่ปุ่นก็ยังปลูกฝังให้พลเมืองของเขาไม่หยุดเรียนรู้ เป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ดั่งที่ได้เห็นในระบบการทำงานที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมา คือ การส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ ณ จุดปฏิบัติงานจริง เมื่อพบเจอปัญหาและอุปสรรคระหว่างการทำงานก็จะได้ศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ Knowhow หน้างานได้ทันที ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดการนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคลในที่สุด

เพื่อให้เห็นภาพแนวทาง Bottom up Policy ที่เป็นจุดเด่นของการบริหารในบริษัทญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบทวิเคราะห์ที่ คุณซะคะเนะ มะชะฮิโระ อดีตผู้บริหาร บริษัท โคมัตสึ จำกัด (มหาชน) ได้เคยหยิบยกเพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานในแนวทางญี่ปุ่นและแนวทางของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบทสรุปนี้ได้มาจากประสบการณ์ทำงานจริงทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกาของเขาว่า

“การทำงานในตำแหน่งวิศวกรของบริษัทสัญชาติอเมริกัน จะมีทั้งฝ่ายพัฒนาเทคนิคการติดตั้งเครื่องจักรชนิดใหม่ ฝ่ายวางแผนเครื่องจักรอุปกรณ์ของโรงงาน ฝ่ายพัฒนาปรับปรุงเทคนิคการผลิต โดยพนักงานแต่ละคนจะมีสถานะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุงานของแต่ละคน พนักงานที่อยู่มานานย่อมอยู่ในสถานะที่สูงกว่าพนักงานที่ทำงานมาในบริษัทเป็นเวลาน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นในบริษัทญี่ปุ่น พนักงานทุกฝ่ายจะมีสถานะทัดเทียมกันและจะร่วมมือกันทำงาน โดยจะเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ทำงาน ณ จุดปฏิบัติงานจริง ซึ่งนี่นับเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่นทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้ามาตั้งแต่ฐานราก คือ เชื่อมั่นในพนักงานผู้ปฏิบัติงาน จนนำมาสู่ความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นได้สำเร็จ” 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ซามูไร ซากุระ สนใจสั่งซื้อได้ที่ ฝ่ายการตลาดหนังสือ โทร. 02-260-3855-9 facebook : MBA_magazine

หรือ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปหรือ download ฉบับ e-book ได้ที่ Application MBA Magazine

test

July 21, 2017

หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า  ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือน มิถุนายน 2560 บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อัตโนมัติซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แล้วจำนวน 16 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1,400 ล้านบาท  คือ

  • กิจการผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CNC Lathe Machine) ของบริษัทซิติเซ็น แมชชีนเนอรี่ เอเชียจำกัด  
  • กิจการผลิตเครื่องออกตั๋วและประตูกั้นชานชลาในรถไฟฟ้าใต้ดิน ของบริษัทจินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด
  • กิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ ของบริษัท อิโซเบะ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น

ล่าสุดบีโอไอยังได้อนุมัติการลงทุนในกิจการผลิตหุ่นยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม ของบริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วถึง 9 โครงการ ตั้งแต่ปี 2542 โดยได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เพื่อตั้งโครงการผลิตหุ่นยนต์  (Industrial Robots) ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง

โดยเป็นหุ่นยนต์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป รวมทั้งจะมีบริการซ่อมแซมหุ่นยนต์ที่ผลิตเอง ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าหุ่นยนต์และเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 764 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้บริษัทยังได้ตั้งศูนย์จัดแสดงสินค้าสำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนส่วนทดสอบการให้บริการ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ และอบรมการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับลูกค้า  (Robot Technical Center) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์แห่งที่ 4  ของบริษัท หลังจากที่มีการจัดตั้งแล้วที่สหรัฐอเมริกา  จีน และไต้หวัน และในอนาคตหากการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยขยายตัวบริษัทก็มีแผนจะขยายการผลิตและเปิดศูนย์ฯเพิ่มขึ้น

 

นางหิรัญญา กล่าวว่า โครงการลงทุนของบริษัทครั้งนี้นับเป็นการลงทุนโครงการที่ 10 ในประเทศไทย และเป็นโครงการแรกของบริษัทที่มีการลงทุนผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์เหมือนกับบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในรูปแบบสหกิจศึกษา (Work Integrated Learning :WiL) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาบุคลากรช่างฝีมือในประเทศไทย

หากพลิกดูหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ชาวโลกต่างขนานนามให้ว่าเป็น ดินแดนอาทิตย์อุทัย แห่งนี้ จะพบว่า หนึ่งในวิถีการปฏิบัติตนที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือและผูกพันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอย่างแยกไม่ออก

นั่นคือ วิถีแห่งนักรบ หรือ บูชิโด (The Way of Warrior) อันมี “นักรบ” ผู้ขนานนามตัวเองว่า “ซามูไร” ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อรับใช้องค์จักรพรรดิ ด้วยความจงรักภักดีตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเหล่านักรบซามูไร ได้ถูกพรากไป

เมื่อแปลความหมายเป็นรายคำ บูชิ แปลว่า นักรบ ส่วน โด มีความหมายว่า วิถีทาง หลักปฏิบัตินี้จึงเป็นหัวใจของชายชาติ “นักรบ” มาตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุคศักดินา อันมี ไดเมียว หรือ โกะเกะนิน (Gokenin) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ซึ่งชนชั้นสูงเหล่านี้ต่างก็มี นักรบ ผู้ถือหลักปฏิบัติ บูชิโด เป็นผู้คอยรับใช้ โดยเรียกว่า ซะบุระฮิ (Saburahi) เพื่อสื่อความหมายว่า เพื่อรับใช้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำเรียกชื่อคุ้นหูอย่าง “ซามูไร” ในเวลาต่อมา

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไร หรือ Samurai Spirit ให้ถ่องแท้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจหลักปฏิบัติ บูชิโด ก่อน ตั้งแต่ฐานรากและที่มา โดยหลักปฏิบัติบูชิโด เป็นหลักสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน ช่วงศตวรรษที่ 9-12 และดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ซึ่งหลักใหญ่ใจความของ บูชิโด มาจากคำสอนของลัทธิขงจื๊อ ผสมผสานด้วยอิทธิพลคำสอนในศาสนาชินโต พุทธศาสนา นิกายเซน และลัทธิเต๋า เพื่อชี้แนะแนวทางในการใช้ชีวิตของซามูไรทุกคนให้ดำรงอยู่ด้วยความสงบเยือกเย็น มีปัญญา ซามูไรทุกคนสมควรต้องเก็บทุกอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่า จะรัก โกรธ เจ็บปวด ไว้ภายใต้ใบหน้าที่สงบนิ่งเรียบเฉย แสดงออกมาได้แต่ความเข้มแข็งและหาญกล้าตามวิถีนักรบเท่านั้น

ดั่งที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า บูชิโด เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของแนวคิดแห่งคุณธรรมทั้ง 5 แหล่งที่มา ขอขยายความให้เข้าใจดังนี้

ลัทธิเต๋า มีหลักคำสอนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อันมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานอยู่ที่การประสาน 2 สิ่งของธรรมชาติที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่าง หยิน พลังลบสีดำ และ หยาง พลังบวกสีแดง

นิกายเซน ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน มีคำสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า

มุ่งเน้นการฝึกตนด้วยการนั่งสมาธิจนรู้แจ้ง เซน ถือเป็นพุทธปรัชญาที่ชาวญี่ปุ่นน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อย เห็นได้ชัดจาก พิธีชงชา หรือ ซะโด และศิลปะการจัดดอกไม้ “อิเคะบะนะ” เป็นต้น

ศาสนาพุทธ เป็นคำสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับนิกายเซน ชี้ทางให้เหล่านักรบเข้าใจในกฎของธรรมชาติ มองเห็นความเป็นจริงในชีวิตว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ซามูไรที่ปฏิบัติตามหลัก บูชิโด จึงไม่เกรงกลัวกับอันตรายและความตายใดๆ หากความตายนั้นจะเป็นไปเพื่อปกปักรักษาแผ่นดินและองค์จักรพรรดิที่พวกเขาเคารพยิ่งชีพ

ศาสนาชินโต เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ และความรักต่อสิ่งมีชีวิต

ทั้งมวล คำสอนของศาสนาชินโตบ่มเพาะให้ชายชาตินักรบรักชาติ จงรักภักดีกับเจ้านาย บูชาบรรพบุรุษ และเคารพนับถือจักรพรรดิดุจพระเจ้า

ลัทธิขงจื๊อ มุ่งเน้นสอนสั่งในคุณธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติเรื่อง ความเป็นธรรม การมีเมตตา โดยขงจื๊อ ให้ใส่ใจมีคุณธรรมกับความสัมพันธ์ 5 ประการ ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง สามีกับภรรยา พ่อกับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน

อิทธิพลของหลักธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดนี้ นำสู่บทสรุปเป็น คุณสมบัติสำคัญ 7 ประการ ที่เหล่าซามูไรต้องยึดถือปฏิบัติ

  1. Gi – ความถูกต้อง ความยุติธรรม และซื่อสัตย์สุจริต
  2. Yu  – ความกล้าหาญอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ
  3. Jin – มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่
  4. Rei – ความนับถือซึ่งกันและกัน ความสุภาพ
  5. Makoto – ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง
  6. Meiyo  – เกียรติยศ ความมีเกียรติ
  7. Chugi – ความจงรักภักดี

นอกเหนือจาก 7 ข้อแล้ว ยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่

  1. Ko – ความกตัญญู
  2. Chi – การมีสติปัญญาเฉียบแหลม
  3. Tei – การดูแลสุขภาพตนเองทั้งกายและใจ รวมถึงสุขภาพของครอบครัวของตนทุกคนด้วย

การถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติ บูชิโด ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่เป็นการปลูกฝังและสั่งสมสืบต่อกันมาทางสายเลือดนักรบซามูไรจากรุ่นสู่รุ่น วิถีนักรบ บูชิโด และจิตวิญญาณของซามูไร Samurai Spirit จึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั่วทั้งญี่ปุ่น เป็นบทพิสูจน์ว่า บูชิโด ไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการล่มสลายของ ซามูไร เรายังคงพบหลักคำสอนของบูชิโด หยั่งรากลึกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย ในศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่น รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทบทุกบริษัทด้วย

ไล่เรียงมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้แก่สงคราม ประเทศชาติเฉียดเข้าใกล้ “ความล่มสลาย” และในช่วงเวลานี้เองที่ชาวญี่ปุ่นได้ก้าวผ่านโมงยามแห่งความย่ำแย่ด้วยการปฏิบัติตามวิถีบูชิโดอย่างเข้มข้น

ก่อเกิดนักรบบูชิโดยุคกู้ชาติ เป็นนักรบธุรกิจ ที่ปรับเอาหลักปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจให้มั่นคงด้วยการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่ โดยนักรบธุรกิจทุกคน จะยึดถือในศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์อย่างที่สุด ความแข็งขันและความร่วมมือของคนทั้งชาติด้วยจิตวิญญาณซามูไรในครั้งนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ใครจะคาดคิด เพียง 60 ปีให้หลังประเทศญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะประเทศทรงอำนาจที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างภาคภูมิ

มาในปี 2011 เชื่อว่าภาพของความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น ยังคงเป็นที่จดจำและสร้างความหดหู่ สะเทือนใจ ให้แก่ผู้พบเห็นทั่วโลก ณ เวลานั้น ชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากมหันตภัยต้องเสียขวัญและเผชิญกับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส หากแต่ภาพต่อมาที่ชาวโลกได้เห็น คือการก้มหน้ายอมรับสภาวะวิกฤตนั้น โดยไม่แสดงอาการตื่นตระหนก ไม่แสดงความอ่อนแอ ไม่แม้แต่จะกล่าวโทษธรรมชาติ โชคชะตา หากแต่ ผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นกลับฉายภาพของความเอื้ออาทร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือกัน ไม่มีภาพการแย่งซื้อข้าวของหรือรับของบริจาคให้เห็น มีแต่ภาพของผู้ประสบภัยที่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอรับของบริจาคและซื้อข้าวของจำเป็นในการดำรงชีวิตแค่พอใช้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นแสดงให้โลกเห็นว่า การรับมือกับปัญหาด้วยหลักปฏิบัติ บูชิโด วิถีแห่งนักรบซามูไร นั้น ทำให้พวกเขารอดพ้นและก้าวผ่านวิกฤต กระทั่งสามารถฟื้นฟูเมืองได้ในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร

มาถึงการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน เปรียบไปนักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่นก็แค่เพียง วางดาบ เอาอาวุธ เอาเสื้อเกราะของซามูไรออก แล้วแทนที่ด้วย คอมพิวเตอร์ ต่อสู้กันผ่าน กลยุทธ์การตลาด ผลิตภัณฑ์ ไอเดียทำธุรกิจหรือการให้บริการเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน แต่ในยามที่ว่างเว้นจากการศึก การรบ เหล่าซามูไรก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ใช้เวลานั้นฝึกฝนวิชายุทธ์ ดูแลรักษาสุขภาพกาย ใจ เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อสู้ครั้งต่อไปอยู่ตลอดเวลา เช่นกันกับการทำธุรกิจ เมื่อว่างเว้นจากการแข่งขันก็เป็นเวลาของการศึกษา เตรียมพร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่เพื่อตีตลาด สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและมีชัยเหนือคู่แข่งนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่เกินจริงเลย หากจะกล่าวว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด ล้วนประสบความสำเร็จได้ด้วยการปรับเอาแนวทางปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทเหล่านั้นต่างเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหูใครหลายคนอย่าง พานาโซนิค เคียวเซรา อิโตชู ไปจนถึง โตโยต้า ด้วยวิถีการทำธุรกิจที่อิงกับหลักบูชิโด ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม มนุษยธรรม รวมไปถึงมีความซื่อสัตย์ ทำให้การทำธุรกิจของคนตะวันออกอย่างญี่ปุ่น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำธุรกิจแบบคนในซีกโลกตะวันตก ที่มุ่งเน้นผลกำไรและผลประโยชน์มาเป็นลำดับต้นๆ

ตัวอย่างที่อินเทรนด์ และแสดงให้เห็นได้ชัดถึงวิถีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออกในแบบญี่ปุ่นอย่างมาก นั่นคือ เรื่องราวของการทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในการทำธุรกิจปัจจุบัน กับแนวคิดที่ถ่ายทอดมาจากโลกตะวันตก ที่กำหนดว่า การทำธุรกิจให้ได้ผลกำไร นอกจากจะเพื่อความรุ่งโรจน์ของเจ้าของกิจการ บริษัทและพนักงานแล้ว ยังเป็นไปเพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสในการแบ่งปันคืนกลับไปให้สังคมบ้าง ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากรูปแบบ ฟังดูแล้วแนวคิดนี้ดูจะเป็นแนวคิดใหม่ที่แสดงถึงความตั้งใจดีไม่น้อย หากแต่สำหรับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น แนวคิดนี้บอกได้เลยว่าไม่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะแทบทุกบริษัท ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผลกำไร ก็ต่างดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม ชุมชน ประเทศชาติมาเป็นเวลานานอยู่แล้ว เช่น หลายบริษัทมีข้อกำหนดชัดเจนว่า เมื่อไปขยายสาขา ตั้งโรงงานในเมืองไหน ให้เปิดโอกาสให้คนพื้นถิ่น หรือคนในชุมชนมาสมัครทำงานได้ก่อน ด้วยวัตถุประสงค์อยากสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วไม่ต่างอะไรกับการทำกิจกรรมตอบแทนสังคมในบริบทของทางฟากฝั่งตะวันตกเลย

ถึงตอนนี้ เราอยู่ในยุค Digital Economy ที่การทำธุรกิจดำเนินไปได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น นักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่น ก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักบูชิโด ด้วยจิตวิญญาณแห่งซามูไรอย่างเคร่งครัด และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้องค์กรธุรกิจญี่ปุ่นยังคงรักษาพื้นที่ได้อยู่ในแถวหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากการท่องเที่ยว ทีม MBA ได้รับคำเชิญชวนจากชาวชิซุโอะกะให้ไปดูการแข่งขันฟุตบอลในสนาม ยิ่งรู้ว่าชิซุโอะกะเป็นต้นกำเนิดของ กัปตันซึบาสะ การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังเกี่ยวกับเจ้าหนูสิงห์นักเตะ เราจะพลาดชมกีฬาบันดาลใจของชาวชิซุโอะกะได้อย่างไร!

ฟุตบอลที่มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์

ที่เมืองชิซุโอะกะ (ชื่อตอนก่อตั้งคือเมืองชิมิซุ) จังหวัดชิซุโอะกะมี ชิมิซุ เอสพัลส์ (Shimizu S-Pulse) เป็นสโมสรฟุตบอลชื่อดังของ J.League หรือการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากศูนย์ คือไม่มีเงินจากภาครัฐหรือเอกชนมาสนับสนุนในตอนก่อตั้ง แต่ชาวชิซุโอะกะนี่เองที่รวบรวมเงิน ผลักดันให้ก่อตั้งทีมฟุตบอลประจำท้องถิ่นสำเร็จในปี 1991 ตามความหมายของชื่อ Shimizu S-Pulse S ย่อมาจาก Soccer, Shimizu, Shizuoka Pulse มาจาก Heartbeat หมายถึง ชีพจร, จังหวะเต้นของหัวใจ ชื่อ Shimizu S-Pulse จึงสะท้อนความตื่นเต้น ความรักกีฬาฟุตบอลของชาวจังหวัดชิซุโอะกะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในท้องถิ่นตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

 

ดูบอลกับคนชิซุโอะกะ

“โอ่เล โอ่เล โอ่เล โอ๊เล... โอเล่ โอเล่!”

เสียงกึกก้องของกองเชียร์ที่ร้องเพลงเชียร์ กับเสียงนกหวีดที่เป่าเข้าจังหวะ และเสียงตีกลองตลอดการแข่งขัน สร้างความฮึกเหิมให้นักกีฬาในสนามและสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวชิซุโอกะได้ชัดเจนยิ่ง

ณ สนาม ไอเอไอ สเตเดียม นิฮงไดระ (IAI Stadium Nihondaira) ซึ่งจุผู้ชมได้ 20,000 ที่นั่ง ทีม MBA เข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชิมิซุ เอสพัลส์ จากชิซุโอะกะ กับทีมมาชิดะ เซลเวีย (Machida Zelvia) จากโตเกียว 

ผู้ชมจำนวนมากสวมเสื้อสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำทีมชิมิซุ เอสพัลส์ และส่วนน้อยที่เป็นสีน้ำเงิน สีประจำทีมของมาชิดะ เซลเวีย เนื่องจากวัฒนธรรมการดูฟุตบอลของคนที่นี่จะสวมสีเสื้อตามทีมที่เชียร์ที่ชอบ ดังนั้นเราจะเห็นเสื้อสองสีหลักๆ ปรากฏในสนาม 

ในวันที่มีการแข่งขัน รอบนอกของสนามจะมีการออกร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่มีโลโก้ทีม เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ หมวก มือตบ พวงกุญแจที่มีรูปโลโก้ชิมิซุ เอสพัลส์ โดยสินค้าบางส่วนจะมีแบรนด์ของสปอนเซอร์ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนทีมในปัจจุบันปรากฏอยู่ เช่น Suzuyo บริษัทโลจิสติกส์, JAL สายการบินเจแปนแอร์ไลน์, Puma แบรนด์อุปกรณ์กีฬา 

 

แมตช์นี้ดุเดือดในบางช่วง แต่ในที่สุด ชิมิซุ เอสพัลส์ ก็เอาชนะมาชิดะ เซลเวีย ไปด้วยสกอร์ 2-0

 
ชิมิซุ เอสพัลส์ 

ทีมที่ไม่ต้องบอกรัก แต่คนรักมาก

“ชิซุโอะกะ เป็นเมืองของฟุตบอล ฟุตบอลเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนทำให้เกิด” Ayabe Michie, Councilor, Japan Football Association (JFA) กล่าว

ปกติทีมฟุตบอลทีมอื่นจะมีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทใหญ่ เช่น ทีมฟุตบอลในไอชิมีผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็นโตโยต้า เพราะโตโยต้าเกิดที่จังหวัดไอชิ และศูนย์กลางทั้งหมดทั้งมวลของโตโยต้าตั้งอยู่ที่นั่น แต่ทีมฟุตบอลเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ อย่างชิมิซุ เอสพัลส์ ไม่เหมือนทีมอื่น เพราะผู้สนับสนุนของทีมชิมิซุ เอสพัลส์เป็นหลัก คือ ประชาชนในจังหวัด ซึ่งพร้อมใจมอบเงินส่วนตัวเพื่อสนับสนุนทีมฟุตบอลประจำจังหวัดด้วยใจที่อยากช่วยเหลือและส่งเสริมกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่นให้อยู่คู่จังหวัด ทำให้ความผูกพันของประชาชนและทีมฟุตบอลเหนียวแน่นและมั่นคง

และแม้ว่าจะมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนชิมิซุ เอสพัลส์ เช่น ซูซูโย (Suzuyo), เจแปน แอร์ไลน์​ (Japan Airlines) แต่ชาวชิซุโอะกะกับทีมนักฟุตบอลก็ยังรักกันเหนียวแน่นเช่นเดิมไม่แปรเปลี่ยน 

รางวัลแห่งเกียรติยศ (Club Honor) ที่ชิมิซุเอสพัลส์ ได้รับและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวชิซุโอะกะ ได้แก่

• J. League : 1999 (2nd stage) 

• J. League Yamazaki-Nabisco Cup (League Cup) : 1996 

• Xerox super cup : 2001, 2002 

• Emperor’s Cup : 2001 

• Asian Cup Winners’ Cup : 1999/2000

 

Charming of Symbols

ที่ขอบสนาม เราจะได้เห็นเชียร์ลีดเดอร์และมาสคอต ปรากฏตัวเป็นระยะ โดยเชียร์ลีดเดอร์สาวของทีมชิมิซุ เอสพัลส์ มาในชุดสีส้มขาว ดูสดใส ทะมัดทะแมง คล่องตัว และเต้นพร้อมเพรียงกันมาก

 

ส่วนสองมาสคอตใบหน้ายิ้มร่าแสนน่ารัก ก็เดินทักทายผู้คนรอบสนาม ได้แก่ มาสคอตหนุ่มชื่อ พัลจัง (Pulchan) หรือ พัล (Pul) เป็นตัวแทนของนักกีฬาที่เกิดมากับความทันสมัย มีเสน่ห์ มีพลัง มีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ว่องไว แข็งแกร่ง และชาญฉลาด ส่วนมาสคอตสาวชื่อ พิคัล (Pical) เป็นตัวแทนของดวงดาวที่ส่องสว่าง สดใส ซึ่งคำว่า Star ของคนญี่ปุ่น มีความหมายโดยนัยว่า Victory หรือ ชัยชนะ พิคัลจึงเปรียบได้กับนางฟ้าที่อวยพรให้ทีมชิมิซุ เอสพัลส์ ได้ชัยชนะมาครอง

Page 3 of 3
X

Right Click

No right click