ทรู คอร์ปอเรชั่นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย ปล่อยหมัดเด็ดด้วยศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC)  พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายครอบคลุมทุกบริการ ชูเป้าหมายหลักเพิ่มคุณภาพวอย์และดาต้า เร็ว มั่นใจในสัญญาณเพื่อลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมายทั่วไทย

BNIC ชูจุดเด่นด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning รวมถึงระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) มาทำงานร่วมกันกับชุดข้อมูลที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า (Big data) โดยนำมาเทรนนิ่ง AI เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ดาต้าเชิงลึกอย่างแม่นยำ และการวิเคราะห์ขั้นสูง AI รูปแบบ Anomaly Detection สามารถทำให้ BNIC ที่โดยพื้นฐานออกแบบสำหรับทำงานเชิงรับในการจัดการโครงข่าย เป็นการทำงานเชิงรุกจากความสามารถคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากชุด Algorithm ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้งาน

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นี่คือก้าวสำคัญอีกครั้งในการยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ หรือ Business and Network Intelligence Center (BNIC)  ซึ่งสร้างขึ้นเป็นศูนย์กลางการบริหารและดูแลระบบเครือข่ายดิจิทัลด้านการสื่อสารของบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ที่ครอบคลุมทุกการบริการของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งภายหลังควบรวมมีเครือข่ายขนาดใหญ่และซับซ้อน โดยเฉพาะเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ที่หลากหลายมากที่สุดในไทย จึงจำเป็นต้องมีการดูแลอย่างรอบด้านเพื่อพร้อมให้บริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านหมายเลขทั่วประเทศ รวมทั้งลูกค้าองค์กร และทรู ออนไลน์ อินเทอร์เน็ตบ้านโครงข่ายไฟเบอร์อัจฉริยะที่มีลูกค้าเกือบ 4 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ทีมงานวิศวกรได้ปฏิบัติการที่ศูนย์ BNIC ทุกวันไม่เคยหยุด กล่าวคือ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน และตลอดปี ซึ่งเป็นฮีโร่ที่อยู่เบื้องหลังที่ดูแลลูกค้าหรือผู้ใช้งานทุกพื้นที่ทั่วไทยให้ได้รับคุณภาพสูงสุดทุกเวลา”

ศูนย์ BNIC เปรียบเสมือนสมองกลสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการให้บริการเครือข่ายของทรุ คอร์ปอเรชั่น ด้วยการวิเคราะห์ วางแผน จัดการ ซึ่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วไทยและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดทั้ง โครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มภายนอกที่เชื่อมโยงสู่การใช้งานในระบบเครือข่าย อาทิ OTT หรือ Over-the-top ทั้งรูปแบบแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือถ้ากรณีเกิดเหตุ (Incident) สามารถวิเคราะห์จัดการดูแลได้ทันที เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า อีกทั้งสามารถนำข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้ามาประมวลผลเพื่อวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย (Manage Performance) และบำรุงรักษา (Manage Maintenance) ได้ดีขึ้น

ความสามารถหลัก BNIC

การตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย คือ หน้าที่พื้นฐานสำคัญของ BNIC ซึ่งต้องมอนิเตอร์การใช้งานของเครือข่ายต่อเนื่อง เช่น การรับส่งข้อมูลเครือข่าย การใช้แบนด์วิธ ความสมบูรณ์ของระบบ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ เครื่องมือตรวจสอบขั้นสูงให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของส่วนภายในเครือข่ายที่ใช้งานต่างๆ โดยครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การตรวจสอบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเครือข่ายทรู คอร์ปอเรชั่นทั้งประเทศ
  • แจ้งเตือนทันทีในกรณีเกิดเหตุ (Incident) หรือเหตุจากภัยพิบัติ (Disaster) ที่กระทบการใช้งานทุกบริการ
  • รายงานประสิทธิภาพ พร้อมโซลูชันในการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย และแก้ไขในกรณีเกิดเหตุทันที
  • รายงานประสิทธิภาพและข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพ OTT ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า
  • การอัปเดต การแก้ไขปัญหา และติดตามการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังนำ Anomaly Detection ซึ่งเป็นการใช้ AI มาตรวจจับความผิดปกติ จากรูปแบบการใช้งาน ซึ่งทาง BNIC มีข้อมูลบิ๊กดาต้ารายงานการใช้งานแบบเรียลไทม์ในทุกพื้นที่ทั่วไทย ซึ่งสามารถใช้บิ๊กดาต้าจากกราฟนับแสนนับล้านในโครงข่ายมาตรวจหาข้อมูล กรณีถ้ามีสิ่งผิดปกติ ระบบจะ Alert ให้รู้ทันที พร้อมนำเสนอโซลูชันในการจัดการปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด โดยทั้งหมดนี้เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายครอบคลุมเพื่อลูกค้าทรู คอร์ปอเรชั่นในทุกบริการอีกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “Guardians of Good” ถ่ายทอดเรื่องราวความมุ่งมั่นของคนทรูที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนการประเมิน  CSA (Corporate Sustainability Assessment) สูงสุดจาก 166 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกที่ได้เข้าร่วมการประเมินของ S&P Global และติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.true.th/blog/djsi/

การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างเร็วเร่ง สะท้อนจากการพัฒนาโครงข่าย 5และปัญญาประดิษฐ์ โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อนโยบายประเทศไทย 4.0

ด้วยภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานต่างๆ สอดรับกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงตั้งฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน (Internal Audit & Investigation) นำโดย วรัญญา ชื่นพิทธยาธร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการการควบคุมภายในต่างๆ ขององค์กร ให้เป็นตามนโยบายภายในองค์กร กฎเกณฑ์ภายนอก และมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เธอยังทำหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนเหตุแห่งพฤติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ การทุจริตภายในองค์กร ซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและทรัพย์สินขององค์กร

วรัญญา ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทและความท้าทายของ ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสร้างพื้นฐานที่สำคัญขององค์กร ในการสนับสนุนให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น พิชิตเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำ Telecom-Tech Company ของภูมิภาค

ผู้พิทักษ์ความเที่ยงธรรม

วรัญญากล่าวถึงความสนใจงานด้านการตรวจสอบของเธอว่า เกิดขึ้นจากความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการวิธีการในการดำเนินธุรกิจ การระบุความเสี่ยง และความโปร่งใสทางการเงิน นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของการตรวจสอบที่เป็นพลวัตน์และโอกาสในการปรับปรุงธรรมาภิบาลองค์กร ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงดึงดูดให้เธอทำหน้าที่นี้” กล่าว

เธอย้ำว่า การรักษาความเที่ยงธรรม และความเป็นอิสระถือเป็นหัวใจสำคัญของานตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ ทางฝ่ายได้มีการร่าง “กฎบัตรของฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน” (Internal Audit & Investigation Charter) ซึ่งกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบ และแนวทางการรายงานอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แผนการตรวจสอบภายใน มีความสอดรับกับเป้าหมาย คุณค่า และกลยุทธ์องกร  ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญต่องานตรวจสอบภายใน ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน จำเป็นต้องมีการรายงานต่อคณะผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการตรวจสอบ ตลอดจนคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

“ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ ถือเป็นคุณค่าสำคัญที่คนทำสายงานตรวจสอบภายในต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด โดยสมาชิกในทีม จะมีการตรวจสอบและประเมินผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองผู้เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกัน ยังคงรักษาไว้ซึ่งปราศจากอคติในการปฏิบัติงาน” เธออธิบาย

เฝ้าระวัง

วรัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้วิธีการตรวจสอบตามฐานความเสี่ยงเป็นแนวทาง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินกระบวนการออกแบบ และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งพิจารณาทั้งด้านธรรมาภิบาลด้านไอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล

ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงจะดำเนินงานตามแผนการตรวจสอบภายใน โดยจะมีการทำงานร่วมกันอย่างกับฝ่ายปฏิบัติการ (first line of defense) และฝ่ายบริหาร (second line of defense) ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี

“เราพัฒนาช่องทางสื่อสารแบบเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยจะมีการรายงานผลการตรวจสอบภายใน ต่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบยัง โดยการรายงาน มุ่งเน้นความครบถ้วนและกระชับรัดกุมของข้อมูล ระบุถึงประเด็น ผลกระทบ ตลอดจนข้อแนะนำ อย่างตรงเป้า ให้มุมมองต่อเคสต่างๆ ที่ค้นพบอย่างรอบด้าน” เธออธิบาย

ทั้งนี้ งานด้านตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีการติดตามผลการปรับปรุงตามข้อแนะนำในประเด็นที่ตรวจพบ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารดำเนินการตามแผนการปรับปรุงที่ให้ไว้ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และมีการสื่อสารกระบวนการดังกล่าวกับผู้บริหารผ่านช่องทางการประชุม Management Committee อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในเป้าหมาย และการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

“เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริการด้านโทรคมนาคม เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว งานตรวจสอบภายในจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และกำหนดให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการตรวจสอบภายใน โดยนำเอาเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้ ผ่านการอบรมผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี อาทิ RPA (Robotic Process Automation) ใช้ในงานตรวจสอบ  นอกจากนี้ เรายังมีการประเมินและปรับใช้เทคโนโลยีในแนวทางการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้เท่าทันและสามารถคุมความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” วรัญญากล่าว

วรัญญาและทีม ยืนหยัดต่อการทำหน้าที่พิทักษ์ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ความทุ่มเทเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความสอดประสานเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนความตั้งมั่นและเด็ดเดี่ยวในการประเมิน การควบคุม และการบริหารความเสี่ยง แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของงานตรวจสอบภายใน และสืบสวนสอบสวน ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งธรรมาภิบาลองค์กรในยุคสมัยใหม่ ท่ามกลางพลวัตน์ของเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย งานตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน พร้อมแล้วที่จะเดินไปพร้อมความสำเร็จขององค์กร ภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี และพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลแห่งอนาคต เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Digital Internal Auditor และ Trusted Data & Tech Advisor ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น

บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้นำการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ของประเทศไทยลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ครั้งใหญ่ โดยการลงทุนนี้จะประกอบไปด้วยหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูปแบบ และโครงการพัฒนาความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ตลอดระยะเวลา3 ปี ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2570 โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ ในการรองรับธุรกิจของไฮเปอร์สเกลเลอร์ ผู้ให้บริการโอทีที และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศที่กำลังยกขบวนเข้ามาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ขึ้นแท่นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย

การลงทุนหลักจะเน้นการขยายดาต้าเซ็นเตอร์โครงการทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และโครงการ ทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ให้กับประเทศไทยในการรองรับการเข้ามาของธุรกิจระดับโลก เช่น ผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Hyperscaler) อย่างระบบคลาวด์และระบบโซเชียลมีเดีย ผู้ให้บริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-Top; OTT) อย่างระบบคอนเทนต์สตรีมมิง ตลอดจนธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการดิจิทัลออกสู่ตลาดโดยเฉพาะด้าน AI ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองโครงการจะมีพื้นที่ให้บริการกว่า 60,000 ตารางเมตร ก่อสร้างตามมาตรฐาน Uptime และ TIA-942 ส่งมอบความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจด้วยรูปแบบการให้บริการแบบ Build-to-Suit ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถออกแบบการวางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ประเภทเน้นการประมวลผลขั้นสูงที่รองรับเทคโนโลยี AI (High Density Computing) ระบบคอมพิวเตอร์ประเภทใช้ของเหลวเพื่อปรับอุณหภูมิ (Liquid Cooling Computing) ตลอดจนลูกค้าสามารถกำหนดการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเองได้ในปริมาณที่สูงและมีความอิสระมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขยายปริมาณไฟฟ้าอีกจำนวน 41 เมกะวัตต์ ซึ่งส่งผลให้ ทรู ไอดีซี สามารถให้บริการด้วยกำลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อรวมกับกำลังไฟฟ้าเดิม อีกทั้งยังมีการควบคุมประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (Power Usage Effectiveness: PUE) ไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในไทย ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายเสรีด้วยระบบเน็ตเวิร์ก 4 เส้นทางแบบอิสระจากกัน การันตีการเข้าถึงและส่งผ่านข้อมูลอย่างไร้รอยต่อ พร้อมบริการเชื่อมต่อตรงไปยังระบบคลาวด์ต่างประเทศและบริการ Internet Exchange ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างฉับไวกว่าการเชื่อมต่อแบบทั่วไป โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าวคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในตั้งแต่ช่วงปี 2568

ยกระดับความยั่งยืนตั้งแต่รากฐานดิจิทัล

การลงทุนส่วนถัดมาจะเป็นโครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูปแบบ ซึ่งทรู ไอดีซีเล็งเห็นว่าความยั่งยืนทางดิจิทัลต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ตั้งแต่การออกแบบอาคารสีเขียวตามมาตรฐาน Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) เน้นการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบและอุปกรณ์ที่สนับสนุนความยั่งยืน เช่น อุปกรณ์ที่ปราศจากสารซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF-6) การใช้แบตเตอรี่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นต้น ในด้านของพลังงานไฟฟ้าที่มีการนำร่องติดตั้งระบบโซลาร์เซลส์ไปในดาต้าเซ็นเตอร์เฟสก่อนหน้า จะนำเอาพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นอย่างพลังงานลมและเซลส์เชื้อเพลิงมาใช้ควบคู่ในเฟสใหม่ด้วย และภายนอกดาต้าเซ็นเตอร์จะมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยจะผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลส์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคาของพื้นที่จอดรถเพื่อสนับสนุนการใช้งานพลังงานสะอาดให้กับผู้ใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ทรู ไอดีซีได้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จะผลักดันธุรกิจสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2,573 อีกด้วย 

ผนึกความอัจฉริยะคู่กับการบริหารจัดการแบบฉบับสากล

ทรู ไอดีซี ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของดาต้าเซ็นเตอร์ให้มีความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น จะเพิ่มการใช้งานซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์อัจฉริยะ (AI Data Center Infrastructure Management) ผสานการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ไอโอทีและเซนเซอร์เพื่อการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์พร้อมการวิเคราะห์ผลจากศูนย์กลางแห่งเดียว เพิ่มการกำกับดูแลและรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในดาต้าเซ็นเตอร์ให้อุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความร้อนให้สูงทำงานได้อย่างราบรื่น การดำเนินงานทั้งหมดของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้แนวทางปฎิบัติของมาตรฐาน Uptime ระดับ Tier III Gold ซึ่งทางทรู ไอดีซีได้รับการรับรองเพียงหนึ่งเดียวในไทยและอินโดไชน่า ครอบคลุมในเรื่องการบำรุงรักษาเชิงรุก การสำรองอุปกรณ์ซัพพอร์ตระบบ การตรวจสอบระบบอย่างถี่ถ้วน ปฎิบัติงานโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์สูง ช่วยให้การดำเนินงานด้านไอทีของลูกค้าเป็นไปอย่างไร้กังวล

นายธีรพันธุ์ เจริญศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไปของทรู ไอดีซี เปิดเผยว่า “การเติบโตของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ในปี 2024 นั้นมีการคาดการณ์จาก USDC Technology ว่าจะเติบโตสูงถึง 12.9% และมีมูลค่าตลาดถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 122,500 ล้านบาท ประกอบกับการคาดการณ์การเติบโตของการใช้งานเทคโนโลยี AI ในเอเชียจาก Statista ในปี 2023 ถึง 2030 ว่าจะเติบโตสูงสูงถึง 19.5%  เราจึงตระหนักและเล็งเห็นว่าการลงทุนในโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ครั้งนี้จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจของไทยและอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนชีวิตดิจิทัลของผู้คนในสังคมให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืนขึ้น เพราะธุรกิจเราเป็นรากฐานที่จะรองรับการต่อยอดทางเทคโนโลยีของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลและยุคของ AI ที่ผู้เล่นจากต่างประเทศก็ต่างพากันเข้ามาทำธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์อันดับหนึ่งของไทยและดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 20 ปี เรายังคงต้องเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบริการให้ครอบคลุมตอบโจทย์ของทุกธุรกิจให้มากที่สุด”

ผู้ที่สนใจใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และบริการระบบคลาวด์ของทรู ไอดีซี หรือต้องการเยี่ยมชมศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trueidc.com/th/contact หรือ โทรฯ 02-494-8300

จากผลสำรวจ Telenor Asia Digital Lives Decoded 2566 ระบุว่า คนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย ซึ่งมีเพียง 17% ของคนไทยเท่านั้นที่ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องคุ้มครองข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่น เนื่องในวัน Data Privacy Day หรือวันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ในวันที่ 28 มกราคมของทุกปี

มนตรี สถาพรกุล Head of Data Protection บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พูดคุย วิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการแนวคิดความเป็นส่วนตัว ความท้าทายองค์กรเอกชนต่อการจัดการภายใน และสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวในยุคปัญญาประดิษฐ์

ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชน

มนตรี ฉายภาพกว้างประเด็นความเป็นส่วนตัวว่า นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชาคมโลกมีความตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ในปี 2491 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ

อนึ่ง ความเป็นมนุษย์ล้วนถูกประกอบสร้างด้วยความหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในบริบทที่สำคัญคือ “ความเป็นตัวตน” (Identity) และเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างสมเกียรติความเป็นมนุษย์คือ ข้อมูล โดยมีภาษาเป็น “ตัวเชื่อม” ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

สำหรับการสื่อสารสองทางที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร และชุดข้อมูล หากผู้รับสารต้องการนำชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นใด ควรจะมีการขอ “ความยินยอม” (Consent) กับผู้ส่งสาร ซึ่งเป็นสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Subject) ตามแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน การขอความยินยอมถือเป็นกลไกหนึ่งที่ผู้รับสารแสดงถึง “ความเคารพ” ในสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูล เพื่อชี้แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลของเจ้าของข้อมูลอย่างโปร่งใส ในทางกฎหมายเรียกว่า “สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่ถ่ายทอดผ่านเงื่อนไขของข้อมูล”

ซึ่งแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวถือเป็นกรอบความคิดหลักที่นำมาพัฒนาต่อยอดจนเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยกำกับผ่านกฎหมายที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหภาพยุโรปในปี 2563 ที่เรียกว่า General Data Protection Regulation (GDPR) และต่อมาไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งการประกาศกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการ “คืนสิทธิ” ความเป็นส่วนตัวอันชอบธรรมแก่ผู้บริโภค ผ่านการกำกับหน่วยงานห้างร้านที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ขณะที่ความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมีกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์คุ้มครองอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมา GDPR ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 20 ปี PDPA ของไทย ใช้เวลา 21 ปี จนพัฒนาเป็นแนวคิดที่หนักแน่นด้านความเป็นส่วนตัว โดยกำหนดนิยาม ขอบเขต การกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงผู้มีแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษชนสูงสุด ซึ่งกรณีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดไว้เป็นผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้” มนตรี กล่าว

ความเสี่ยงในศักยภาพจากข้อมูลดิจิทัล

เขาอธิบายเสริมว่า ในยุคอนาล็อก การส่งผ่านข้อมูลมีลักษณะ 1-1 ข้อมูลที่เกิดขึ้นในระหว่างให้บริการที่สามารถระบุตัวตนได้มีเพียง หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางการเงิน ค้นหาข้อมูล ดูคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่เกิดขึ้นมีรูปแบบที่หลากหลายและลึกขึ้น นำมาซึ่งศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของข้อมูลโดยเฉพาะการระบุตัวตน พฤติกรรมและความสนใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทาง “บวกและลบ” ได้

ด้วยศักยภาพของข้อมูลดิจิทัลที่เป็นอนันต์ กล่าวคือ ผู้รับบริการอาจได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นด้านการตลาดที่เกินความคาดหมายในรูปแบบ Contextual Marketing แต่คุณประโยชน์นั้น ก็นำมาซึ่ง “ความกังวล” ในสิทธิความเป็นส่วนตัว

“การได้รับประโยชน์ทางการตลาดถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ให้บริการสามารถมอบให้กับลูกค้าได้ แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานและหลักการสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสผ่านกลไกความยินยอม โดยไม่ทึกทักหรือคิดเองว่าสิ่งนั้นคือประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการ” มนตรีเน้นย้ำ

เช่นเดียวกับกรณีบริการโทรคมนาคม หากผู้ให้บริการต้องการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากบริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการจะต้องขอความยินยอมจากลูกค้าเป็น “รายบุคคลและรายกรณี” นั่นหมายถึง ผู้ให้บริการจะสามารถนำข้อมูลลูกค้าไปประมวลผลหรือวิจัย เพื่อส่งมอบบริการอื่นๆ ก็ต่อเมื่อลูกค้าให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีมีวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเทคโนโลยีด้วย ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Automation ที่มีความตายตัวมากกว่า เมื่อเทียบกับ AI ที่ขึ้นอยู่กับ บริบทและการตีความ” ของชุดข้อมูล นำไปเรียนรู้และพัฒนาต่อจนเป็นข้อมูลใหม่ได้ นำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากขึ้น

3 เสาแห่งความสมดุลเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว

มนตรี ในฐานะ Data Protection Officer ของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เล็งเห็นความเสี่ยงที่สูงขึ้นในความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จึงมีความจำเป็นต้องกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ อันได้แก่ ความเป็นธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม และไม่เป็นอันตรายและกัดกร่อนความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับการทำงานของพนักงานที่ได้รับสิทธิให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้า (เช่น พนักงานคอลเซ็นเตอร์) ก็ต้องทำงานภายใต้ “ระเบียบ” เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการ

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาสมดุลระหว่างสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ทางธุรกิจอาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนหลัก “ความโปร่งใส” และหลัก “ความจำเป็นและการได้สัดส่วน” (Principle of Necessity and Proportionality) ภายใต้เงื่อนไขความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งการรักษาสมดุลทั้ง 3 เสานั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Privacy and Security by Design เคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ประกอบด้วย

  1. ความยินยอมและการรับรู้จากเจ้าของข้อมูล คือหัวใจของกระบวนการ Privacy and Security by Design ซึ่งในกรณีบริการโทรคมนาคม ข้อมูลที่ใช้จะต้องเกี่ยวข้องกับสัญญาบริการโทรคมนาคมเท่านั้น
  2. หากการใช้ข้อมูลไม่เกี่ยวข้องกับบริการโทรคมนาคม ได้มีการขอความยินยอมจากลูกค้าหรือไม่
  3. และหากไม่ จะต้องขอบริการ “ทุกครั้ง” ตามวัตถุประสงค์ จะเก็บหรือใช้ต้องให้มีความชัดเจน

ทั้งนี้ การแจ้งขอความยินยอมจากลูกค้า จะต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ขณะเดียวกัน การใช้ข้อมูลทุกชุดต้องมีภายใต้หลักความจำเป็นและการได้สัดส่วน “ไม่มีการขอเผื่อ”

“มันอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและยุ่งยากสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่การรักษาไว้ซึ่งหลักการ สิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เขากล่าวและเสริมว่า ในช่วงแรกของการตีกรอบกฎเกณฑ์ภายในเหล่านี้ อาจต้องปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสุดท้าย หน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูลเหล่านั้นล้วนตระหนักและให้ความเคารพถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว แม้จะต้องเล่นท่ายาก แต่ทุกคนเห็นภาพเดียวกันมากขึ้น โดยยึดเอาผลประโยชน์และสิทธิผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้เมื่อมีการควบรวมกิจการแล้ว ก็จะต้องร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาในสอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย

มนตรี ให้ข้อคิดแก่ผู้บริโภคว่า “อย่าหลงเชื่อผลลัพธ์ที่ได้เสียทีเดียว และควร ‘เอ๊ะ’ หรือตั้งข้อสงสัยต่อการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้นว่าเป็นตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพื่อ “รักษา” ในสิทธิความเป็นส่วนตัวของตัวเอง”

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company เผยผลสำรวจด้านนวัตกรรมว่า 85 % ของผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่าความกลัวเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรอยู่เสมอหรือบ่อยครั้ง เนื่องจากพนักงานมักกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พนักงานเอาชนะความกลัวเหล่านั้น คือ การให้ความเชื่อมั่นและให้คุณค่าต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “ทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้” ของทีม True Innovation Center คือหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรทรู ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญในด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่

โอกาสนี้ ทีม True Innovation Center และนวัตกรทรู ได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการสร้าง “องค์กรแห่งนวัตกรรม” รวมถึงผลงานที่ภูมิใจ และเป้าหมายต่อไปในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน ก้าวสู่การเป็น Telecom-Tech Company

นวัตกรรมเกิดจากการมองเห็นปัญหา ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรูออนไลน์ อาจไม่เคยรู้ว่า True GIGATEX Intelligent Fiber Router คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กร จากฝีมือของนวัตกรทรู โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการพัฒนาคุณภาพของโครงข่ายและบริการ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาการผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์

ศศิกานต์ ตั้งชูทวีทรัพย์ Engineering Specialist หนึ่งในนวัตกรและผู้จัดการโครงการพัฒนา Intelligent Fiber Router เล่าว่า เดิมโครงข่ายของบริการทรูอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีลักษณะเป็นแบบถูกผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์ กล่าวคือ อุปกรณ์ด้านโครงข่าย(ตัวส่ง) และอุปกรณ์ที่ติดตั้งที่บ้านลูกค้า (ตัวรับ) จำเป็นต้องมาจากผู้ผลิตรายเดียวกันเท่านั้นถึงจะให้บริการลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลทำให้ทรูซึ่งเป็นผู้ให้บริการได้รับผลกระทบในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายและบริการ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากในโครงข่ายของทรูมีผู้ผลิตหลากหลายมากถึง 6 ราย

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมวิศวกรทรู จึงศึกษาหาแนวทางที่ช่วยลดต้นทุน พร้อมไปกับปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า “Inter Operability ONT-OLT” (IOP) ซึ่งเป็นการออกแบบพัฒนาให้มีการใช้ภาษากลางที่ทำให้อุปกรณ์ตัวส่งกับตัวรับสัญญาณจากต่างผู้ผลิตกันสามารถทำงานร่วมกันได้

ทีมวิศวกรทรูได้ไปศึกษาดูงานกับ China Mobile ผู้ให้บริการในประเทศจีน และนำมาพัฒนาต่อยอดจนสามารถทำให้ตัวรับสัญญาณจากผู้ผลิต 1 รายทำงานร่วมกับอุปกรณ์ส่งจากผู้ผลิต 6 รายของทรูได้ภายในเวลา 2 ปี โดยเป็นการปรับทั้งโครงข่ายเพื่อรองรับเทคนิค IOP ได้

“เมื่อเราใช้เทคนิคแบบ IOP ที่เป็นคอนเซปต์แบบ Any to One ก็ทำให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับบริการที่ดีขึ้น รวมถึงทรูเองก็สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มากขึ้น ด้านผู้ผลิตก็ต้องพยายามพัฒนาอุปกรณ์ให้มีคุณภาพดีรองรับกับเครือข่ายของเราได้ เมื่อสามารถปรับเปลี่ยนด้วยเทคนิคใหม่นี้ได้ องค์กรก็ลดต้นทุนได้ถึง 5,460 ล้านบาท และมีรายได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาทต่อเดือนจากการที่ลูกค้าเพิ่มขึ้น 50,000 รายต่อเดือนอีกด้วย จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมทำให้เกิด Cost Saving ได้” ศศิกานต์ สรุป

เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้ลองทำ

ที่ผ่านมานวัตรกรทรูได้คิดค้นนวัตกรรมมากว่า 680 ผลงาน คิดเป็นรายได้และลดต้นทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เริ่มมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่มองว่า นวัตกรรมส่งเสริมให้บริษัทขับเคลื่อนต่อไปได้ จึงเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานไปด้วยกัน

ย้อนกลับไปตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว คุณศุภชัย เจียรวนนท์ มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างว่า นวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่คิดค้นใหม่ หรือปรับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ เพราะต้องการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำ ลองผิดลองถูกได้” วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย Head of Innovation Center Department กล่าว

 

การส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรของทรูจึงมีการวางรากฐานไว้อย่างดี โดยมีทีมงานที่ดูแลด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ นั่นคือ ทีม True Innovation Center ที่มีความเชื่อว่า “คน” คือกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในองค์กร ทีมนี้จึงทำหน้าที่ช่วยจุดประกาย เป็นที่ปรึกษา สร้างโอกาส ให้พนักงานทุกคนเป็นนวัตกรได้ ผ่านวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

· Innovation Advocacy: สร้างบรรยากาศในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ผ่านการให้ความรู้ ทำเวิร์กชอป และเวิร์กชอปสัญจร สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทรูทุกฝ่ายงานทั่วประเทศ

· Empowerment: สนับสนุนให้พนักงานได้ลองผิดลองถูก โดยคิดริ่เริ่มและพัฒนาเป็นโครงการของตัวเอง โดยทีมจะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา แนะนำผ่าน Innovation Clinic

· Feedback Mechanism: สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Innovation Matrix หรือ I-Score เพื่อวัดความระดับความเป็นนวัตกรรมของชิ้นงาน และหาแนวทางในการพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงต่อไป

· Contest: เปิดเวที True Innovation Award ให้พนักงานได้มีโอกาสประกวดผลงาน โดยเปิดกว้างตั้งแต่ไอเดียแรกเริ่มในเรื่องใกล้ตัว ที่เรียกว่าระดับ IDEA SEED (เมล็ดพันธุ์ความคิด) ไปจนถึงการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง หรือ INNO TREE (สุดยอดนวัตกรรม)

· System and Platforms: พัฒนาอินทราเน็ตแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Innovation Tank เพื่อให้พนักงานในองค์กรเข้ามาค้นหาผลงานที่เคยมีแล้ว และนำมาต่อยอด หรือส่งผลงานของตัวเอง

· Innovative Culture: ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร Co-Creation ในการร่วมคิดสร้างสรรค์ ร่วมทำงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับการเปิดกว้างรับฟังความคิดที่หลากหลายจากมุมมองที่แตกต่างกัน

“เมื่อพูดถึงนวัตกรรม เราอยากให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกสนุกก่อน อยากให้มีความรู้สึกว่า นวัตกรรมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเทคโนโลยี และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ทุกไอเดียที่พนักงานคิดและเสนอมามีคุณค่าทั้งหมด เราจะไม่ไปกำหนดว่า สิ่งนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ การเปิดรับไอเดียที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สุดท้ายอาจต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมในอนาคตก็ได้” สรรควร สัตยมงคล Innovation Specialist ของทีม True Innovation Center เน้นย้ำ

จาก Close innovation สู่ Open innovation

 นอกเหนือจากการสร้างสรรค์วัฒนธรรมภายในองค์กรแล้ว ทีมงานTrue Innovation Center ยังได้ประสานความร่วมมือกับภายนอก มีการจัดตั้ง True LAB เพื่อทำงานกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 แห่ง ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมไปกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดเป็น Open Innovation ซึ่งนับเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร และเป็นการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดได้จริง

“ที่ผ่านมามีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกว่า 100 ผลงาน สำหรับตัวอย่างความร่วมมือที่ทำอยู่ตอนนี้ เป็นการพัฒนากล่องกกลูกสุกร ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ประโยชน์ของ IoT จากทีมทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อลดอัตราการตายของลูกสุกรในฟาร์มต่างๆ และมุ่งหวังที่จะยกระดับการปศุสัตว์ของไทยให้ดีขึ้น” สรรควร กล่าว

นอกจากนี้ True LAB ยังทำหน้าที่บ่มเพาะนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพกว่า 1,000 ทีม และปัจจุบันได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในทรู เพื่อพัฒนานวัตรรมที่ใช้งานได้จริงในธุรกิจ พร้อมมุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย

ม่หยุดพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 ด้วยหลักการ “คิดค้นนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” ทรู ไม่เพียงสร้างนวัตกรรมทั้งที่เป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า แต่ยังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกมากมาย

ในด้านสังคม มีนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางอย่าง แอปพลิเคชัน Autistic ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้เด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการลากเส้นที่ ต้องใช้สมาธิ รวมไปถึงการสื่อสารที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน และการดูแลตัวเอง ท้ายที่สุดคือการนำไปสู่การฝึกอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืน

เมื่อก่อนพ่อแม่ของเด็กออทิสติกต้องมีเวลามาสอนให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ จนจดจำได้ พอมีแอปพลิเคชันนี้ เด็กจะเรียนรู้กิจวัตรต่างๆ เช่น การแปรงฟัน รวมไปถึงการใช้ชีวิต เช่น ฝึกออกไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ สิ่งที่น่าภูมิใจคือ มีน้องๆ ที่เคยดูแลตัวเองไม่ได้เลย เขาเกิดพัฒนาการที่ดี และบางคนก็ได้มาเป็นบาริสต้าของ True Coffee ด้วย” วีรศักดิ์เล่า

ในด้านของสิ่งแวดล้อม มีหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด นั่นคือ โซลูชันเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning) ที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สำเร็จด้วยการผสานศักยภาพของเทคโนโลยีสื่อสาร ระบบ IoT เข้าไปช่วยในการทำงานของหน่วยลาดตระเวน กรมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( WWF)

 

รมมุก เพียจันทร์ Senior Leader Project Development จากหน่วยงานทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้เล่าว่า โซลูชันดังกล่าวประกอบด้วย กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติพร้อมซิมจากทรู ซึ่งจะแจ้งเตือนพิกัดที่พบช้างแบบเรียลไทม์ไปยังระบบ Cloud โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังฯ จะตรวจสอบภาพและพิกัดอีกครั้ง และประสานงานไปยังชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชัน Smart Adventure ที่ติดตั้งใน Trunked Mobile ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบ Cloud เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลความถี่และสถิติที่ช้างป่าออกมาได้

“หลังจากที่เราเริ่มติดตั้งภายใน 1 ปี ก็พบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยกว่า 1% ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาต่อโดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำระบบ AI มาเข้ามาเสริม ทำให้การตรวจสอบและ Detect ทำได้แม่นยำมากขึ้น” รมมุกกล่าว

องค์กรแห่งนวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริงที่ผ่านมานวัตกรรมที่มีความหลากหลายของทรู ได้รับรางวัลในระดับประเทศและในเวทีต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง

“รางวัลนี้มีการประเมินอย่างรอบด้าน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ผู้นำ ผลงานที่เกิดจากพนักงานในองค์กร ระบบการจัดการนวัตกรรม รวมไปถึงรางวัลและการเชิดชูผลงานจากเวทีต่างๆ ทั้งในไทยและนานาชาติ ซึ่งเมื่อรวบรวมย้อนหลังไป 3 ปี ทรูมีครบทุกองค์ประกอบ ทั้งยังมีการจัดการในเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เรียกได้ว่าครบวงจรของการจัดการนวัตกรรมอย่างแท้จริง” วีรศักดิ์เน้นย้ำ

ด้วยเป้าหมายภายในปี 2573 ที่ต้องการสร้างนวัตกรทรูให้ถึง 5,000 คน โดยจัดให้มีทุนวิจัยพัฒนาเป็น 3% ของงบใช้จ่าย พร้อมไปกับการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการให้มีสัดส่วนต่อรายได้รวมบริษัท 15% รวมถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา 200 ผลงาน ท้ายที่สุดแล้ว “คน” คือปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าให้ถึงเป้าหมาย รวมถึงก้าวสู่การเป็น Telecom Tech Company อย่างแท้จริง

 “ถ้ามีเครื่องมือล้ำสมัยทุกอย่าง แต่คนของเราไม่ใช้หรือใช้ไม่เป็น ก็ไม่อาจสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เราจึงให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นอันดับแรก มุ่งสร้างคนให้เป็นนวัตกร สร้างแรงบันดาลใจ แล้วนวัตกรรมดีๆ จะเกิดขึ้นได้จริง” วีรศักดิ์ ทิ้งท้าย

 

X

Right Click

No right click