×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ลดทรัพยากร การผลิตและบริโภค

November 01, 2017 11507

ในแต่ละปีประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตหรือเท่ากับ 1.3 พันล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เน่าเสียในถังขยะของผู้บริโภคและผู้ค้าขายปลีก หรือไม่ก็เน่าเสียจากการขนส่งและการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดี ถ้าผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน โลกจะสามารถประหยัดได้ 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และประชากรทั่วโลกน่าจะมีถึง 9,600 ล้านคนใน พ.ศ. 2593 ซึ่งจะต้องใช้โลกเกือบ 3 ใบเพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการดำเนินชีวิตเทียบกับในปัจจุบัน

 

ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นและการประมาณการตัวเลขที่จะเกิดขึ้นหากเราทำและไม่ทำอะไรกับเรื่องการบริโภคของมนุษย์ เพราะเราทราบกันดีว่า มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์นักบริโภคที่ยิ่งใหญ่บนโลกใบนี้ เราใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคออกมาจำนวนมากเพื่อตอบสนองตลาดที่มีความต้องการแทบจะไม่สิ้นสุด

 

ขณะเดียวกัน ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็มีอยู่อย่างจำกัด น้ำจืดที่สามารถดื่มได้มีเพียงร้อยละ 3 แต่ก็เป็นน้ำแข็งอยู่บริเวณขั้วโลกถึงร้อยละ 2.5 ทำให้เราเหลือน้ำบริโภคจริงๆ เพียงร้อยละ 0.5 ของปริมาณน้ำบนโลกนี้ แต่มนุษย์ก็ยังสร้างมลพิษให้กับน้ำอย่างต่อเนื่องด้วยการทิ้งของเสียจากบ้านเรือนและอุตสาหกรรมโดยไม่มีการบำบัด ทำให้น้ำในธรรมชาติที่มีอยู่น้อยนิดเป็นพิษและไม่สามารถนำมาใช้ได้ ประชากรทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดจึงเป็นตัวเลขที่ไม่เกินเลย 

 

ในเรื่องอาหาร โลกสูญเสียอาหารไปประมาณ 3,000 ล้านตันทุกปี การบริโภคแบบมากเกินส่งผลต่อความสมบูรณ์ของดิน ความเสื่อมโทรมและสภาพแวดล้อมทางทะเล มีการใช้น้ำที่ไม่ยั่งยืน อีกทั้งในกระบวนการผลิตอาหารยังใช้พลังงานร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมดบนโลก และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 22 ของจำนวนทั้งหมด อีกด้านหนึ่ง โลกใบนี้มีการบริโภคอาหารแบบมากเกินจนเหลือเป็นของเสีย ประชากรประมาณ 2,000 ล้านคนมีน้ำหนักเกินและอ้วน แต่อีกด้านหนึ่งยังมีอีก 1,000 ล้านคนที่ยังขาดแคลนอาหาร และอีก 1,000 ล้านคนที่ยังหิวโหย 

 

การบริโภคพลังงาน แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการผลิตพลังงาน การใช้พลังงานของประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังคงเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 ภายในปี 2563 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากการขนส่ง

ในพ.ศ. 2545 จำนวนยานยนต์ในประเทศใน OECD คือ 550 ล้านคัน (ร้อยละ 75 เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล) คาดว่าใน พ.ศ. 2563 การเป็นเจ้าของรถยนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ในเวลาเดียวกันระยะการเดินทางของยานยนต์ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และการเดินทางทางอากาศคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในขณะที่ภาคครัวเรือนบริโภคร้อยละ 29 ของพลังงานทั่วโลก และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 21 แต่ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าจากสถิติ พ.ศ. 2557 1 ใน 5 ของพลังงานที่โลกใช้มาจากพลังงานหมุนเวียน

 

องค์การสหประชาชาติจึงตั้งเป้าประเด็นการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมทรัพยากรและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และการเปิดช่องทางการเข้าถึงการบริการเบื้องต้น งานที่เหมาะสม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน การดำเนินการนี้จะช่วยในการบรรลุแผนพัฒนาทั้งหมด ลดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคต รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ และลดความยากจน

 

การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน มุ่งเน้นที่การ “ทำมากขึ้นและดีขึ้นโดยใช้น้อยลง” เพิ่มสวัสดิการที่ได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยการลดทรัพยากรที่ใช้และมลพิษตลอดวงจรชีวิต พร้อมกับการเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งมีผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึง ธุรกิจ ผู้บริโภค ผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้ค้าปลีก สื่อสารมวลชน ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ยังต้องการวิธีการที่เป็นระบบและการร่วมมือกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย เกี่ยวข้องกับการดึงดูดผู้บริโภคโดยการเพิ่มความตระหนักและการศึกษาในเรื่องการใช้ชีวิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การจัดหาข้อมูลให้ผู้บริโภคอย่างเพียงพอผ่านมาตรฐานและฉลากรวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดซื้อของประชาชน 

 

พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวที่ประเทศสโลวาเกียในการเยือนเมืองมรดกโลกเลโวคา ว่าเขาอยากจะเน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของชุมชนรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ในการสร้างเมืองที่มีความกลมกลืนและยั่งยืนให้เกิดขึ้น เขาหวังว่าแต่ละเมืองจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนของตนเอง และนำมาปฏิบัติให้เป็นผล โดยผู้นำแต่ละเมืองจะต้องมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยรับมือกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อแต่ละพื้นที่และประเทศ “มาร่วมทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกและประเทศที่ดีกว่าที่เคยเป็นมา” 

 

ทุกประเทศที่เข้าร่วมจะมีแผนงานบริโภคและผลิตอย่างยั่งยืนที่ต้องดำเนินการ เพื่อจัดการการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลดการสิ้นเปลืองของอาหารในการค้าปลีกและระหว่างการผลิต มีการบริโภคพลังงานที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดของเสียที่ผลิตขึ้นมาทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน ด้วยการลดการใช้ การรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ 

 

ในระดับโลกนั้นแต่ละประเทศล้วนวางเป้าหมายในเรื่องการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนของตนเอง ในประเทศที่พัฒนาแล้วแนวคิดเรื่องการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน กลายเป็นวิธีคิดในการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนผ่านแผนงานต่างๆ เช่นการสนับสนุนให้เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะหรือจักรยาน การเก็บภาษีผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มเติม การลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ใช้ชีวิตด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีแนวคิดเพื่อความยั่งยืน เช่นการแยกขยะในครัวเรือนเพื่อไปรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเช่นการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นมาจากของเหลือใช้ในอุตสาหกรรม การสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลง การใช้ชีวิตแบบออฟกริดที่พยายามไม่พึ่งพาระบบสาธารณูปโภคสาธารณะด้วยการใช้พลังงานทางเลือก และระบบสาธารณูปโภคแบบพึ่งพาตัวเองที่มีผู้ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับแนวคิดเหล่านี้ เป็นวงจรที่เกิดจากการประสานกันของนโยบายของภาครัฐ ค่านิยมและวิถีชีวิต กลไกตลาดและเทคโนโลยีรวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนมีการเตรียมการสำหรับสังคมที่บริโภคและผลิตอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยให้แนวคิดนี้สามารถบรรลุผลได้ ในส่วนของผู้ผลิตที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ลดการผลิตที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการก่อมลภาวะและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ก็เริ่มผลิตสินค้าและบริการในแนวทางนี้กันบ้างแล้ว แม้ในบางเรื่องผู้บริโภคในประเทศไทยยังไม่ค่อยตระหนัก อย่างเช่น การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืนต่างๆ  ซึ่งต้องรณรงค์สร้างจิตสำนึกเหล่านี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนเป็นพื้นฐานที่ทั้งสังคมรับทราบกัน ทั้งเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ผ่านฐานความรู้และคุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีความสมดุลพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จนเรามีหลายชุมชนที่เลือกวิถีชีวิตแบบพอเพียงทั้งด้านการผลิตและบริโภค

 

สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งสร้างจึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ การสร้างกรอบกฎเกณฑ์ที่จะช่วยกระตุ้นและควบคุมปัญหา การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น แม้เราจะมีแผนยุทธศาสตร์นโยบายต่างๆ ออกมาแต่แผนเหล่านั้นยังเข้าไม่ถึงประชากรส่วนใหญ่ เป้าหมายเริ่มต้นจึงควรเริ่มที่การให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่าทำไมเราจึงต้องให้ความสนใจกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

 

นั่นเป็นเพราะการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งมีผลต่อกระบวนการผลิตด้วยความต้องการของตลาดนั้นประกอบด้วย การใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เลือกใช้สินค้าและบริการต่างๆ ที่มีกระบวนการผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และลดของเสียจากการบริโภค สำหรับการผลิต หนึ่งในต้นทุนการผลิตปัจจุบันคือมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน รวมถึงของเสียที่สะสมจากการผลิต ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพปัจจัยผลิต เช่น สุขภาพของแรงงาน คุณภาพของดิน น้ำ อากาศ มีผลต่อวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต และส่งผลกระทบต่องบประมาณรัฐบาลในการฟื้นฟูสภาวะแวดล้อม และส่งผลต่อมาสู่เงินภาษีที่เราต้องจ่ายให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ การผลิตที่ยั่งยืนจึงควรเป็นกระบวนการที่ไม่สร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด มีระบบจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดของเสียในขั้นตอนการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น งดใช้สาร CFC ในการทำความเย็น เป็นต้น

 

การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ทั้งในฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ต้องมีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันบนโลกนี้เพื่อคนรุ่นต่อไป การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่แต่ละประเทศวางเอาไว้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันหาหนทางสร้างสังคมบริโภคอย่างยั่งยืนกระตุ้นให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click